วันอังคาร, มีนาคม 19, 2024
Home > Cover Story > ศรีลังกา: บนสมการถ่วงดุล มหาอำนาจจีน-อินเดีย

ศรีลังกา: บนสมการถ่วงดุล มหาอำนาจจีน-อินเดีย

ในขณะที่สังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกภาครัฐพยายามเร่งหาผู้ลงทุนรายใหม่ๆ ด้วยการเดินสายขายโครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EEC: Eastern Economic Corridor ด้วยหวังว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นประหนึ่งผลงานสำคัญ และช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยสามารถไถลตัวออกจากอาการติดหล่ม รวมถึงช่วยกู้ภาพลักษณ์ด้านผลงานการดำเนินงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่เข้ามายึดครองอำนาจการบริหารประเทศเป็นเวลากว่า 3 ปี ล่วงไปแล้ว

หากแต่ในอีกฟากฝั่งหนึ่งของมหาสมุทรอินเดีย ดินแดนที่เพิ่งฟื้นจากสงครามกลางเมืองและได้สัมผัสกับความสงบสันติมาได้ไม่ถึงทศวรรษกำลังต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหม่ สำหรับการพัฒนาในอนาคต โดยเฉพาะการเลือกและรักษาสมดุลแห่งอำนาจ จากการเข้ามามีบทบาททั้งในมิติของเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน โดยเอกชนและภาครัฐจากทั้งจีน อินเดีย และญี่ปุ่น ที่ต่างพร้อมแสดงตัวในการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ เพื่อก้าวสู่อนาคตที่สดใสร่วมกัน

ศรีลังกา ซึ่งมีภูมิรัฐศาสตร์เป็นเกาะอยู่ทางตอนปลายของประเทศอินเดีย ถือเป็นพื้นที่ที่อินเดียเคยมีบทบาทนำมาตลอดในช่วงหลายทศวรรษแห่งประวัติศาสตร์ ก่อนที่จะสูญเสียพื้นที่และโอกาสให้กับจีน ในช่วงปี 2005 ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญก่อนที่รัฐบาลศรีลังกาจะเผด็จศึกและยุติสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อมากว่า 3 ทศวรรษลงได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดในปี 2009

รัฐบาลจีนแทรกเข้ามามีบทบาทในศรีลังกาด้วยการให้ความช่วยเหลือทางการทหารมูลค่ากว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2005 ซึ่งนับเป็นจังหวะก้าวที่สอดรับกับสถานการณ์ความต้องการของรัฐบาลศรีลังกาภายใต้การนำของ Mahinda Rajapaksa และเป็นจุดเริ่มต้นของทั้งการสานสายสัมพันธ์และการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ใหญ่ว่าด้วย String of Pearls และ One Belt, One Road (OBOR) ที่มีศรีลังกาประกอบส่วนอยู่ในยุทธศาสตร์นี้ด้วย

การลงทุนของจีนในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของศรีลังกาในยุคหลังสงครามกลางเมือง ดำเนินไปท่ามกลางอัตราเร่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนเพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้สามารถรองรับกับยุทธศาสตร์ OBOR ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนและลงทุนสร้างระบบทางด่วนระยะทางรวม 26 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างโคลัมโบสู่สนามบินนานาชาติ Bandaranaike International Airport ด้วยมูลค่าโครงการรวม 292 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมี Exim Bank of China เป็นผู้สนับสนุนหลักด้วยเงินลงทุนจำนวน 248 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 85 ของโครงการ โดยรัฐบาลศรีลังกาลงทุนส่วนที่เหลือร้อยละ 15 ด้วยงบประมาณ 44 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น

ขณะเดียวกัน จีนพยายามเบียดแทรกการมีอยู่ของทั้งญี่ปุ่นและธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย ADB (Asian Development Bank: ADB) ในฐานะที่เป็นแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนา ด้วยการเสนอเงินลงทุนจำนวน 180 ล้านเหรียญสหรัฐ ผ่านกลไกของ Exim Bank of China เพื่อสร้างเส้นทางส่วนต่อขยายจากเดิมในเส้นทาง Colombo-Galle-Matara ซึ่งเคยได้รับการสนับสนุนทางการเงินบางส่วนจาก JBIC (Japan Bank for International Cooperation) และ ADB (Asian Development Bank) ให้ขยายต่อเนื่องมุ่งหน้าลงใต้เพื่อไปยัง Hambantota ที่ Mahinda Rajapaksa อดีตผู้นำของศรีลังกาต้องการพัฒนาให้เป็นท่าเรือน้ำลึกและเขตอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งโครงการพัฒนาที่ว่านี้ดูจะสอดรับกับยุทธศาสตร์ว่าด้วย OBOR และ String of Pearls ของจีน และทำให้จีนมุ่งหมายจะพัฒนาพื้นที่แห่งนี้อย่างกระตือรือร้น

โครงการพัฒนา Hambantota จากพื้นที่รกร้างซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากเหตุสึนามิเมื่อปี 2004 ให้กลายเป็นท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่ในนาม Port of Hambantota หรือ Magampura Mahinda Rajapaksa Port ซึ่งเปิดเฟสแรกไปแล้วตั้งแต่เมื่อปี 2010 ด้วยเงินลงทุนกว่า 361 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยในจำนวนนี้กว่าร้อยละ 85 เป็นเงินที่ได้รับการสนับสนุนจาก Exim Bank of China อีกเช่นกัน

ขณะที่ตามแผนระยะยาว ท่าเรือน้ำลึกแห่งนี้ได้รับการจัดวางให้เป็นท่าเรือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยสามารถรองรับการเข้าเทียบท่าของเรือเดินสมุทรได้มากถึง 33 ลำในคราวเดียว นอกจากนี้โครงการพัฒนา Hambantota ยังประกอบส่วนด้วยโครงการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ มูลค่ากว่า 550 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการจากทั้ง จีน อินเดีย รัสเซีย และดูไบ ที่จะเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งทำให้รัฐบาลศรีลังกา เสมือนหนึ่งมีทางเลือกในการพัฒนาเพิ่มขึ้น

เพราะหากพิจารณาอย่างรอบคอบ ภายใต้ยุทธศาสตร์ String of Pearls และ OBOR ที่จีนประกาศฝ่ายเดียว บทบาทและการรุกคืบของจีนย่อมไม่ใช่สิ่งที่น่าอภิรมย์นักสำหรับประเทศที่ปรากฏตัวอยู่ในแผนพัฒนาและการขยายอิทธิพลของจีนเช่นนี้

ประเด็นว่าด้วยบทบาทของทั้งรัฐบาลและเอกชนจีนที่เข้ามาลงทุนใน Hambantota ได้รับการจับตามองและวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของจีนมากกว่าที่จะนำพาความจำเริญให้เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจและสังคมของศรีลังกา โดยเฉพาะจากข้อเท็จจริงที่ว่าด้วยวิธี debt-for-equity หรือการแปลงหนี้เป็นทุน ทำให้ปัจจุบันการบริหารจัดการในท่าเรือน้ำลึกแห่งนี้กว่าร้อยละ 80 ได้รับการโอนให้อยู่ในการดูแลของ China Merchants Port Holdings Company Limited (CM Port) ที่มีฐานอยู่ในฮ่องกง ภายใต้สัญญาเช่าระยะยาว 99 ปี

ก่อนที่บรรษัทแห่งนี้จะลงทุนเพิ่มอีก 1.12 พันล้านเหรียญสหรัฐภายใต้กรอบ Private-Public Partnership (PPP) โดยมีเงื่อนไขทางเลือกที่จะเปิดโอกาสให้เอกชนศรีลังกาที่มีศักยภาพเข้าร่วมถือหุ้นอีกร้อยละ 20 ในช่วงระยะเวลาอีก 10 ปีข้างหน้านับจากนี้ โดยมีการคาดหมายว่า CM Port จะต้องลงทุนเพิ่มในช่วงนี้ประมาณไม่น้อยกว่า 800 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อให้ท่าเรือน้ำลึกแห่ง Hambantota มีศักยภาพในระดับปฏิบัติการได้

ขณะที่ทางฝ่ายจีนระบุว่าพร้อมจะลงทุนเพิ่มอีก 5 พันล้านเหรียญสหรัฐเพื่อพัฒนาท่าเรือและพื้นที่เขตอุตสาหกรรมโดยรอบที่มีพื้นที่รวมกว่า 15,000 เอเคอร์ หรือกว่า 37,500 ไร่ (2.5 ไร่เท่ากับ 1 เอเคอร์) ที่จะนำไปสู่การจ้างงานให้กับสังคมศรีลังกาไม่น้อยกว่า 1 แสนอัตราจ้าง หากทุกอย่างดำเนินไปด้วยดี ซึ่งถือเป็นคำมั่นสัญญาที่มีเงื่อนไขเชิงข่มขู่ศรีลังกาอยู่ไม่น้อยเลย

ยังไม่นับรวมถึงกรณีว่าด้วยการนำเรือรบของกองทัพเรือจีนเข้าเทียบท่า ซึ่งย่อมสื่อนัยความหมายไปในทางลบให้กับท่าเรือเศรษฐกิจแห่งนี้ และอาจนำพาให้ศรีลังกาต้องตกอยู่ในสภาวะไม่พึงประสงค์หากเกิดความขัดแย้งระดับนานาชาติขึ้นในอนาคต ขณะที่สัญญาเช่าระยะยาว 99 ปี ได้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์ว่าด้วยการรุกเข้ามาเป็นเจ้าอาณานิคมใหม่ของจีนในหมู่ประชาชนชาวศรีลังกาอย่างไม่อาจเลี่ยง

ขณะเดียวกันโครงการพัฒนาในกรุงโคลัมโบ ที่ประกอบส่วนไปด้วยการยกระดับขีดความสามารถของท่าเรือโคลัมโบ และการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โดยรอบ ควบคู่กับการนำพาโคลัมโบไปสู่จุดหมายใหม่ของการเป็น Financial Center ภายใต้โครงการ Colombo Port City Project ซึ่งถือเป็นโครงการลงทุนพัฒนาเมืองขนาดใหญ่ที่ต้องอาศัยปริมาณเงินลงทุนมหาศาลไม่ต่ำกว่า 1.5 เหรียญสหรัฐ โดยมี China Harbour Engineering Company เป็นผู้นำเสนอโครงการ

แม้ว่าแผนพัฒนา Colombo Port City Project จะเป็นโครงการที่เกิดขึ้นในยุคสมัยที่ Mahinda Rajapaksa เรืองอำนาจ และได้รับการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความโปร่งใสอย่างหนักหน่วง ขณะเดียวกันโครงการที่ว่านี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมอย่างต่อเนื่องจนเป็นเหตุให้โครงการล่าช้ากว่าที่วางแผนไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการผลัดเปลี่ยนอำนาจในคณะรัฐบาลทำให้โครงการดังกล่าวอยู่ในภาวะชะงักงันไปโดยปริยาย

กระนั้นก็ดี รัฐบาลของ Maithripala Sirisena และ Ranil Wickremesinghe ดูจะไม่มีทางเลือกต่ออนาคตของโครงการนี้มากนัก เมื่อในที่สุดพวกเขาต้องยอมให้จีนเดินหน้าพัฒนาตามแผนขยาย Colombo Port City Project ที่ได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ต่อไป

สิ่งที่รัฐบาลศรีลังกาทำได้ในการรักษาดุลยภาพแห่งอำนาจอยู่ที่โครงการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศที่ Trincomalee ซึ่งได้รับความสนใจทั้งจากญี่ปุ่นและอินเดีย โดยเฉพาะหากพิจารณาจากมิติในเชิงประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ อินเดียน่าจะเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาพื้นที่นี้ได้อย่างลงตัวและเหมาะสม
ความพยายามที่จะรักษาดุลยภาพของมหาอำนาจทั้งจีนและอินเดียในศรีลังกาปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโอกาสที่ผู้นำศรีลังกาได้รับเชิญให้ไปร่วมประชุม OBOR ที่กรุงปักกิ่ง พร้อมกับความมุ่งหมายที่จะร่วมลงนามในข้อตกลงทางการค้าระหว่างกัน

แต่ในอีกด้านหนึ่งศรีลังกาก็มุ่งเน้นการเพิ่มระดับความสัมพันธ์กับอินเดีย ที่ไม่ได้ปรากฏเพียงการแลกเปลี่ยนการเยือนและการพบปะกันของระดับผู้นำทั้ง Narendra Modi นายกรัฐมนตรีอินเดีย กับ Ranil Wickremesinghe นายกรัฐมนตรีศรีลังกา ในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม ในกรุงนิวเดลีและโคลัมโบเท่านั้น หากแต่ยังประกอบส่วนด้วยการยกระดับข้อตกลงทางการค้า FTA แบบเดิมไปสู่ ETCA หรือ Economic and Technology Cooperation Agreement ซึ่งจะช่วยกระตุ้นความร่วมมือทางเศรษฐกิจของทั้งศรีลังกาและรัฐ Tamil Nadu ทางตอนใต้ของอินเดียที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยอัตราเร่งอีกแรงหนึ่ง

ความสำคัญของอินเดียต่อพัฒนาการและความเป็นไปของศรีลังกา เป็นประเด็นที่ศรีลังกาเองก็ตระหนักอย่างปราศจากข้อสงสัย เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาอินเดียถือเป็นประเทศคู่ค้าหลักของศรีลังกามาอย่างยาวนาน และได้จัดสรรงบประมาณความช่วยเหลือด้านการพัฒนาให้แก่ศรีลังการวมมูลค่ากว่า 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ยังไม่รวมถึงข้อเท็จจริงที่ว่ากว่าร้อยละ 70 ของการขนส่งสินค้าขึ้นล่องที่ท่าเรือโคลัมโบ เป็นการขนส่งเพื่อส่งออกนำเข้าไปยังอินเดียเป็นหลัก

การเดินทางมาเยือนศรีลังกาของ Narendra Modi ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นครั้งที่สองหลังจากที่ Modi ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของอินเดียในปี 2014 แม้จะดำเนินไปในฐานะที่เป็น Chief Guest เพื่อเข้าร่วมงาน International Vesak Day หรือวันวิสาขบูชาโลก ที่ศรีลังกาเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น จะมีสถานะเป็นเพียงกิจกรรมทางศาสนา

หากแต่รัฐบาลอินเดียอาศัยจังหวะก้าวนี้ระบุว่า นี่คือการเปลี่ยนผ่านในเชิงคุณภาพ (qualitative transformation) ในความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ ซึ่งมีนัยความหมายและมีส่วนอย่างสำคัญในความพยายามที่จะเพิ่มบทบาทของอินเดียในอาณาบริเวณของศรีลังกา ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านทางตอนใต้ ควบคู่กับการชะลออิทธิพลของจีนในศรีลังกา

จังหวะก้าวในการรักษาสมดุลแห่งอำนาจ ทำให้รัฐบาลศรีลังกาปฏิเสธข้อเรียกร้องของจีน และไม่อนุญาตให้เรือดำน้ำจากกองทัพเรือจีนเข้าเทียบท่าที่โคลัมโบ ด้วยเหตุที่ว่ากรณีดังกล่าวอาจส่งผลกระเทือนและสร้างแรงกระเพื่อมให้กับบรรยากาศสันติภาพของภูมิภาคเอเชียใต้

ตามแผนความร่วมมือเพื่อพัฒนา Trincomalee และพื้นที่เป้าหมายอีกหลายแห่งในศรีลังกา จากการลงทุนของอินเดียนี้ ประกอบส่วนด้วยการสร้างโรงไฟฟ้า การยกระดับเส้นทางรถไฟ และการสร้างเขตอุตสาหกรรมพิเศษ ซึ่งไม่เพียงแต่จะสามารถตอบโจทย์การพัฒนาพื้นที่ห่างไกลเหล่านี้ให้กับศรีลังกาเท่านั้น หากยังเป็นการเพิ่มศักยภาพและยุทธศาสตร์ในการแข่งขันให้กับอินเดียในการต่อกรและช่วงชิงบทบาทนำกับจีนที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วด้วย

ความเคลื่อนไหวของอินเดียที่น่าสนใจมากประการหนึ่งก็คือ อินเดียและญี่ปุ่นพยายามแสวงหาหนทางในการคัดง้างบทบาทของจีนและสร้างดุลยภาพทางอำนาจให้เกิดขึ้นในมหาสมุทรอินเดียผ่านกรอบความร่วมมือและการนำเสนอแผนพัฒนา Asia-Africa Growth Corridor (AAGC) ร่วมกัน ซึ่งถือเป็นความพยายามในการตอบสนองต่อความทะเยอทะยานตามแผน OBOR ของจีน โดยรายละเอียดของแผนที่ว่านี้คาดว่าจะได้บทสรุปที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ในการหารือระหว่าง Shinzo Abe นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กับ Narendra Modi นายกรัฐมนตรีอินเดีย ที่กำหนดจะมีขึ้นในช่วงปลายปีนี้

หลักใหญ่ใจความของ AAGC ในด้านหนึ่งก็คือ ความพยายามที่จะพัฒนาท่าเรือตามชายฝั่งของมหาสมุทรอินเดียภายใต้ร่มเงาของอินเดียและญี่ปุ่น เพื่อสร้าง “free and open Indo-Pacific region” ที่จะเชื่อมโยงทวีปแอฟริกาเข้ากับอินเดียและประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านเส้นทางเดินเรือทะเล ที่เชื่อว่าจะเป็นการคมนาคมที่มีราคาประหยัดและสามารถดำเนินการให้เห็นผลได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งถือเป็นความพยายามในการสถาปนาสัมปทานเส้นทางเดินเรือและท่าเรือแห่งใหม่ เพื่อตอบโต้กับแผน String of Pearls ของจีนอย่างตรงไปตรงมาและชัดเจน

ศรีลังกาดูจะตระหนักถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการแข่งขันและช่วงชิงจังหวะนำของทั้งอินเดียและจีนในบริบทเช่นนี้อยู่พอสมควร และพร้อมที่จะอาศัยกลไกของทั้งสองมหาอำนาจนี้ หนุนนำให้ศรีลังกาพัฒนาไปสู่เป้าหมายของการเป็นศูนย์กลางทางด้านพาณิชยกรรมของภูมิภาคเอเชียใต้ได้อย่างไม่ยากนัก

หากแต่การรักษาสมดุลในความสัมพันธ์ที่จะมีกับทั้งจีนและอินเดีย ที่เปี่ยมด้วยแรงฉุดกระชาก ย่อมไม่ใช่ภารกิจที่ง่ายนักสำหรับรัฐบาลศรีลังกา และอาจให้ภาพไม่แตกต่างจากนักกายกรรมไต่ลวด ที่ต้องแบกรับน้ำหนักและแรงกดดันขนาดมหึมาทั้งซ้ายและขวา ยังไม่รวมรวมถึงข้อกังวลใจที่เกิดขึ้นภายในสังคมศรีลังกาเองว่าด้วยการตกเป็นทาสอาณานิคมทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่

อนาคตของการพัฒนาในศรีลังกานับจากนี้จึงเป็นกรณีที่น่าสนใจติดตามอย่างยิ่ง ว่าผู้นำทางการเมืองและประชาชนชาวศรีลังกาจะถอดรหัสและสมการทางเศรษฐกิจ ที่จะมีผลต่อสังคมศรีลังกาในเบื้องหน้านี้อย่างไร

ใส่ความเห็น