วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Home > Life > สัพเพเหระ

สัพเพเหระ

Column: Well – Being

เราได้คัดเลือกและรวบรวมสิ่งละอันพันละน้อยที่เป็นสาระความรู้ด้านสุขภาพจากนิตยสาร GoodHealth มานำเสนอดังนี้

ทำไมลิ้นแตกหรือเป็นฝ้าขาว
ลิ้นสุขภาพดีจะมีสีชมพู มีความชุ่มชื้น และเต็มไปด้วยปุ่มสีขาวขนาดเล็กที่เรียกว่าปุ่มลิ้นหรือตุ่มรับรส

ภาวะน้ำลายแห้งสามารถนำไปสู่อาการลิ้นแห้งและแตกได้ คุณยังอาจเกิดอาการลิ้นเป็นฝ้าขาวหรือดำ เพราะสาเหตุจากการติดเชื้อราก็ได้ ถ้าอาการดังกล่าวยังติดอยู่เป็นเวลานาน มันอาจส่อถึงโรคเบาหวานได้ เพราะน้ำตาลกลูโคสปริมาณสูงในน้ำลาย นำไปสู่การที่ยีสต์ Candida albicans เติบโตเร็วเกินไป นอกจากนี้ ยาปฏิชีวนะยังสามารถกระตุ้นให้เกิดภาวะติดเชื้อราได้ด้วย

“ยาปฏิชีวนะเข้าไปฆ่าแบคทีเรียทั้งดีและเลว และเมื่อแบคทีเรียดีถูกฆ่าตายหมด นั่นย่อมทำให้สิ่งมีชีวิตที่เป็นโทษต่อร่างกายเจริญเติบโตในปากของคุณอย่างรวดเร็ว” ดร.ฟลูเออร์ ครีปเพอร์ ปริทันตทันตแพทย์และสมาชิกคณะกรรมการสุขภาพช่องปากแห่งสมาคมทันตกรรมออสเตรเลียอธิบาย ให้รักษาด้วยยาฆ่าเชื้อราและกินอาหารโพรไบโอติกส์

อยู่กับโรคแพ้ภูมิตัวเองให้ได้
มีรายงานกล่าวว่า ชาวออสเตรเลียประมาณ 1.2 ล้านคนต้องมีชีวิตอยู่กับโรคแพ้ภูมิตัวเอง และประมาณร้อยละ 80 ของผู้ป่วยโรคนี้เป็นผู้หญิงเสียด้วย

โรคแพ้ภูมิตัวเองเกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันเปลี่ยนแปลงตัวเอง หันมาโจมตีเนื้อเยื่อและเซลล์ที่แข็งแรงและปกติ แทนการทำลายแบคทีเรียและเชื้อไวรัส แต่ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่า ทำไมผู้หญิงจึงมีความเสี่ยงสูงกว่า

โรคแพ้ภูมิตัวเองมีมากกว่า 80 ชนิด และผลการศึกษาระบุว่า คนในโลกตะวันตกได้รับผลกระทบต่อโรคนี้มากกว่า ซึ่งสาเหตุก็ยังไม่ชัดเจนอีกเช่นกัน แต่มีการสันนิษฐานว่า ภาวะอ้วน การบริโภครสเค็มเกินไป รวมทั้งอาหารแปรรูป และความเครียดที่เพิ่มสูงขึ้น อาจมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาของโรคแพ้ภูมิตัวเองได้

ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมก็น่าจะมีส่วนเช่นกัน “การที่มีผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิตัวเองเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ย่อมบ่งชี้ว่าปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมมีบทบาทสำคัญด้วย” เวอร์จิเนีย แลดด์ กรรมการบริหารสมาคมที่เกี่ยวข้องกับโรคแพ้ภูมิตัวเองแห่งอเมริกาตั้งข้อสังเกต “เพราะยีนส์ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ในช่วงเวลาอันสั้นนี้”

ให้นมลูกเองลดเสี่ยงเบาหวานชนิดที่ 2
ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน JAMA Internal Medicine ระบุว่า จากการศึกษาผู้หญิงอายุ 30 ปี มากกว่า 1,200 คน พบว่า ผู้หญิงที่ให้ลูกกินนมจากเต้าของตัวเองนานถึง 6 เดือน อาจลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ราวร้อยละ 25 ขณะที่ผู้ให้ลูกกินนมจากเต้านาน 12 เดือน ความเสี่ยงจะลดลงเกือบร้อยละ 50

นอกจากนี้ การให้ลูกกินนมจากเต้ายังส่งผลดีกับผู้มีปัญหาอ้วนและผู้เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ด้วย ซึ่งทั้งสองกรณีเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเป็นเบาหวานชนิดที่ 2

วิ่ง –ช่วยให้ไขกระดูกอ่อนเยาว์
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยดีคินพบว่า การวิ่งเป็นวิธีที่ทรงประสิทธิภาพในการคงความอ่อนเยาว์ของไขกระดูกได้ เมื่อเรามีอายุมากขึ้น ไขกระดูกจะเปลี่ยนเป็นเนื้อเยื่อไขมัน ซึ่งสามารถเป็นสาเหตุของภาวะเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน และโรคกระดูกพรุน

การศึกษาทั้งผู้ชายและผู้หญิง 101 คน พบว่า เมื่อเปรียบเทียบกับผู้เข้าร่วมศึกษาที่มีพฤติกรรมนั่งๆ นอนๆ แล้ว นักวิ่งระยะไกลมีไขกระดูกที่อ่อนเยาว์กว่า 8 ปี เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ก็ไม่ถึงขั้นสมัครลงวิ่งมาราธอนแต่อย่างใด เพราะทุก 9 กิโลเมตรที่คุณวิ่งต่อสัปดาห์ อายุขัยของไขกระดูกสามารถลดลงได้ราว 1 ปีเลยทีเดียว

ทำผัก & ผลไม้ให้เป็น “ซูเปอร์ฟู้ดส์”
เจมส์ หว่อง นักวิทยาศาสตร์ด้านพันธุ์ไม้ผู้เขียนหนังสือ How to Eat Better กล่าวถึงทิปส์น่ารู้เกี่ยวกับการปรุงอาหาร ด้วยการเปลี่ยนผักและผลไม้ที่เรากินกันอยู่ทุกวันให้กลายเป็น “ซูเปอร์ฟู้ดส์” ได้อย่างน่าทึ่ง

– นำบลูเบอร์รีมาเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระ 2 เท่า ด้วยการต้มโดยใช้ไฟปานกลางนาน 2–3 นาที เพื่อให้เกิดรสชาติที่อร่อยขึ้นด้วย

– นำแคร์รอตมาอบในน้ำมันมะกอกแทนการนำไปต้ม ทำให้เพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระได้อีกร้อยละ 50 ทั้งยังเพิ่มปริมาณวิตามินซีและสารเบต้า แคโรทีน ซึ่งมีสรรพคุณเป็นสารต้านอนุมูลอิสระนั่นเอง

– นำมันฝรั่งเข้าเตาอบไมโครเวฟ เพื่อคงคุณค่าของสารอาหารให้มากขึ้น โดยนำมันฝรั่งทั้งหัวที่ยังไม่ปอกเปลือกเข้าเตาอบไมโครเวฟ ซึ่งช่วยคงคุณค่าทางอาหารได้มากกว่าการปรุงด้วยวิธีการอื่นๆ

ใส่ความเห็น