วันอังคาร, มีนาคม 19, 2024
Home > Cover Story > เขื่อนแตกใน สปป.ลาว กับความมั่นคงพลังงานไทย?

เขื่อนแตกใน สปป.ลาว กับความมั่นคงพลังงานไทย?

ประเด็นว่าด้วยความมั่นคงด้านพลังงานของไทย หรือ energy security ดูจะเป็นกรณีที่ถูกท้าทายและตั้งคำถามอีกครั้งหลังจากเกิดเหตุการณ์ เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ในเมืองสนามชัย แขวงอัตตะปือ สปป.ลาว แตกเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความเสียหายทั้งต่อชีวิตประชาชนและทรัพย์สินจำนวนมาก แต่อาจเทียบไม่ได้ต่อความเชื่อมั่นในการเปิดให้กลุ่มทุนพลังงานจากนานาประเทศเข้าแสวงประโยชน์บนแผ่นดินของ สปป.ลาว ในอนาคต

ภายใต้ความมุ่งหมายที่จะสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของไทย ซึ่งสอดรับกับยุทธศาสตร์ของ สปป.ลาว ว่าด้วยการเป็น “แบตเตอรี่แห่งเอเชีย” ทำให้ในช่วงที่ผ่านมากลุ่มทุนจากไทย โดยความร่วมมือกับกลุ่มหลากหลายสัญชาติ ต่างเข้าลงทุนในโครงการสร้างเขื่อนตามแนวลำน้ำโขงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างเอิกเกริก ควบคู่กับโรงผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะถ่านหินด้วย

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งอยู่ที่ ตามแผนการพัฒนา สปป.ลาว ไปสู่การเป็น “แบตเตอรี่แห่งเอเชีย” สปป.ลาว มีโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการแล้ว 42 แห่งและอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 53 แห่ง ซึ่งหากการดำเนินการก่อสร้างเป็นไปตามกรอบเวลาที่วางไว้ ภายในปี 2563 สปป.ลาว จะมีจำนวนโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำมากถึง 90 แห่งและมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 26,000 เมกะวัตต์ต่อปี ขณะที่ประชากรจำนวน 7 ล้านคนของ สปป.ลาว มีความต้องการใช้ไฟฟ้าประมาณ 1,579 เมกะวัตต์เท่านั้น

เป้าหมายของโรงผลิตไฟฟ้าใน สปป.ลาว เหล่านี้ กว่าร้อยละ 80 ดำเนินไปเพื่อเติมเต็มความต้องการของไทย ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตของไทยเคยประเมินว่าจะมีความต้องการไฟฟ้าสูงถึงเกือบ 5 หมื่นเมกะวัตต์ในปี 2579 ซึ่งการมีผู้ผลิตไฟฟ้าที่พร้อมจำหน่ายให้ไทยอย่าง สปป.ลาว จึงเป็นสิ่งที่สอดรับกับความต้องการและตอบโจทย์ด้านพลังงานไฟฟ้าของไทยได้

ความเป็นไปของ สปป.ลาว และไทย ดูจะให้ภาพที่แตกต่างในมิติของการขับเคลื่อนนโยบายด้านพลังงานอยู่ไม่น้อยเลย เพราะในขณะที่สังคมไทยมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่รัฐไทยกลับไม่สามารถสร้างหลักประกันในความมั่นคงด้านพลังงานได้จากองคาพยพภายในของสังคมไทยเอง และต้องพึ่งพาอาศัยเพื่อนบ้านเป็นเสาค้ำยันความมั่นคงแทน

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการปฏิรูปพลังงานได้กำหนดแผนงานระยะ 5 ปี ระหว่างปี 2561-2565 เพื่อการปฏิรูป 6 ด้าน ซึ่งประกอบด้วย การสร้างธรรมาภิบาลการบริหารจัดการพลังงานของประเทศ การพัฒนาด้านไฟฟ้าเพื่อรักษาเสถียรภาพและสร้างความมั่นคงพลังงานประเทศ การสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมี โดยเฉพาะอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติและสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่จากปิโตรเคมี

การสนับสนุนพลังงานทดแทนเพื่อส่งเสริมการแข่งขันและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ การอนุรักษ์และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดต้นทุนพลังงานของประเทศ และกำหนดทิศทางการพัฒนา การลงทุน และการใช้เทคโนโลยีใหม่ในการพัฒนาด้านพลังงานของประเทศ

ประเด็นที่น่าสนใจจากแผนปฏิรูปพลังงานดังกล่าวในด้านหนึ่งอยู่ที่การปรับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ที่คํานึงถึงความสมดุลรายภาค และเพิ่มความมั่นคงของระบบไฟฟ้าสำหรับจุดที่มีความเสี่ยงและมีความสำคัญต่อประเทศ ส่งเสริมการแข่งขันในกิจการไฟฟ้า และส่งเสริมกิจการไฟฟ้าเสรีที่ใช้พลังงานทดแทนที่ผลิตและซื้อขายไฟฟ้ากันเองภายในชุมชน และปรับโครงสร้างการบริหารกิจการไฟฟ้าโดยบูรณาการหน่วยงานกิจการไฟฟ้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการไฟฟ้าและการลงทุนของประเทศ

ขณะเดียวกันก็ปฏิรูประบบบริหารจัดการเชื้อเพลิงไม้โตเร็วสำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวล ส่งเสริมการนำขยะไปเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้า ส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟอย่างเสรี และปฏิรูปโครงสร้างการใช้พลังงานภาคขนส่งเพื่อสร้างกรอบและโครงสร้างการใช้พลังงานภาคขนส่งที่เหมาะสมกับประเทศ

โจทย์ใหญ่ของแผนปฏิรูปดังกล่าวอยู่ที่ความสามารถของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามแผนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การพัฒนาด้านพลังงานของประเทศเป็นรูปธรรมมากกว่าที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับแผนการจัดหาพลังงานใหม่ทั้งไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน และการปรับโครงสร้างบริหารกิจการไฟฟ้าและส่งเสริมกิจการไฟฟ้าเสรีที่ใช้พลังงานทดแทนในอนาคต

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานโยบายพลังงานของไทยดูจะเป็นประเด็นเปราะบางและสร้างความคลุมเครือให้กับผู้เกี่ยวข้องแต่ละระดับมากที่สุด และทำให้พัฒนาการด้านพลังงานของไทยโดยเฉพาะพลังงานทดแทนอยู่ในภาวะชะงักงัน จากผลของการกำหนดสถานะที่เป็นทางเลือกตัวช่วย หรืออยู่ในฐานะที่เป็นภาระต่อทิศทางการพัฒนาประเทศอย่างไร

ข้อมูลที่น่าสนใจในช่วงเวลาที่ผ่านมาอยู่ที่สังคมไทยพึ่งพาก๊าซธรรมชาติมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าทั้งระบบในสัดส่วนที่มากถึงกว่าร้อยละ 70 ซึ่งเป็นการพึ่งพาโครงสร้างการใช้ก๊าซธรรมชาติในกิจกรรมเพื่อการผลิตพลังงานไฟฟ้าที่สูงมาก และนำไปสู่ความอ่อนไหวและสุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดวิกฤตพลังงานได้ไม่ยาก

ขณะเดียวกันการเข้าไปแสวงประโยชน์ในประเทศเพื่อนบ้านทั้งใน สปป.ลาว เมียนมา และกัมพูชา เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับสังคมไทยกำลังถูกตั้งคำถามถึงความรับผิดชอบจากผลกระทบที่เกิดขึ้นในระดับที่เพิ่มมากขึ้นทุกขณะ และอาจนำไปสู่วิกฤตความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในอนาคต ซึ่งย่อมไม่เป็นสิ่งพึงประสงค์อย่างแน่นอน

ภายใต้แผนปฏิรูปพลังงานของไทยที่ระบุถึงการสร้างธรรมาภิบาลการบริหารจัดการพลังงานของประเทศ สิ่งหนึ่งที่ต้องพิจารณาและกำลังถูกตั้งคำถามจากผลพวงของเหตุการณ์ “เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย” ก็คือผู้ลงทุนและธนาคารที่เป็นผู้ปล่อยกู้ในโครงการเหล่านี้ ตลอดไปจนถึงบริษัทที่รับเหมาก่อสร้าง และบริษัทที่ศึกษาผลกระทบและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ต้องมีส่วนในความรับผิดชอบนี้หรือไม่ หรือควรมีการแสดงออกด้วยมาตรฐานจริยธรรมต่อเหตุดังกล่าวนี้อย่างไร

ข้อสังเกตที่แหลมคมและสะเทือนต่อภาพลักษณ์ของไทยในห้วงเวลานับจากนี้ เป็นกรณีที่ไม่อาจละเลยได้ และกำลังขยายบริบทที่มีนัยความหมายกว้างขวางไปมากกว่าเพียงประเด็นว่าด้วยความมั่นคงด้านพลังงาน หากแต่กำลังเป็นภาพสะท้อนตรรกะวิธี และมิติเชิงโครงสร้างของการพัฒนาและแสวงประโยชน์ของทั้งกลไกภาครัฐและเอกชนไทยไปในคราวเดียวกัน

หากโศกนาฏกรรม “เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย” เป็นภาพสะท้อน “ราคาที่ต้องจ่าย” สำหรับยุทธศาสตร์และนโยบาย “แบตเตอรี่แห่งเอเชีย” ที่ สปป.ลาว มุ่งหมายจะก้าวไป อีกด้านหนึ่งของเหตุการณ์ดังกล่าว ก็น่าที่จะให้ภาพที่ช่วยให้สังคมไทยได้ฉุกคิดถึงความมั่นคงด้านพลังงานของไทยว่ามีต้นทุนและแนวทางในการแก้ไขอย่างไร เพราะต้นทุนสะสมของปัญหาย่อมนำไปสู่แนวทางการแก้ไขปัญหาที่มีมูลค่าราคาสูงขึ้น ขณะที่การชะลอปัญหาย่อมไม่ใช่วิถีของการแก้ไขปัญหาที่พึงประสงค์

ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าสังคมไทยจะพิจารณาความมั่นคงด้านพลังงานในฐานะที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้าหรือปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องเร่งแสวงหาทางออกและทางเลือก ก่อนที่ปัญหาที่ว่านี้จะล่มสลายถล่มลงมาท่วมทับสังคมจนเกิดความสูญเสียที่ไม่อาจเรียกร้องคืนได้เสียก่อน

ใส่ความเห็น