วันอังคาร, มีนาคม 19, 2024
Home > Cover Story > วัลลภา ไตรโสรัส ดันหุ้น AWC เดิมพันบิ๊กโปรเจกต์

วัลลภา ไตรโสรัส ดันหุ้น AWC เดิมพันบิ๊กโปรเจกต์

เจริญ สิริวัฒนภักดี เปิดเกมรุกธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รอบใหญ่อีกครั้ง ยกเครื่องโครงสร้างจาก “กลุ่มบริษัท ทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิรด์” เป็น บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) “Asset World Corporation (AWC)” พร้อมกับยื่นจดทะเบียนนำสินทรัพย์มูลค่ากว่าแสนล้านเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และที่สำคัญ คือ การเปิดตัวลูกสาวคนเก่ง วัลลภา ไตรโสรัส ออกโรงในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ AWC หลังเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในวงการมานานหลายสิบปี

อีกด้านหนึ่ง เจริญจัดวางทิศทางธุรกิจในเครือทีซีซีกรุ๊ปลงตัวชัดเจน โดยทายาททั้ง 5 คน เริ่มจาก อาทินันท์ พีชานนท์ ดูแลธุรกิจประกันและการเงิน วัลลภา ไตรโสรัส ดูแลธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ฐาปน สิริวัฒนภักดี ดูแลธุรกิจเครื่องดื่มครบวงจร ที่มีทั้งบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอฟแอนด์เอ็น

ฐาปนี เตชะเจริญวิกุล ดูแลธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค

ส่วนลูกชายคนเล็ก ปณต สิริวัฒนภักดี ดูแลธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ภายใต้ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

ต้องยอมรับว่า ช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา เจริญทุ่มเวลาเร่งวางยุทธศาสตร์รุกธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพื่อบริหารจัดการที่ดินที่มีอยู่ในมือมูลค่ามหาศาล ซึ่งที่ผ่านมามีการเปิดตัวหลายโครงการ ทั้งอภิโครงการมิกซ์ยูส “วันแบงค็อก” บนถนนพระราม 4 ตัดถนนวิทยุ มูลค่าโครงการ 1.2 แสนล้านบาท และโครงการใหญ่อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเอฟวายไอเซ็นเตอร์ สามย่านมิตรทาวน์ เดอะ ปาร์ค ที่กำลังก่อสร้าง การปรับโฉมศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และผุดศูนย์การค้าเชิงไลฟ์สไตล์อีกหลายแห่ง

อย่างไรก็ตาม บริษัทลูกในกลุ่มธุรกิจอสังหาฯ ของทีซีซีกรุ๊ปยังมีส่วนทับซ้อนกัน เนื่องจากมีการซื้อกิจการเข้าใหม่ จนกระทั่งต้องมาเขย่าพอร์ตและกำหนดทิศทางใหม่ ให้บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AWC เน้นบริหารกลุ่มธุรกิจโรงแรม ค้าปลีก กลุ่มธุรกิจอาคารสำนักงาน โครงการค้าปลีกค้าส่งแนวไลฟ์สไตล์และมิกซ์ยูส ในทำเลทางธุรกิจและการท่องเที่ยว

ขณะที่บริษัท เฟรเซอร์สพร็อพเพอร์ตี้ฯ บริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในเครือนอกเหนือจาก AWC ทั้งในส่วนบริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) (GOLD) บมจ.ยูนิเวนเจอร์ หรือ UV รวมถึงการลงทุนโครงการที่ทำร่วมกับกลุ่มเฟรเซอร์ส เช่น โครงการวันแบงค็อก

หากแยกข้อแตกต่างที่ชัดเจนของทั้งสองบริษัทแล้ว AWC ถือเป็นบริษัทที่เกิดและเติบโตจากทีซีซีกรุ๊ป ขณะที่บริษัทเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ฯ มาจากการร่วมทุนกับพันธมิตรต่างชาติและกวาดเก็บบริษัทลูกที่ซื้อกิจการเข้ามาอยู่ในบริษัทเดียว

การนำ AWC เข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจึงมีความหมายมากสำหรับเจริญและทีซีซีกรุ๊ป โดยเฉพาะการปลุกปั้นหุ้นให้มีมูลค่าสูงสุด สินทรัพย์และโครงการต่างๆ จึงเน้นจุดขายและจุดแข็ง ทั้งในแง่ทำเลและศักยภาพการลงทุน ซึ่งถือเป็นงานใหญ่ของวัลลภาในตำแหน่งซีอีโอ เนื่องจากต้องบริหารบิ๊กโปรเจกต์มากกว่า 30 โครงการ

ประกอบด้วยกลุ่มธุรกิจโรงแรม 15 แห่ง แบ่งเป็นโรงแรมที่เปิดดำเนินการแล้ว 10 แห่ง จำนวนห้องพัก 3,432 ห้อง ได้แก่ โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค โรงแรมบันยันทรี สมุย โรงแรมดับเปิ้ลทรี ฮิลตัน สุขุมวิท กรุงเทพฯ โรงแรมฮิลตัน สุขุมวิท กรุงเทพฯ โรงแรมเลอ เมอริเดียน กรุงเทพ โรงแรมเลอ เมอริเดียน เชียงใหม่ โรงแรมเชอราตัน สมุย รีสอร์ท โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล วนาเบลล์ เอ ลักซ์ซูรี่ คอลเลคชั่น รีสอร์ท เกาะสมุย และโรงแรมดิ โอกุระ เพรสทีจ กรุงเทพ

โครงการโรงแรมที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 5 แห่ง จำนวนห้องพัก 1,528 ห้อง ได้แก่ โรงแรมเดอะ เมโทรโพล ภูเก็ต โรงแรมอิมพีเรียล โบ๊ทเฮ้าส์ บีช รีสอร์ท โรงแรม Bangkok Marriott The Asiatique ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายจากเอเชียทีค โรงแรมอินน์ไซด์ แบงค็อก สุขุมวิท และโรงแรมบันยันทรี กระบี่ นอกจากนี้ เซ็นสัญญาซื้อโรงแรมอีก 12 แห่ง เพื่อพัฒนาในช่วง 5 ปีจากนี้

ด้านโครงการค้าปลีก มี 10 โครงการ พื้นที่รวม 3.4 แสน ตร.ม. ได้แก่ เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ เกทเวย์ แอท บางซื่อ พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า งามวงศ์วาน พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า เชียงใหม่ โอ.พี.เพลส แบงค็อก ตะวันนา บางกะปิ และลาซาล อเวนิว

ส่วนอีก 2 โครงการ คือ คอมมูนิตี้มาร์เก็ต บางกะปิ และเออีซี เทรด เซ็นเตอร์-เออีซี เทรด เซ็นเตอร์ ออนไลน์ ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับโมเดลใหม่จาก “ตลาดต่อยอด” AEC Trade Center ศูนย์การค้าส่งแห่งภูมิภาคอาเซียนและจะเปิดตัวใหม่อีกครั้ง

ขณะที่กลุ่มธุรกิจอาคารสำนักงาน ล่าสุดมี 4 แห่ง พื้นที่รวม 2.7 แสน ตร.ม. คือ เอ็มไพร์ ทาวเวอร์ แอทธินี ทาวเวอร์ 208 วายเลสโร้ด และอินเตอร์ลิงค์ ทาวเวอร์

วัลลภายอมรับว่า นี่คืองานใหญ่ แต่เชื่อมั่นจะสร้างการเติบโตในระยะยาวได้ เพราะทุกโครงการที่คัดเข้ามาอยู่ในบริษัท AWC เป็น Prime Property และ Prime Location ย่านซีบีดี ที่สร้างรายได้แล้ว ซึ่งในอนาคตจะมีโครงการเข้ามาเพิ่มเติมต่อเนื่อง

สำหรับ “วัลลภา” เป็นลูกสาวที่เรียนรู้ประสบการณ์และเทคนิคการดำเนินธุรกิจจากผู้เป็นพ่ออย่างโชกโชน

วัลลภาจบปริญญาตรีสาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) มหาวิทยาลัยศิลปากร ก่อนเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ จบการศึกษาระดับปริญญาโทสาขาเศรษฐศาสตร์การวางผังเมือง มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ปริญญาตรีสาขาการวางผังเมือง จาก London School of Economics and Political Science (LSE) ประเทศอังกฤษ

เธอเริ่มต้นทำงานกับบริษัทหลักทรัพย์ เมอริลลินช์ (เอเชีย-แปซิฟิก) ที่ฮ่องกง ในตำแหน่งนักวิเคราะห์การเงิน ก่อนเข้ามาทำงานในทีซีซีกรุ๊ป โดยปี 2544 ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการบริหาร บริษัท ทีซีซี โฮลดิ้ง จำกัด และเจริญมอบหมายให้เป็นแกนหลักร่วมก่อตั้ง บริษัท ทีซีซี แลนด์ ซึ่งเป็น Holding Company ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่หลากหลายในเวลานั้น ทั้งโรงแรม ศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน ศูนย์ประชุม สนามกอล์ฟ โครงการมาสเตอร์แพลน และแลนด์แบงก์

ปี 2546 ดำรงตำแหน่งรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีซีซี แคปปิตอล แลนด์ จำกัด ที่ก่อตั้งขึ้นในรูปแบบธุรกิจร่วมทุนกับ แคปปิตอล แลนด์ สิงคโปร์ เพื่อสร้างและพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย ทั้งคอนโดมิเนียมและหมู่บ้านจัดสรร ลุยขยายธุรกิจโดยมีโสมพัฒน์ ไตรโสรัส สามี ช่วยบริหารชนิด “ตัวติดกัน” ทุกโครงการ

แม้วันนี้ วัลลภาเหมือนลุยเดี่ยวออกสื่อแถลงข่าวในฐานะซีอีโอ AWC ต่างจากทุกครั้งที่ทั้งสองคนมักมาเป็นคู่เสมอ แต่โสมพัฒน์ถือเป็นกำลังหลักสนับสนุนด้านกลยุทธ์ต่างๆ ในฐานะกรรมการบริษัทและรองประธานกรรมการบริหาร AWC

เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า AWC ถือเป็นบทพิสูจน์ความสามารถครั้งสำคัญทันทีเมื่อประกาศดันหุ้นเข้าตลาด โดยมีบิ๊กโปรเจกต์นับแสนล้านเป็นเดิมพัน.

ใส่ความเห็น