วันอังคาร, มีนาคม 19, 2024
Home > New&Trend > สกสว.หนุนพัฒนาระบบบริหารจัดการท่องเที่ยวไทยในเวทีโลก

สกสว.หนุนพัฒนาระบบบริหารจัดการท่องเที่ยวไทยในเวทีโลก

สกสว.สนับสนุนเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นทิศทางการพัฒนาระบบการบริหารจัดการท่องเที่ยวไทยในอนาคตให้ตรงจุดสู่ความยั่งยืน นักวิจัยชี้ควรจัดเก็บภาษีและกระจายคืนสู่ท้องถิ่น รวมถึงมีหน่วยงาน ‘คลังสมอง’ ระดับนโยบาย

ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาระบบบริหารจัดการการท่องเที่ยวไทยในอนาคต โดยมีผู้บริหารกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หน่วยงานจากภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เข้าร่วม

ผู้อำนวยการ สกสว. ระบุว่าไทยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นอันดับ 4 ของโลก แต่ดัชนีความสามารถในการแข่งขันด้านการเดินทางและท่องเที่ยวอยู่ในอันดับ 34 ของโลก เป็นที่น่าสังเกตว่าไทยมีการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง แต่กลับไม่ได้เป็นผู้นำในมิติของการบริหารจัดการและขีดความสามารถทางการแข่งขันทางการท่องเที่ยว นโยบายทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่ผ่านมายังไม่ตรงจุดกับการพัฒนาให้เกิดการเดินทางและการท่องเที่ยวของกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพทั่วโลก สกสว. หรือ สกว.เดิม ได้สนับสนุนด้านการท่องเที่ยวมาอย่างต่อเนื่อง จึงหวังว่าเวทีในครั้งนี้จะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดย สกสว.จะยังคงสนับสนุนงานวิจัยที่สามารถสร้างผลกระทบให้กับประเทศ และประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายด้านการท่องเที่ยวต่อไป

ด้าน รศ. ดร.เทิดชาย ช่วยบำรุง หัวหน้าโครงการวิจัยเรื่อง “นโยบายในการพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการการท่องเที่ยวไทยในเวทีโลก” จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากฝ่ายการวิจัยมุ่งเป้า สกสว. และผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ เป็นหัวหน้าโครงการ นำเสนอผลการศึกษาการวิเคราะห์นโยบายการบริหารจัดการการท่องเที่ยวไทย สเปน และมาเลเซีย ว่าจุดอ่อนสำคัญที่สะท้อนถึงความไม่พร้อมของไทยในการบริหารจัดการท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืน คือ ขาดนวัตกรรมและเทคโนโลยี การจัดการสุขอนามัย ความปลอดภัย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจัยหลังไทยอยู่อันดับ 122 จากทั้งหมด 136 ประเทศ และขาดแผนปฏิบัติการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน เพราะต่างคนต่างทำงานตามพันธกิจของตัวเอง ไม่ได้มุ่งเป้าไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จึงเป็นโจทย์สำคัญว่าหากจะพัฒนาการท่องเที่ยวของไทยให้ยั่งยืนจำเป็นต้องทำอะไรบ้าง โดยผลการศึกษาเกณฑ์การท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืนนั้น ผู้วิจัยได้สรุปเป็นกรอบการพัฒนาระบบการบริหารจัดการการท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืน 4 ด้าน ได้แก่ (1) นโยบายและยุทธศาสตร์สู่ความยั่งยืน (2) การบริหารจัดการการท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพบนฐานความยั่งยืนที่ช่วยเพิ่มและลดผลกระทบอันเกิดจากการพัฒนาการท่องเที่ยว (ด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม) อย่างเป็นธรรมและคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน (3) สภาพแวดล้อมของขีดความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างยังยืนและเป็นธรรม (4) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพและมีจริยธรรม

อุปสรรคสำคัญของไทย ได้แก่ การจัดการความปลอดภัยและความมั่นคงที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม การจัดการขีดความสามารถในการรองรับของพื้นที่อย่างเหมาะสมและยั่งยืน โครงสร้างพื้นฐานทั้งภาคพื้นและทางเรือ ยังไม่มีระบบการบริหารจัดการทั้งหมดที่เชื่อมโยงเพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และดัชนีด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม เพราะแม้ไทยจะมีความโดดเด่นเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ แต่ยังมีอุปสรรคเรื่องวัฒนธรรมและการเดินทางเพื่อธุรกิจ

สำหรับผลการถอดบทเรียนการศึกษาและวิเคราะห์ระบบการบริหารการท่องเที่ยวของประเทศที่มีศักยภาพการแข่งขันการท่องเที่ยวสูงสุดในเวทีระดับโลก คือ สเปน และระดับเอเชีย คือ มาเลเซีย พบว่าสเปนมีความโดดเด่นที่โครงสร้างการบริหารจัดการการท่องเที่ยวและการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น โดยกระทรวงอุตสาหกรรมการค้าและการท่องเที่ยวของสเปนมีแขนขาที่ช่วยขับเคลื่อน ไม่ว่าจะเป็นงานระดับกระทรวงที่ส่งเสริมการตลาดและการสร้างเครือข่ายโรงแรม-ธุรกิจร้านอาหารที่เกี่ยวเนื่องกับรัฐ มีหน่วยงานเฉพาะที่ดูแลเทคโนโลยีและนวัตกรรม สภาการท่องเที่ยวสเปน และหน่วยงานที่เป็นตัวเชื่อมนโยบายชาติไปสู่ระดับพื้นที่ และมีการเก็บภาษีการท่องเที่ยวสำหรับบริหารกองทุนระดับท้องถิ่น ขณะที่มาเลเซียมีจุดเด่นที่หน่วยงานของรัฐส่วนกลางมีโครงการขนาดใหญ่ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น และจ้างบริษัทเอกชนบริหารจัดการด้านต่าง ๆ เช่น ดูแลมรดกโลก การพัฒนาคน และส่งเสริมการตลาด

“เมื่อมองกลับมาที่ไทยพบว่ายังขาดหน่วยงานคลังสมองระดับนโยบาย ระบบการบริหารจัดการงบประมาณส่วนใหญ่อยู่ในอำนาจของหน่วยงานระดับกระทวง การกระจายงบประมาณเพื่อการพัฒนาทรัพยากรการท่องเที่ยวในท้องถิ่นไม่เพียงพอ ขาดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาการท่องเที่ยวและขาดระบบการจัดเก็บภาษีเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยว และไม่มีระบบการจัดเก็บภาษีและการกระจายภาษีกลับคืนสู่ท้องถิ่น”

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่สำคัญ คือ สร้างความสมดุลในการกระจายอำนาจการบริหารจัดการการท่องเที่ยวจากระดับประเทศลงสู่ระดับภาค คลัสเตอร์ หรือเขตพัฒนาการท่องเที่ยวลงสู่ระดับท้องถิ่น โดยให้ความสำคัญกับการกระจายงบประมาณและอำนาจในการตัดสินใจในการพัฒนาการท่องเที่ยวสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง พัฒนานโยบายและระบบการทำงานเชิงบูรณาการให้ชัดเจนมากขึ้น ที่สำคัญคือ เร่งพัฒนานโยบายการท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมในเมืองท่องเที่ยว มีระบบการตรวจสอบและติดตามผลกระทบด้านการท่องเที่ยวและดำเนินการอย่างจริงจัง เร่งสร้างกลไกการสนับสนุนการดำเนินธุรกิจการท่องเที่ยวของภาคเอกชน และพัฒนานโยบายด้านบุคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งระบบ

ขณะที่นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวระหว่างการบรรยายพิเศษ “ทิศทางการพัฒนาระบบการบริหารจัดการการท่องเที่ยวไทยในอนาคต ในมุมมองภาครัฐ” ว่าระบบราชการไทยถูกออกแบบมาเพื่อความมั่นคงมากกว่าที่จะเน้นการบริการ การปฏิรูประบบราชการไทยต้องมีศิลปะในการสื่อสารที่ดีกว่านี้ ใช้ภาพในการสื่อสารและประโยคที่สั้นลง รู้เรื่อง มีความหลากหลายในการสื่อสารมากขึ้น สิ่งที่จะทำให้ไปถึงที่หมายคือ ต้องก้าวออกจากเขตปลอดภัยเดิม ๆ นอกจากนี้ต้องมีการบังคับใช้กฎหมาย มีศิลปะในการบริหารจัดการแก้ปัญหาแต่ไม่ควรแก้แบบกวาดล้าง

ใส่ความเห็น