วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > อุตสาหกรรมยานยนต์กระอัก พิษสงครามการค้า-เศรษฐกิจโลกทรุด

อุตสาหกรรมยานยนต์กระอัก พิษสงครามการค้า-เศรษฐกิจโลกทรุด

แม้พิษจากสงครามการค้าระหว่างสองประเทศมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะสร้างผลกระทบเป็นวงกว้างและในหลายระนาบต่อประเทศคู่ค้า โดยที่ทั้งสองประเทศจะให้เหตุผลในการฟาดฟันกันด้วยกลยุทธ์ทางภาษีว่า ต้องการทวงถามความยุติธรรมทางการค้าระหว่างกันก็ตาม

กระนั้นไทยในฐานะประเทศคู่ค้าและไม่ได้มีบทบาทสำคัญในศึกการค้าครั้งนี้กลับได้รับผลกระทบไม่น้อย เมื่อสินค้าหลายชนิดถูกชะลอการสั่งซื้อ นั่นทำให้ตัวเลขการส่งออกของไทยลดลงอย่างน่าใจหาย ผลกระทบเป็นระลอกคลื่นนี้สะท้อนกลับมาภายในประเทศอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

แน่นอนว่า ไม่ใช่เพียงปัจจัยภายนอกจากสงครามการค้าเท่านั้นที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม เมื่อปัจจัยภายในประเทศอย่างกำลังซื้อของคนไทยที่ลดลง ความขัดแย้งทางการเมืองที่ส่งผลต่อความไม่มั่นใจของนักลงทุน หนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้น และความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการอนุมัติสินเชื่อ เป็นมูลเหตุที่ดูจะซ้ำเติมให้สถานการณ์แย่ลง

แม้ว่าภาครัฐจะพยายามหาแนวทางการแก้ปัญหาด้วยการเติมเงินเข้ามาในระบบ โดยมุ่งหวังให้ฟันเฟืองทางเศรษฐกิจทุกตัวสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้บ้าง ทว่า ผลที่ได้รับกลับเป็นเพียงการสปาร์กให้เครื่องยนต์ติดและทำงานได้เพียงระยะสั้นๆ เท่านั้น

และสิ่งที่น่ากังวลใจในเวลานี้ น่าจะเป็นภาคการผลิตที่เริ่มแสดงอาการของปัญหาชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ยอดการผลิตและยอดการส่งออกลดลง โดยสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์ในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ยังน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะยอดการผลิตและการส่งออกรถยนต์ของไทยในปีนี้มีโอกาสที่จะหลุดจากเป้าหมายเดิม หลังมีปัจจัยลบรุมเร้าทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะปัญหาจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน รวมไปถึงการขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ที่ผลิตจากยุโรป ที่ทำให้ยอดขายรถยนต์ทั่วโลกรวมถึงไทยปรับตัวลดลง

ทว่าข้อมูลที่น่าสนใจคือรายงานยอดขายรถยนต์ของโลกในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ติดลบ 5.7 เปอร์เซ็นต์ และมียอดการผลิตติดลบ 5.8 เปอร์เซ็นต์ และสำหรับประเทศไทยตัวเลขการส่งออกรถยนต์ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ติดลบ 20 เปอร์เซ็นต์

โดยยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือนสิงหาคม 2562 อยู่ที่ 81,549 คัน ลดลง 20.45 เปอร์เซ็นต์ จากเดือนสิงหาคม 2561 ซึ่งลดลงเกือบทุกตลาด เนื่องจากยอดขายรถยนต์ในประเทศคู่ค้าลดลงจากผลกระทบเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงเพราะสงครามการค้า ขณะที่มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 45,694.98 ล้านบาท ลดลง 18 เปอร์เซ็นต์ จากเดือนสิงหาคม 2561

ทั้งนี้ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2562 (ม.ค.-ส.ค. 2562) มียอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปจำนวน 723,561 คัน ลดลง 4.12 เปอร์เซ็นต์ จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 371,229.70 ล้านบาท ลดลง 6.37 เปอร์เซ็นต์ จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561

ด้านยอดขายรถยนต์ในประเทศเดือนสิงหาคมปีนี้ มีจำนวน 80,838 คัน ลดลง 6.9 เปอร์เซ็นต์ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความไม่แน่ใจต่อเศรษฐกิจทำให้ประชาชนบางส่วนยังไม่กล้าตัดสินใจที่จะซื้อทรัพย์สินเพิ่ม และอีกหนึ่งเหตุผลต่อคือ ความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการอนุมัติสินเชื่อเช่าซื้อ จึงทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งถูกปฏิเสธสินเชื่อ 20-30 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตาม ความเข้มงวดของการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงินมาจากการขอความร่วมมือจากธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ต้องการป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในระบบในอนาคต

แม้ว่าจะล่วงเลยเข้าเดือนตุลาคมมาแล้ว ทว่าตัวเลขของยอดขายในเดือนกันยายนยังไม่สามารถสรุปได้ ซึ่งยังต้องจับตาดูกันต่อไปว่าสถานการณ์ยอดขายรถยนต์ในประเทศจะยังติดลบต่อไปหรือไม่ เมื่อดูทิศทางและกระแสลมทางเศรษฐกิจแล้วยังไม่เห็นปัจจัยบวกที่จะช่วยฉุดให้ตัวเลขเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

ยอดตัวเลขการผลิตและการขายทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกที่ติดลบ น่าจะสร้างความกังวลใจต่อผู้ประกอบการค่ายรถยนต์ไม่น้อย เพราะนั่นหมายถึงเม็ดเงินรายได้และผลกำไรที่จะลดลงตามไปด้วย

และปัจจุบันบางค่ายเริ่มหาทางลดคอร์สค่าใช้จ่ายที่จำเป็นไปบ้างแล้ว แน่นอนว่าสถานการณ์นี้ผู้ที่อาจจะได้รับผลมากที่สุดคือ “แรงงาน” ผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่แม้จะอยู่ในอันดับสุดท้ายแต่กลับมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจมากที่สุด

เพราะในปีนี้มีค่ายรถยนต์ 2 ค่ายที่มีโครงการยกเลิกพนักงานสัญญาจ้าง รวมไปถึงการยกเลิกการทำงานล่วงเวลา เมื่อก้อนหินกระทบน้ำระลอกคลื่นที่เกิดขึ้นขยายวงออกไปกระทบกับทุกสรรพสิ่งที่อยู่ในวงจรอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยงได้

การปรับตัวของค่ายรถยนต์ในประเทศไทยอาจส่งผลกระทบต่อบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนหรือกลุ่มซับพลายเออร์ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าในอนาคตอาจมีการปรับลดค่าจ้างแรงงานหรือลดจำนวนพนักงาน ทว่าหากภาคอุตสาหกรรมไทยปรับตัวให้พร้อมรับกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของตลาดโลก การปรับลดค่าจ้างแรงงานหรือลดจำนวนพนักงานอาจไม่เกิดขึ้น

เมื่อปัจจุบันตลาดโลกกำลังให้ความสำคัญกับรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น และหากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยอยู่ในช่วงอิ่มตัว หรือมีบทบาทลดลงในห่วงโซ่อุปทาน การปรับตัวจากบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์แบบเดิมมาเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รถยนต์ไฟฟ้า อาจเป็นทางออกที่ดี

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในระยะ 3 ปีข้างหน้าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สู่การลงทุนห่วงโซ่อุปทานรถยนต์ไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้า IOT (Internet of Things) จะส่งผลให้การขยายตัวของการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไทยพลิกกลับมาบวกได้ที่ร้อยละ 0.2 ในปี 2565 คิดเป็นมูลค่าส่งออกส่วนเพิ่มรวม 1,298 ล้านดอลลาร์ จากที่คาดว่าจะติดลบต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาดังกล่าว

เมื่อการลงทุนผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รถยนต์ไฟฟ้าน่าจะได้รับแรงหนุนสำคัญจากค่ายรถที่ต้องลงทุนตามเกณฑ์การได้รับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนที่ต้องมีการผลิตชิ้นส่วนสำคัญเกี่ยวกับการขับเคลื่อนไฟฟ้า ในขณะที่ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เครื่องใช้ไฟฟ้า IOT ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า ในฐานะที่ไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาคนี้

ทั้งนี้ การส่งเสริมกิจการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าของบีโอไอ สอดคล้องกับความเปลี่ยนเปลงที่กำลังเกิดขึ้นบนโลก เมื่อสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) เปิดเผยรายงาน “Global EV Outlook 2019” ในปี 2561 มียอดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกอยู่ที่ 5.1 ล้านคัน และเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวจากปี 2560 ที่ 2 ล้านคัน โดยจีนเป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดในโลก ตามด้วยยุโรปและสหรัฐอเมริกา

แม้จะยังไม่ชัดเจนว่า บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนจะได้รับผลกระทบจากการปรับตัวของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์หรือไม่ หากแต่มีการปรับเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต อาจเป็นสิ่งที่ดีกว่า เมื่อสถานการณ์ของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ยังไม่มีใครให้คำตอบได้ว่าจะดีขึ้นเมื่อไร

ใส่ความเห็น