วันอังคาร, เมษายน 23, 2024
Home > Cover Story > เปิดประมูลโรงไฟฟ้า ภาพสะท้อนพลังงานไทย

เปิดประมูลโรงไฟฟ้า ภาพสะท้อนพลังงานไทย

การเปิดประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก ตามประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในแบบ SPP hybrid firm หรือการผสมผสานเชื้อเพลิงตั้งแต่ 1 ประเภทขึ้นไป รวม 300 เมกะวัตต์ (MW) ของกระทรวงพลังงานและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ในด้านหนึ่งกำลังเป็นภาพสะท้อนทิศทางธุรกิจพลังงานของไทยที่น่าสนใจไม่น้อย

เนื่องเพราะภายหลังการเปิดให้ผู้สนใจยื่นเสนอขายไฟฟ้าเมื่อวันที่ 16-20 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมานั้น ปรากฏว่านอกจากจะมีผู้สนใจเป็นจำนวนมากแล้ว ยังถือเป็นสนามประลองกำลังของผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่พร้อมจะนำไปสู่การแข่งขันด้านราคาให้ต่ำกว่าราคาประกาศของ กกพ. ที่กำหนดอัตราค่าไฟฟ้าแบบ Feed in Tarif (FiT) ที่ 3.66 บาทต่อหน่วย จากผลของจุดแข็งด้านวัตถุดิบป้อนโรงไฟฟ้าของผู้ประกอบการแต่ละราย และทำให้ยอดพลังงานไฟฟ้าที่ยื่นประมูลเสนอขายมียอดรวมกว่า 2,000-4,000 เมกะวัตต์ ทะลุเกินยอด 300 เมกะวัตต์ (MW) ที่ กกพ. ประกาศรับซื้อไปไกลมาก

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจจากการเปิดประมูลรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวอยู่ที่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมประมูลที่มีมากกว่า 150 ราย สามารถจำแนกออกได้เป็น 9 กลุ่มใหญ่ๆ ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด บริษัทซุปเปอร์บล็อก จำกัด (มหาชน) กลุ่มบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ กลุ่มบริษัท ดั๊บเบิ้ลเอ จำกัด (มหาชน) กลุ่มบริษัท ทีพีซี เพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กลุ่มนักลงทุนจากประเทศเกาหลีใต้ กลุ่มบริษัทมิตรผลและโรงงานน้ำตาลอื่นๆ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ-ภาคเหนือ กลุ่มบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) และกลุ่มบริษัท บางไทร ภูมิพัฒน์ จำกัด ซึ่ง 2 กลุ่มสุดท้ายต่างเป็นบริษัทในเครือข่ายธุรกิจของเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่กำลังรุกคืบขยายบริบททางธุรกิจครอบคลุมสังคมไทยไปในทุกมิติ

ก่อนหน้านี้ กกพ. ได้เปิดให้ผู้สนใจยื่นเสนอขายไฟฟ้าตรวจสอบจุดเชื่อมโยงระบบส่งทั้ง 3 กิจการไฟฟ้า (กฟผ./กฟภ./กฟน.) ทั่วทุกภาคของประเทศ ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้นทางเทคนิคของ กกพ. แล้ว มีเพียง 100 กว่ารายที่สามารถเชื่อมโยงกับระบบสายส่งได้ ขณะที่การกำหนดสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าจากการประมูลครั้งนี้เป็นรายภาค ทำให้การแข่งขันในแต่ละพื้นที่แตกต่างกันไป โดยบางพื้นที่อยู่ในสัดส่วน 1 : 5 แต่ในบางพื้นที่สัดส่วนอาจพุ่งไปถึง 1 : 10 โดยพื้นที่มีโรงงานน้ำตาลซึ่งพร้อมใช้ความได้เปรียบจากวัตถุดิบชีวมวลกลายเป็นพื้นที่ที่มีการแข่งขันสูงมาก

ภายใต้เงื่อนไขของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในแบบ SPP hybrid firm หรือการผสมผสานเชื้อเพลิงตั้งแต่ 1 ประเภทขึ้นไป ทำให้ผู้ยื่นประมูลจำนวนหนึ่งยื่นประมูลแบบตับคู่พันธมิตรทางธุรกิจโดยนำเทคโนโลยีแต่ละรูปแบบมาผสานกัน เช่น กลุ่มพลังงานแสงอาทิตย์ รวมกับการใช้ระบบกักเก็บพลังงาน หรือแบตเตอรี่ (energy storage system) ที่สามารถผลิตไฟฟ้าและจัดเก็บไว้ในแบตเตอรี่เพื่อส่งเข้าระบบในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งไม่สามารถผลิตไฟได้ หรือการจับคู่ระหว่างกลุ่มไบโอก๊าซกับกลุ่มชีวมวล ที่คาดว่าจะเป็นกลุ่มที่สามารถลดอัตราค่าไฟฟ้าได้ “ต่ำที่สุด” โดยเฉพาะหากจับคู่กับกลุ่มผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล ที่มีจุดแข็งคือวัตถุดิบอยู่แล้ว รวมถึงการจับคู่ระหว่างกลุ่มชีวมวลกับกลุ่มพลังงานแสงอาทิตย์ ที่คาดว่าน่าจะลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้ค่อนข้างมาก และใกล้เคียงกับกลุ่มที่ยื่นเสนอประเภทชีวมวลกับไบโอก๊าซ

ความได้เปรียบของผู้ประกอบการที่ยื่นเสนอขายในกลุ่มพลังงานชีวมวล สอดรับกับวิธีการเปิดรับซื้อไฟฟ้าในครั้งนี้ที่ใช้รูปแบบการประมูล (competitive bidding) โดย กกพ. ได้กำหนดราคากลางค่าไฟฟ้าไว้ที่ 3.66 บาท/หน่วย ซึ่งทำให้ผู้ยื่นเสนอขายไฟฟ้าจะต้องทำราคาค่าไฟฟ้าให้ต่ำกว่าราคากลางที่กำหนดไว้ให้ “มากที่สุด” โดยผู้สันทัดกรณีในแวดวงพลังงานทดแทนประเมินว่าเชื้อเพลิงพลังงานทดแทนในกลุ่มชีวมวลน่าจะมีความได้เปรียบและสามารถเสนอราคาค่าไฟฟ้าได้ต่ำที่สุดในระดับ 2.50-2.80 บาท/หน่วย และอาจเบียดแทรกเข้ามาเป็นทางเลือกแข่งขันกับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ใช้ถ่านหินได้ไม่ยาก

ข้อสังเกตที่น่าสนใจไม่น้อย อยู่ที่การกำหนดราคากลางอัตราค่าไฟฟ้าไว้ที่ 3.66 บาท/หน่วย ของ กกพ. ในครั้งนี้ได้รับการประเมินว่าเป็นราคาที่รัฐใช้ฐานคำนวณจากเชื้อเพลิงชีวมวล (bio mass) ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการบางราย ไม่ว่าจะเป็นในกรณีของกลุ่มมิตรผล ที่มีจุดแข็งด้านวัตถุดิบป้อนโรงไฟฟ้า หรือในกรณีของกลุ่มไทยเบเวอเรจ เอ็นเนอร์ยี่ ที่ยื่นประมูลเสนอขายไฟฟ้ารวม 3 โครงการ โดยเป็นโรงไฟฟ้าประเภทชีวมวลที่ใช้ไม้สับและกะลาปาล์มเป็นเชื้อเพลิง และยังใช้ “ส่าเหล้า” จากโรงงานสุรามาหมักเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วมด้วย มีความได้เปรียบในการประมูลเสนอขายไฟฟ้าไปโดยปริยาย

หากแต่ประเด็นปัญหาสำคัญยังผูกพันอยู่กับทิศทางของนโยบายรัฐ เพราะในอีกด้านหนึ่งการเปิดประมูลรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการ SPP Hybrid Firm ในครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่ภาครัฐชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน หลังกำลังผลิตใหม่ในส่วนของพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบติดตั้งบนหลังคาขยายตัวอย่างมาก จนกระทบต่อภาพรวมของระบบไฟฟ้าหลัก ซึ่งกรณีที่ว่านี้ได้สะท้อนกระบวนทัศน์ว่าด้วยการประเมินและการวางแผนพัฒนาพลังงานที่น่าสนใจไม่น้อยเลย

ประเด็นที่ติดตามมาจากการเปิดประมูลเสนอซื้อไฟฟ้าของ กกพ. ในครั้งนี้ นอกจากจะทำให้ธุรกิจพลังงานทดแทนได้รับการกระตุ้นให้กลับมาคึกคัก หากในอีกมิติหนึ่งยังได้รับการประเมินว่าการประมูลนี้จะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่อย่างแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานให้ได้รับความน่าสนใจไปพร้อมกันด้วย เพราะผู้ผลิตไฟฟ้าบางส่วนเลือกที่จะใช้แบตเตอรี่ (energy storage system) มากกว่าที่จะใช้การผสมผสานเชื้อเพลิง เนื่องจากจะทำให้สะดวกในการบริหารจัดการปริมาณไฟฟ้าเข้าระบบตามที่ภาครัฐกำหนดไว้ได้ โดยในปัจจุบันมีผู้ผลิตรวมกว่า 5 รายที่จะก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่เพื่อกักเก็บพลังงานเกิดขึ้นในประเทศด้วย

แม้ว่ากรณีของแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานจะได้รับผลกระตุ้นและการส่งเสริมให้มีการใช้มากขึ้นจากการเปิดประมูลรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการ SPP Hybrid Firm หากแต่ข้อกังวลของผู้ประกอบการผลิตแบตเตอรี่เพื่อกักเก็บพลังงานอยู่ที่ความชัดเจนในเชิงนโยบายจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดให้มีการนำเข้าแบตเตอรี่จากต่างประเทศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการขยายกำลังการผลิตภายในประเทศ ขณะที่ข้อสังเกตว่าด้วยราคาของแบตเตอรี่ซึ่งยังมีราคาค่อนข้างสูงในปัจจุบัน ทำให้เกิดคำถามตามมาว่าการใช้แบตเตอรี่กักเก็บพลังงานจะทำให้มีต้นทุนต่ำกว่าโดยเปรียบเทียบกับเทคนิคการผสมผสานเชื้อเพลิงหรือไม่อีกโสตหนึ่ง

แม้ว่าการยื่นประมูลเสนอขายไฟฟ้าตามประกาศของ กกพ. จะสิ้นสุดไปแล้ว หากแต่กระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติและการประเมินข้อเสนอขายไฟฟ้าด้านเทคนิคจะได้รับการประกาศในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน และการเริ่มผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) จะเริ่มได้จริงในปี 2564 นี่จึงเป็นเวลาที่ทอดยาวท่ามกลางความคลุมเครือและวูบไหวในเชิงนโยบายที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง

ใส่ความเห็น