วันพุธ, เมษายน 24, 2024
Home > Cover Story > เผาจริงแรงงานไทย โควิด-19 ก่อวิกฤตในวิกฤต

เผาจริงแรงงานไทย โควิด-19 ก่อวิกฤตในวิกฤต

ตลาดแรงงานไทยเผชิญวิกฤตมาหลายระลอก เสถียรภาพทางเศรษฐกิจเป็นตัวชี้วัดที่ชัดเจนต่อสถานการณ์ความมั่นคงของตลาดแรงงานไทยในปัจจุบัน

ในระยะหลัง ข่าวการประกาศหยุดดำเนินกิจการ การประกาศปิดโรงงานของผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายเล็กมีให้เห็นในหน้าข่าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเหตุผลของการปิดกิจการมีทั้งปัญหาจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ กำลังซื้อที่ลดลงของผู้บริโภค ส่งผลกระทบต่อรายได้หลักของโรงงาน และการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย เพื่อหวังลดต้นทุนด้านค่าแรงของเจ้าของกิจการ

แม้เราจะทราบกันดีอยู่แล้วว่า แรงงานมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนทั้งภาคการผลิต ภาคบริการในทุกอุตสาหกรรม ทว่า เมื่อเศรษฐกิจในระดับมหภาคได้รับแรงกระทบไม่ว่าจะในระดับใด แรงงานกลับเป็นด่านหน้าที่ต้องถูกนำมาประเมินความอยู่รอดในธุรกิจนั้นๆ

และไวรัสโควิด-19 เป็นต้นเหตุสำคัญในการสร้างผลกระทบต่อตลาดแรงงาน ซึ่งกำลังเผชิญกับวิกฤตที่ยากเข็ญอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจทั้งจากภายในประเทศและทั่วโลก

แรงงานไทยเผชิญกับสถานการณ์การว่างงานมาหลายต่อหลายปี ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผย ผลสำรวจภาวะการมีงานทำของประชากรในเดือนธันวาคม 2562 พบว่า มีจำนวนผู้มีงานทำอยู่ที่ 37.66 ล้านคน ลดลง 2.1 แสนคน เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2561 ที่มีจำนวนผู้มีงานทำ 37.87 ล้านคน หรือลดลง 0.56% ส่วนจำนวนผู้ว่างงานอยู่ที่ 3.67 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราว่างงาน 1% เพิ่มขึ้น 1.8 หมื่นคน เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2561 ที่มีผู้ว่างงาน 3.49 แสนคน หรือเพิ่มขึ้น 5.16%

จากข้อมูลข้างต้น สาเหตุของการว่างงานในเดือนธันวาคม 2562 พบว่า แรงงานที่ว่างงานเพราะนายจ้างเลิก/หยุด/ปิดกิจการ มีจำนวน 24,500 คน เพิ่มขึ้น 965.22%

และปีนี้ นับเป็นอีกปีที่ภาคแรงงานต้องพบกับความทุกข์ยาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยทำการสำรวจสภาวะการครองชีพของครัวเรือนไทยที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงวันที่ 21-28 พฤษภาคม 2563 พบประเด็นน่าสนใจ ดังต่อไปนี้

อัตราการว่างงานในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เดือนพฤษภาคม 2563 อยู่ที่ 9.6% โดยส่วนใหญ่ว่างงานจากผลกระทบของโควิด-19 และมาตรการล็อกดาวน์ที่ทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ ทั้งนี้ อัตราการว่างงานน่าจะอยู่ในระดับสูงสุดช่วงไตรมาส 2 และปรับตัวลดลงในช่วงครึ่งปีหลังภายใต้สมมุติฐานที่ว่า ไม่มีการแพร่ระบาดซ้ำของไวรัสโควิด-19 จนนำไปสู่มาตรการล็อกดาวน์ครั้งที่ 2

ครัวเรือนไทยส่วนใหญ่ตระหนักถึงความสำคัญของเงินออมและการสร้างรายได้หลายช่องทางมากขึ้น หลังเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยแบ่งครัวเรือนไทยเป็น 3 กลุ่ม ตามการใช้สิทธิ์เยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ดังนี้

1. กลุ่มแรงงานนอกระบบที่ได้รับสิทธิ์เงินเยียวยาจากมาตรการ “เราไม่ทิ้งกัน” พบว่า หลังมาตรการสิ้นสุดลง ครัวเรือนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ 35.5% พยายามหางานรับจ้างชั่วคราวแบบเดิมทำไปก่อน

2. กลุ่มแรงงานในระบบที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และใช้สิทธิ์เงินชดเชยจากประกันสังคมกรณีโควิด-19 พบว่า หลังสิ้นสุดการได้รับเงินชดเชยจากประกันสังคม แรงงานกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ 47.4% เลือกที่จะกระจายความเสี่ยงด้านรายได้ผ่านการมีอาชีพเสริม

3. กลุ่มแรงงานที่ไม่ได้ลงทะเบียนใช้สิทธิ์ “เราไม่ทิ้งกัน” และไม่ได้ใช้สิทธิ์เงินชดเชยกรณีโควิด-19 จากประกันสังคม แรงงานกลุ่มนี้ตระหนักถึงความสำคัญของวินัยทางการเงินของตนเองมากขึ้น โดย 43.8%ของแรงงานกลุ่มนี้เริ่มเก็บออมมากขึ้น และระมัดระวังการใช้จ่ายในปัจจุบันและอีก 28.4% มองหาอาชีพเสริมเพิ่มเติมเพื่อสร้างรายได้หลายช่องทาง

โดยสรุปแล้ว ผลการสำรวจชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานและการใช้จ่ายของครัวเรือนไทยในระยะข้างหน้า โดยวิถีปกติใหม่ (New normal) ที่สะท้อนจากผลการสำรวจชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ในการดูดซับแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งเข้ามาแทนที่ภาคเกษตรกรรม

ในขณะที่รูปแบบการใช้จ่ายของครัวเรือนกลับเปลี่ยนไปในทิศทางที่ระมัดระวัง และเร่งสร้างวินัยทางการเงินของตนเองเพิ่มขึ้น จึงเป็นโจทย์เร่งด่วนสำหรับภาครัฐ ทั้งในเรื่องของการออกมาตรการเศรษฐกิจที่ช่วยสร้างงานและรองรับจำนวนผู้ว่างงานใหม่หลังมาตรการเยียวยาสิ้นสุดลง และการออกมาตรการส่งเสริมการออมที่เอื้อต่อแรงงานหลายกลุ่ม

และไม่ใช่แค่วิกฤตจากไวรัสโควิด-19 เท่านั้นที่สร้างความไม่มั่นคงให้เกิดขึ้นในตลาดแรงงานไทย เมื่อในอนาคตอาจมีความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารสู่ระบบ Automation ที่ส่งผลให้มีการลดการพึ่งพาแรงงานคนมากขึ้น ทว่า มูลเหตุของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ก็มีจาก “โควิด” อีกเช่นกัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ประเด็นที่โควิดจะสร้างผลกระทบต่อแรงงานไทยที่อยู่ในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร การแพร่ระบาดของโควิดและปัญหาขาดแคลนแรงงานทำให้อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารที่ต้องพึ่งพาแรงงานอย่างเข้มข้นจำเป็นต้องพิจารณานำระบบ Automation มาใช้งานมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะลดความเสี่ยงด้านการผลิตอันเกิดจากการใช้แรงงานคนแล้ว ยังมีส่วนช่วยยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านการผลิตอาหารให้สูงขึ้น โดยเฉพาะการบรรลุมาตรการป้องกันการปนเปื้อนขั้นสูงอย่าง HACCP (Hazard Analysis and Critical Control Point) เพื่อตอบสนองความคาดหวังที่เพิ่มสูงขึ้นของผู้บริโภคในด้านความปลอดภัยของอาหารที่น่าจะยังคงอยู่หลังช่วงโควิด

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การนำระบบ Automation มาใช้งานจะขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้ประกอบการ โดยผู้ประกอบการรายใหญ่ควรยกระดับการผลิตของตน โดยนำระบบ IRA (Industrial Robotic Arm) มาทดแทนแรงงานฝีมือ ควบคู่ไปกับการใช้ระบบ CNC (Computer Numerical Control) เพื่อเสริมสายพานการผลิตแบบอัตโนมัติของตนให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ในขณะที่ผู้ประกอบการขนาดกลางควรนำระบบ CNC มาใช้ในกระบวนการผลิตควบคู่ไปกับแรงงานฝีมือในบางจุด และผู้ประกอบการขนาดเล็กซึ่งต้องการกำลังการผลิตไม่สูงนัก อาจเพียงพิจารณานำเครื่องจักรทั่วไปมาใช้งาน

นอกจากนี้ การนำระบบ Automation มาใช้ในกระบวนการผลิตมีส่วนเปลี่ยนแปลงบทบาทของแรงงานสู่การทำหน้าที่ควบคุมระบบ ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการผลิต รวมไปถึงการซ่อมแซมบำรุงรักษาระบบ ดังนั้น การพัฒนาฝีมือแรงงานให้สามารถทำงานร่วมกับระบบ Automation ได้จึงเป็นกุญแจสำคัญ ซึ่งควรจะมีการบูรณาการตั้งแต่ภาคการศึกษาไปจนถึงผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม

ขณะที่สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสแรก ปี 2563 ระบุว่า อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.03 มีผู้ว่างงานเกือบ 4 แสนคน และคาดว่าปีนี้อาจมีแรงงานที่เสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างสูงถึง 8.4 ล้านคน ขณะที่เด็กจบใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน 5.2 แสนคนอาจไม่มีงานทำ

ทั้งนี้ ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับสถานประกอบการที่ขอหยุดกิจการชั่วคราว 570 แห่ง และมีแรงงานที่ต้องหยุดงานแต่ยังได้รับเงินเดือน 121,338 คน ผู้ว่างงานมีจำนวน 394,520 คน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.03 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.92 จากช่วงเดียวกันกับปีก่อน และมีผู้ว่างงานแฝงจำนวน 448,050 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

แรงงานที่มีความเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้าง สภาพัฒน์ฯ ประเมินและแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 แรงงานในภาคการท่องเที่ยวซึ่งมีประมาณ 3.9 ล้านคน (ไม่รวมสาขาการค้าส่งและการค้าปลีก) จะได้รับผลกระทบจากการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติและการท่องเที่ยวในประเทศประมาณ 2.5 ล้านคน

กลุ่มที่ 2 แรงงานในภาคอุตสาหกรรมซึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ระบาดและต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน จากการลดลงของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ แรงงานในภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด 5.9 ล้านคน คาดว่าจะมีผู้ได้รับผลกระทบ 1.5 ล้านคน

และกลุ่มที่ 3 การจ้างงานในภาคบริการอื่นที่ไม่ใช่การท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด เช่น การปิดสถานที่ต่างๆ ซึ่งมีการจ้างงานจำนวน 10.3 ล้านคน คาดว่าจะมีแรงงานที่ได้รับผลกระทบประมาณ 4.4 ล้านคน

ในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม สภาพัฒน์ฯ คาดว่าจะมีแรงงานจบใหม่เข้าสู่ตลาดประมาณ 520,000 คน ซึ่งอาจไม่มีตำแหน่งงานรองรับ ดังนั้น สภาพัฒน์ฯ จึงเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมาตรการสร้างงานและจ้างงานเพื่อรองรับแรงงานกลุ่มนี้

เท่ากับว่า ตลาดแรงงานต้องเผชิญกับภาวะการว่างงาน ทั้งที่เกิดจากการเลิกจ้าง การปิดกิจการ เพราะสภาพเศรษฐกิจก่อนหน้า และยังถูกซ้ำเติมจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้หลายกิจการ กิจกรรมต้องหยุดดำเนินกิจการ ระบบ Automation ที่จะเข้ามาแทนที่แรงงานคน ซึ่งทำให้แรงงานไม่ถูกดูดซับเข้าระบบ

นอกจากนี้ ยังมีแรงงานไทยที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศในช่วงโควิด และยังไม่สามารถเดินทางกลับไปทำงานยังประเทศเดิมได้ ประกอบกับแรงงานรุ่นใหม่ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดในช่วงกลางปี

เรียกได้ว่าแรงงานต้องเผชิญวิกฤตในวิกฤต ที่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า แรงงานที่ตกอยู่ในสถานภาพว่างงานจะถูกดูดซับไปเมื่อไหร่ นับเป็นอีกปีที่ตลาดแรงงานเจอกับสถานการณ์อันยากลำบากที่เรียกว่า “เผาจริง” และทุกอย่างคงต้องฝากไว้ในกำมือของกระทรวงแรงงานเสียแล้ว

ใส่ความเห็น