วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > Cover Story > สงคราม Sport Retail รุ่นใหม่มาแรงไล่เบียดเจ้าตลาด

สงคราม Sport Retail รุ่นใหม่มาแรงไล่เบียดเจ้าตลาด

ธุรกิจร้านค้าปลีกกีฬาในไทยดั้งเดิม ทุกคนต้องนึกถึง 2 ค่ายบุกเบิก “เอฟบีที-แกรนด์สปอร์ต”

สำหรับบริษัท โรงงานฟุตบอลล์ไทย สปอร์ตติ้งกู๊ดส์ จำกัด หรือ FBT (Football Thai Factory Sporting Goods) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2493 จากการรับเย็บลูกฟุตบอลของนายกมล โชคไพบูลย์กิจ จากนั้นอีก 2 ปี จึงก่อตั้งโรงงานขึ้นที่ลาดกระบัง และปี 2505 ในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 5 ที่กรุงเทพมหานครเป็นเจ้าภาพ เอฟบีทีเป็นผู้สนับสนุนการแข่งขันอย่างเป็นทางการครั้งแรก ถือเป็นจุดเปลี่ยนการเข้ามามีบทบาทในวงการกีฬาอย่างชัดเจนและเติบโตขยายกิจการต่อเนื่อง

ปัจจุบันเอฟบีทียังเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์กีฬาประเภทต่าง ๆ ในตรายี่ห้ออื่น เป็นผู้ส่งออกบุกตลาดมากกว่า 40 ประเทศ มีกิจการห้างสรรพสินค้า เอฟบีทีสปอร์ตคอมเพล็กซ์ จัดจำหน่ายอุปกรณ์กีฬาชนิดต่าง ๆ ย่านหัวหมาก

ส่วน “แกรนด์สปอร์ต กรุ๊ป” ก่อตั้งเมื่อปี 2504 โดยนายกิจ พฤกษ์ชะอุ่ม อดีตนักบาสเกตบอลที่อยากเห็นประเทศไทยมีแบรนด์เสื้อผ้ากีฬาเป็นของคนไทย เขาเริ่มเปิดกิจการจากห้องแถวเล็กๆ ย่านวงเวียน 22 กรกฎาคม จำหน่ายเสื้อผ้ากีฬาและอุปกรณ์กีฬา จนปี 2512 จดทะเบียนเปิดบริษัท แกรนด์สปอร์ต และถือเป็นบริษัทเครื่องกีฬาไทยเจ้าแรกที่ติดตรา “Made in Thailand” บนเสื้อผ้ากีฬา

ปี 2514 แกรนด์สปอร์ตได้รับเลือกให้เป็นชุดกีฬาในการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 6 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ

ปี 2522 ขยายการส่งออกสู่ฮ่องกงและบาห์เรน ก่อตั้งแผนกวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้นภายในองค์กรเป็นบริษัทแรกในอุตสาหกรรมเครื่องกีฬาของคนไทย

ปี 2525 แตกบริษัท แกรนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เพื่อทำตลาดอุปกรณ์กีฬาในประเทศ พร้อมๆ กับรุกขยายส่งออกสู่ประเทศตะวันออกกลาง เช่น กาตาร์ โอมาน คูเวต และคีร์กีซสถาน

อย่างไรก็ตาม เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนเริ่มมีผู้เล่นหน้าใหม่กระโดดเข้าสู่สมรภูมิมากขึ้น โดยเฉพาะการพลิกโฉมรูปแบบร้านค้ากีฬา ไม่ว่าจะเป็น Ari Football Concept Store หรือ “อาริ” ร้านขายอุปกรณ์เกี่ยวกับฟุตบอลแบบครบวงจร ของศิวัช วสันตสิงห์ ด้วยความชื่นชอบกีฬาฟุตบอลและรองเท้าสตั๊ดของศิวัชบวกกับข้อเท็จจริงที่ว่า ขณะนั้นเมืองไทยยังไม่มีร้านขายอุปกรณ์เกี่ยวกับฟุตบอลโดยเฉพาะ ส่วนใหญ่เป็นร้านขายอุปกรณ์กีฬาหลายประเภทรวมๆ กัน

ปี 2552 อาริเปิดสาขาแรกในโครงการอารีน่า 10 ย่านทองหล่อ พื้นที่ 25 ตารางเมตร และใช้เวลาไม่กี่ปี สามารถสร้างกระแสปลุกปั้นแบรนด์ “อาริ” โดนใจกลุ่มนักฟุตบอลทุกเพศทุกวัย ขยายสาขามากกว่า 10 สาขา

ขณะที่อีกค่ายที่มาแรง คือ “วอริกซ์ สปอร์ต” ก่อตั้งเมื่อปี 2556 โดย วิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุล หลังลุยอุตสาหกรรมกลุ่มเสื้อผ้ายูนิฟอร์มและชุดนักเรียน กระทั่งเห็นช่องทางบุกตลาดชุดกีฬาที่เน้นนวัตกรรมใหม่ฉีกแนวเจ้าตลาดหน้าเก่า โดยได้แรงบันดาลใจมาจาก “Warrior” และเป็นที่มาของชื่อแบรนด์ Warrix เน้นธีมการออกแบบดัดแปลงจากชุดนักรบไทย

ปี 2559 วอริกซ์ทุ่มเม็ดเงิน 400 ล้านบาท คว้าสิทธิ์ตัวแทนผลิตและจัดจำหน่ายเสื้อทีมชาติไทย สัญญา 4 ปี (1 ม.ค. 2560-31 ธ.ค.2563) ตอนนั้นหลายๆ คนบอกเจ๊งแน่ๆ แต่พลิกเป็นผู้เล่นระดับท็อปทรีในตลาด ยอดขายพุ่งพรวดมากกว่า 300% และต่อมาชนะการประมูลผู้ผลิตชุดแข่งขันให้ทีมชาติไทยอีกครั้ง ระยะสัญญายาวนานถึง 8 ปี ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2564-31 ธ.ค. 2571

นอกจากนี้ มีค่ายเรฟ อีดิชั่น ผู้นำเข้าจำหน่ายและบริหารธุรกิจร้านค้าปลีกสินค้ากลุ่มสปอร์ตและไลฟ์สไตล์แฟชั่น ซึ่งอยู่เบื้องหลังการบุกตลาดไทยของแบรนด์กีฬานำเข้า เช่น NIKE, UNDER ARMOUR, ASICS, HOKA, VIBRAM, SOFSOLE.

ใส่ความเห็น