วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > ศึกไก่ทอด “เซ็นทรัล-ไทยเบฟ” ฮุบแฟรนไชส์ KFC ยึดเพิ่ม 200 สาขา

ศึกไก่ทอด “เซ็นทรัล-ไทยเบฟ” ฮุบแฟรนไชส์ KFC ยึดเพิ่ม 200 สาขา

สงครามฟาสต์ฟูดไก่ทอดในไทยมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท เริ่มร้อนระอุเมื่อมีรายงานข่าวว่า บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ 1 ใน 3 แฟรนไชซีร้านเคเอฟซีในประเทศไทย มีสาขามากถึง 200 สาขา กำลังศึกษาแนวทางการขายสิทธิ์แฟรนไชส์ มูลค่าประมาณ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือร่วม ๆ 6,200 ล้านบาท โดยกลุ่มเซ็นทรัลส่งซิกจะฮุบดีลนี้ เพื่อต่อยอดธุรกิจอาหารในเครือและผลักดันรายได้แก้พิษโควิดแบบก้าวกระโดด

เหตุผลสำคัญ คือ แบรนด์เคเอฟซี (KFC) ติดตลาดและสามารถสร้างเม็ดเงินการเติบโตให้บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ “ซีอาร์จี” เติบโตต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 10% ทุกปี โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดหลายเดือนที่ผ่านมา เคเอฟซียังทำยอดขายได้ดีในระดับหนึ่งและมีช่องทางการขายเข้าถึงผู้บริโภคทั้งออนไลน์และออฟไลน์

ปัจจุบันธุรกิจร้านไก่ทอดเคเอฟซีในประเทศไทยมีจำนวนรวมประมาณ 767 สาขา อยู่ภายใต้การบริหารของแฟรนไชซี 3 ราย

รายแรก ซีอาร์จี ผู้ได้รับสิทธิ์แฟรนไชส์มาอย่างยาวนาน ปัจจุบันมีสาขารวม 282 สาขา

รายที่ 2 บริษัท คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย (QSA) ในเครือบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ของกลุ่มนายเจริญ สิริวัฒนภักดี จำนวน 285 สาขา โดยเจ้าสัวเจริญทุ่มเม็ดเงินกว่า 11,300 ล้านบาท ซื้อสิทธิ์แฟรนไชส์จากบริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) เมื่อปี 2560 จำนวน 240 สาขา และเร่งขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้เปิดให้บริการ 285 สาขา

รายที่ 3 บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ (RD) อีก 200 สาขา

ขณะเดียวกัน สัญญาณการแข่งขันมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นอีก เมื่อแบรนด์ใหม่ ๆ ต่างเร่งผุดสาขาเจาะฐานตลาดของเคเอฟซี โดยเฉพาะ “เท็กซัส ชิคเก้น” ภายใต้การบริหารของบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ “โออาร์” เปิดเกมรุกตลาด ผุดสาขาทั้งในศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ และรุกขยายไปพร้อมๆ กับสถานีบริการน้ำมัน ปตท. สาขาใหม่ ที่เน้นพื้นที่ขนาดใหญ่ เพื่อปลุกจุดขายความเป็น “คอมมูนิตี้มอลล์” ขนาดเล็กแบบครบวงจรดึงดูดกลุ่มลูกค้า ตั้งเป้าปิดปี 2564 จะมีสาขาเท็กซัสชิคเก้นไม่ต่ำกว่า 80 แห่ง

แน่นอนว่า ทั้งกลุ่มเซ็นทรัลและไทยเบฟต้องเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ เพื่อเร่งสปีดฝ่าวิกฤตโควิดและพิษเศรษฐกิจที่ยังมีปัจจัยลบรอบด้าน ซึ่งล่าสุด กลุ่มเซ็นทรัลเปิดเกมชิงแฟรนไชส์เคเอฟซี ให้บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL ในฐานะบริษัทแม่ของซีอาร์จี ส่งทีมศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าซื้อแฟรนไชส์ร้านฟาสต์ฟู้ดเคเอฟซี และประเมินผลประโยชน์ เพราะหากดีลสำเร็จจะสามารถสร้างเครือข่ายร้านสาขาพุ่งพรวดเกือบ 500 สาขา แซงหน้าไทยเบฟแบบทิ้งห่างทันที

อีกด้านหนึ่ง กลุ่มธุรกิจอาหารของซีอาร์จีจะแข็งแกร่งขึ้นตามแผนรุกตลาดเดลิเวอรี (Delivery) ทั้งในแง่แบรนด์ ประเภทอาหาร และมีความหลากหลายถึง 17 แบรนด์ จำนวนสาขารวมกัน 1,079 สาขา โดยล่าสุด ทุ่มงบลงทุน 500 ล้าน และจับมือกับ “ครัวคุณต๋อย” กูรูแนะนำร้านอาหารชื่อดังที่การันตีความอร่อยระดับตำนาน มีร้านอร่อยในเครือกว่า 2,000 ร้าน เปิดตัว “คลาวด์คิทเช่น” (Cloud Kitchen) ภายใต้ชื่อ “Every Foood” เพื่อรุกธุรกิจอาหารยุคนิวนอร์มอล (New Normal) ผ่านตลาดอีคอมเมิร์ซและบริการเดลิเวอรี่

อย่างไรก็ตาม คลาวด์คิทเช่น Every Foood สาขาแรกจะนำร่องร้านอาหารชื่อดังระดับตำนานประมาณ 20 กว่าแบรนด์ แบ่งเป็นแบรนด์ในเครือซีอาร์จี ซึ่งนำเข้ามาตัวแรก คือ สลัดแฟคทอรี่ และต่อไปจะนำแบรนด์อื่นๆ เข้ามาอยู่ด้วยตามทำเลและกลุ่มเป้าหมาย เช่น ร้านอาหารจีนเกาลูน

ขณะที่ร้านอาหารชื่อดัง ซึ่งคัดสรรโดยครัวคุณต๋อย ได้แก่ เจ้หมวย ข้าวผัดปูราชพฤกษ์ บะหมี่ตลาดขวางจากพังงา ขาหมูคุโรบุตะ ขาหมู 5 รางวัลอร่อย เฮียเพ้งเป็ดย่าง เมนูเด็ดแกงไตปลาจากร้านจินดา ครัวชาววิเสท โดยสามารถสั่งผ่านเว็บไซต์ www.foodhunt.com, แอปพลิเคชัน Foodhunt และ food aggregators หรือ CRG call center โทร. 1312 รวมทั้งมี Facebook: Every Foood กู้ดดดเรื่องกิน สื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย

ณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ซีอาร์จี กล่าวว่า รูปแบบคลาวด์คิทเช่นถือเป็นครัวกลาง (Hub) ที่รวมร้านอาหารเด็ดและเมนูดังมาไว้ในที่เดียวแห่งแรกในไทย ซึ่งลูกค้าสามารถสั่งอาหารมากกว่า 1 ร้านในออร์เดอร์เดียวกัน โดยสาขาแรกบนถนนนาคนิวาสถือเป็นทำเลทองที่มีความต้องการใช้บริการส่งอาหารค่อนข้างสูง และเตรียมแผนเปิดเพิ่ม 10 สาขา ในเขตกรุงเทพฯ ภายในปีนี้ ตั้งเป้ายอดออร์เดอร์รวมกว่า 100 ล้านบาท ส่วนตลาดต่างจังหวัดจะเริ่มในปีหน้า และตั้งเป้าขยายทั่วประเทศครบ 50 สาขา ภายในปี 2565 จากนั้นทยอยเปิดให้ได้ 1,000 สาขา เพื่อสร้างยอดขายประมาณ 3,000 ล้านบาท

“หลายๆ สถานการณ์ที่ผ่านมา ส่งผลให้ภาพรวมตลาดเดลิเวอรี่เติบโตขึ้นมาก มีมูลค่าสูงถึง 35,000 ล้านบาท และคาดการณ์ปี 2563 จะแตะ 40,000 กว่าล้านบาท จากปี 2562 ที่มีเพียง 10,000 กว่าล้านบาท เพราะบริการเดลิเวอรี่กลายเป็นส่วนสำคัญของธุรกิจอาหารในขณะนี้ และคลาวด์คิทเช่นเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ที่ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจเดลิเวอรี่ได้อีกมาก”

ที่สำคัญ ข้อมูลของศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) ระบุว่า มูลค่าตลาดอี-คอมเมิร์ซไทยเมื่อปี 2562 มีมูลค่า 163,300 ล้านบาท และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยในปีนี้ ผู้บริโภคหันมาช้อปปิ้งออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้ตัวเลขตลาดอีคอมเมิร์ซไทยเติบโตถึง 19% เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 14,900 ล้านบาทต่อเดือน และประเมินเป็นมูลค่าใช้จ่ายรวมบนระบบออนไลน์เพิ่มขึ้นทั้งปี 87,700 ล้านบาทจากช่วงเวลาปกติ

นอกจากนี้ ยูโรมอนิเตอร์รายงานมูลค่าตลาดอาหารสตรีทฟู้ดโดยรวมในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นถึงระดับ 340,000 ล้านบาทในปี 2564 เทียบกับปี 2560 อยู่ที่ 276,000 ล้านบาท ทำให้กลุ่มค้าปลีกยักษ์ใหญ่ต่างดึงสตรีทฟู้ดเข้ามาเสริมเป็นจุดขายมากขึ้น ทั้งรูปแบบศูนย์อาหารและครัวกลาง

ดังนั้น การเปิดเกมรุกของซีอาร์จี ทั้งโมเดลธุรกิจใหม่ “คลาวด์คิทเช่น” เร่งขยายบริการเดลิเวอรี่ สร้างฐานการตลาดออนไลน์ เติมเต็มช่องทางการเข้ามารับประทานในร้านอาหาร (Dine in) ยิ่งถ้าจบดีลฮุบแฟรนไชส์เคเอฟซีเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งได้อีก นั่นย่อมหมายถึงอาณาจักรธุรกิจอาหารของกลุ่มเซ็นทรัลจะสยายปีกใหญ่โตและมีโอกาสการเติบโตอีกหลายเท่า

17 แบรนด์ธุรกิจอาหาร กลุ่ม CRG

๐ มิสเตอร์โดนัท ร้านโดนัทที่ครองส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 50% เริ่มเปิดบริการในปี 2521 ล่าสุดมี 370 สาขา
๐ เคเอฟซี ร้านไก่ทอด ซึ่ง CRG ได้สิทธิ์แฟรนไชส์เปิดสาขาเมื่อปี 2528 ล่าสุดมี 282 สาขา
๐ อานตี้ แอนส์ ร้านอาหารทานเล่น เปิดสาขาในไทยเมื่อปี 2541 ล่าสุดมี 183 สาขา
๐ เปปเปอร์ ลันช์ สเต๊กสไตล์ญี่ปุ่น ล่าสุดเปิดแล้ว 46 สาขา
๐ ชาบูตง ร้านราเมนต้นตำรับจากญี่ปุ่น โดยเชฟราเมนคนแรกที่ได้รับมิชลินสตาร์ ล่าสุดมี 17 สาขา
๐ โคล สโตน ครีมเมอรี่ ไอศกรีมซูเปอร์พรีเมียมชั้นนำสัญชาติอเมริกัน จำนวน 17 สาขา
๐ ไทยเทอเรส ตำรับอาหารรสไทยแท้ของบริษัท เมนูหลากหลาย 135 รายการ ล่าสุดมี 15 สาขา
๐ โยชิโนยะ เชนร้านอาหารบริการด่วนจากญี่ปุ่น เปิดแล้ว 18 สาขา
๐ โอโตยะ แบรนด์อาหารญี่ปุ่นระดับพรีเมียมสไตล์โฮมเมด ล่าสุดมี 48 สาขา
๐ เทนยะ เชนร้านอาหารข้าวหน้าเทมปุระ จำนวน 14 สาขา
๐ คัตสึยะ ร้านอาหารทงคัตสึและคัตสึด้ง มีเมนูยอดนิยมคือ หมูทอดทงคัตสึราดข้าว จำนวน 38 สาขา
๐ อร่อยดี แหล่งรวมความอร่อยของอาหารแนวสตรีทฟู้ด 17 สาขา
๐ สุกี้เฮ้าส์ ร้านสุกี้สไตล์ Homemade จำนวน 3 สาขา
๐ ซอฟท์แอร์ ร้านไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ จำนวน 1 สาขา
๐ เกาลูน ร้านอาหารจีนต้นตำรับสไตล์กวางตุ้ง พัฒนาจากห้องอาหารจีนไดนาสตี้ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เปิดแล้ว 2 สาขา
๐ สลัดแฟคทอรี่ ร้านสลัดเพื่อสุขภาพ เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2556 ล่าสุดเปิดแล้ว 7 สาขา
๐ Every Foood ครัวกลาง (Hub) ที่รวมร้านอาหารเด็ดและเมนูดัง ล่าสุดเปิด 1 สาขา

*จำนวนสาขา ณ วันที่ 16 มิ.ย. 2563

 

ใส่ความเห็น