วันอังคาร, มีนาคม 19, 2024
Home > Cover Story > สงครามการค้าอุบัติ กระทบส่งออกไทย?

สงครามการค้าอุบัติ กระทบส่งออกไทย?

ฟันเฟืองตัวสำคัญในระบบเศรษฐกิจของไทยอย่างการส่งออก ที่หลายคนให้ความเชื่อมั่นว่าจะเป็นกำลังหลักที่ทำให้เกิดเสถียรภาพและแรงผลักสำคัญทำให้เศรษฐกิจไทยยังคงขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งอัตราการขยายตัวที่มีความต่อเนื่องอยู่ในระดับที่ดีนับตั้งแต่ต้นปี แม้ว่าจะเป็นรูปแบบการค้าที่ขาดดุลในรอบ 43 เดือนก็ตาม หากแต่สภาพการณ์ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจึงไม่น่าแปลกที่หลายฝ่ายยังคงมองว่า การส่งออกของไทยน่าจะยังมีแรงเหวี่ยงที่ดีในช่วงครึ่งปีที่เหลือ

แม้จะต้องจับตามองต่อประเด็นการเกิดสงครามการค้าระหว่าง 2 ประเทศมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐฯ ที่ก่อนหน้านี้ดูเหมือนจะเป็นช่วงที่คลื่นลมสงบ เพราะเหตุผลจากการให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่ตอบโต้ทางการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้น ทำให้บรรดานักธุรกิจส่งออก ศูนย์วิจัย ที่ต่างลุ้นว่าทิศทางการค้าระหว่างประเทศจะเป็นอย่างไรนั้น เบาใจอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง

ทว่าห้วงยามนี้คลื่นลมที่เคยสงบตามคำมั่นสัญญา กลับเริ่มแสดงสัญญาณบางอย่าง เพราะเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในอัตรา 25 เปอร์เซ็นต์ วงเงิน 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นมาตรการโต้กลับจีน

ขณะที่รัฐบาลปักกิ่งเตรียมเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ในอัตราและวงเงินเดียวกัน ซึ่งเป้าหมายอยู่ที่สินค้าเกษตร รถยนต์ นับว่าการรีดภาษีของทั้งสองประเทศเป็นการเปิดศึกแลกหมัดอย่างเต็มรูปแบบ

แน่นอนว่าสงครามการค้าที่มีชนวนเหตุมาจากสหรัฐฯ และจีน ทำให้สถานการณ์ส่งออกของไทยได้รับผลกระทบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เมื่อสินค้าส่งออกของไทยจำนวนไม่น้อยที่อยู่ในวงจรการค้าโลก กระทั่งล่าสุดกระทรวงพาณิชย์สั่งจับตาสถานการณ์นี้เป็นพิเศษ โดยเฉพาะกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศที่มีหน้าที่โดยตรง

การงัดมาตรการทางภาษีตอบโต้กันระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทำให้ไทยต้องรักษาฐานที่มั่นซึ่งเป็นตลาดค้าเดิม และยังต้องหามาตรการอื่นๆ มารองรับหากสถานการณ์ไม่สู้ดี นั่นคือการมองหาตลาดใหม่สำหรับสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าในครั้งนี้

ขณะที่รองอธิบดีกรมการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สุพพัต อ่องแสงคุณ อธิบายแนวทางว่า “สถานการณ์สงครามการค้านี้ ต้องมอนิเตอร์เป็นรายกลุ่ม และต้องพยายามรักษาแรงเหวี่ยงของการส่งออกในทุกตลาด” นอกจากนี้กรมการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศยังได้พิจารณาตลาดใหม่ไว้สำหรับสถานการณ์สงครามการค้าที่อาจกระทบไทยในอนาคต เช่น ตลาดตะวันออกกลาง ตลาดแอฟริกา

อย่างไรก็ตาม สงครามการค้าไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่อาจกระทบต่อการส่งออกของไทย หากแต่สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ อัตราค่าเงินบาทที่มีความผันผวน และตลาดหุ้น จะเป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่ทำให้ต้นทุนการขนส่งของนักธุรกิจส่งออกเปลี่ยนแปลง

แม้ว่าทั่วโลกกำลังจับตามองความเป็นไปบนเวทีการค้าโลก ที่สงครามการค้ากำลังอุบัติขึ้น หากแต่กระทรวงพาณิชย์ยังมีแผนการที่จะปรับการประเมินตัวเลขการส่งออกของไทยในครึ่งปีหลัง ซึ่งเบื้องต้นได้ประเมินว่าน่าจะมีโอกาสขยายตัวได้มากกว่า 8 เปอร์เซ็นต์ เมื่อพิจารณาจากตัวเลขการส่งออกในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งขยายตัวแล้ว 11.55 เปอร์เซ็นต์

ท่ามกลางสภาวะสงครามการค้าที่กำลังดำเนินไปนั้น การตั้งกำแพงภาษีดูจะเป็นนโยบายที่หลายประเทศนำออกมาใช้เพื่อเป็นการกีดกันการนำเข้าสินค้า ขณะที่ไทยมีมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping: AD) ซึ่งเป็นมาตรการทางการค้าที่ประเทศผู้นำเข้าใช้เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในที่ได้รับความเสียหาย หรือมีแนวโน้มที่จะได้รับความเสียหายจากการทุ่มตลาดอันเกิดจากการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศที่ไม่เป็นธรรม

นอกจากนี้ยังมีมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty: CVD) และมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard Measure: SG) เป็นมาตรการทางการค้าที่ใช้คุ้มครองอุตสาหกรรมภายในที่ได้รับความเสียหายหรือมีแนวโน้มที่จะได้รับความเสียหายจากการนำเข้าที่เพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ เพื่อเปิดโอกาสให้อุตสาหกรรมภายในของประเทศสามารถปรับตัวให้สามารถแข่งขันกับสินค้านำเข้าได้

มาตรการข้างต้นจะถูกนำมาใช้เมื่อสงครามการค้าอุบัติขึ้น ปัจจุบันไทยได้นำ 3 มาตรการข้างต้นมาใช้กับสินค้านำเข้าเช่นกัน ขณะเดียวกันประเทศคู่ค้าที่ใช้ 3 มาตรการกับสินค้าในห้วงยามนี้ ซึ่งสินค้าที่อยู่ระหว่างไต่สวนกับ 3 มาตรการดังกล่าว ได้แก่ สินค้ากลุ่มเหล็ก ยางรถยนต์ เครื่องปรับอากาศ กุ้งแช่แข็ง ข้าวโพดหวานกระป๋อง ฯลฯ

แม้ว่าผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่าง 2 ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจจะยังไม่ชัดเจนเป็นรูปธรรมในเวลานี้ แต่ภาครัฐต้องหาแนวทางหรือมาตรการในการป้องกันล่วงหน้า เพราะเพียงแค่สองยักษ์ใหญ่ขยับเพียงนิด หลายประเทศทั่วโลกต่างวางเกมเดินหมากบนเวทีการค้าโลกไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

นั่นทำให้สินค้าไทยหลายรายการมีแววสะดุดจากการเปิดศึกกีดกันทางการค้า แม้หลายฝ่ายจะมองผลกระทบจากสงครามนี้ว่า โลกไม่ควรตื่นตระหนกเกินไปนัก เพราะยังต้องติดตามสถานการณ์กันอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม จุดเปลี่ยนของสงครามอาจจะอยู่ที่การย้ายฐานการผลิตรถยนต์ของค่ายดังจากญี่ปุ่นไปสหรัฐฯ และการขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ที่ทรัมป์เคยประกาศว่าจะปรับจาก 2.5 เปอร์เซ็นต์เป็น 20-25 เปอร์เซ็นต์

สงครามการค้าครั้งนี้ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า นโยบายของทรัมป์จะทำให้สหรัฐฯ ถูกโดดเดี่ยวหรือไม่ และจีนจะมีมาตรการโต้ตอบอย่างไรต่อไป รวมไปถึงทั่วโลกจะเดินเกมการค้าอย่างไร และท้ายที่สุด ไทยจะยืนอยู่อย่างไรบนเวทีที่เป็นเพียงตัวประกอบ

ใส่ความเห็น