วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > สหพัฒน์ดัน “โคเมเฮียว” จับตาฟองสบู่เศรษฐกิจ

สหพัฒน์ดัน “โคเมเฮียว” จับตาฟองสบู่เศรษฐกิจ

เครือสหพัฒน์เดินหน้าตามเป้าหมาย ผุดแฟลกชิปสโตร์แบรนด์เนมมือสอง “โคเมเฮียว (Komehyo)” แห่งแรกในประเทศไทย หลังจากใช้เวลากว่า 5 ปี ศึกษาตลาดแบรนด์เนมมือสองและเจรจาจับมือยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น เพื่อขยายพอร์ตโฟลิโอสู่ธุรกิจรีเทลลักชัวรีที่สามารถปลุกปั้นอัตรากำไรแซงหน้าตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคมากกว่าเดิมได้อีกหลายเท่า

ขณะเดียวกัน “โคเมเฮียว” ยังเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์ตามยุทธศาสตร์สำคัญในปี 2563 ที่กลุ่มตระกูลโชควัฒนาต้องการเร่งลงทุนและสร้างการเติบโตในธุรกิจใหม่ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจอาคารสำนักงาน โคเวิร์กกิ้งสเปซ ธุรกิจบริการด้านสุขภาพ และธุรกิจสเปเชียลตี้ สโตร์ คอนเซ็ปต์ใหม่ เพื่อขยายฐานลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงขึ้น

ที่สำคัญ เส้นทางธุรกิจแบรนด์เนมมือสองและการเติบโตของโคเมเฮียวในประเทศญี่ปุ่นดูเหมือนกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับประเทศไทย แถมมีปัจจัยหนุนเรื่องการความนิยมในกลุ่มนักช้อปไทยและแบรนด์เนมยังถือเป็นช่องทางการลงทุนที่สามารถสร้างรายได้อย่างสวยงามด้วย

ทั้งนี้ โคเมเฮียวมีจุดเริ่มต้นจากการเป็นร้านขายกิโมโนมือสองในเมืองนาโกยาของครอบครัวอิชิฮาระ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1947 เริ่มต้นจากห้องเสื้อผ้าเก่าเล็กๆ ขนาดเพียง 5 เสื่อ หรือประมาณ 16.5 ตารางเมตร

ในช่วงนั้นความเป็นอยู่ของคนญี่ปุ่นดีขึ้น จึงมีกำลังซื้อและต้องการหาซื้อสิ่งของ เพื่อยกระดับความพึงพอใจในการใช้ชีวิตประจำวัน ร้านโคเมเฮียวจึงจัดหาเพิ่มสินค้าหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะพวกเครื่องประดับ นาฬิกา กล้องถ่ายรูป และเครื่องใช้ไฟฟ้า

แต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่แตกในปี 1990 ลูกค้าประจำของร้านโคเมเฮียวจำเป็นต้องขายสินค้าแบรนด์เนมที่มีอยู่ เพื่อช่วยบรรเทาสภาพทางเศรษฐกิจในครัวเรือน

ครอบครัวอิชิฮาระจึงตัดสินใจเริ่มต้นทำธุรกิจซื้อขายสินค้าแบรนด์เนมมือสองตั้งแต่นั้นมา เพื่อช่วยเหลือลูกค้าจนกลายเป็นปรัชญาการดำเนินธุรกิจในฐานะตัวกลางส่งผ่านสินค้าตามแนวคิด “Relay Use” ส่งต่อสิ่งของที่ไม่ใช้แล้วไปให้กับบุคคลอื่นที่ยังต้องการ เพื่อนำไปใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพทำให้สิ่งของมีประโยชน์สูงสุด สามารถสร้างตลาดใหม่และรายได้เติบโตจนกลายเป็นผู้นำธุรกิจซื้อขายสินค้าแบรนด์เนม

ปี ค.ศ. 2004 โคเมเฮียวสามารถจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์โตเกียว ถือเป็นธุรกิจขายสินค้ามือสองแห่งแรกที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

ปัจจุบันโคเมเฮียวมีเครือข่ายกิจการอยู่ใน 4 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น ฮ่องกง จีน และไทย โดยมีจำนวนสาขาที่ญี่ปุ่น 30 สาขา ครอบคลุมภูมิภาคใหญ่ๆ อย่างคันโต คันไซ จูบุ และในเมืองใหญ่ๆ เช่น โตเกียว โอซากา มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองนาโกยา เปิดจำหน่ายทั้งสินค้ามือหนึ่งและมือสอง เช่น เครื่องประดับ นาฬิกา กระเป๋า และเสื้อผ้า

สำหรับประเทศจีนและฮ่องกงมีสาขาโฮลเซล โดยอยู่ในฮ่องกง 1 แห่งและจีน 2 แห่งที่เมืองเซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง

ส่วนร้านโคเมเฮียวสาขาแรกในประเทศไทยเป็นแฟลกชิปสโตร์ เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 ที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล แอท เซ็นทรัลเวิลด์ วางจำหน่ายสินค้าในร้านและผ่านช่องทาง Online Website รวมทั้งมีบริการรับซื้อสินค้าด้วย

นายฮิเดโอะ ทาเคโอะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สหโคเมเฮียว จำกัด บริษัทร่วมทุนระหว่างโคเมเฮียวและเครือสหพัฒน์ กล่าวว่า โคเมเฮียวเป็นศูนย์รวมสินค้าแบรนด์เนมที่นักท่องเที่ยวชาวไทยหลายคนรู้จักอย่างดี โดยแต่ละปีมีลูกค้าคนไทยเดินทางไปใช้บริการโคเมเฮียวสาขาต่างๆ ในญี่ปุ่นจำนวนมาก เช่น สาขาในชินจูกุ กินซา และนาโกยา จนติดอันดับหนึ่งในสาม และจุดประกายให้โคเมเฮียวต้องการขยายธุรกิจในประเทศไทย

จุดขายสำคัญของโคเมเฮียว นอกจากสินค้าแบรนด์เนมที่ได้รับบำรุงรักษาจนดูเหมือนใหม่แล้ว บริษัทพยายามตอกย้ำจุดเด่นในฐานะศูนย์กลางซื้อขายที่น่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับของกลุ่มลูกค้า กลุ่มนักท่องเที่ยว ตัดปัญหาหลอกลวงหรือขายสินค้าปลอดแบบ 100% โดยเฉพาะทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบสินค้า ซึ่งทุกคนต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้และทดสอบนานเกือบ 1 ปี

ขั้นตอนเริ่มจากการเรียนหลักสูตรความรู้พื้นฐาน 15 ชั่วโมง จากนั้นต้องเข้ารับการอบรมเพื่อแยกแยะสินค้าจริงออกจากสินค้าลอกเลียนแบบ ซึ่งว่ากันว่า ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ 5-10 ปีขึ้นไป ชั่วโมงบินมาก สามารถแยกแยะของจริงและปลอมเพียงแค่มอง หรือหยิบสินค้าเหล่านั้นเพียงครั้งเดียว

หลังจากจบการอบรม ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณครึ่งปี ผู้เชี่ยวชาญทุกคนต้องผ่านบททดสอบทั้งด้านวิชาการและด้านการบริการลูกค้า เมื่อสอบผ่านจะได้ทำหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญฝึกหัดภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญรุ่นพี่

ผู้เชี่ยวชาญรุ่นพี่จะให้คำปรึกษาแนะนำจนกว่าจะมั่นใจว่ารุ่นน้องทำงานได้ตามมาตรฐานของบริษัท โดยเฉลี่ยผู้เชี่ยวชาญรุ่นใหม่ต้องรับลูกค้ากว่า 1,000 คน ต้องประเมินสินค้าหลายพันชิ้นก่อนเริ่มปฏิบัติงานในฐานะผู้เชี่ยวชาญอย่างเป็นทางการ

ต้องถือว่าการดึงโคเมเฮียวเข้ามาเปิดสาขาในไทยสามารถพลิกโฉมธุรกิจแบรนด์เนมมือสองจากเดิมที่เป็นเพียงการซื้อขายผ่านร้านเล็กๆ ผ่านตัวบุคคล หรือผ่านช่องทางออนไลน์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ไลน์ ซึ่งลูกค้าหลายคนมักเจอปัญหาถูกหลอกลวงเยอะมาก สินค้าปลอมหรือถูกกดราคา นอกจากนี้ ตลาดแบรนด์เนมมือสองยังมีมูลค่าเติบโตมากขึ้นทุกปี

นั่นทำให้กลุ่มธุรกิจโรงรับจำนำ ซึ่งถือเป็นแหล่งรวมสินค้าต่างๆ และมักเปิดประมูลขายสินค้าเป็นประจำอยู่แล้ว หันมาขยายธุรกิจซื้อขายสินค้าแบรนด์เนมเช่นกัน เช่น ค่ายอีซี่มันนี่ ค่ายแคชเอ็กซ์เพรส หรือจะเป็นกลุ่มมันนี่คาเฟ่ ซึ่งปรับโฉมจากโรงรับจำนำปิ่นเกล้าคู่ขนานลอยฟ้า หลังดำเนินธุรกิจยาวนานกว่า 40 ปี โดยรายนี้ทุ่มทุนดึง Brand Off Tokyo ร้านซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าแบรนด์เนมมือสองรายใหญ่ของญี่ปุ่นที่มีสาขากว่า 50 แห่งทั่วประเทศและมีสาขาในฮ่องกง 8 สาขา ไต้หวันอีก 4 สาขา เข้ามาเปิดแฟลกชิปสโตร์แห่งแรกในเมืองไทยย่านสยามสแควร์ซอย 3 ภายใต้ชื่อ Brand Off Tokyo by Money Cafe เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น และวัยเริ่มต้นทำงาน

น่าจับตาว่า เศรษฐกิจไทยจะวิกฤตซ้ำรอยจนเหล่าเศรษฐีต้องแห่เอาทรัพย์สินออกมาเร่ขายหรือไม่ ที่แน่ๆ ธุรกิจแบรนด์เนมมือสองแนวโน้มมีแต่ได้กับได้ ไม่ว่าเศรษฐกิจจะรุ่งหรือร่วงก็ตาม

ส่องท็อปเท็น Investment Bag

“โคเมเฮียว” จัดอันดับ Investment Bag โดยใช้ 4 เกณฑ์หลัก คือ ราคาขายมือหนึ่งปรับตัวสูงขึ้นทุกปี (Retail Price Increase) ราคาขายต่อ (Resale Value) ไม่ตกลงจากมูลค่าตั้งต้น ความคลาสสิกของดีไซน์และความหลากหลายในการใช้งาน

อันดับ 1 Louis Vuitton Speedy ผลิตครั้งแรกใน ค.ศ. 1930 เป็นกระเป๋าถือใบแรกของ Louis Vuitton

อันดับ 2 Louis Vuitton Neverfull ออกวางขายครั้งแรกใน ค.ศ. 2007 เป็นกระเป๋ารุ่นที่ขายได้เร็วที่สุดในตลาดมือสอง

อันดับ 3 Chanel Classic Flap วางขายครั้งแรกใน ค.ศ. 1955 ไซส์กลาง (Medium) ราคา 220 เหรียญสหรัฐ และช่วงกลางปีที่ผ่านมา ราคาอยู่ที่ 5,600 เหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่า 2,400%

อันดับ 4 Chanel BOY Bag เปิดตัวครั้งแรกใน ค.ศ. 2011 ออกแบบโดย Karl Lagerfeld ในยุคนั้นราคามือหนึ่งเริ่มต้นที่ 2,500 เหรียญสหรัฐ ปัจจุบันราคามือหนึ่ง ไซส์กลาง (old Medium) 4,900 เหรียญสหรัฐ

อันดับ 5 Hermes Birkin ความพิเศษของ Birkin ส่วนหนึ่งมาจากความยากในการครอบครอง ไม่ใช่มีเงินจะเป็นเจ้าของได้ เพราะ Hermes จะเลือกขาย Birkin ให้ลูกค้าเพียงบางคน มูลค่าของกระเป๋า Birkin เพิ่มขึ้นมากกว่า 500% แล้วในช่วง 35 ปีที่ผ่านมา บทความเมืองนอกยังเปรียบเทียบการลงทุนในกระเป๋า Birkin ปลอดภัยยิ่งกว่าการลงทุนในทองและหุ้นตัวใหญ่

อันดับ 6 Hermes Birkin Himalayan เป็นกระเป๋าที่หายากที่สุดในโลกและแพงที่สุดในโลก โดยบริษัทประมูลระดับโลก Christie’s เคยเปิดประมูล Himalayan Birkin รุ่นที่มีเพชร และขายในราคา 13 ล้านบาท ซึ่ง Hermes ผลิตกระเป๋ารุ่นนี้ออกมาเพียงปีละ 1-2 ใบ

อันดับ 7 Hermes Kelly ได้แรงบันดาลใจจาก เจ้าหญิงเกรซ หรือ Grace Kelly ดาราฮอลลีวูดชื่อดังที่ได้แต่งงานกับเจ้าชายโมนาโก เนื่องจากเธอชื่นชอบ Hermes และมักถือกระเป๋า Hermes ปกปิดการตั้งครรภ์จากเหล่าปาปารัซซี เมื่อรูปที่เธอถือกระเป๋า Hermes ลงหนังสือพิมพ์ กระเป๋ารุ่นนั้นจึงเป็นที่รู้จักในชื่อ Kelly Bag

อันดับ 8 Hermes Constance II ออกวางขายครั้งแรกใน ค.ศ. 1959 เป็นหนึ่ง iconic bag ของ Hermes และเป็นกระเป๋าที่หายากที่สุดอันดับ 3 ของ Hermes รองจาก Birkin และ Kelly หนึ่งในแฟนประจำของ Constance คือ แจ็คเกอลีน เคเนดี้ สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งในยุคของจอห์น เอฟ. เคเนดี้

อันดับ 9 Gucci Ophidia ถูก reissued ขึ้นมาใหม่หลังจากเลิกผลิตไปหลายปี เป็นที่นิยมในกลุ่มศิลปินวงการเพลงต่างประเทศ สะท้อนอารมณ์ความเป็น 70s

อันดับ 10 Goyard St.Louis สำหรับแบรนด์ Goayrd เปิดตัวครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1853 เป็นแบรนด์เครื่องหนังเก่าแก่และขึ้นชื่อในเรื่องความเป็นส่วนตัวของแบรนด์ ไม่โฆษณา ไม่มีงานเปิดตัวสินค้า ไม่มีแม้กระทั่งรูปสินค้าบนเว็บไซต์ ทำให้ Goyard กลายเป็นสัญลักษณ์ของความ luxury และ St.Louis เป็นรุ่นที่คนพูดถึงมากที่สุด

ใส่ความเห็น