วันอังคาร, มีนาคม 19, 2024
Home > Cover Story > เพ็ญศิริ ทองสิมา ปั้นภาพลักษณ์ใหม่ “นครธน” สู้เชนยักษ์

เพ็ญศิริ ทองสิมา ปั้นภาพลักษณ์ใหม่ “นครธน” สู้เชนยักษ์

“นครธนไม่ใช่แค่โรงพยาบาลรักษาโรคทั่วไป หรือแค่โรคหวัด แต่เราเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางที่พร้อมดูแลรักษาสุขภาพผู้เข้ารับบริการทุกเพศ ทุกช่วงวัย ทุกครอบครัว ไม่จำเป็นต้องวิ่งเข้าไปหาโรงพยาบาลใจกลางกรุงเทพฯ”

เพ็ญศิริ ทองสิมา รองผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด โรงพยาบาลนครธน ย้ำกับสื่อถึงเป้าหมายในปีนี้ที่จะแก้โจทย์ทางการตลาดชิ้นสำคัญ การสร้างภาพลักษณ์ใหม่ เปลี่ยนจาก General Hospital หรือโรงพยาบาลรักษาโรคทั่วไป สู่การเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางที่มีความพร้อมรอบด้าน หลังจากดำเนินธุรกิจอย่างเงียบๆ มานานกว่า 22 ปี ท่ามกลางสมรภูมิการแข่งขันอย่างรุนแรงบนถนนพระราม 2 กับเครือข่ายโรงพยาบาลยักษ์ใหญ่ที่ปักหมุดรอบด้าน

ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มโรงพยาบาลบางปะกอกที่พยายามขยายเน็ตเวิร์คครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และรอบนอก ทั้งโรงพยาบาลบางปะกอก 1 โรงพยาบาลบางปะกอก 3 โรงพยาบาลบางปะกอก 8 โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล มีสถานพยาบาลบางปะกอก 2 บางบอน บางปะกอกคลินิกเวชกรรม และซื้อหุ้นกิจการโรงพยาบาลปิยเวทจากกลุ่มกระทิงแดงเมื่อปี 2559 ก่อนรุกเข้าสู่ย่านรังสิตภายใต้แบรนด์โรงพยาบาลบางปะกอกรังสิต 2

หรือกลุ่มกรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) ที่มีทั้งโรงพยาบาลพญาไท 3 และโรงพยาบาลสมิติเวชธนบุรี เป็นเครือข่ายเจาะฐานลูกค้าย่านฝั่งธนบุรี โดยเฉพาะย่านพระราม 2 เขตบางขุนเทียน ซึ่งมีกลุ่มชุมชนขนาดใหญ่และกลุ่มกำลังซื้อใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก

ขณะที่โรงพยาบาลนครธน ซึ่งญาณเดช ทองสิมา ลงทุนบุกเบิกทำเลบนถนนพระราม 2 ตั้งแต่ปี 2539 และดำเนินธุรกิจแบบครอบครัว สไตล์ Conservative ค่อยๆ เติบโต ไม่เน้นทำแคมเปญการตลาดใหญ่โต และไม่มีนโยบายสร้างเครือข่ายโรงพยาบาลลูก จึงถือเป็นโจทย์ท้าทายในการเปิดเกมรุกครั้งใหม่

เพ็ญศิริกล่าวว่า แนวทางการดำเนินธุรกิจในอีก 5 ปีนับจากนี้ โรงพยาบาลนครธนต้องการมุ่งเน้นสร้างแบรนด์และจุดขายใหม่ เพื่อให้ประชาชนในย่านพระราม 2 และบริเวณใกล้เคียงรับรู้ว่า หากต้องการใช้บริการโรงพยาบาลจะนึกถึงโรงพยาบาลนครธนเป็นแห่งแรก โดยเฉพาะจุดขายความเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางครอบคลุมทุกด้าน ตั้งแต่ศูนย์สุขภาพเด็ก ซึ่งเพิ่มการดูแลเฉพาะด้านจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น พัฒนาการเด็ก ศูนย์ภูมิแพ้สำหรับเด็ก

ด้านสุขภาพสตรี มีศูนย์สูตินรีเวช ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร ศูนย์รักษ์เต้านมดูแลโรคมะเร็งเต้านมโดยเฉพาะ

ด้านโรคกลุ่มผู้สูงอายุ มีการสร้างศูนย์โรคเฉพาะทางด้านต่างๆ ได้แก่ ศูนย์หัวใจ มีห้องปฏิบัติการหัวใจ หรือ Cath lab เน้นเทคนิคการรักษาขยายหลอดเลือดด้วยขดลวดและบอลลูน ศูนย์สมองและระบบประสาท มีทีมอายุรแพทย์ระบบประสาทและแพทย์เฉพาะทางโรคหลอดเลือด ศูนย์กระดูกและข้อ ให้บริการโดยทีมศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ มีเครื่องไฟโบสแกน ตรวจภาวะโรคตับ ตับแข็ง และการส่องกล้องตรวจทางเดินอาหาร ลำไส้

“ปีที่ผ่านมา เราลงทุนปรับคุณภาพและระบบบริการทั้งหมดมากกว่า 300 ล้านบาท ส่วนปีนี้จนถึงต้นปีหน้า เตรียมงบลงทุนอีกกว่า 200 ล้านบาท ทั้งการเพิ่มอุปกรณ์ทางการแพทย์ บุคลากร และเพิ่มจำนวนเตียงจากปัจจุบันให้บริการ 150 เตียง โดยโรงพยาบาลนครธนมีศักยภาพรองรับได้สูงสุด 500 เตียง และมีแผนพัฒนาแผนกอาคารดูแลคนไข้ระดับวีไอพี เพื่อรองรับกลุ่มประชากรใหม่ในย่านพระราม 2 จากหมู่บ้านขนาดใหญ่ที่เปิดตัวมากขึ้น กลุ่มคอนโดมิเนียมและลูกค้าเก่าในท้องถิ่น ลูกค้าต่างชาติระดับพรีเมียม”

ปัจจุบันสัดส่วนคนไข้ของโรงพยาบาลเฉลี่ยราว 5 แสนคนต่อปี โดยส่วนใหญ่ 70% เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ รองลงมาเป็นกลุ่มเด็กและวัยรุ่น ซึ่งนครธนต้องการขยายฐานผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นกว่า 10% และเพิ่มสัดส่วนลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่ วัยรุ่น รวมถึงชาวต่างชาติกลุ่ม CLMV ทั้งพม่า กัมพูชา และจีน

ล่าสุด เพ็ญศิริยอมรับว่า ปีนี้ได้ทุ่มงบส่วนหนึ่งเปิดตัวบิ๊กแคมเปญเป็นครั้งแรกในรอบ 22 ปี ภายใต้ชื่อโครงการ “นครธน แฟมิลี่ คลับ” เพื่อสำรวจข้อมูลและเข้าถึงกลุ่มลูกค้า โดยวางแผนจัดโรดโชว์ตามศูนย์การค้าขนาดใหญ่ คอมมูนิตี้มอลล์ โครงการหมู่บ้านและคอนโดมิเนียมในพื้นที่ย่านพระราม 2 และฝั่งธนบุรี ครอบคลุมพื้นที่ 40-45 หมู่บ้าน ผ่านกิจกรรมการรับสมัครสมาชิก นครธน แฟมิลี่ คลับ มอบสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้บริการตรวจสุขภาพเบื้องต้นฟรี มูลค่าเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 4,000 บาทต่อคน รวมถึงสามารถใช้บัตรขอรับส่วนลดค่าห้อง ค่าบริการต่างๆ ค่ายา และนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโรงพยาบาลนครธนในฐานะโรงพยาบาลเฉพาะทางทุกด้านการรักษา

“เราเริ่มคิกออฟการโรดโชว์ครั้งแรกที่เซ็นทรัล พระราม 2 เมื่อวันที่ 20-22 เมษายนที่ผ่านมา และจะโรดโชว์ไปจัดยังแหล่งชุมชนในเขตเป้าหมาย ตั้งเป้าหมายจะมียอดสมาชิกรวม 10,000 ราย” เพ็ญศิริกล่าว

อย่างไรก็ตาม หากสำรวจแนวรบธุรกิจโรงพยาบาลบนเส้นถนนพระราม 2 การรุกเข้ามาของเชนโรงพยาบาลขนาดยักษ์ใหญ่ทำให้กลุ่มโรงพยาบาลท้องถิ่นระดับ B ต่างเร่งปรับกลยุทธ์ขนานใหญ่ เพื่อความอยู่รอด เช่น เครือบางปะกอกกำลังเร่งเปิดศูนย์สุขภาพ (เฮลธ์แคร์) ในสาขาต่างๆ ของโรงพยาบาลในเครือ ได้แก่ โรงพยาบาลบางปะกอก 1 และโรงพยาบาลบางปะกอก 9 ที่ยังมีที่ดินเหลืออยู่ด้านหลังของโรงพยาบาล

ด้านโรงพยาบาลบางมด ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในย่านถนนพระราม 2 เติบโตจากคลินิกเป็นโพลิคลินิกและยกระดับเป็นโรงพยาบาลขนาดกลาง จำนวน 100 เตียง เมื่อปี 2530 และขยายเป็น 400 เตียงในปี 2538 ล่าสุดฉีกจุดขายเน้นจุดแข็งใหม่ในฐานะโรงพยาบาลด้านศัลยกรรม ให้บริการวันสต็อปเซอร์วิส (one stop service) ด้านความงามโดยเฉพาะ เช่น เสริมหน้าอก เสริมจมูก แปลงเพศ ตั้งเป้าเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านศัลยกรรมตกแต่งและแอนติเอจจิ้ง สปา ศูนย์ความงามครบวงจร นอกจากนี้ เตรียมแตกแบรนด์ลูกในลักษณะคลินิกเสริมความงาม เพื่อขยายฐานลูกค้ากว้างขึ้น

ส่วนกลุ่ม BDMS ที่มีทั้งโรงพยาบาลพญาไท 3 และสมิติเวชธนบุรีนั้น โรงพยาบาลพญาไท 3 เพิ่งปรับวิสัยทัศน์การดำเนินธุรกิจใหม่ ตั้งเป้าหมายเป็นผู้นำในธุรกิจโรงพยาบาลที่ดีที่สุดในฝั่งกรุงเทพฯ ตะวันตก จากเดิมตั้งเป้าหมายเป็นผู้นำโรงพยาบาลในย่านฝั่งธนบุรี โดยตลอดทั้งปี2561 วางแผนพัฒนาโรงพยาบาล ขยายพื้นที่ และจัดซื้อเครื่องมือแพทย์เข้ามาเสริมบริการอย่างต่อเนื่อง ภายใต้งบลงทุนเฉลี่ยปีละ 200 ล้านบาท โดยปีที่ผ่านมาเปิดศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง ศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัย และศูนย์การแพทย์เฉพาะทางขนาดใหญ่อีก 20 ศูนย์

เพ็ญศิริกล่าวว่า โรงพยาบาลนครธนยังไม่มีนโยบายขยายเครือข่ายนครธน 2 หรือนครธน 3 แม้โรงพยาบาลที่มีเชนได้เปรียบในแง่การเชื่อมโยงสาขาต่างๆ และการส่งต่อผู้ใช้บริการ

แต่การเป็นโรงพยาบาลที่มีเพียงแห่งเดียวอย่างนครธนช่วยให้บริการลูกค้าแบบเจาะลึก เน้นสร้างความคุ้นเคยจนเหมือนเป็นครอบครัว สามารถยึดฐานลูกค้ากลุ่มผู้สูงอายุได้มากถึง 70% และใช้บริการประจำเป็นเวลายาวนาน ซึ่งหากโครงการนครธน แฟมิลี่ คลับสามารถสร้างกลุ่มลูกค้าใหม่ได้ นั่นหมายถึงฐานลูกค้าประจำในอนาคตที่เหนียวแน่น

ดังนั้น ในยุคที่ธุรกิจโรงพยาบาลต่างเร่งลงทุนสร้างเครือข่ายสาขา ความอยู่รอดและการแข่งขันระหว่างโรงพยาบาลนครธนกับเชนยักษ์ใหญ่จึงน่าจะเป็นบทพิสูจน์โมเดลธุรกิจได้อย่างน่าสนใจ

ใส่ความเห็น