วันพุธ, เมษายน 17, 2024
Home > Cover Story > ห้างปรับตัวลุ้น “ช้อปดีมีคืน” พลิกสภาพรายได้ติดลบ

ห้างปรับตัวลุ้น “ช้อปดีมีคืน” พลิกสภาพรายได้ติดลบ

ธุรกิจศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าเริ่มกลับมาคึกคัก หลังศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ผ่อนคลายการเปิดให้บริการได้อีกครั้ง แต่ยังไม่เต็ม 100% เพราะผู้คนยังหวั่นวิตกเรื่องการแพร่เชื้อโควิดระลอกใหม่ และต้องใช้เวลากระจายวัคซีนอย่างเร่งด่วน จนกว่าจะสร้างความมั่นใจและเปิดประเทศได้ตามเป้าหมายของรัฐบาลในเดือนตุลาคม

ยิ่งไปกว่านั้น มีคำเตือนจาก นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เมื่อเห็นบรรยากาศคนเข้าห้างแห่ไปซื้อข้าวของ รับประทานอาหาร และออกไปทำธุรกิจต่างๆ เยอะแยะมากมาย ถ้าคุมเข้มไม่ดี ยอดผู้ติดเชื้อใหม่อาจวิ่งขึ้นไปแตะระดับ 30,000 รายต่อวัน และอาจหมายถึงการล็อกดาวน์ซ้ำซากอีกครั้ง

บรรดาห้างค้าปลีกขนาดใหญ่จึงต้องเร่งปรับตัวและใช้ทุกกลยุทธ์ ด้านหนึ่งต้องดำเนินมาตรการด้านสาธารณสุขกับทุกคนอย่างเข้มข้น ทั้งในกลุ่มผู้ให้บริการและลูกค้า อีกด้านหนึ่งต้องรุกช่องทางการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่ยังอยู่กับบ้านและ Work from Home ให้ได้มากที่สุด

ญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือซีอาร์ซี ในฐานะประธานกลุ่มการค้าปลีกและบริการ หอการค้าไทย กล่าวว่า หากธุรกิจห้างค้าปลีกฟื้นตัวและมียอดขายกลับมาเป็นปกติจะช่วยส่งเสริมให้ภาพรวมของประเทศไทยเดินหน้าต่อไป พยุงการจ้างงานของเศรษฐกิจทั้งระบบ โดยคาดว่าช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี 2564 เมื่อสถานการณ์ของประเทศมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง ตัวเลขธุรกิจค้าปลีกจะเติบโตส่งท้าย 5% จากปีก่อน

อย่างไรก็ตาม ซีอาร์ซีเคยคาดการณ์แนวโน้มยอดขายของบริษัทในปี 2564 อาจติดลบเป็นตัวเลขหลักเดียวในระดับต่ำ (Low single digit) จากเดิมเคยตั้งเป้าหมายยอดขายจะเติบโตได้ราว 10% เนื่องจากรับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ยืดเยื้อตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2/64 ถึงปัจจุบัน และภาครัฐใช้มาตรการล็อกดาวน์พื้นที่ควบคุมสูงสุดทำให้สาขาต่างๆ ปิดให้บริการชั่วคราว โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่มีจำนวนมาก ส่งผลต่อยอดขายค่อนข้างมาก

ไท จิราธิวัฒน์ รองประธานฝ่ายการเงิน ซีอาร์ซี ระบุว่า แม้ภาครัฐผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ให้เปิดศูนย์การค้าทำให้สาขากลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง แต่จำนวนผู้เข้าใช้บริการในศูนย์การค้ายังไม่กลับมามาก เพราะยังมีมาตรการควบคุมการเข้าใช้บริการและคนยังทำงานอยู่ที่บ้านต่ออีกระยะ ยังกังวลเรื่องการแพร่ระบาดโควิด-19 จากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่ยังสูง แม้ลดลงบ้างแล้ว

“เราน่าจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้นในช่วงไตรมาส 4 หากสถานการณ์โควิด-19 มีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงตามลำดับ ไม่กลับมาระบาดระลอกใหม่จนต้องล็อกดาวน์อีกครั้ง แต่ต้องติดตามเรื่องกำลังซื้อว่าจะเป็นอย่างไร หลังจากที่คนส่วนใหญ่ถูกผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้รายได้ลดลงและกระทบต่อการตัดสินใจในการจับจ่ายใช้สอย”

ดังนั้น ทั้งซีอาร์ซีและกลุ่มเซ็นทรัลต่างยกระดับยุทธศาสตร์การขาย เน้น Omni Chanel ครอบคลุมทุกช่องทางในการขาย ทั้งการขายผ่านสาขาและการขายผ่านช่องทางออนไลน์ รวมทั้งหันมาเน้นการขยายสาขาในต่างหวัดมากขึ้น เพื่อสร้างยอดขายจากลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ไม่ใช่เฉพาะกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองท่องเที่ยวหลัก รวมทั้งเน้นกลุ่มสินค้า Hard line เกี่ยวกับการตกแต่งซ่อมแซมที่อยู่อาศัย สำนักงานและอุปกรณ์เครื่องเขียน ได้แก่ ไทวัสดุ และ B2S กลุ่มสินค้าอาหาร เช่น Tops ที่มีโอกาสเจาะตลาดในต่างจังหวัดได้อีกมาก

ด้านยักษ์ใหญ่ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) ออกมายอมรับว่า จำนวนลูกค้าเข้ามาใช้บริการในร้านสะดวกซื้อยังลดลงเฉลี่ยเหลือ 823 คนต่อสาขาต่อวัน จากเดิมเฉลี่ย 1,100-1,200 คนต่อสาขาต่อวัน ประกอบกับกลุ่มสินค้าที่ได้รับความนิยมปรับตัวลดลงตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่ยังไม่สามารถกลับมาเปิดประเทศได้ตามปกติ ทำให้บริษัทต้องเดินหน้ากลยุทธ์ O2O ต่อไป ทั้งช่องทาง 7-Eleven Delivery, All Online และ 24Shopping เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ

ส่วนค่ายเบอร์ลี่ยุคเกอร์ ผู้บริหารธุรกิจค้าปลีก “บิ๊กซี” ในประเทศไทย ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2564 มีรายได้รวม 37,101 ล้านบาท ลดลง 3.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมงวด 6 เดือนอยู่ที่ 72,718 ล้านบาท ลดลง 10.1% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการลดลงของยอดขายในกลุ่มธุรกิจค้าปลีก

ที่ผ่านมา บิ๊กซีพยายามเน้นการเพิ่มศักยภาพด้านการขนส่ง การเพิ่มบริการโทรและไลน์มาช้อป พร้อมกับขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง เน้นรูปแบบร้านค้าขนาดเล็ก เพื่อเจาะขยายฐานชุมชนอย่างจริงจัง จากปัจจุบันมีจำนวนสาขาไฮเปอร์มาร์เก็ต 152 สาขา ได้แก่ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ และบิ๊กซีเอ็กซ์ตร้า สาขาขนาดกลาง ได้แก่ บิ๊กซี มาร์เก็ต จำนวน 61 สาขา ส่วนมินิบิ๊กซี 1,259 สาขา และร้านขายยาเพรียว 144 สาขา

แต่ทว่า การปรับตัวของธุรกิจห้างค้าปลีกยังไม่เพียงพอและทุกค่ายต่างต้องการให้ภาครัฐฟื้นโครงการ “ช้อปดีมีคืน” เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ โดยเสนอเพิ่มวงเงินเป็นไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท จากปีก่อนที่กำหนดให้เพียง 30,000 บาทต่อคน เพราะเชื่อมั่นว่าจะกระตุ้นให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาทภายใน 1 ไตรมาส รวมทั้งปรับเพิ่มวงเงินการใช้จ่ายผ่านโครงการ ‘ยิ่งใช้ยิ่งได้’ จากหลักเกณฑ์เดิม ใช้จ่ายสูงสุด 60,000 บาทจะได้รับ อี-วอยเชอร์ มูลค่าสูงสุด 7,000 บาท และใช้จ่ายได้สูงสุดไม่เกินวันละ 10,000 บาท

หากเราดูยอดการใช้จ่ายผ่านโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ล่าสุด มีการใช้จ่ายไปแล้วกว่า 1,700 ล้านบาท โครงการคนละครึ่ง มียอดการใช้จ่ายแล้วกว่า 62,503 ล้านบาท โดยโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ยังมีสิทธิคงเหลือ 929,340 สิทธิ โครงการคนละครึ่งมีสิทธิคงเหลือ 922,271 สิทธิ ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้กระทรวงการคลังยอมพิจารณาข้อเสนอปัดฝุ่นโครงการช้อปดีมีคืน แต่จะออกมาในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้เลยหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาควบคู่กับสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด

ก่อนหน้านี้ นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้นำเสนอว่า โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ที่ภาครัฐจ่ายเงินเป็นอี-วอยเชอร์ ไม่เกิน 7,000 บาทต่อคน ให้ผู้ที่มีรายได้สูงและมีเงินออม 3-4 ล้านคน ออกมาจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการอาจไม่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย สะท้อนจากยอดลงทะเบียนที่ไม่ได้ตามเป้าหมาย เพราะกลุ่มคนรายได้สูงและเป็นกลุ่มที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีความต้องการที่จะลดหย่อนภาษีมากกว่าคูปองการจับจ่าย

หากรัฐบาลยอมทบทวนมาตรการแล้วเปลี่ยนจาก “ยิ่งใช้ยิ่งได้” เป็น “ช้อปดีมีคืน” คาดว่าจะมีคนเข้าร่วมโครงการมากกว่า 3-4 ล้านคน ช่วยให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้มากกว่า 4 แสนล้านบาท และภาครัฐจะสามารถจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น หลังจากผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 (ตุลาคม 2563-กรกฎาคม 2564) รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิ 1.91 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 216,878 ล้านบาท หรือต่ำกว่า 10.2% เนื่องจากการแพร่ระบาดไวรัสอันตรายทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหายไป

ช่วงไตรมาสสุดท้ายจึงเป็นจังหวะก้าวสำคัญในการเปิดประเทศและเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างน้อยที่สุดเมื่อผนึกรวมทุกมาตรการปลุกกำลังซื้อล็อตใหญ่ ทั้งคนละครึ่ง ยิ่งใช้ยิ่งได้ ช้อปดีมีคืน และมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวช่วงไฮซีซันปลายปี ไม่มีการแพร่ระบาดรอบใหม่ เชื่อว่า เศรษฐกิจไทยย่อมมีโอกาสฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งแน่

ใส่ความเห็น