วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > ห้างยักษ์ลุยศึกดีลิเวอรี่ แข่งเดือดส่งฟรี แจกหม้อ

ห้างยักษ์ลุยศึกดีลิเวอรี่ แข่งเดือดส่งฟรี แจกหม้อ

โควิดระลอก 3 ส่งผลกระทบรุนแรงชนิดที่ยักษ์ใหญ่ 2 ค่าย “โลตัส-บิ๊กซี” ต่างเปิดสงครามดีลิเวอรี่แย่งชิงกลุ่มลูกค้าอย่างดุเดือด หลังจากรัฐบาลยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาด ทั้งยอดผู้ติดเชื้อที่สูงกว่า 2,000 รายต่อวัน มียอดผู้เสียชีวิตทุกวันและเกิดคลัสเตอร์แพร่ระบาดต่อเนื่อง รวมถึงตลาดสดขนาดใหญ่เริ่มปรากฏจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นด้วย

แน่นอนว่า จำนวนลูกค้าทรุดฮวบชัดเจน เพราะผู้คนส่วนใหญ่จำเป็นต้องหยุดกิจกรรมนอกบ้านและหยุดเดินทางมาจับจ่ายซื้อสินค้า รวมถึงภาครัฐออกมาตรการควบคุมเวลาเปิด-ปิดให้บริการ โดยศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศเปิดเวลาปกติ 11.00 น. แต่ปรับเวลาปิดเป็น 21.00 น. ซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์ท ให้บริการถึง 21.00 น. และร้านค้าสะดวกซื้อให้บริการเวลา 04.00 – 23.00 น.

ขณะที่ร้านอาหารในศูนย์การค้าสามารถนั่งรับประทานอาหารในร้านได้ 25% ของที่นั่ง โดย 1 โต๊ะ นั่งได้แค่ 1 คน และนั่งได้ถึง 21.00 น. งดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมากและให้พนักงาน Work From Home เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดระลอกใหม่

นั่นส่งผลให้ช่องทางออนไลน์และบริการดีลิเวอรี่กลายเป็นกลยุทธ์เดียวที่จะกระตุ้นการจับจ่ายให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังก่อนปิดงบประจำปี 2564

ก่อนหน้านี้ สมาคมผู้ค้าปลีกไทยร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยสำรวจความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกไทยในเดือนเมษายน โดยผู้ร่วมตอบแบบสอบถามประกอบด้วยร้านค้าปลีกสินค้าทั่วประเทศ มีช่องทางจำหน่ายรวมกันกว่า 23,000 แห่ง และร้านค้าปลีก ภัตตาคาร ร้านอาหารที่มีช่องทางบริการกว่า 6,000 แห่ง ปรากฏว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก (Retail Sentiment Index) ปรับลดลงกว่า 43%

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการต่อการเติบโตของยอดขายสาขาเดิม (Same Store Sale Growth: SSSG) มีทิศทางลดลงกว่า 40% สะท้อนให้เห็นว่ายอดขายสาขาลดลง ทั้งยอดซื้อต่อบิลและความถี่ในการจับจ่าย โดยเฉพาะดัชนีลดลงชัดเจนในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคใต้ ซึ่งเป็นสถานที่แพร่เชื้อหลัก

เมื่อจำแนกตามประเภทร้านค้าปลีก ดัชนีลดลงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50 ในทุกประเภทร้านค้าปลีกและผู้ประกอบการที่บริหารร้านค้าปลีกกว่า 29,000 แห่ง คาดการณ์ยอดขายจะได้ผลกระทบมากกว่า 15-40% เนื่องจากโควิดระลอกใหม่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างหนัก โดยเฉพาะในเขตควบคุมพิเศษสีแดงเข้ม

ขณะเดียวกัน ผลการดำเนินงานของห้างค้าปลีกรายใหญ่เติบโตลดลงกว่าปี 2563 จากเดิมคาดการณ์ยอดขายจะเริ่มฟื้นตัวในปี 2564 โดยบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC เจ้าของธุรกิจค้าปลีก “บิ๊กซี” รายงานผลประกอบการงวดไตรมาส 1 ปี 2564 มีกำไรสุทธิรวม 1,013 ล้านบาท ลดลง 20.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รายได้รวมลดลงเหลือ 35,616 ล้านบาท ลดลง 6,712 ล้านบาท หรือ 15.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการลดลงของยอดขายในกลุ่มสินค้าและบริการทางบรรจุภัณฑ์ กลุ่มสินค้าและบริการทางอุปโภคบริโภค และกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ หรือ “บิ๊กซี”

ด้านบริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) ไตรมาส 1 มีรายได้ทั้งหมด 133,431 ล้านบาท เติบโตลดลง 8.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่น มีรายได้รวม 70,450 ล้านบาท ลดลง 15% ส่วนกลุ่มค้าส่งแบบชำระเงินสดและบริการตนเองของบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO ยอดขายอยู่ที่ 55,878 ล้านบาท ลดลง 0.48%

ทั้งสองค่ายใหญ่จึงต้องเร่งพลิกฟื้นรายได้ โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ ช่องทางโซเชียลมีเดีย และเพิ่มจุดแข็งด้านบริการดีลิเวอรี่ ทั้งการไลฟ์สดขายสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป อาหารพร้อมรับประทาน เครื่องใช้ไฟฟ้า ตั้งแต่เครื่องปิ้งขนมปัง ไมโครเวฟ พัดลม ทีวี ไปจนถึงอุปกรณ์ชิ้นใหญ่อย่างเครื่องปรับอากาศ ไม่เว้นแม้กระทั่งผลไม้ราคาแพงอย่างทุเรียนหมอนทองเกรดส่งออก ซึ่งได้รับผลตอบรับดีเยี่ยม พร้อมอัดโปรโมชั่นลดราคาพิเศษ และบริการส่งฟรีถึงบ้านลูกค้าแบบด่วนๆ ภายในเวลา 1 ชั่วโมง

นายปฐพงศ์ เอี่ยมสุโร รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ห้างค้าปลีกในกลุ่มบีเจซี กล่าวว่า บริษัทขยายช่องทางจำหน่ายภายใต้แคมเปญ “แอปบิ๊กซี-ไลน์-โทรมาช้อป” ส่งฟรีถึงบ้าน ตลอดเดือนมิถุนายนนี้ เมื่อลูกค้าสั่งซื้อสินค้าครบ 555 บาทต่อใบเสร็จ เพื่อรองรับความต้องการสั่งสินค้าที่จะเพิ่มมากขึ้นในช่วง Work from Home นอกจากนี้ จับมือกับพันธมิตร ได้แก่ AIS, Blue Card, 3BB และ Rabbit Rewards ให้ลูกค้าใช้คะแนนสะสมเพียง 5 คะแนน แลกส่วนลดบิ๊กซีช้อปปิ้งออนไลน์ได้ทันที 55 บาท

ที่สำคัญ บิ๊กซีรุกขยายฐานดีลิเวอรี่ผ่านมินิบิ๊กซีทุกสาขา ซึ่งล่าสุดมีสาขาทั่วประเทศมากกว่า 1,200 แห่ง โดยให้ลูกค้าแอดไลน์มินิบิ๊กซีสาขาใกล้บ้าน เพื่อสั่งซื้อสินค้าและบริการส่งฟรี เมื่อออร์เดอร์ครบ 200 บาท

ส่วนโลตัส นอกจากบริการดีลิเวอรี่ฟรีถึงบ้านแล้ว ทีมการตลาดพยายามใช้กลยุทธ์นำเสนอ “กิมมิก”กระตุ้นการจับจ่ายหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ การแจกโค้ดลดราคาสินค้าแยกตามกลุ่มสินค้าหรือแยกตามแบรนด์ต่างๆ เช่น กลุ่มเครื่องดื่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า นม แจกโค้ดในวันต่างๆ เช่น วันหวยออก Lottery Deal และจับมือกับ Shopee แจกโค้ดส่วนลดต่างๆ

ล่าสุด โลตัสงัดแคมเปญ Lotus’s fan day เมื่อช้อปออนไลน์ มีสิทธิ์รับของขวัญ 3 ต่อ ต่อที่ 1 ส่งฟรีทันที ไม่ต้องใช้โค้ดใดๆ เมื่อช้อปครบ 2,000 บาท ต่อที่ 2 แจกส่วนลดราคาสินค้า 200 บาท เมื่อช้อปครบ 2,500 บาท และใส่โค้ด LTD200 ต่อที่ 3 แจกฟรีหม้อหุงข้าว TEFAL มูลค่า 2,690 บาท สำหรับผู้ที่มียอดสั่งซื้อสูงสุด 1 รางวัล โดยระบุว่าเป็นโปรโมชั่นพิเศษที่จัดเตรียมไว้เดือนละ 1 ครั้ง และจะหมุนเวียนแคมเปญใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง

ที่น่าจับตาก็คือ โลตัสมีเครือข่ายที่สามารถ Synergy กัน ทั้งร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น ซีพีเฟรชมาร์ท และศูนย์ค้าส่งแม็คโคร ภายใต้อาณาจักรค้าปลีกของกลุ่มซีพี และทุกแบรนด์ต่างเร่งบุกบริการดีลิเวอรี่ส่งฟรีทั้งสิ้น ซึ่งฝ่ายคู่แข่งอย่าง “บิ๊กซี” ของบริษัทแม่ทีซีซีกรุ๊ป ไม่มีทางยอมเสียส่วนแบ่งรายได้เช่นกัน

สงครามดีลิเวอรี่ของ 2 ค่ายค้าปลีกยักษ์ใหญ่จึงไม่มีฝ่ายใดยอมถอยง่ายๆ แน่

ใส่ความเห็น