วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > สงครามโฮมช้อปปิ้งเต็มจอ ตลาดนัดออนไลน์ร้อนระอุ

สงครามโฮมช้อปปิ้งเต็มจอ ตลาดนัดออนไลน์ร้อนระอุ

สมรภูมิโฮมช้อปปิ้งร้อนแรงต่อเนื่องรับมาตรการ Work from home แม้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ยอมปลดล็อกผ่อนปรนการเปิดดำเนินธุรกิจบางกิจการ เช่น ร้านอาหาร ตลาดนัด แต่มีข้อกำหนดเข้มข้นและผู้คนส่วนใหญ่ยังหวั่นวิตกกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้รูปแบบช้อปปิ้งฟอร์มโฮม ทั้งทีวีและสื่อออนไลน์เป็นกระแสหลักที่สร้างรายได้ก้อนใหม่ให้กลุ่มธุรกิจค้าปลีก

ล่าสุด ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการโมเดิร์นเทรด สำรวจความคิดเห็นจากผู้ประกอบการทั่วประเทศระหว่าง 23 มีนาคม-17 เมษายน 2563 พบว่า ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการโมเดิร์นเทรดไตรมาส 1 อยู่ที่ระดับ 47.2 ต่ำที่สุดในรอบ 7 ไตรมาส หรือเกือบ 2 ปีที่เริ่มสำรวจมาตั้งแต่กลางปี 2561

ปัจจัยลบมีทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 การประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน การสั่งปิดกิจการชั่วคราว มาตรการยกเลิกวีซ่าและฟรีวีซ่า การประกาศยกเลิกเที่ยวบินชั่วคราวของสายการบินในไทย และภัยแล้ง

โดยเฉพาะคำสั่งปิดห้างสรรพสินค้าและธุรกิจบางประเภท ให้ประชาชนอยู่ในบ้าน หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่มีคนพลุกพล่าน การบริหารจัดการธุรกิจมีข้อจำกัด เพราะการสั่งปิดกิจการกะทันหันกระทบต่อการจัดการเกี่ยวกับพนักงาน ปัญหาสภาพคล่อง เจอผู้ค้าออนไลน์เถื่อนจำหน่ายสินค้าตัดราคา การลักลอบจำหน่ายสินค้าหนีภาษีและปัญหากำลังซื้อหดตัว

ประเมินกันว่า ความเสียหายด้านเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 1 ล้านล้านบาท เป็นความเสียหายที่รวมธุรกิจค้าปลีกด้วย โดยไตรมาสแรกคาดการณ์ความเสียหายของธุรกิจทั้งภาพรวมอยู่ที่ 300,000-400,000 ล้านบาท

ด้านเอเยนซีใหญ่ “มีเดีย อินเทลลิเจนซ์” ระบุว่า สถานการณ์โควิด-19 ช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา คนดูทีวีเพิ่มขึ้น 15% เพราะคนอยู่บ้านมากขึ้น ดูข่าวมากขึ้น มองทีวีเป็นสื่อที่มีความน่าเชื่อถือมากสุด เฉลี่ยเรตติ้งทีวีเพิ่มขึ้น 20% และสิ่งที่เกิดขึ้น คือ การตลาดโฮมช้อปปิ้งมีความถี่มากและใช้เวลาต่อสปอตแต่ละครั้งนานขึ้น เปรียบเทียบช่วงปกติ โฮมช้อปปิ้งครองการซื้อโฆษณา 20% และคาดแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว

ธนะบุล มัทธุรนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หากพิจารณาภาพรวมธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้งในปีนี้ แม้เกิดปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ประเมินแล้วอาจไม่ปรับลดลงกว่าปีก่อน เพราะได้กลุ่มกำลังซื้อใหม่จากมาตรการเวิร์กฟอร์มโฮมและคาดว่าหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย น่าจะได้รับผลตอบรับดีขึ้น กลุ่มลูกค้าจะมีความต้องการสินค้าหลังอัดอั้นมานาน ซึ่งช่วงที่ผ่านมายอดขายของทีวีไดเร็คในช่องทางโฮมช้อปปิ้งและออนไลน์ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 10-20% และตั้งเป้าหมายปีนี้เติบโต 5-7% เทียบปีก่อนที่มีรายได้รวม 4,280 ล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทวางแผนใช้ช่วงจังหวะที่ผู้คนส่วนใหญ่ต้องอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ เร่งผลักดันยอดขาย ทั้งช่องทางโฮมช้อปปิ้งและออนไลน์ เน้นกิจกรรมทางการตลาดในแพลตฟอร์มต่างๆ ได้แก่ Website, Mobile Application, Social Media, FB Live และการจัดแคมเปญร่วมกับช่องทาง Marketplace ต่างๆ เช่น Shopee, JD, Lazada สร้างโปรโมชันให้เหมาะกับสถานการณ์มากขึ้น

ล่าสุด จัดแคมเปญ 21 Anniversary TVD ฉลองความยิ่งใหญ่ครบรอบ 21 ปี ลดราคาสินค้าในช่องทางทีวีและออนไลน์ เริ่มตั้งแต่ 29 เมษายนถึง 31 พฤษภาคม ลูกค้าที่มียอดสั่งซื้อ หรือ Top Spender สูงสุด 21 คน ผ่านช่องทางออนไลน์ มีสิทธิ์ลุ้นรับของรางวัลมูลค่ารวมกว่า 860,000 บาท รวมทั้งอัดโปรโมชั่น Payday ในช่องทางออนไลน์ แจก Code ส่วนลดสูงสุด 2,000 บาท เริ่มตั้งแต่ 27 เมษายนถึง 6 พฤษภาคม

นอกจากนี้ วางแผนงานระยะยาวในกรณีสถานการณ์โควิด-19 ยืดเยื้อ โดยเฉพาะการปิดพื้นที่ศูนย์การค้าและสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด โดยเตรียมแผนบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Plan: BCP) ให้พนักงานบางส่วนทำงานจากที่บ้าน ใช้เทคโนโลยี Software ควบคู่กับการเสริมยอดขายทั้งทางโฮมช้อปปิ้ง และออนไลน์

สำหรับกลุ่มสินค้าขายดีส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัย เช่น เจลแอลกอฮอล์ เครื่องฟอกอากาศ น้ำยาฆ่าเชื้อ ซึ่งบริษัทพยายามปรับเพิ่มสินค้าใหม่ๆ เช่น ปัตตาเลียนไร้สาย ที่นอนอัลตร้าสมาร์ท หน้ากากผ้าเคลือบซิงค์ พัดลมกรองอากาศ และเพิ่มเติมสินค้าหมวดอุปโภคบริโภคอีกกว่า 100 รายการ เครื่องครัว เครื่องออกกำลังกาย เช่น ลู่วิ่งไฟฟ้า สระน้ำเป่าลม

ต้องถือว่า ทีวีไดเร็คเป็นผู้นำในตลาดทีวีโฮมช้อปปิ้งและโฮมช้อปปิ้ง ทั้งการยิงสปอตผ่านทีวีดิจิทัลและทีวีดาวเทียม ไม่ว่าจะเป็นช่องทีวี ไดเร็ค 1 ทีวี ไดเร็ค 2 ทีวี ไดเร็ค 3 ทีวีไดเร็ค 4 และทีวีดีโมโม่ ออกอากาศบนแพลตฟอร์มทีวีดาวเทียม ทั้งพีเอสไอ ไอพีเอ็ม จีเอ็มเอ็มแซท และกลุ่มบิ๊ก 4 (INFOSAT, IDEASAT, LEO TECH, THAISAT)

ขณะที่เพิ่มความถี่การทำ Facebook Live แนะนำและเสนอขายสินค้าทางแฟนเพจ TV Direct จำนวน 2 เพจ ได้แก่ แฟนเพจ TVDirect สำหรับสินค้าทั่วไป และ TV-Direct-Caravan-Sale สำหรับสินค้าราคาพิเศษ ทดแทนการจัดกิจกรรมโรดโชว์ตามสถานที่ต่างๆ พร้อมกับเสริมทีมคอลเซ็นเตอร์เอาต์บาวด์อีก 70 คน ให้ข้อมูลสินค้าแก่ผู้บริโภค

ฝ่ายบริษัท ทรู จีเอส จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจโฮมช้อปปิ้ง ภายใต้บริษัท ทรู จีเอส จำกัด ร่วมกับ จีเอส โฮม ช้อปปิ้ง (GS Home Shopping) ประเทศเกาหลี ในฐานะผู้นำตลาดโฮมช้อปปิ้งด้านสินค้ากลุ่มความงามและสุขภาพในประเทศไทยด้วยฐานลูกค้ามากกว่า 2 ล้านราย มั่นใจเช่นเดียวกันว่าตลาดโฮมช้อปปิ้งจะเติบโตสูงสวนกระแสเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปี 2563

ทรู จีเอส นั้นเน้นจุดขายเรื่องการนำเสนอสินค้าจากศิลปินดารานักแสดงชั้นนำและแบรนด์นำเข้าจากประเทศเกาหลีที่ได้รับลิขสิทธิ์จัดจำหน่ายเพียงรายเดียวในประเทศไทย ชูการตลาดรูปแบบ CRM ที่ให้เงินคืนทุกการช้อปปิ้ง หรือ “ทรู ช้อปปิ้ง พลัส” ให้เงินคืน 5-12% และปรับสถานะเป็น Gold หรือ VIP ภายในเวลา 90 วัน รับส่วนลดรวมสูงสุด 12% และเพิ่งเปิดตัวโมเดลธุรกิจ “โททัล โซลูชั่น” ผู้ช่วยร้านค้าในการดูแลสินค้า และให้บริการแบบครบวงจร เริ่มตั้งแต่ระบบจัดการคลังสินค้า คอลเซ็นเตอร์รับออร์เดอร์ บริการหลังการขาย การรับชำระเงินทุกช่องทาง การจัดส่งสินค้าทั่วประเทศ และเปิดช่องทางการซื้อขาย 24 ชั่วโมงทุกแพลตฟอร์ม

ส่วนที่มาแรงต่อเนื่อง คือ อาร์เอส ซึ่งสร้างรูปแบบรายการขายสินค้า “อาร์เอสมอลล์” ผ่านรายการต่างๆ ของช่อง 8 สามารถสร้างรายได้เติบโตต่อเนื่อง จากปัจจุบันมีรายได้ 4 ช่องทางหลัก คือ 1. การขายมีเดียและสปอนเซอร์ สัดส่วน 50% 2. การขายลิขสิทธิ์คอนเทนต์จากช่องทางออนไลน์ กลุ่มพันธมิตรทั้งใน-ต่างประเทศ 25% 3. ช่องทางรายการขายสินค้าของอาร์เอสมอลล์ ขณะนี้มีสัดส่วน 20% และ 4. ช่องทางการจัดกิจกรรมอีเวนต์ 5%

มีรายงานว่า อาร์เอสเตรียมขยายช่องทางการจัดจำหน่ายบนช่องทีวีดิจิทัลเพิ่มอีก 1 ช่อง เป็น exclusive ทั้งช่อง สามารถลงโฆษณาขายสินค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อขยายฐานสร้างรายได้และช่วงชิงเม็ดเงินในตลาดทีวีโฮมช้อปปิ้งที่มีเม็ดเงินมากกว่า 14,000-15,000 ล้านบาท

ไม่ใช่แค่การแข่งขันในกลุ่มทีวีโฮมช้อปปิ้งและโฮมช้อปปิ้งที่มีผู้เล่นรายใหญ่เข้ามาต่อเนื่อง อย่าง Workpoint, Amarin, และผู้ประกอบการทีวีช่องต่างๆ ขณะนี้ยังเกิดกระแสใหม่ของการรวมตัวของกลุ่มผู้ค้ารายย่อยและผู้ค้ารุ่นใหม่ สร้างมาร์เก็ตเพลสหรือการฝากร้านรูปแบบตลาดนัดออนไลน์

เช่น การรวมตัวของกลุ่มศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ หรือการรวมตัวของกลุ่มคนตกงานอาชีพต่างๆ เช่น ตลาดนัดนักข่าว ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมและเกิดขึ้นจำนวนมาก เนื่องจากการสร้างมาร์เก็ตเพลสรูปแบบนี้เสมือนการจัดแบ่งกลุ่มลูกค้า กลุ่มกำลังซื้อและกลุ่มไลฟ์สไตล์ที่คล้ายๆ กัน ทำให้เห็นความต้องการชัดเจน

ขณะเดียวกัน กลุ่มคอนซูเมอร์รายใหญ่เริ่มหันมาเล่นกลยุทธ์ดึงพรีเซนเตอร์ดัง กลุ่มศิลปินดารา นักร้อง มารีวิวสินค้าหรือบริการ นำเสนอพฤติกรรมการใช้ชีวิตอยู่กับบ้านอย่างสร้างสรรค์ เช่น ยักษ์ใหญ่ “ซัมซุง” งัดแคมเปญ Living Mode ดึงยูทูบเบอร์ชื่อดังมาโชว์และแชร์ Living Mode ในยุค Social distancing ผ่านอุปกรณ์เทคโนโลยีของซัมซุง

หรือกรณี Viu (วิว) เว็บไซต์และแอปพลิเคชันอันดับ 1 ที่รวบรวมซีรีส์ วาไรตี้เกาหลี และเอเชีย แบบถูกลิขสิทธิ์ ให้เหล่านักแสดงหนุ่มสาวชื่อดัง เช่น ฝน-ศนันธฉัตร ธนพัฒน์พิศาล มาสร้างกระแสโซเชียลเรียกรอยยิ้มผ่านการถ่ายภาพขณะดูซีรีส์ในเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน Viu (วิว) กับแคมเปญสนุก #ดูViuให้โลกจำ Challenge โพสต์ท่าทางหลากหลายอิริยาบถ ผ่อนคลายความเครียดขณะกักตัวอยู่บ้าน

ทั้งหมดล้วนเป็นกลยุทธ์การตลาดที่กำลังบิ๊กบูมในยุค Social distancing และ Work from home อยู่ที่ว่าใครจะช่วงชิงโอกาสและนำเสนอสินค้าหรือบริการโดนใจผู้คนมากที่สุด

ใส่ความเห็น