วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > Cover Story > วิกฤตโรงแรม “ปิด-เจ๊ง” ระดมแผนสกัดต่างชาติฮุบ

วิกฤตโรงแรม “ปิด-เจ๊ง” ระดมแผนสกัดต่างชาติฮุบ

ธุรกิจโรงแรมเจอมรสุมลูกมหึมาจากพิษโควิด-19 ชนิดที่โรงแรมหรูย่านช้อปปิ้งสตรีท “เชอราตันแกรนด์สุขุมวิท” และ ดิ เอมเมอรัลด์ ต้องประกาศปิดตัวชั่วคราว ยังไม่นับรวมรายกลางและรายเล็กอีกหลายแห่งทั่วประเทศ ส่วนโรงแรมหรูระดับ 5-6 ดาว กัดฟันหันมาให้บริการเดลิเวอรี่อาหารและอัดแคมเปญแรงๆ ชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นอย่าง “ชาเทรียม ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพ” แค่สั่งอาหาร 2,020 บาท รับสิทธิ์เข้าพักห้องแกรนด์รูม ริมสายน้ำเจ้าพระยา ขนาด 60 ตารางเมตร ฟรี 1 คืนทันที

ทั้งหมดล้วนเป็นผลกระทบโดยตรงจากธุรกิจท่องเที่ยวที่แทบกลายเป็น 0 ทันที เพราะพิษการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสมรณะที่กระจายไปทั่วโลก ครอบคลุมประเทศเป้าหมายด้านท่องเที่ยว ทั้งฝั่งสหรัฐอเมริกา ยุโรป เอเชีย และอาเซียน

ข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาระบุว่า ไตรมาส 1 (เดือนมกราคม-มีนาคม) ปี 2563 ไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 6.69 ล้านคน ลดลง 38% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา สร้างรายได้ 3.3 แสนล้านบาท ลดลง 40.39% และมีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทย 24.10 ล้านคน-ครั้ง หดตัว 29.52% สร้างรายได้ 1.8 แสนล้านบาท หดตัว 33.65% โดยรายได้รวมจากการท่องเที่ยวทั้งหมด 5.1 แสนล้านบาท หดตัว 38.15%

เฉพาะเดือนมีนาคมจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8.2 แสนคน ลดลง 76.41% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนและมีรายได้เพียง 40,000 ล้านบาท หดตัว 77.58% ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวไทยมี 3.83 ล้านคน-ครั้ง ลดลง 65.42% มีรายได้เพียง 30,000 ล้านบาท หดตัว 64.56% เนื่องจากได้รับผลกระทบเกือบเต็มเดือน

ไล่ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคระบาดใหญ่ทั่วโลก (Pandemic)

13 มีนาคม ทางการไทยประกาศยกเลิกวีซ่า ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival : VoA) แก่นักท่องเที่ยวจีนและอีก 17 ประเทศ

24 มีนาคม มีการออกมาตรการเยียวยาผู้ประกันตนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และวันที่ 25 มีนาคม รัฐบาลได้ประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน มีผลในวันถัดมา หลังจากนั้น มีการควบคุมการเดินทางเข้าออกประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่า ตัวเลขเดือนเมษายนจะหดตัวรุนแรงเช่นกันและอาจฟื้นตัวเล็กน้อยหลังรัฐบาลคลายล็อกมาตรการต่างๆ

ล่าสุด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ปรับประมาณการใหม่คาดการณ์ปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเยือนไทย 16 ล้านคน เทียบปี 2562 อยู่ที่ 39.79 ล้านคน ส่วนนักท่องเที่ยวไทยคาดอยู่ระหว่าง 80-100 ล้านคน-ครั้ง ปรับเพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิม ซึ่งอยู่ที่ 60 ล้านคน-ครั้ง

รายได้รวมท่องเที่ยวไทยปรับเพิ่มเป็น 1.23 ล้านล้านบาท จากเดิมเคยตั้งเป้า 1.12 ล้านล้านบาท แต่ยังเป็นตัวเลขที่ลดลงจากปี 2562 ที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 3.01 ล้านล้านบาท

แน่นอนว่า ธุรกิจโรงแรมเจอพิษเข้าอย่างจังและหลายแห่งต้องยอมปิดชั่วคราว เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและการจ้างงาน แต่ที่น่าวิตก คือ กระแสการเข้าซื้อกิจการโรงแรมของกลุ่มทุนต่างชาติ ซึ่งข้อมูลจากฝ่ายวิจัย บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ระบุ ปี 2563 เกิดกระแสการประกาศขายกิจการโรงแรมจำนวนมาก หากเทียบกับช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ที่มีมูลค่าการซื้อขายรวม 124,530 ล้านบาท แม้เทียบกับช่วงปี 2560 และปี 2561 ที่มีมูลค่าการซื้อขายโรงแรมสูงกว่าปีละ 20,000 ล้านบาท เนื่องจากผลกระทบโควิด-19 กดดันมากขึ้น

ที่สำคัญ การประกาศขายกิจการโรงแรมในเมืองท่องเที่ยว เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต สมุย พัทยา และเชียงใหม่ มีการเสนอขายในราคาต่ำกว่าช่วงปีก่อนหน้า

ขณะเดียวกัน บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจ McKinsey เก็บข้อมูลพบว่า ผู้ประกอบการโรงแรมกว่า 3,000 แห่ง ยังคาดการณ์จะไม่มีรายได้ต่อเนื่องในเดือนเมษายน จะมีจำนวนพนักงานในภาคอุตสาหกรรมโรงแรมกว่า 1.6 ล้านคน ได้รับผลกระทบ ซึ่งก่อนหน้านี้มีโรงแรมในกรุงเทพฯ ปิดตัวชั่วคราวแล้ว 27 แห่ง และใน จ. ภูเก็ตมีโรงแรมกว่า 87% ต้องปิดให้บริการ

McKinsey ยังประเมินนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาในไทยปีนี้จะลดลง 60% เหลือราว 19 ล้านคน โดยกลุ่มโรงแรมขนาดใหญ่ต่างรีบปรับตัว เช่น โรงแรมเซ็นทารา (CENTEL) ประกาศปิดเครือข่ายโรงแรม 28 แห่ง ปรับลดเงินเดือนพนักงาน 25%

ส่วนโรงแรมของกลุ่ม บมจ. ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) ปิดโรงแรมในกรุงเทพฯ ทั้งหมด และบัดเจ็ดโฮเทล อย่าง โรงแรมบีทู อัตราการเข้าพักลดลงจากเดิม 70-90% เหลือ 10%

ขณะที่ทุกแห่งต่างพุ่งเป้าเจาะกลุ่มลูกค้าภายในประเทศ ซึ่งสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่ากลุ่มต่างชาติและแนวโน้มจะมีการควบรวมหรือซื้อขายกิจการมากขึ้น โดยมีรายงานว่า โรงแรมระดับ 4 ดาว-5 ดาว ในย่านสุขุมวิท สีลม พระราม 3 วิภาวดี-รังสิต หลักสี่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองเตย จำนวนไม่ต่ำกว่า 20 แห่ง ที่ประกาศขายธุรกิจผ่านนายหน้าซื้อขายอสังหาฯ อยู่ระหว่างการเจรจาราคาเสนอขายตั้งแต่หลักร้อยล้านจนถึงหลักหมื่นล้าน

เมื่อเร็วๆ นี้ CENTEL ยังแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ที่ประชุมบอร์ดบริษัทเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม มีมติใหม่เสนอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นงดจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานปี 2562 เนื่องจากสถานการณ์ในประเทศไทยยังไม่คลี่คลาย และหลายประเทศยังอยู่ในขั้นวิกฤต แม้ที่ผ่านมาลดต้นทุน ค่าใช้จ่ายพนักงาน และค่าใช้จ่ายการบริหารงานทุกส่วน เลื่อนแผนการลงทุนต่างๆ แล้วก็ตาม

ด้านยักษ์ใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ยอมรับผลประกอบการไตรมาส 1/2563 มีกำไรสุทธิ 108.2 ล้านบาท ลดลงมากกว่า 55.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 243 ล้านบาท รายได้รวม 2,512.9 ล้านบาท ลดลง 30.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 3,623.0 ล้านบาท เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศมีแนวโน้มลดลงกว่า 80% บริษัทต้องปิดให้บริการโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ชั่วคราว

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท. กำลังเร่งหามาตรการช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจโรงแรม เนื่องจากผู้ประกอบการไทยบางรายเตรียมขายกิจการให้นักลงทุนต่างชาติในราคาต่ำ และต่อไปนักลงทุนต่างชาติอาจหันมาจ้างแรงงานประเทศตัวเองมากกว่าคนไทย รวมทั้งอาจกลายเป็นเจ้าของที่ดินทำเลทองแทนคนไทย เพราะมีกระแสข่าวการกว้านซื้อโรงแรมไทยผ่านนอมินีคนไทย

ทั้งนี้ คณะทำงานของ ส.อ.ท. ได้หารือกับหน่วยงานรัฐ ได้ข้อสรุปเบื้องต้น เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ โดยจะยื่นข้อเสนอให้โรงแรมไทยที่ต้องการรับความช่วยเหลือ แจ้งความประสงค์เปิดให้กองทุนรวมตราสารทุน (อิควิตี้ฟันด์) ที่สนใจลงทุนกิจการโรงแรม เข้ามาลงทุนส่วนหนึ่งภายใต้เงื่อนไข เช่น ซื้อหุ้นได้ไม่เกิน 75% กำหนดระยะเวลาการถือหุ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายเดิม เข้ามาซื้อหุ้นคืนได้ เช่น 5-7 ปี

สำหรับสถิติ ณ เดือนมีนาคม 2563 ประเทศไทยมีจำนวนโรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายทั่วประเทศ 32,564 แห่ง จำนวนห้องทั้งหมด 1,254,168 ห้องพัก อัตราส่วนห้องพัก 1 ห้อง ใช้พนักงานโรงแรม 1.3 คน หรือมีพนักงานโรงแรมทั้งหมด 1,630,419 คน คาดกว่า 95% ของโรงแรมทั้งหมด หรือ 30,936 แห่ง จะไม่มีรายได้ เพราะการระบาดของโควิด-19 ในช่วงนี้

ฝ่ายสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) ได้ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลรวม 7 ด้าน เช่น ขอให้รัฐบาลจัดงบประมาณประชุมสัมมนาของภาครัฐในโรงแรม ขอให้มีมาตรการทางภาษีให้ธุรกิจเอกชนนำค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมสัมมนาไปลดหย่อนภาษีค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า ซึ่งข้อเสนอทั้งหมดต้องการให้ดำเนินการหลังคลายล็อกดาวน์แล้ว โดยมองว่าประเทศไทยน่าจะกลับมาเข้าสู่สถานการณ์ปกติประมาณเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งกลุ่มโรงแรมเองต้องเร่งสร้างมาตรฐานใหม่ เพื่อปลุกความมั่นใจให้ลูกค้า

ทว่า ยุทธการฝ่าวิกฤตทั้งหมดต้องอาศัยความรวดเร็วและการคลายล็อกภายใต้วิถี New Normal เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดรอบใหม่ ซึ่งนั่นถือเป็นโจทย์ท้าทายทุกฝ่ายก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินเยียวยา

7 ข้อเสนอจากสมาคมโรงแรมไทย

1. กระตุ้นธุรกิจให้กลับมาเร็วที่สุด

• ขอให้รัฐบาลจัดงบประมาณประชุมสัมมนาของภาครัฐ โดยใช้โรงแรมที่มีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย

• ขอให้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นมีการจัดประชุมสัมมนาและดูงานข้ามจังหวัด

• ขอให้มีมาตรการทางภาษีให้ธุรกิจเอกชนสามารถนำค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมสัมมนาไปลดหย่อนภาษีค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า เริ่มตั้งแต่ 1 ก.ค. 2563- 31 ธ.ค. 2564 (ขณะนี้หักลดหย่อนภาษีได้ที่ 1.5 เท่า ระหว่าง 1 ม.ค. -31 ธ.ค. 2563)

• ขอให้บุคคลธรรมดานำค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวไปหักลดหย่อนภาษีรายได้ส่วนบุคคลได้ 2 เท่า ในวงเงิน 30,000 บาทต่อปี เริ่มตั้งแต่ 1 ก.ค. 2563 – 31 ธ.ค. 2564 ต้องใช้จ่ายผ่านโรงแรมที่ถูกต้องตามกฎหมาย

2. ขอให้รัฐบาลเข้มงวดกับโรงแรมที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม

• กระบวนการจับกุมของเจ้าพนักงาน ตาม พ.ร.บ. โรงแรมทุกครั้งขอให้มีเจ้าพนักงาน พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร ร่วมเป็นพนักงานจับกุม และดำเนินคดีทั้งการฝ่าฝืน พ.ร.บ. โรงแรม และ พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร โดยเสนอให้ลงโทษระงับใช้อาคารเนื่องจากนำอาคารมาใช้ผิดประเภท

• แก้บทลงโทษให้รุนแรงขึ้น โทษปรับการประกอบธุรกิจโรงแรมปัจจุบันปรับไม่เกิน 20,000 บาท และปรับรายวันไม่เกินวันละ 10,000 บาท ขอแก้ไขเป็น ปรับ 20,000- 200,000 บาท ปรับรายวันเท่าเดิม

3. ขอให้มีมาตรการทางภาษีสนับสนุนการลงทุน เพื่อพัฒนามาตรฐานของโรงแรม ให้โรงแรมสามารถนำค่าใช้จ่ายในการลงทุนไปหักภาษีได้ 3 เท่า สำหรับการลงทุนตั้งแต่ 1 มี.ค. 2563-31 ธ.ค. 2564 ในเรื่องการลงทุนปรับปรุงอาคารสถานที่ประกอบการ การลงทุนด้านสุขอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 การลงทุนซื้อเครื่องจักรต่างๆ รวมทั้งเครื่องจักรที่ช่วยประหยัดพลังงาน

4. ขอเลื่อนการชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นปลายปี และขอส่วนลดในช่วงปิดกิจการชั่วคราว

5. แก้ปัญหาการจ่ายเงินชดเชยการว่างงานในกรณีผู้ประกอบการปิดกิจการชั่วคราว

6. เปิดน่านฟ้า เพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่ใช้มาตรการกักตัว 14 วัน แต่มีมาตรการด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยของประเทศไทย เช่น การตรวจโควิด-19 และต้องเป็น Negative ก่อนเดินทางเข้ามายังประเทศไทย

7. ให้จัดทำ Big Data สำหรับข้อมูลโรงแรมในประเทศทั้งหมด

ใส่ความเห็น