วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > New&Trend > เชลล์ เร่งยุทธศาสตร์ปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ มุ่งให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นอันดับแรก

เชลล์ เร่งยุทธศาสตร์ปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ มุ่งให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นอันดับแรก

เชลล์เดินหน้ายุทธศาสตร์ในการเร่งขับเคลื่อนสู่การเป็นธุรกิจพลังงานที่ชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เป็นศูนย์ทั้งในส่วนของผลิตภัณฑ์และบริการ พร้อมผลักดันการเติบโตของธุรกิจที่มีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ทั้งนี้ดำเนินการวางกรอบการจัดการกระแสเงินสดอย่างเป็นระบบและมีกระบวนการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับผู้ถือหุ้น รวมถึงลูกค้าและสังคมในวงกว้าง เชลล์ยืนยันการคาดการณ์ปริมาณการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในระดับสูงสุดเมื่อปี พ.ศ. 2561 ขณะที่ระดับการผลิตน้ำมันสูงสุดคือเมื่อปี พ.ศ. 2562

มร.เบน ฟาน เบอร์เดน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท รอยัลดัทช์เชลล์ กล่าวว่า “ยุทธศาสตร์หลักของเราคือการเดินหน้าในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนและส่งมอบคุณค่าให้กับผู้ถือหุ้นและลูกค้าของเรา ตลอดจนสังคมโดยรวม เราต้องมอบผลิตภัณฑ์และบริการซึ่งเป็นที่ต้องการและมีความจำเป็นให้แก่ลูกค้า โดยเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ในขณะเดียวกัน เราจะใช้ความแข็งแกร่งขององค์กรที่มีรากฐานมั่นคงมาอย่างยาวนานในการต่อยอดสัดส่วนธุรกิจของบริษัทฯ ให้มีศักยภาพการแข่งขันสูง ในขณะที่เปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นธุรกิจที่ชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เป็นศูนย์พร้อมกับการดูแลเคียงข้างสังคม ไม่ว่าลูกค้าของเราจะเป็นภาคการขับขี่และคมนาคม ภาคครัวเรือน หรือภาคธุรกิจ เราจะใช้ศักยภาพระดับโลกควบคู่กับการเป็นแบรนด์ที่ได้รับความไว้วางใจเพื่อเติบโตในตลาดที่มีความต้องการผลิตภัณฑ์และบริการด้านพลังงานสะอาดในระดับสูงที่สุด อีกทั้งยังจะดำเนินการบริหารความเสี่ยงเกี่ยวกับกระแสเงินสด ควบคู่กับการสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้นด้วย”

นับจากวันนี้เป็นต้นไป เชลล์จะผสานกลยุทธ์ สัดส่วนธุรกิจ และความมุ่งมั่นตั้งใจด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมภายใต้เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ Powering Progress อันประกอบด้วย การสร้างคุณค่าให้แก่ผู้ถือหุ้น การชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เป็นศูนย์ การเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี และการเคารพต่อธรรมชาติ ทั้งนี้การปรับกลยุทธ์องค์กรเพื่อให้เชลล์สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวจะดำเนินการใน 3 กลุ่มธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจเติบโต ธุรกิจเปลี่ยนผ่าน และธุรกิจต้นน้ำ

ความยืดหยุ่นทางการเงินและการเติบโตอย่างมีกำไรผ่านการจัดสรรเงินทุนอย่างเป็นระบบ

เชลล์เน้นย้ำความสำคัญของกระแสเงินสดเพื่อให้สามารถส่งมอบคุณค่าให้แก่ผู้ถือหุ้นในปัจจุบัน พร้อมทั้งสร้างการเติบโตของคุณค่าสำหรับอนาคต ซึ่งครอบคลุมด้านต่างๆ ดังนี้

– ดำเนินนโยบายเงินปันผลแบบก้าวหน้า โดยเพิ่มเงินปันผลต่อหุ้นประมาณ 4% ต่อปี ภายใต้การอนุมัติของคณะกรรมการบริหารบริษัทฯ
– รักษางบประมาณการใช้จ่ายรายปีสำหรับอนาคตอันใกล้ซึ่งมีมูลค่า 19,000 – 22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
– ลดหนี้สุทธิให้เหลือ 65,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
– ในการลดหนี้สุทธิให้เหลือ 65,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีเป้าหมายคือการให้ปันผลแก่ผู้ถือหุ้นทั้งหมดด้วยกระแสเงินสด 20 – 30% จากการดำเนินกิจการ ทั้งนี้การให้ปันผลที่มากขึ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นเป็นผลสัมฤทธิ์มาจากเงินปันผลแบบก้าวหน้าและการซื้อหุ้นคืนของเชลล์มีการเติบโตของงบประมาณการใช้จ่ายที่เป็นระบบและควบคุมได้ สมดุลกับการให้ปันผลเพิ่มเติมแก่ผู้ถือหุ้น พร้อมทั้งเสริมสร้างความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นให้กับงบแสดงฐานะการเงินของบริษัทฯ

ในอนาคตอันใกล้ เราคาดว่าจะรักษาค่าใช้จ่ายสำหรับดำเนินกิจการที่จำเป็นให้ไม่เกิน 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจากการขายสินทรัพย์เพื่อให้เกิดมูลค่าเฉลี่ยปีละ 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเวลาผ่านไป ยอดคงเหลือจากการใช้จ่ายเงินทุนจะคืนกลับเข้าสู่แกนหลักของธุรกิจเพื่อการเติบโต ประมาณครึ่งหนึ่งของการใช้จ่ายเงินทุนส่วนที่เพิ่มเติม ขณะที่กระแสเงินสดจะมีแนวโน้มสอดคล้องกัน และในระยะยาวจะมีความเสี่ยงน้อยลงจากราคาน้ำมันและเชื้อเพลิง ซึ่งเชื่อมโยงกับการเติบโตของเศรษฐกิจในวงกว้าง

มุ่งหน้าสู่การชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เป็นศูนย์: แนวทางบริหารจัดการคาร์บอนแบบครอบคลุม

เชลล์ เดินหน้าวิธีการที่จะบรรลุเป้าหมายในการเป็นธุรกิจพลังงานที่ชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2593 ควบคู่กับการสร้างความร่วมมือกับสังคมเพื่อบรรลุเป้าหมายเดียวกัน เป้าหมายดังกล่าวครอบคลุมการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการดำเนินงานและการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่บริษัทฯ จำหน่าย ที่สำคัญเป้าหมายดังกล่าวยังรวมไปถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากน้ำมันและเชื้อเพลิงของผู้ผลิตรายอื่นซึ่งเชลล์นำมาจำหน่ายให้แก่ลูกค้าด้วย เป้าหมายของเชลล์จึงรอบด้านและครอบคลุม

ทั้งนี้ เป้าหมายยุทธศาสตร์ Powering Progress ยังเป็นการส่งเสริมเป้าหมายอันท้าทายของสนธิสัญญากรุงปารีสว่าด้วยการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ที่จะจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายในการชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เป็นศูนย์ เชลล์มีแผนดำเนินการ ดังนี้:

– เชลล์จะสานต่อเป้าหมายระยะสั้นในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในระหว่างขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายภายในปี พ.ศ. 2593 โดยเชื่อมโยงกับค่าตอบแทนแก่พนักงานมากกว่า 16,500 คน อีกทั้งยังครอบคลุมเป้าหมายใหม่ที่จะลดปริมาณความเข้มข้นสุทธิของคาร์บอนลง 6 – 8% ภายในปี พ.ศ. 2566, 20% ภายในปี พ.ศ. 2573, 45% ภายในปี พ.ศ. 2578 และ 100% ภายในปี พ.ศ. 2593 โดยใช้บรรทัดฐานจากปี พ.ศ. 2559
– เชลล์ยืนยันการคาดการณ์ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนในระดับสูงสุดเมื่อปี พ.ศ. 2561 โดยอยู่ที่ 1.7 กิกะตันต่อปี
– เชลล์ยืนยันระดับการผลิตน้ำมันสุทธิสูงสุด คือเมื่อปี พ.ศ. 2562
– เชลล์จะแสวงหาการเข้าถึงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นอีกปีละ 25 ล้านตัน ภายในปี พ.ศ. 2578 โดยเมื่อเร็วๆ นี้ เชลล์มีส่วนร่วมใน 3 โครงการด้านการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้แก่ โครงการ Quest ในประเทศแคนาดา (อยู่ระหว่างดำเนินการ) โครงการ Northern Lights ในประเทศนอร์เวย์ (อนุมัติแล้ว) และโครงการ Porthos ในประเทศเนเธอร์แลนด์ (วางแผนแล้ว) ซึ่งทั้ง 3 โครงการจะสามารถกักเก็บได้รวมกันถึง 4.5 ล้านตัน
– เชลล์มุ่งมั่นในการส่งมอบโซลูชันส์พลังงานที่มีฐานจากธรรมชาติ สอดคล้องกับหลักปรัชญาว่าด้วยการหลีกเลี่ยงและการลดปริมาณ เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนปีละประมาณ 120 ล้านตันภายในปี พ.ศ. 2573 ทั้งนี้ จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองคุณภาพระดับสูงสุด
– เชลล์จะทำงานร่วมกับองค์กรอิสระต่างๆ ตัวอย่างเช่น Science Based Targets Initiative และ Transition Pathway Initiative ตลอดจนหน่วยงานอื่นๆ ในการพัฒนามาตรฐานสำหรับอุตสาหกรรมและดำเนินงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานเหล่านั้น
– ตั้งแต่การประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี พ.ศ. 2564 เชลล์นำเสนอแผนการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานให้แก่คณะผู้ถือหุ้นพิจารณาลงคะแนนเสียงเพื่อให้คำแนะนำทิศทางในการดำเนินธุรกิจ โดยเป็นองค์กรแรกในภาคอุตสาหกรรมพลังงานที่ดำเนินการดังกล่าว ในการนี้ บริษัทฯ จะอัพเดทแผนดังกล่าวทุกๆ 3 ปี เพื่อขอความคิดเห็นต่อความคืบหน้าที่เกิดขึ้นในแต่ละปีผ่านการลงคะแนนเสียง

ส่งมอบพลังงานพร้อมสร้างการเติบโตทางธุรกิจด้วยสัดส่วนธุรกิจที่สร้างการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน

เชลล์เป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับลูกค้า เราส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการให้แก่ลูกค้าในเชิงธุรกิจและอุตสาหกรรมมากกว่า 1 ล้านธุรกิจ รวมถึงผู้บริโภคกว่า 30 ล้านคนในแต่ละวันผ่านทางสถานีบริการน้ำมันจำนวนกว่า 46,000 แห่ง เชลล์ใช้ความเป็นแบรนด์ชั้นนำระดับโลก เครือข่ายระดับโลก และความเชี่ยวชาญในฐานะผู้ให้บริการแบบครบวงจรทั้งแก่ผู้บริโภคและลูกค้าเชิงธุรกิจ การมีธุรกิจอย่างครบวงจรในอุตสาหกรรมพลังงานตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทำให้เราสามารถเลือกใช้ธุรกิจได้อย่างเหมาะสม รวมถึงต่อยอด และแลกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ในแนวทางที่จะพัฒนาตลาด ลดต้นทุน ตลอดจนช่วยสร้างการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

เชลล์ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนธุรกิจ ในกลุ่มธุรกิจที่ใช้วัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดคาร์บอนในปริมาณต่ำอย่างมีนัยสำคัญภายในต้นทศวรรษ 2030 โดยธุรกิจต้นน้ำจะยังคงเดินหน้าในการจัดหาแหล่งพลังงานเพื่อส่งมอบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยสร้างกระแสเงินสดและเพิ่มมูลค่าให้แก่ผู้ถือหุ้นที่ร่วมลงทุน ขณะเดียวกันก็เพิ่มการลงทุนในกลุ่มธุรกิจที่เติบโต เพื่อสร้างโอกาสในตลาดใหม่ๆ

ในระยะสั้น กลยุทธ์ของเชลล์คือการสร้างสมดุลให้กับธุรกิจต่างๆ ในแผนสัดส่วนธุรกิจ โดยลงทุนปีละ 5,000 – 6,000 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในกลุ่มธุรกิจเติบโต (ประมาณ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐในการทำตลาด และ 2,000 – 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในธุรกิจพลังงานทดแทนและโซลูชันส์ด้านพลังงาน), 8,000 – 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในกลุ่มธุรกิจเปลี่ยนผ่าน (ประมาณ 4,000 ล้านในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และ 4,000 – 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในธุรกิจเคมีภัณฑ์) และราว 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในกลุ่มธุรกิจต้นน้ำ

มร.เบน ฟาน เบอร์เดน (Ben van Beurden) ประธานกรรมการบริหาร บริษัท รอยัลดัทช์เชลล์

ใส่ความเห็น