วันพฤหัสบดี, เมษายน 18, 2024
Home > Cover Story > วัคซีนต้านโควิด-โรงพยาบาลสนาม ความหวัง ความพร้อม และการจัดการของรัฐไทย

วัคซีนต้านโควิด-โรงพยาบาลสนาม ความหวัง ความพร้อม และการจัดการของรัฐไทย

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งถือเป็นระลอก 3 และมีการกระจายตัวในหลายกลุ่มคลัสเตอร์ เฉพาะระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน พบผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 17,000 ราย (ข้อมูลวันที่ 1-17 เมษายน 2564)

ระลอกคลื่นแห่งหายนะในครั้งนี้ก่อให้เกิดคำถามอันนำมาซึ่งความขัดแย้งหลายประเด็นในสังคม การถามหาจิตสำนึกรับผิดชอบที่มีต่อสังคมส่วนรวม ไม่ว่าจะในแวดวงใดก็ตามเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อประชาชนบางส่วนยังไร้การตระหนักรู้ เมินเฉยต่อความเสี่ยงที่อาจได้รับ จนในที่สุดกลายเป็นต้นเหตุของการกระจายตัวของเชื้อไวรัสในระลอกสามที่ดูจะทวีความรุนแรงและขยายวงกว้างมากขึ้น

นอกจากนี้ สังคมยังคงตั้งคำถามไปยังภาครัฐถึงเรื่องการสั่งซื้อวัคซีนต้านโควิด-19 และความพร้อมของโรงพยาบาลสนามในหลายพื้นที่ เพื่อรองรับกรณีที่จำนวนผู้ติดเชื้อมีจำนวนสูงขึ้น แน่นอนว่าโรงพยาบาลสนามนั้นมีไว้สำหรับรองรับผู้ติดเชื้อที่อาการไม่หนักหรือไม่มีอาการ และพร้อมจะส่งต่อผู้ติดเชื้อไปยังโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนที่มีรูปแบบการรักษาที่ได้มาตรฐาน

คำถามต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในโลกโซเชียล ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะขาดการสื่อสารที่ครบถ้วนจากภาครัฐเอง อีกส่วนหนึ่งอาจเกิดจากความพยายามบิดเบือนข้อมูลอันมีผลประโยชน์แอบแฝงจากฝ่ายไม่หวังดี เมื่อขาดข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนบวกกับตาชั่งที่มีบรรทัดฐานไม่เท่ากันของแต่ละคน จึงไม่น่าแปลกใจที่คนไทยจะเกิดความขัดแย้งภายใต้สถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ ทั้งที่ห้วงยามนี้น่าจะเป็นช่วงเวลาที่เรียกหาความสามัคคีให้ก่อตัวขึ้นได้ในหมู่มวลประชาชน

ความจริงที่ว่า วัคซีนด้านโควิด-19 คือความหวังอันเรืองรองที่จะพลิกฟื้นวิกฤตครั้งนี้ และเป็นอาวุธสำคัญของมนุษยชาติให้เอาชนะเชื้อไวรัสได้

ประเด็นสำคัญของวัคซีนจึงเป็นเรื่องที่หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า เพราะเหตุใดประเทศไทยจึงมีการสั่งซื้อและนำเข้าวัคซีนต้านโควิด-19 ได้เพียงแค่ 2 ล้านโดส จากบริษัทซิโนแวค และจากแอสตราเซเนกาอีก 117,600 โดส เท่านั้น อีกคำถามที่ตามมาคือ การสั่งซื้อและนำเข้าวัคซีนผูกขาดอยู่แต่กับภาครัฐเท่านั้นใช่หรือไม่ เหตุใดจึงไม่อนุญาตให้บริษัทเอกชนที่มีศักยภาพจัดหาเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน เมื่อวัคซีนจะเป็นตัวแปรสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอันนำไปสู่การเปิดประเทศในที่สุด

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตอบข้อสงสัยของคำถามดังกล่าวหลังจบการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 เมษายน ที่ผ่านมาว่า “ภาครัฐไม่มีความคิดที่จะผูกขาดการสั่งซื้อและนำเข้าวัคซีนต้านโควิด-19 หากมีบริษัทเอกชนที่มั่นใจในศักยภาพและแสดงความประสงค์เข้ามาดำเนินการในเรื่องนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องสำคัญคือ บริษัทเอกชนนั้นๆ จะต้องยินยอมที่จะรับผิดชอบต่อกรณีที่เกิดความเสียหายหรือผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนไปแล้ว นอกจากนี้ ในช่วงแรกของการสั่งซื้อวัคซีนบริษัทผู้ผลิตจากประเทศต้นทาง ต้องการที่จะจำหน่ายวัคซีนโดยผ่านรัฐบาลของประเทศเขาเช่นกัน ทำให้การสั่งซื้อในช่วงต้นเป็นการทำแบบรัฐต่อรัฐ”

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2564 พลเอกประยุทธ์ โพสต์เฟซบุ๊ก “ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha” ภายหลังการประชุมคณะทำงานพิจารณาการจัดการวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 ที่ประกอบด้วย คณะแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุข องค์การเภสัชกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน นำโดย นายแพทย์ ปิยะสกล สกลสัตยาทร ซึ่งรายงานว่า “จากการหารือทุกฝ่าย ได้ข้อยุติว่า ประเทศไทยจะจัดหาวัคซีนอีก 2-3 ยี่ห้อ เพิ่มเติมอีกประมาณ 35 ล้านโดส นอกเหนือจากที่ดำเนินการไว้แล้วประมาณ 65 ล้านโดส ในจำนวน 35 ล้านโดส ภาคเอกชนนำโดยสภาหอการค้าไทย ก็จะช่วยรัฐบาลจัดหาให้กับพนักงานลูกจ้างเองด้วยประมาณ 10-15 ล้านโดส ซึ่งก็จะช่วยลดงบประมาณของรัฐบาลลงไปอีก สำหรับกระบวนการต่อไปให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการโดยเร่งด่วน และเป็นไปตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ผมได้สั่งการให้วางแผนการกระจายและฉีดวัคซีนที่จัดการมาทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายในธันวาคม 2564 นี้”

นอกเหนือไปจากบริษัทเอกชนที่จะช่วยรัฐบาลจัดหาวัคซีนให้กับพนักงานลูกจ้างเองแล้ว ยังมีกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลที่ยื่นความประสงค์จะเป็นบริษัทนำเข้ายาและวัคซีน ซึ่งต้องทำเรื่องขึ้นทะเบียนกับ อย. ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา หากขั้นตอนและการเจรจาจัดซื้อสำเร็จ โรงพยาบาลเอกชนสามารถจัดซื้อและนำเข้าวัคซีนเพื่อนำมาให้บริการประชาชนได้ โดยราคาจะอยู่ที่ประมาณ 2,000 บาทต่อโดส ทั้งนี้มีกลุ่มโรงพยาบาลที่ให้ความสนใจเป็นผู้นำเข้าวัคซีน ได้แก่ กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มเกษมราษฎร์ กลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี

ขณะที่การผลิตวัคซีนแอสตราเซเนกาในประเทศไทย โดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์นั้น ได้ผลอย่างดีในแต่ละรอบการผลิต ครั้งละ 2,000 ลิตร ขณะนี้อยู่ระหว่างการส่งวัคซีนไปตรวจสอบคุณภาพยังห้องปฏิบัติการของแอสตราเซเนกาในสกอตแลนด์และสหรัฐอเมริกา หลังจากการส่งกลับมาในเดือนเมษายนจะสามารถส่งมอบวัคซีนให้ประเทศไทยล็อตแรกได้ตามแผนในต้นเดือนมิถุนายน 5-10 ล้านโดสต่อเดือน ซึ่งสอดคล้องกับแผนการกระจายวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุข

แม้ทั่วโลกจะมีบริษัทผู้ผลิตวัคซีนอยู่จำนวนไม่น้อย ทว่า การพัฒนาและวิจัยเพื่อผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ไม่ใช่เรื่องง่าย เงื่อนไขของการผลิตวัคซีนนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมหลายด้าน โดยเฉพาะการทดลองในมนุษย์ ที่แต่ละบริษัทต้องการเห็นประสิทธิภาพของวัคซีนในอัตราที่สูง และมีผลข้างเคียงน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ นั่นทำให้ปัจจุบันแม้จะมีหลายบริษัทที่พัฒนาวัคซีนต้านโควิดสำเร็จ แต่กำลังการผลิตยังอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ เมื่อเทียบกับความต้องการและจำนวนประชากรของโลก เหตุผลดังกล่าวทำให้วัคซีนต้านโควิดยังไม่เพียงพอต่อความต้องการในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่บางประเทศอยู่ในภาวะวิกฤตหรือเกิดการระบาดระลอกใหม่

ข่าวการเตรียมประกาศ “เลิกสวมหน้ากากอนามัย” ของประเทศอิสราเอล ทำให้ผู้เสพข่าวจำนวนไม่น้อยนำมาเปรียบเทียบกับประเทศของตัวเอง และตั้งคำถาม รวมไปถึงความพยายามถอดบทเรียนว่า เหตุใดอิสราเอลจึงเตรียมที่จะประกาศชัยชนะที่มีต่อไวรัสโควิด-19 ได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว

ข้อมูลพื้นฐานด้านสังคมศาสตร์ของประเทศอิสราเอลที่ปรากฏอยู่บนโลกออนไลน์คือ จำนวนประชากรของประเทศนี้มีเพียง 9.3 ล้านคน (ข้อมูลล่าสุดที่บันทึกไว้ในปี 2562) ในขณะที่ประเทศไทยมีประชากรมากถึง 66 ล้านคน

ด้านศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2564 ถึงข้อมูลสถิติการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลกแล้ว 894 ล้านโดส ใน 173 ประเทศ/เขตปกครอง โดยขณะนี้อัตราการฉีดล่าสุดรวมกันทั่วโลกที่ 16.6 ล้านโดสต่อวัน และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เมื่อพิจารณารายประเทศพบว่า อิสราเอลได้ฉีดวัคซีนครอบคลุมเกินครึ่งของประชากรแล้ว ขณะที่สหรัฐอเมริกามีจำนวนการฉีดวัคซีนสูงที่สุดที่ 209 ล้านโดส โดยมีชาวอเมริกันกว่า 70 ล้านคน ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว

ด้านอาเซียนขณะนี้ทุกประเทศได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แล้ว มียอดรวมกันที่ประมาณ 22 ล้านโดส โดยสิงคโปร์ฉีดวัคซีนในสัดส่วนประชากรมากที่สุดในภูมิภาค (14.6% ของประชากร) ขณะที่อินโดนีเซียฉีดวัคซีนในจำนวนมากที่สุดที่ 16 ล้านโดส

สำหรับประเทศไทยข้อมูล ณ วันที่ 21 เมษายน 2564 ได้ฉีดวัคซีนแล้วกว่า 712,610 โดส โดยฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขมากที่สุดในสัดส่วนกว่า 42%

หากเทียบกับจำนวนวัคซีนที่ไทยมีอยู่ในปัจจุบันกับจำนวนประชากรที่ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วนั้น อาจกล่าวได้ว่ายังอยู่ในปริมาณน้อย แม้จะมีการจัดสรรวัคซีนไปแล้วกว่า 1 ล้านโดสก็ตาม ซึ่งนั่นเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องหาคำตอบว่า ตัวเลขดังกล่าวเป็นไปตามแผนที่วางไว้หรือไม่ เหตุใดที่ทำให้ประชาชนไม่มีความมั่นใจมากพอที่จะรับวัคซีน

โดยก่อนหน้ามีรายงานจากหน่วยงานกำกับดูแลด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพของสหราชอาณาจักร (MHRA) และหน่วยงานกำกับดูแลด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพของยุโรป (EMA) เกี่ยวกับกรณีภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดของผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา โดย 2 หน่วยงานสรุปว่า เป็นผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้น้อยมาก ในอัตรา 2-4 ต่อล้านการฉีด ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะสัมพันธ์กับการได้รับวัคซีน โดยมีข้อสังเกตว่า ส่วนใหญ่เกิดขึ้นหลังการฉีดวัคซีนเข็มแรก อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 หน่วยงานจะมีการเก็บข้อมูลต่อว่า ในส่วนที่ว่ามีความเป็นไปได้นั้น จริงๆ มีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนแล้วหรือไม่

ขณะที่วัคซีนซิโนแวคมีผลการศึกษาใหม่ออกมาว่า มีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการ 67% ข้อมูลจากการศึกษาขนาดในโลกจริงในชิลีพบว่า วัคซีนซิโนแวคมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นไปอีกที่ 85% ในการป้องกันการติดเชื้ออาการรุนแรงถึงขั้นเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และ 80% ในการป้องกันการเสียชีวิต พร้อมระบุว่าข้อดังกล่าวน่าจะพิสูจน์ว่าวัคซีนตัวนี้คือ “ตัวเปลี่ยนเกม”

ด้านผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกเชื่อว่าในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โลกจะควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ หากมีการกระจายทรัพยากรอย่างสม่ำเสมอและเท่าเทียม เทดรอส อาดานอม เกเบรเยซัส ผู้อำนวยการใหญ่ WHO เปิดเผยว่า วัคซีนที่กระจายไปทั่วโลก 700 ล้านโดส กว่า 87% ไปอยู่กับประเทศที่มีรายได้สูง รายได้ปานกลางค่อนไปทางสูง และรายได้ปานกลาง ขณะที่กลุ่มประเทศรายได้ต่ำได้รับวัคซีนเพียง 0.2% เท่านั้น

นอกจากวัคซีนต้านโควิด-19 ที่เป็นดังความหวังในภาวะวิกฤตนี้แล้ว ความพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นคือ การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามไว้รองรับผู้ป่วยที่อาการไม่หนักเพื่อลดความแออัดโดยไม่จำเป็นในสถานพยาบาล

ซึ่งแนวทางที่ภาครัฐดำเนินการในเวลานี้คือ ปรับเปลี่ยนโรงแรมมาเป็นสถานพยาบาลชั่วคราว หรือ Hospitel ซึ่งมีมาตรฐานเดียวกับสถานพยาบาล ทั้งโครงสร้าง สิ่งแวดล้อม การจัดการขยะ น้ำเสีย ความเป็นมิตรกับชุมชน รวมทั้งการจัดบริการทางการแพทย์

ด้านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เปิดเผยความพร้อมโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ไว้ 4 แห่ง ประกอบด้วย 1. โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน 2. โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ เขตทวีวัฒนา 3. สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา บางบอน และ 4. ศูนย์กีฬาบางกอกอารีนา เขตหนองจอก

แน่นอนว่าความเป็นโรงพยาบาลสนามอาจไม่สะดวกสบายเช่นการเข้าพักในโรงแรม หรือในโรงพยาบาล แต่ในภาวะฉุกเฉินสิ่งนี้เป็นอาจเป็นหนทางแก้ปัญหาที่ตรงจุด

กระนั้นกลับมีกระแสดราม่าทั้งจากผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลสนามจังหวัดเชียงใหม่ ว่ายังขาดมาตรฐานหากเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั้งในเรื่องความเป็นส่วนตัว คุณภาพของอาหารที่ยังไม่ครบตามหลักโภชนาการ หรือความปลอดภัยของห้องน้ำ

ขณะที่ทีมแพทย์ที่ประจำโรงพยาบาลสนามพบเจอเรื่องราวที่ชวนให้บั่นทอนกำลังใจในการทำงาน จากการไม่ให้ความร่วมมือของผู้ป่วย เช่น การไม่ยอมวัดสัญญาณชีพ อัตราการหายใจ ชีพจร การเรียกร้องขออยู่ห้องเดี่ยว ไม่รับประทานอาหารตามเวลาเพราะตื่นสาย

เสียงสะท้อนจากทั้งสองฝั่ง น่าจะบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี ภาครัฐมีเรื่องที่ต้องปรับปรุงในกรณีความปลอดภัยของโรงพยาบาลสนาม และด้านผู้ติดเชื้อที่เข้ามาใช้บริการโรงพยาบาลสนามควรให้ความร่วมมือกับทีมแพทย์อย่างดี เพราะนั่นหมายถึงการดูแลรักษาที่ถูกต้อง

ในเวลาวิกฤตเช่นนี้ ถึงเวลาหรือยังที่คนไทยควรดึงเอาความสามัคคีออกมาแสดง ภาครัฐควรจริงจังต่อการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่ภาคประชาชนควรให้ความร่วมมือ หากต้องการที่จะเอาชนะไวรัสโควิด-19 ให้ได้

ใส่ความเห็น