วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > สถาบันการเงินปรับตัว เสริมสภาพคล่อง ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน

สถาบันการเงินปรับตัว เสริมสภาพคล่อง ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน

สภาพเศรษฐกิจปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงชะงักงัน อันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงไม่คลี่คลาย และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อัตราการว่างงานพุ่งสูงขึ้น ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการรายเล็กและเอสเอ็มอี หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งสถาบันการเงินและภาครัฐต่างเร่งเสริมสภาพคล่องเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่มีอยู่รอบด้าน

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ แถลงสภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ของปี 2563 พบจีดีพี -12.2% ต่อปี ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 1 ที่ผ่านมา และคาดว่าทั้งปีจะปรับตัวลดลง -7.8% ถึง -7.3% ซึ่งลดลงจากเดิมที่คาดไว้ว่าจะหดตัวอยู่ที่ -5.5% ต่อปี

สถานการณ์การจ้างงานไตรมาส 2 ผู้มีงานทำมีจำนวน 37.1 ล้านคน โดยตัวเลขการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 7.5 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.95% เพิ่มขึ้น 1 เท่าจากอัตราว่างงานปกติ ถือเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 11 ปี นับตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2552 โดยสาเหตุหลักมาจากการเลิกจ้างและธุรกิจปิดกิจการ

ฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจไตรมาส 2 หดตัวเกือบทุกตัว การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนหดตัว -6.6% การลงทุนรวมหดตัว -8% ส่งออกสินค้าและบริการหดตัว -28.3% นำเข้า -23.3% การผลิตภาคเกษตร -3.2% การผลิตนอกภาคเกษตรหดตัว -12.9% ภาคบริการหดตัว -12.3%

หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยขยายตัวกว่า 3.9% อันเป็นผลมาจากความเชื่อมั่นที่ลดลงตามสถานการณ์เศรษฐกิจ ความต้องการอุปโภคและบริโภคของครัวเรือนปรับตัวลดลง แต่ความต้องการสินเชื่อของครัวเรือนเพิ่มขึ้นในเกือบทุกประเภท ยังคงเห็นการก่อหนี้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยและเช่าซื้อรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นตามแคมเปญที่ออกมาเพื่อประคองตลาด ซึ่งสวนทางกับสัญญาณอ่อนแอของกำลังซื้อภาคครัวเรือน ในขณะที่การก่อหนี้เพื่อประกอบธุรกิจขยับสูงขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการรายเล็กๆ อาจกำลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง

หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีพุ่งขึ้น 80.1% สูงสุดในรอบ 4 ปี หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไตรมาส 1/2563 แตะ 1.5 แสนล้านบาท ปรับตัวสูงขึ้น 23.6% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าภาคครัวเรือนกำลังรับมือกับปัญหาการหดตัวของรายได้ซึ่งเร็วกว่าการชะลอตัวในการกู้ยืม

ซึ่งโจทย์ใหญ่ของสถาบันการเงินและภาครัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรงคือการเข้าไปเสริมสภาพคล่องและให้การช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้เพื่อให้ผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปได้ รวมถึงการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ ดูแลความสามารถในการชำระหนี้ ป้องกันการเกิดหนี้เสีย เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ลดปัญหาที่จะเกิดขึ้น และยังส่งผลดีต่อคุณภาพสินเชื่อของสถาบันการเงินเองอีกด้วย

ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาตรการสำหรับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินในการช่วยเหลือลูกหนี้ โดยได้ออกมาตรการไปแล้ว 2 ระยะ ระยะที่ 1 เป็นการลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำ พักชำระเงินต้น เลื่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ซึ่งมาตรการดังกล่าวได้ครบกำหนดไปแล้วในเดือน มิ.ย. 2563 แต่ยังไม่เพียงพอต่อการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยได้ จึงได้มีการประกาศใช้มาตรการระยะ 2 ต่อมา โดยเน้นการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้รายย่อยเพื่อให้ยังคงมีกระแสเงินสดสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำรงชีพและเพื่อประกอบอาชีพ ซึ่งประกอบไปด้วย

1. ลดเพดานดอกเบี้ย ร้อยละ 2-4 ต่อปี สำหรับบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2563 ที่ผ่านมา 2. เพิ่มวงเงินบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 3. มาตรการช่วยเหลือขั้นต่ำ สถาบันการเงินต้องจัดให้มีทางเลือกในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบตามประเภทสินเชื่อ และต้องอำนวยความสะดวก รวมทั้งให้ข้อมูลที่ครบถ้วนเพียงพอต่อการตัดสินใจของลูกหนี้ 4. ปรับโครงสร้างหนี้ โดยคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ เพื่อช่วยบรรเทาภาระ เช่น ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ เปลี่ยนสินเชื่อจากระยะสั้นเป็นระยะยาว และชะลอการยึดทรัพย์ในกรณีที่ลูกหนี้กลายเป็น NPL

สำหรับลูกหนี้เอสเอ็มอีนั้นได้รับการช่วยเหลือในการเลื่อนการชำระหนี้ตาม พ.ร.ก. การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563

ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินต่างๆ ได้ดำเนินการตามมาตรการที่ออกมาโดยแบงก์ชาติ โดยปรับตามความเหมาะสม เช่น ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) มีการออกสินเชื่อบ้าน ดอกเบี้ย 1.99% ต่อปี คงที่ 2 ปีแรก, ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินงวดผ่อนชำระไม่เกิน 6 เดือน ดอกเบี้ยเงินกู้เท่ากับ 0.01% ต่อปี สำหรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวจีน และไม่เกิน 4 เดือน ดอกเบี้ยลดลงเหลือ 1.00% ต่อปี สำหรับลูกค้าที่รายได้ต่อเดือนได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวในประเทศกลุ่มเสี่ยง, โครงการ “ธอส. ช่วยคนไทย ร่วมสร้างชาติ” มาตรการพักชำระเงินต้น ลดดอกเบี้ย ตามสินเชื่อแต่ละประเภท, โครงการ “ธอส. ปันน้ำใจ เราไม่ทิ้งกัน” ให้กู้สำหรับบุคคลในครอบครัวของประชาชนที่ได้รับสิทธิ์ตามโครงการเราไม่ทิ้งกันของรัฐบาล หรือบุคคลในครอบครัวของลูกค้า ธอส.

ธนาคารออมสิน ปล่อยสินเชื่อผ่อนเบา ดอกเบี้ยต่ำ, พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยโดยอัตโนมัติเป็นระยะเวลา 6 เดือน จนถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2563, สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หรือเงินกู้ฉุกเฉิน วงเงิน 10,000 บาทต่อราย สำหรับผู้มีอาชีพอิสระ และวงเงิน 50,000 บาทต่อราย สำหรับผู้มีรายได้ประจำ, ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ผ่อนนาน จำนวน 4 ประเภท ได้แก่ สินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพ สินเชื่อก่อร่างสร้างตัวใหม่ สินเชื่อคลายกังวล และสินเชื่อซอฟต์โลนเยียวยาผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกและธุรกิจท่องเที่ยว เพื่อเป็นการฟื้นฟูรายได้

ธนาคารกรุงเทพ สำหรับบัตรเครดิต ปรับลดอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำมาอยู่ที่ 5% (จากเดิม 10%) จนถึง 31 ธันวาคม 2564 และลดดอกเบี้ยลงเป็นพิเศษอยู่ที่ 12% สำหรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบโดยตรง พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยนาน 3 เดือนสำหรับสินเชื่อบุคคล, สินเชื่อที่อยู่อาศัย วงเงินขณะอนุมัติไม่เกิน 3 ล้านบาท พักชำระเงินต้น จ่ายเฉพาะดอกเบี้ยนาน 3 เดือน และวงเงินขณะอนุมัติตั้งแต่ 3 ล้านบาทขึ้นไป ขอความช่วยเหลือเป็นรายกรณีตามสถานการณ์ สำหรับสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี วงเงินขณะอนุมัติไม่เกิน 20 ล้านบาท พักชำระเงินต้น จ่ายเฉพาะดอกเบี้ยนาน 3 เดือน

ธนาคารกสิกรไทย สินเชื่อเพื่อธุรกิจ (ประเภทเงินกู้) ผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน, บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ยถึงรอบบัญชีเดือนธันวาคม 2563, สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ปรับลดยอดผ่อนชำระรายเดือนสูงสุด 50% ระยะเวลาสูงสุด 12 เดือน และขยายระยะเวลาการผ่อนสูงสุด 6 เดือน โดยรวมสัญญาล่าสุดต้องไม่เกิน 7 ปี

ธนาคารไทยพาณิชย์ สินเชื่อธุรกิจ พักชำระหนี้เงินต้น สูงสุด 12 เดือน ขยายระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด 12 เดือน, สำหรับลูกหนี้บุคคลและผู้ประกอบการรายย่อย สินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อผู้ประกอบการรายย่อย พักชำระหนี้เงินต้น สูงสุด 6 เดือน สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ พักชำระค่างวดสูงสุด 6 เดือน สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล พักชำระยอดขั้นต่ำสูงสุด 6 เดือน

ด้านบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) มีมาตรการลดสัดส่วนการจ่ายขั้นต่ำของบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด เปลี่ยนการจ่ายหนี้บัตรกดเงินสดเป็นหนี้เงินกู้สินเชื่อส่วนบุคคลระยะยาว นาน 48 เดือน จัดโครงการเคลียร์หนี้และคอร์สส่งเสริมทักษะให้ลูกค้านำไปทำเป็นอาชีพเสริม เพื่อเป็นช่องทางในการสร้างรายได้เพิ่ม และเสริมทักษะวางแผนทางการเงิน เดินหน้ารุกสินเชื่อที่มีหลักประกัน เช่น สินเชื่อทะเบียนรถ เป็นหลัก รวมทั้งคุมเข้มในการอนุมัติบัตรเครดิตมากขึ้น

ล่าสุดแบงก์ชาติเคาะมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม โดยสามารถนำสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อเช่าซื้อ (ทั้ง NPL และ Non-NPL) ที่อยู่ภายใต้กลุ่มธุรกิจการเงินเดียวกันมาปรับโครงสร้างหนี้ด้วยการรวมหนี้เข้ากับสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกินอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ที่อยู่ระหว่าง 5.75% – 6.28% (ในขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตมีเพดานดอกเบี้ยที่ 16% และสินเชื่อส่วนบุคคลมีเพดานอัตราดอกเบี้ยที่ 24-25%) ซึ่งลูกหนี้สามารถสมัครเข้าร่วมมาตรการนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2564

โดยมาตรการต่างๆ ได้ดำเนินการมาเป็นระยะ แต่ความน่ากังวลที่ตามมาคือ ความสามารถในการกลับมาชำระหนี้ของลูกหนี้ เมื่อสิ้นสุดมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยตามกำหนดเวลาที่วางไว้ ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติ การกลับมาชำระหนี้ได้ตามเดิมอาจเป็นไปได้ยาก ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสถาบันการเงินโดยตรง

ในขณะเดียวกัน ย่อมถือเป็นโจทย์ยากสำหรับสถาบันการเงินไม่น้อย ทั้งในแง่ของปรับตัวดำเนินการตามมาตรการของแบงก์ชาติเพื่อช่วยเหลือลูกค้า ควบคู่ไปกับการประคับประคองให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่ถูกปรับลดตามนโยบายนั้นกระทบต่อรายได้ของสถาบันการเงินอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง ไม่นับรวมคุณภาพของสินเชื่อและการควบคุมตัวเลข NPL ที่ยังต้องเฝ้าระวังกันต่อไป

ใส่ความเห็น