วันอังคาร, มีนาคม 19, 2024
Home > Cover Story > สงครามค้าปลีก “วันไพร์ส” แบรนด์เกาหลีเร่งแซงญี่ปุ่น

สงครามค้าปลีก “วันไพร์ส” แบรนด์เกาหลีเร่งแซงญี่ปุ่น

สงครามค้าปลีกกลุ่ม “One Price Store” แข่งขันกันดุเดือด แม้ “ไดโซะ (Daiso)” ต้นตำรับร้านร้อยเยนจากญี่ปุ่น ในฐานะผู้บุกเบิกตลาดไทยเป็นเจ้าแรกเมื่อ 15 ปีก่อน ยังสามารถยึดตำแหน่งผู้นำในเซกเมนต์นี้ แต่ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีผู้เล่นหน้าใหม่แห่เข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่ง โดยเฉพาะแบรนด์สไตล์เกาหลี ที่เริ่มรุกขยายฐานเจาะกลุ่มแฟนคลับวัยรุ่นตามกระแสคลื่นวัฒนธรรมเกาหลีที่ยังร้อนแรงต่อเนื่อง

แน่นอนว่า หากเปรียบเทียบกัน วัฒนธรรมญี่ปุ่นสอดแทรกเข้าสู่ประเทศไทยมายาวนานกว่าวัฒนธรรมเกาหลี สีสันอาจดูคล้ายกัน แต่กระแสความแรงต่างกัน

กระแสเกาหลี (Korean Wave) หรือ “Hallyu” ซึ่งเป็นศัพท์ที่นักหนังสือพิมพ์ชาวจีนบัญญัติขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1990 หมายถึงกระแสความเย็นของความนิยมเกาหลีที่ค่อยๆ คืบคลานมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยถือเป็นปรากฏการณ์เหนือความคาดหมายของนักวิชาการหรือบรรดาสื่อมวลชน เพราะเป็นปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมข้ามชาติที่ข้ามพ้นอิทธิพลทางเศรษฐกิจการเมืองและสังคมของชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา

กระแสนี้ก่อตัวมากว่าสิบปีและยังมีแนวโน้มมาแรง เป็นความนิยมชมชอบทางวัฒนธรรมร่วมสมัยของเกาหลี (Korean Pop Culture) ที่มาจากภาพยนตร์ เพลงป๊อป และดารานักร้องเกาหลี จนสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศเกาหลีใต้เป็นเงินมากกว่า 4,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผ่านการส่งออกวัฒนธรรมรูปแบบต่างๆ

ในประเทศไทย กระแสเกาหลีเริ่มต้นช่วงปี 2544 จากความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่อง My Sassy Girl (ยัยตัวร้ายกับนายเจี๋ยมเจี้ยม) และละครโทรทัศน์เรื่อง Jewel in the Palace หรือ “แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง” ทำให้สถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ แห่ซื้อลิขสิทธิ์ละครโทรทัศน์เกาหลีมาฉายแข่งขันกันและขยายความนิยมสินค้าแบรนด์เกาหลีหลากหลายชนิด

สำหรับธุรกิจค้าปลีกเห็นชัดเจนจากโครงการศูนย์การค้าและเอนเตอร์เทนเมนต์ครบวงจร “โชว์ดีซี” ของกลุ่มบริษัทร่วมลงทุนนักลงทุนชาวไทยกับชาวมาเลเซีย “โชว์ดีซีคอร์ป” ซึ่งชูจุดขายความเป็น “เค-ป๊อป” สร้าง K-Town เมืองเกาหลีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ศูนย์รวม K-Fashion และ K-Beauty บริการเพื่อความงามสไตล์เกาหลี ร้านอาหารของศิลปินดังเกาหลี เช่น ร้าน Psy Ramen ของศิลปินดัง ไซ กังนัมสไตล์ ร้านอาหาร After Rain ของนักร้องหนุ่ม Rain และดึง YG Entertainment ค่ายบันเทิงยักษ์ใหญ่ของเกาหลี ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของศิลปินเกาหลี เช่น วง BIGBANG, PSY และ 2NE1 เข้ามาเปิดเอนเตอร์เทนเมนต์พาร์ค ศูนย์วัฒนธรรมและความบันเทิงสไตล์ K-Pop นอกจากนี้ ยังมีร้านค้าสินค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) ของกลุ่มบริษัทล็อตเต้ (Lotte) ยักษ์ใหญ่จากแดนกิมจิด้วย

ส่วนเซกเมนต์ร้านค้าปลีก “วันไพร์ส” แบรนด์สไตล์เกาหลีถือเป็นคู่แข่งหน้าใหม่ เพราะตลาดมีกลุ่มสินค้าญี่ปุ่นเข้ามาหลายราย ทั้งร้านแฟรนไชส์นำเข้าจากญี่ปุ่น ร้านสินค้าไทยแต่ใช้ชื่อแบรนด์ญี่ปุ่น และร้านแฟรนไชส์จากจีนแต่ใช้ชื่อแบรนด์ญี่ปุ่น

อย่างเจ้าตลาด “ไดโซะ” ซึ่งนำเข้าจากญี่ปุ่นแท้ๆ ล่าสุดมีสาขามากกว่า 150 แห่ง และขยายสาขาอย่างรวดเร็วผ่านระบบแฟรนไชส์ มีจุดแข็งในแง่สินค้าหลากหลายมากกว่า 50,000 รายการ ครอบคลุมสินค้าในชีวิตประจำวันทั้งหมด

ร้านโตคูยะ ชูจุดขายราคาเดียว 60 บาท เหมือนไดโซะ มีบริษัท โตคูยะ (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นมาสเตอร์ แฟรนไชส์รายแรกและรายเดียวในประเทศไทย สินค้าของร้านผลิตที่ญี่ปุ่น บางส่วนผลิตจากจีนและไต้หวัน นอกจากนี้ มีร้าน Moshi Moshi ซึ่งบุกตลาดปีกว่าๆ โดยอัดจุดแข็งสินค้าราคาเริ่มต้นเพียง 20 บาทเป็นกลยุทธ์สู้คู่แข่ง ปัจจุบันเปิด 3 สาขา ที่แพลทินัม แฟชั่น มอลล์, อาคาร Happy square และเทอร์มินอล 21 โคราช

ขณะที่ “มินิโซ” (Miniso) ซึ่งก่อตั้งโดยนักธุรกิจจีนและดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่น ถือเป็นผู้เล่นหน้าใหม่มาแรง เพราะบริษัทกำลังเร่งปูพรมขยายสาขาครบ 100 แห่ง ไล่จี้ “ไดโซะ” ในทุกศูนย์การค้าขนาดใหญ่ เน้นร้านขนาดใหญ่ มีสินค้ามากกว่า 2,500 รายการ ทั้งกลุ่มความงาม ไอที ของใช้ในบ้าน สินค้าแฟชั่น ส่วนใหญ่นำเข้าจากจีนแต่เน้นการออกแบบสไตล์ญี่ปุ่น ราคาเริ่มต้น 60 บาท

“โคโมโนยะ” ของเครือเซ็นทรัล ที่ทุ่มทุนซื้อหุ้น 51% ในบริษัทไทย วัตตส์ เจ้าของร้านโคโมโนยะเพื่อทำธุรกิจในไทย โดยมีบริษัทแม่ คือ วัตตส์ ญี่ปุ่น หนึ่งในผู้นำตลาดร้าน 100 เยนในญี่ปุ่น ร่วมเป็นที่ปรึกษาด้านการบริหารงาน เน้นเปิดในห้างสรรพสินค้า มีสินค้าหลากหลายจากญี่ปุ่นในราคา 60 บาท ล่าสุดเปิดสาขามากกว่า 30-40 แห่ง

ด้านกลุ่มร้านที่จับตลาดระดับล่าง เน้นขายราคาเดียว 20 บาท เช่น ร้านเอโกะ ของบริษัท เอกดำรง มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ร้าน Bear Store ชูจุดขายสินค้านำเข้าจากญี่ปุ่น แต่ขายในราคาแสนถูก และร้านเพนกวิน ใช้กลยุทธ์ราคาถูกที่สุด เริ่มต้นเพียง 12 บาท เน้นเปิดตามห้างชานเมือง เช่น เซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ มหาวิทยาลัยในต่างจังหวัด ไฮเปอร์มาร์เก็ต

อย่างไรก็ตาม บางรายอย่างเอโกะ มีแผนเปิดตัวร้านระดับพรีเมียม “เอ-โกะ โกลด์” โดยนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นเข้ามาเสริม จาก 40% เพิ่มเป็น 60% เพื่อเจาะกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ กลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงบน ราคาเริ่มต้น 60 บาทเหมือนไดโซะ

มาถึงร้านวันไพร์สแบรนด์เกาหลี ที่เริ่มเข้ามาแข่งขันในสมรภูมินี้ ได้แก่ อาร์โควา (Arcova Korea) ราคาเริ่มต้น 50 บาท ล่าสุดเปิดแล้ว 4 สาขาที่ซีคอนสแควร์ เอ็มบีเค ซีคอนสแควร์ และเอ็มอาร์ที พระราม 9 ส่วนอีกแบรนด์ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อปลายปีที่ผ่านมา “Midio” ซึ่งบริษัท ซี.เอ.พี.มิวสิค ซื้อสิทธิ์มาสเตอร์แฟรนไชส์เข้ามาเปิดร้านในประเทศไทย ปัจจุบันมี 3 สาขา คือ ซีคอนสแควร์ แฟชั่นไอส์แลนด์ และยูเนี่ยนมอลล์

ตรวจแนวรบร้านวันไพร์สสโตร์นอกจากการแข่งขันเจาะตลาดของสินค้า 2 สัญชาติแล้ว ยังหมายถึงดัชนีชี้วัดกระแสคลื่นวัฒนธรรม “ญี่ปุ่น-เกาหลี” ใครจะแรงกว่ากันด้วย

ใส่ความเห็น