วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > อีลิทปลุกอสังหาฯ เวิร์ก-ไม่เวิร์ก ไรมอนแลนด์นำร่อง 3 คอนโดหรู

อีลิทปลุกอสังหาฯ เวิร์ก-ไม่เวิร์ก ไรมอนแลนด์นำร่อง 3 คอนโดหรู

การจับมือเซ็นสัญญาความร่วมมือระหว่างบริษัท ไรมอนแลนด์ จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด (ทีพีซี) เพื่อเป็นผู้แทนจำหน่ายบัตรสมาชิกพิเศษ Elite Flexible One รายแรก ถือเป็นการนำร่องวัดความทรงพลังของบัตรเอกสิทธิ์พิเศษชั้นนำของประเทศไทย ว่าจะต่อยอดขยายฐานลูกค้าต่างชาติปลุกธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้จริงหรือไม่

ที่สำคัญ ยิ่งต้องลุ้นหนักมากขึ้น เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กลับมาปะทุรอบใหม่และกระจายตัวในหลายพื้นที่มากกว่า 40 จังหวัด มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นทุกวัน จนดูเหมือนว่า สถานการณ์ทุกด้านกำลังอยู่ในจุดสุ่มเสี่ยง หากไม่สามารถควบคุมการระบาดให้จบภายใน 1 เดือนอย่างที่ รศ. นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์หมอคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุไว้

เพราะหากคุมไม่ได้ ประเทศไทยจะมีจำนวนการติดเชื้อสูงสุดต่อวันราว 940 คน สูงกว่าเดิม 5 เท่า และจะยาวนานกว่าเดิม 2 เท่า

ขณะเดียวกัน ผลกระทบต่อเศรษฐกิจเริ่มปรากฏชัด จากเดิมที่หลายๆ ธุรกิจต่างคาดการณ์จะฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดรอบแรก

ล่าสุด กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้สรุปสถานการณ์ท่องเที่ยว 11 เดือนแรกของปี 2563 ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤศจิกายน พบว่า ภาคท่องเที่ยวไทยมีรายได้รวม 760,000 ล้านบาท ลดลง 1.93 ล้านล้านบาท หรือติดลบ 71.75 % จากช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทย 6.69 ล้านคน ลดลง 29.27 ล้านคน หรือติดลบ 81.38% จากช่วงเดียวกันของปี 2562

เฉพาะเดือนพฤศจิกายน 2563 มีจำนวน 3,065 คน เพิ่มขึ้น 2.5 เท่า เมื่อเทียบกับเดือน ต.ค. 2563 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในเดือน ธ.ค. 2563 เนื่องจากชาวต่างชาติสามารถขอวีซ่าประเภทนักท่องเที่ยวที่มีข้อจำกัดน้อยกว่า โดยรายได้รวมจากตลาดต่างประเทศอยู่ที่ 332,000 ล้านบาท ลดลง 1.38 ล้านล้านบาท หรือติดลบ 80.59% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562

ส่วนตลาดไทยเที่ยวไทยมีจำนวนผู้เดินทางทั้งสิ้น 78.32 ล้านคน-ครั้ง ลดลง 75.78 ล้านคน-ครั้ง หรือติดลบ 49.17% มีเม็ดเงินรวม 428,000 ล้านบาท ลดลง 552,000 ล้านบาท หรือติดลบ 56.33%

แต่ทว่า ปัญหาการแพร่ระบาดระลอกใหม่กำลังทำให้สถานการณ์การท่องเที่ยววิกฤตอีกครั้งและอาจต้องรอระยะเวลาอย่างน้อยอีก 2-3 เดือน ทั้งการเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศและการเดินทางข้ามจังหวัดในกลุ่มเมืองท่องเที่ยว ซึ่งมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก เช่น ระยอง ชลบุรี ภูเก็ต กระบี่

วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2564 ยังมีความเสี่ยงจากการกลับมาระบาดรอบสองของโควิด-19 ความขัดแย้งทางการเมือง ความผันผวนทางเศรษฐกิจของทั่วโลก ทำให้การฟื้นฟูภาคธุรกิจชะลอตัว โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจโรงแรม

ในส่วนตลาดที่อยู่อาศัย ผู้ประกอบการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยต่างชะลอการเปิดโครงการใหม่ทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจจากโควิด-19 เนื่องจากยอดขายชะลอตัวจากผลกระทบของการประกาศมาตรการป้องกันการเก็งกำไรธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หรือมาตรการแอลทีวี และเมื่อเกิดการล็อกดาวน์ต้นปี 2563 ยอดขายที่อยู่อาศัยหดตัวมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดคอนโดมิเนียมเพราะชาวต่างชาติไม่สามารถเดินทางมาได้ทำให้ยอดขายในส่วนนี้หดหายไป

สำหรับปี 2564 คาดการณ์จำนวนหน่วยซัปพลายเปิดขายใหม่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.9 และมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 ซึ่งเป็นการเพิ่มจากฐานที่ต่ำในปี 2563 โดยมีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นผู้พัฒนาหลัก และจำนวนหน่วยเหลือขายโครงการอาคารชุดจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.5 เนื่องจากยังประสบปัญหากำลังซื้อของชาวต่างชาติที่จะยังหดตัวจนถึงกลางปี 2564

ดังนั้น ในสถานการณ์ที่รัฐบาลต้องการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวในกลุ่มชาวต่างชาติภายใต้มาตรการคุมเข้มการแพร่ระบาดบวกกับความพยายามกระตุ้นตลาดคอนโดมิเนียมที่เจอปัญหาหนักหน่วงที่สุด จึงเกิดสูตรผสมผสานสร้างโครงการบัตรสมาชิกพิเศษ Elite Flexible One เพื่อเจาะกลุ่มนักธุรกิจและนักลงทุนต่างชาติระดับพรีเมียม

เงื่อนไขคือ ต้องมีการลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ประเภทคอนโดมิเนียมในประเทศไทยที่สร้างแล้วเสร็จและพร้อมเข้าอยู่อาศัย มูลค่ารวมไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท ทั้งในรูปแบบ 1 ยูนิตราคา 10 ล้านบาท หรือหลายยูนิตราคารวมกัน 10 ล้านบาท หรือจะมีทั้งโครงการในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด มูลค่ารวมกัน 10 ล้านบาท แต่ห้ามจำนอง จำหน่าย โอน ภายใน 5 ปี โดยกำหนดระยะเวลาโปรแกรมการขายบัตรตั้งแต่ 1 มกราคม 2564-31 ธันวาคม 2565 รวม 2 ปี ซึ่งทีพีซีตั้งเป้ายอดขายไม่ต่ำกว่า 100 ยูนิต มูลค่ารวมกว่า 1,000 ล้านบาท

ด้านสิทธิประโยชน์ของผู้ถือบัตร ได้แก่ วีซ่าการเข้า-ออกประเทศไทย 5 ปี (Privilege Entry Visa) บริการสนามบิน EPA & Premium Lane 12 ครั้งต่อปี บริการสนามบิน ห้องรับรองผู้โดยสารขาออกและรถยนต์ไฟฟ้า 6 ครั้งต่อปี ผู้ประสานงานส่วนบุคคล และได้สิทธิ์เดินทางเข้าประเทศอย่างรวดเร็วผ่านโครงการ Tem-Q ที่ได้รับอนุมัติอย่างเป็นทางการจาก ศบค

สมชัย สูงสว่าง ผู้จัดการใหญ่ ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด (ทีพีซี) ผู้ดำเนินงานโครงการบัตรสมาชิกไทยแลนด์ อีลิท กล่าวว่า โครงการ Elite Flexible One น่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนชาวต่างชาติ โดยเฉพาะนักลงทุนจากประเทศจีน ฮ่องกง เยอรมนี นอกจากช่วยกระตุ้นตลาดคอนโดมิเนียมแล้วจะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาสมัครสมาชิกบัตรไทยแลนด์ อีลิท การ์ด เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันมีสมาชิกรวม 12,084 ราย แบ่งเป็นสมาชิกในภูมิภาคเอเชีย 60% ยุโรป 30% อเมริกา 9% และอื่นๆ 1% ซึ่งในรอบปีงบประมาณ 2564 บริษัทตั้งเป้าเพิ่มสมาชิกใหม่ 3,000 คน

ทั้งนี้ มีผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์สนใจจะเข้าร่วมในโครงการกว่า 30 ราย และทีพีซีประเดิมลงนามสัญญาความร่วมมือกับบริษัท ไรมอนแลนด์ จำกัด (มหาชน) เป็นรายแรก โดยนำเสนอคอนโดมิเนียมสร้างเสร็จพร้อมอยู่ 3 โครงการหรู คือ คอนโดมิเนียมระดับลักชัวรี The Lofts Silom คอนโดมิเนียมริมแม่น้ำเจ้าพระยาย่านเจริญนคร The River และคอนโดมิเนียมใจกลางเมืองบนถนนสุขุมวิท The Diplomat 39 มูลค่าต่อยูนิตตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป

เบื้องต้น ไรมอนแลนด์ตั้งเป้ายอดขาย 200 ล้านบาท ก่อนขยายแผนระบายคอนโดมิเนียมที่อยู่ระหว่างการขาย เพื่อรักษากระแสเงินสดเพิ่มเติมในปี 2564 ซึ่งทั้งหมดเป็นคอนโดมิเนียมสร้างเสร็จพร้อมเข้าอยู่

งานนี้ หากไรมอนแลนด์สามารถสร้างยอดขายและค่ายอสังหาฯ แห่เข้าร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้น นั่นย่อมหมายถึงไทยแลนด์ อีลิท การ์ด จะพลิกกลับมาเป็นกลไกสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกครั้ง

 

ย้อนรอย Thailand Privilege Card

โครงการ Thailand Elite Card เริ่มต้นขึ้นในช่วงปี 2546 สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร โดยเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2546 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ดำเนินโครงการ “Thailand Privilege Card” ในรูปบริษัทจำกัด ชื่อ บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด (บจก. TPC) มี ททท. เป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 100 และใช้เงินงบประมาณเป็นทุนจดทะเบียนจำนวน 1,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีการชำระทุนจดทะเบียนไปแล้ว 700 ล้านบาท

เวลานั้นรัฐบาลคาดหวังสูงกับโครงการ มีการเปิดตัวอย่างอลังการและประกาศจะให้สมาชิกทั้งหลายได้รับสิทธิประโยชน์อย่างเต็มที่ เช่น การใช้บริการสปา สนามบิน สนามกอล์ฟ ฟรีตลอดชีพ สามารถโอนสมาชิกต่อให้ลูก รวมทั้งให้สิทธิ์การเดินทางเข้า-ออกประเทศ โดยยกเว้นวีซ่า 5 ปี อำนวยความสะดวกด้านการลงทุนให้สมาชิกที่มาทำธุรกรรมกับภาครัฐและเอกชน สิทธิถือครองที่ดินได้ 10 ไร่ บริการรับ-ส่งจากสนามบิน

ทว่า สิทธิประโยชน์หลายข้อไม่สามารถทำได้จริง และยุคที่จุฑามาศ ศิริวรรณ อดีตผู้ว่าการ ททท. เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ถูกตัวแทนจากสำนักข่าว CNN บุกทวงเงินค่าเช่าเวลาโฆษณาประมาณ 200 ล้านบาท ถึงทำเนียบรัฐบาล จนเป็นข่าวฉาวโฉ่ทั่วโลก ประกอบกับจำนวนสมาชิกไม่ได้ตามเป้าหมาย ทั้งที่ปีแรกเปิดตัวอีลิท การ์ด มีสมาชิกสมัครใช้บริการมากถึง 139 ราย และเพิ่มขึ้นเป็น 906 รายในปี 2548 แต่ปี 2551 กลับมียอดสมาชิกเพิ่มขึ้นเพียง 71 ราย และปี 2552 เพิ่มขึ้นเพียง 1 รายเท่านั้น

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย แต่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีมติเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2555 ยืนยันให้ดำเนินโครงการบัตรสมาชิกพิเศษ (Thailand Privilege Card) ต่อไปตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ เพื่อเป้าหมาย 3 ข้อ คือ 1. สร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศเติบโตแบบก้าวกระโดด

2. ขยายตลาดนักท่องเที่ยวไปยังกลุ่มที่มีการใช้จ่ายสูง ได้แก่ กลุ่มไฮเอนด์ กลุ่มนักธุรกิจ กลุ่มนักลงทุน และกลุ่มพำนักระยะยาว (Long Stay) และ 3. กระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวประเทศไทยเพิ่มขึ้น

ลักษณะการดำเนินงาน คือ จัดทำบัตรสมาชิกพิเศษ หรือ Thailand Privilege Card ประเภทต่างๆ จนล่าสุด มีจำนวนสมาชิกมากกว่า 12,000 คน

ประเทศที่มีสมาชิกสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส บังกลาเทศ ไต้หวัน ออสเตรเลีย และรัสเซีย

ใส่ความเห็น