วันอังคาร, มีนาคม 19, 2024
Home > Cover Story > ส่องมาตรการรัฐ เยียวยาผลกระทบโควิด-19

ส่องมาตรการรัฐ เยียวยาผลกระทบโควิด-19

นับเป็นอีกปีที่ทั่วโลกต้องเผชิญวิบากกรรมจากเชื้อไวรัสโคโรนาที่อุบัติขึ้นเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ความร้ายกาจของเชื้อร้ายนี้ได้คร่าชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมาก

ประชากรโลกต้องใช้ชีวิตอย่างหวาดวิตก แม้บางส่วนจะกักตัวเองอยู่ภายในที่พักอาศัย และเชื้อร้ายยังไม่ถูกยืนยันว่าสามารถแพร่กระจายไปในอากาศได้หรือไม่

ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยจากหลายประเทศกำลังทำงานอย่างหนักที่จะพัฒนาวัคซีนเพื่อหยุดยั้งเชื้อไวรัสโคโรนา แต่ยังไม่มีใครที่จะสามารถให้คำตอบที่แน่ชัดได้ว่า ความพยายามนี้จะสัมฤทธิ์ผลเมื่อใด

ขณะที่ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกอย่างจีน ที่เผชิญวิกฤตเชื้อไวรัสนี้ก่อนใคร แม้จะพบกับความยากลำบากในการทำงาน ทว่า ท้ายที่สุดประเทศจีนสามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อไม่ให้เพิ่มจำนวนได้ และปัจจุบันเหลือผู้ที่ยังอยู่ในขั้นตอนการรักษาไม่กี่ร้อยรายเท่านั้น

อีกฟากฝั่งของซีกโลกและประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศมหาอำนาจซีกโลกตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกา ที่กำลังถูกเชื้อไวรัสโจมตีอย่างหนักในขณะนี้ จนทำให้มีผู้ติดเชื้อรวมทั้งประเทศกว่า 2 แสนราย ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศรับความช่วยเหลือจากประเทศในเอเชีย ทั้งจากจีนและเกาหลีใต้ในการที่จะหาหนทางยับยั้งไม่ให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงความพยายามที่จะลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาด้วยเช่นกัน

ย้อนกลับมาดูจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563 พบผู้ติดเชื้อสะสมจำนวน 1,875 ราย และมีผู้เสียชีวิต 15 ราย

การระบาดของเชื้อไวรัสไม่ใช่แค่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพของประชาชนในประเทศเท่านั้น หากแต่มาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสที่รัฐบาลประกาศใช้ ส่งผลให้วิถีชีวิตของประชาชนต้องถูกปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสม

ทั้งการปิดสถานบริการ ห้ามสรรพสินค้า ตลาด แหล่งบันเทิง รวมไปถึงพื้นที่สาธารณะอีกจำนวนหนึ่ง สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนในทุกระดับ แต่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือฟันเฟืองตัวเล็กในระบบเศรษฐกิจฐานรากที่ต้องขาดรายได้เป็นเวลานาน

แน่นอนว่า หากจะมองถึงประโยชน์ส่วนรวมการสั่งปิดสถานบริการ ห้างร้านต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อร้าย ย่อมเป็นเหตุผลที่ประชาชนยอมรับได้ แต่หากมองในเรื่องของรายได้ที่หดหายไปของประชาชนที่ต้องหาเช้ากินค่ำ เป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องมีมาตรการออกมาช่วยเหลือเยียวยา

ประเทศไทยเผชิญกับความถดถอยทางเศรษฐกิจมาหลายปีติดต่อกัน การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาในห้วงยามนี้ ซ้ำเติมให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำอยู่แล้วให้ย่ำแย่ลง

มาตรการที่ภาครัฐประกาศออกมาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน แม้จะไม่สามารถเบรรเทาได้ทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่น่าจะสามารถเยียวยาได้ในเบื้องต้น

ทั้งนี้มาตรการที่ภาครัฐประกาศใช้เพื่อดูแลและเยียวยาช่วยให้ประชาชนยิ้มออกได้ในเวลานี้คือ มาตรการดูแลและเยียวยาแรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว และกลุ่มอาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม แต่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งหยุดประกอบกิจการของสถานประกอบการที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโรโคนา

ซึ่งรัฐบาลจะให้การสนับสนุนเงินช่วยเหลือรายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน (เมษายนถึงมิถุนายน 2563) ผ่านการลงทะเบียนทางเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com

มาตรการเยียวยาด้านภาษี โดยกรมสรรพากรขยายเวลาชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภงด.90 และ ภงด.91) จากเดิมที่ขยายถึง 30 มิถุนายน 2563 เป็น 31 สิงหาคม 2563

มาตรการเยียวยาด้านสินเชื่อ เช่น สินเชื่อฉุกเฉิน โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 40,000 ล้านบาท แห่งละ 20,000 ล้านบาท วงเงินต่อรายไม่เกิน 10,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกินร้อยละ 0.10 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563

และสินเชื่อพิเศษเพิ่มเติม มีขึ้นเพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตแก่ประชาชนที่มีรายได้ประจำ โดยมีหลักประกันวงเงินต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกินร้อยละ 0.35 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี

นอกจากนี้ ยังมีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับโรงรับจำนำเพื่อช่วยเหลือประชาชนฐานรากที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยธนาคารออมสินสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำวงเงินรวม 2,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี ยังมีมาตรการบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยให้การช่วยเหลือผู้ใช้น้ำประปา และผู้ใช้ไฟฟ้า ทั้งมาตรการลดค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้าในอัตราร้อยละ 3 เป็นเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่รอบการใช้น้ำเดือนเมษายน ถึง มิถุนายน 2563 และมาตรการคืนเงินประกันการใช้น้ำและไฟฟ้า สำหรับผู้ใช้น้ำและไฟฟ้าประเภทที่อยู่อาศัย

แน่นอนว่ามาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลประกาศออกมานั้น แม้จะไม่สามารถช่วยเหลือหรือเยียวยาได้ในทุกระดับของปัญหา ทว่าในเบื้องต้นการประกาศมาตรการต่างๆ ออกมานั้น ล้วนสร้างความอุ่นใจให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนที่กำลังเผชิญกับวิกฤตนี้ถ้วนหน้า

ขณะที่แบงก์ชาติได้ประกาศการคาดการณ์ตัวเลขจีดีพีเศรษฐกิจในปีนี้ว่า น่าจะติดลบสูงถึง 5.3 เปอร์เซ็นต์ เพราะความร้ายกาจของเชื้อไวรัสโคโรนาที่แทรกซึมและเข้าทำลายระบบเศรษฐกิจในทุกระดับชั้น ทั้งภาคการท่องเที่ยว การส่งออก ที่เป็นรากฐานสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย มีการคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะหดตัวประมาณร้อยละ 60 ในปีนี้ ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าทั่วโลกกำลังอยู่ในช่วงมรสุมที่ไม่แตกต่างกันนัก

หากทั่วโลกไม่สามารถหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ในเร็ววัน โลกอาจต้องเผชิญสภาวะความถดถอยทางเศรษฐกิจระลอกใหญ่ ซึ่งความรุนแรงของวิกฤตนี้จะกระทบต่อรายได้และความเชื่อมั่น กิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคประชาชน และภาคธุรกิจในวงกว้าง

มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า หรือนี่จะเป็นการตอบกลับของธรรมชาติที่ถูกมนุษย์บนโลกนี้เบียดเบียนมาเป็นเวลานาน หรือแท้จริงแล้ว มนุษย์นี่เองที่เป็นไวรัสที่มีเชื้อร้ายแรงที่สุด

ใส่ความเห็น