วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > เปิดสมรภูมิดิวตี้ฟรี บิ๊กเนมรุมสกัด “คิงเพาเวอร์”

เปิดสมรภูมิดิวตี้ฟรี บิ๊กเนมรุมสกัด “คิงเพาเวอร์”

สมรภูมิชิงสัมปทานร้านดิวตี้ฟรีร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ หลังบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” ประกาศขายซองคัดเลือกผู้ประกอบการ โครงการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ (ดิวตี้ฟรี) ทั้ง 2 สัญญา คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 1 สัญญา และท่าอากาศยานภูมิภาค ได้แก่ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ รวมอีก 1 สัญญา

โดยเฉพาะสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งมีพื้นที่เชิงพาณิชย์หลายหมื่นตารางเมตรและเป็นสนามบินที่มีจำนวนผู้โดยสารติดทอปเท็น ทั้งในภูมิภาคเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีแผนขยายศักยภาพโครงการ เพื่อเพิ่มการรองรับผู้โดยสารอย่างต่อเนื่อง รวม 5 เฟส จนถึงปี 2573

ตามแผนของ ทอท. ตั้งเป้าปี 2563 สนามบินสุวรรณภูมิจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคนต่อปี ปี 2564 เพิ่มเป็น 90 ล้านคนต่อปี จนถึงเฟสที่ 5 ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายของโครงการในปี 2568-2573 จะมี 3 อาคารผู้โดยสาร 2 อาคารเทียบเครื่องบิน 4 รันเวย์ จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 150 ล้านคนต่อปี

แน่นอนว่า เหล่าคู่แข่งขันที่เผยโฉมออกมาล็อตแรกจึงล้วนเป็นบิ๊กเนมยักษ์ใหญ่ทั้งสิ้น เริ่มจากเจ้าของสัมปทานเดิม “คิง เพาเวอร์” ซึ่งต้องการรักษาแหล่งรายได้หลักจำนวนมหาศาล

ตามด้วยเซ็นทรัลกรุ๊ป ผู้เปิดตัวเข้ามาซื้อซองเป็นบริษัทแรก

กลุ่มล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี ยักษ์ใหญ่จากประเทศเกาหลี ที่ตั้งเป้าขยายฐานธุรกิจในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง แม้ชิมลางผุดร้านล็อตเต้ดิวตี้ฟรีในห้างโชว์ดีซีแต่ดูเหมือนยังสร้างยอดขายไม่เข้าเป้าเท่าไรนัก

หรืออย่างบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบางกอกแอร์เวย์ส ของนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ โดยหมอเสริฐได้เจรจากับกลุ่ม Gebr Heinemann ผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีจากประเทศเยอรมนี มียอดขายอยู่ในอันดับ 6 ของโลก (ราว 3,200 ล้านยูโร) มาร่วมเป็นพันธมิตรลุยศึกประมูลดิวตี้ฟรีครั้งนี้ด้วย เพื่อต่อยอดอาณาจักรธุรกิจแบบครบวงจร

ทั้งนี้ ในขั้นตอนการซื้อขายซองประมูลที่เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1-18 เมษายนนี้ คาดว่าจะมีกลุ่มบริษัทอีกหลายรายเปิดตัวเข้าร่วมสมรภูมิดิวตี้ฟรี โดยอยู่ระหว่างการตัดสินใจชั้นสุดท้าย เช่น กลุ่มเดอะมอลล์ กลุ่มสยามพิวรรธน์ และกลุ่มเกษร

มีรายงานว่า บางรายกำลังรอดูความชัดเจนด้านนโยบายของภาครัฐ การประเมินความคุ้มค่า อย่างเช่น กลุ่มสยามพิวรรธน์ ซึ่งเตรียมเปิดโครงการลักชัวรีพรีเมียม เอาต์เล็ต ซิตี้ แห่งแรกใกล้กับสนามบินสุวรรณภูมิในเดือนตุลาคมนี้ ที่สุดแล้วอาจตัดสินใจไม่เข้าร่วมประมูล เพราะเกรงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นแบบคาดไม่ถึง และยังต้องประเมินกระแสการต่อต้านจากฝ่ายต่างๆ

แต่ไม่ว่าอย่างไร ประเด็นสำคัญที่ทุกฝ่ายเชื่อมั่น คือ ธุรกิจดิวตี้ฟรีในสนามบินของประเทศไทยกำลังเปลี่ยนรูปแบบจากธุรกิจผูกขาดเจ้าเดิมเจ้าเดียวและมีโอกาสสร้างการเติบโตได้อีกหลายเท่า ทั้งในแง่ภาพรวมธุรกิจและมูลค่าเม็ดเงิน

แม้ที่สุดแล้ว ทอท. ยอมปรับรูปแบบการเปิดประมูลเพียงส่วนหนึ่งจากเดิมที่ยืนยันจะเปิดประมูลแบบสัญญาเดียว และรวบสัญญาดิวตี้ฟรีท่าอากาศยานทั้ง 4 แห่ง คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เชียงใหม่ ภูเก็ต และหาดใหญ่ เป็นสัญญาเดียว มาเป็นการแยก 2 สัญญา คือ สัญญาในส่วนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสัญญาในส่วนท่าอากาศยานภูมิภาค 3 แห่งอีก 1 สัญญา แต่ยังยึดระยะเวลาสัญญายาวกว่า 10 ปี และสัญญาในส่วนสนามบินสุวรรณภูมิกำหนดให้มีผู้ชนะการประมูลเพียงรายเดียว

ก่อนหน้านี้ สมาคมผู้ค้าปลีกไทยพยายามหยิบยกโอกาสการเติบโตของธุรกิจดิวตี้ฟรี เพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบสัมปทานของไทยจากสัมปทานรายใหญ่รายเดียวเป็นสัมปทานตามกลุ่มสินค้า ลดระยะสัญญาเหลือ 5-7 ปี และปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมสัมปทานให้สอดคล้องกับค่าเฉลี่ยสากล โดยระบุว่า หากประเทศไทยปรับปรุงตามข้อเสนอดังกล่าวจะได้รับผลประโยชน์เพิ่มมากถึง 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 50,000 ล้านบาทต่อปี จากแนวโน้มการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่อหัวเพิ่มขึ้น การเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวเมื่อประเทศมี Shopping Tourism โดดเด่น และคนไทยจะกลับมาชอปปิ้งในประเทศมากขึ้น

ขณะเดียวกัน หากเปรียบเทียบตัวเลขการใช้จ่ายกับการซื้อสินค้าปลอดภาษีของไทยเฉลี่ยเพียงหัวละ 47 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1,550 บาทเท่านั้น เทียบกับเกาหลีใต้สูงถึงหัวละ 260 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 8,580 บาท มากกว่าไทยถึงกว่า 5 เท่า ทำให้เกาหลีใต้มีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าปลอดภาษีกว่า 3 แสนล้านบาท ขณะที่ประเทศไทยมีรายได้เพียง 6 หมื่นกว่าล้านบาท

แหล่งข่าวในวงการค้าปลีกกล่าวว่า การแข่งขันชิงสัมปทานร้านดิวตี้ฟรีในสนามบินสุวรรณภูมิจะดุเดือดมากและทุกกลุ่มบริษัทต้องการเป็นผู้ชนะ โดยเห็นสัญญาณความร้อนแรงตั้งแต่การแข่งขันประมูลสิทธิบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่สนามบินอู่ตะเภาช่วงปลายปีที่ผ่านมา

การประมูลรอบนั้นสนามบินอู่ตะเภาประกาศขายทีโออาร์ให้เอกชนเข้ามาบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ในอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ จำนวน 2 สัญญา 2 กิจกรรม ประกอบด้วยพื้นที่สินค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) และสัญญาพื้นที่ร้านค้าปลีก โดยมีผู้ที่ซื้อซองประมูลกิจการร้านดิวตี้ฟรี 5 ราย คือ 1. คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี 2. เซ็นทรัล ดีเอฟเอส คอนซอร์เตี้ยม กิจการร่วมการงานระหว่างบริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด และดีเอฟเอส เวนเจอร์ สิงคโปร์ 3. ล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี (ประเทศไทย) 4. บางกอกแอร์เวย์ส โฮลดิ้ง และ 5. บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด

ส่วนกิจกรรมเชิงพาณิชย์ประเภทร้านค้าปลีก มีผู้ซื้อซอง 7 ราย ได้แก่ 1. บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด 2. เซ็นทรัล ดีเอฟเอส คอนซอร์เตี้ยม กิจการร่วมการงานระหว่างบริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด และดีเอฟเอส เวนเจอร์ สิงคโปร์ 3. บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป 4. บริษัท ซีเลค เซอร์วิส พาร์ทเนอร์ 5. บริษัท บางกอกแอร์เวย์ส โฮลดิ้ง 6. บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด และ 7. บริษัทไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

ผลปรากฏว่า กลุ่มเซ็นทรัล ดีเอฟเอส คอนซอร์เตี้ยม คว้าสัมปทานได้เฉพาะพื้นที่ร้านค้าปลีก เนื่องจากบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี เอาชนะคว้าสัมปทานโครงการดิวตี้ฟรีในสนามบินอู่ตะเภา ระยะเวลาสัญญา 10 ปี โดยเสนอจ่ายผลตอบแทนขั้นต่ำ (Minimum guarantee) สูงสุด 233 ล้านบาทต่อปี เฉือนคู่แข่งยักษ์เกาหลีอย่างบริษัท ล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี (ประเทศไทย) ซึ่งเสนอจ่ายผลตอบแทน 212 ล้านบาทต่อปี โดยคิง เพาเวอร์ประเมินรายได้ขั้นต่ำต่อปีที่ 1,553 ล้านบาท หรือตลอดอายุสัมปทานคาดการณ์รายได้ขั้นต่ำอยู่ที่ 15,500 ล้านบาท หรือเฉลี่ยรายได้ 4 ล้านบาท/วัน

ประเมินจากศึกอู่ตะเภาที่ไม่มีใครยอมใคร สมรภูมิดิวตี้ฟรีสุวรรณภูมิเดือดแน่

ใส่ความเห็น