วันอังคาร, มีนาคม 19, 2024
Home > PR News > วสท.ยกระดับมาตรฐานอาคารต้านแผ่นดินไหว ลดภัยพิบัติ-สังคมปลอดภัยจากงานวิจัยสกสว.

วสท.ยกระดับมาตรฐานอาคารต้านแผ่นดินไหว ลดภัยพิบัติ-สังคมปลอดภัยจากงานวิจัยสกสว.

วสท.โดยคณะอนุกรรมการผลกระทบจากแผ่นดินไหวและแรงลม จัดสัมมนารับกฎกระทรวง และ มยผ.ที่ปรับปรุงใหม่จากข้อมูลงานวิจัย สกสว. หวังสร้างเสริมนวัตกรรมในการออกแบบอาคารให้มีความแข็งแรง ผู้อยู่อาศัยมั่นใจ ลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินในภาวะฉุกเฉิน

หลังจากมาตรฐานการออกแบบอาคารต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว (มยผ.1302-52) ได้ประกาศใช้เมื่อปี 2552 และได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ส่งผลกระทบกับความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ หลายครั้ง ส่งผลต่อความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ประกอบกับมีข้อมูลแผ่นดินไหวและผลการศึกษาทางธรณีวิทยาเพิ่มเติม กรมโยธาธิการและผังเมืองจึงได้มอบหมายให้คณะผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวทำการศึกษาเพื่อการปรับปรุงมาตรฐานการออกแบบอาคารต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวให้สอดคล้องกับสภาวการณ์และข้อมูลในปัจจุบัน โดยมาตรฐานฉบับใหม่ล่าสุด คือ มาตรฐานการออกแบบอาคารต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว มยผ.1301/1302-61

ล่าสุด วสท.ได้จัดการอบรม “กฎกระทรวงและมาตรฐาน มยผ. การออกแบบบบบบบอาคารต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวฉบับใหม่” นำทีมโดย ศ. ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าชุดโครงการลดภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศไทย สกสว. ซึ่งกล่าวว่าการปรับปรุงครั้งนี้มุ่งเน้นวิธีการวิเคราะห์การออกแบบอาคารต้านทานแผ่นดินไหวให้สมบูรณ์มากขึ้นโดยเน้นประเด็นหลักที่สำคัญคือ ระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหวในรูปของความเร่งตอบสนองเชิงสเปกตรัมทั่วประเทศ ค่าความเร่งตอบสนองเชิงสเปกตรัมสำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่พิจารณาแอ่งดินลึก ข้อกำหนดในการใช้โครงสร้างแบบความเหนียวจำกัด ข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการใช้ผนังอิฐก่อ การออกแบบฐานราก การให้รายละเอียดเหล็กเสริม วิธีการออกแบบโครงสร้างด้วยวิธีสเปกตรัม ผลตอบสนองและการปรับปรุงด้านอื่น ๆ “มาตรฐานวิชาชีพจะต้องปรับปรุงเป็นระยะ ๆ เนื่องจากมีผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากแผ่นดินไหว ซึ่งคณะวิจัยได้นำประสบการณ์มาทบทวนใหม่ โดยเฉพาะความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่มีมากขึ้น การสำรวจทำให้เราสามารถประเมินการสั่นสะเทือนได้ดีขึ้น และนำมาปรับข้อกำหนดการออกแบบใหม่ นอกจากนี้ผลการวิจัยก็ชี้ว่ามาตรฐานของต่างประเทศไม่เหมาะสมกับบริบทในประเทศไทย”

ด้าน รศ. ดร.นคร ภู่วโรดม ประธานคณะอนุกรรมการผลกระทบจากแผ่นดินไหวและแรงลม วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวระหว่าง ว่าโครงการปรับปรุงมาตรฐานนี้ริเริ่มจากกรมโยธาธิการและผังเมืองต้องการพัฒนามาตรฐานการออกแบบที่เหมาะสมของประเทศ จึงได้มอบหมายให้คณะนักวิจัยซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวนำผลการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนหลักจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มาใช้ในมาตรฐานนี้

ตามมาตรฐานใหม่ มยผ. 1301/1302-61 ได้ปรับแก้ไขค่าระดับความรุนแรงแผ่นดินไหวในรูปแบบของความเร่งตอบสนองเชิงสเปกตรัมในพื้นที่ทั่วประเทศให้มีความถูกต้องแม่นยำและเหมาะสมมากยิ่งขึ้น แสดงอยู่ในรูปของ “ความเร่งตอบสนองเชิงสเปกตรัม” ซึ่งเป็นค่าความรุนแรงของแผ่นดินไหวต่อโครงสร้างในแต่ละพื้นที่และมีค่าแปรเปลี่ยนไปตามคุณลักษณะของอาคาร ช่วยให้วิศวกรและผู้รับเหมาก่อสร้างสามารถนำค่าตัวเลขเหล่านี้ไปใช้ออกแบบอาคารให้มีความแข็งแรงและต้องมี “ความเหนียว” โดยสามารถโยกไหวตัวเกินพิกัดยืดหยุ่นของโครงสร้าง และสามารถสลายพลังงานของการสั่นไหวในระดับที่เหมาะสมและอาคารไม่พังถล่มลงมา

มาตรฐานฉบับใหม่นี้จะเป็นประโยชน์ในการยกระดับงานวิศวกรรมของประเทศ ผู้ออกแบบสถาปัตยกรรม ผู้รับเหมาก่อสร้าง และผู้เกี่ยวข้อง นำไปใช้ในการออกแบบก่อสร้างอาคารในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวของประเทศไทยให้มีความมั่นคงแข็งแรง ช่วยให้ผู้คำนวณและออกแบบโครงสร้างมีความสะดวกและแม่นยำต่อการใช้งานมากยิ่งขึ้น และสามารถนำมาตรฐานไปใช้ปฏิบัติให้การก่อสร้างอาคารมีความปลอดภัยเป็นไปตามหลักมาตรฐานวิศวกรรมสากล ซึ่งจะก่อให้เกิดความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและสังคมเพิ่มมากยิ่งขึ้น ขณะที่ผู้อยู่อาศัยเองก็มีความมั่นใจว่าจะช่วยลดความเสี่ยงได้ ทั้งนี้เจ้าของอาคารและผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังสามารถใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบการออกแบบว่าถูกต้องมีคุณภาพตามมาตรฐานสากลหรือไม่

นอกจากการปรับปรุงระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหวที่ได้จากข้อมูลใหม่ รวมถึงหลักการใหม่ที่ใช้ในการคำนวณออกแบบอาคารต้านทานแผ่นดินไหวให้ถูกต้องยิ่งขึ้นแล้ว มาตรฐานฉบับปรับปรุงนี้ยังมีการเพิ่มเติมหลักสำคัญที่ควรพิจารณาประกอบการออกแบบอื่น ๆ เช่น ผลจากผนังอิฐก่อ ซึ่งเป็นบทเรียนจากแผ่นดินไหวที่จังหวัดเชียงรายเมื่อปี 2557 มีการเพิ่มเติมเนื้อหาเพื่อให้ผู้ใช้มีแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องและออกแบบอาคารให้มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น ได้แก่ ข้อแนะนำการออกแบบกำแพงโครงสร้างคอนกรีต ข้อแนะนำการออกแบบองค์อาคารที่ไม่ใช่โครงสร้างหลักต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว เป็นต้น

ทั้งนี้ แต่ละอาคารมีค่าต้านทานแผ่นดินไหวต่างกันไปตามลักษณะการใช้งาน ประเภท ความสำคัญของอาคารที่มีต่อสาธารณชน และการบรรเทาภัยหลังเกิดเหตุ นอกจากนี้ยังสามารถใช้ค่าระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหวในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศในการออกแบบโครงสร้างต้านทานแผ่นดินไหวด้านอื่น ๆ เช่น การออกแบบโครงสร้างสะพาน เขื่อน โครงสร้างชลประทาน ถังน้ำ เสาส่งสัญญาณไฟฟ้า เสาส่งสัญญาณวิทยุ ป้ายโฆษณา โครงสร้างที่อยู่ใต้ดิน เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ และโครงสร้างอื่นที่ไม่ได้เป็นลักษณะอาคาร นับเป็นการพัฒนาการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคให้สอดคล้องรองรับปัญหาสภาวะโลกร้อนและภัยพิบัติธรรมชาติ

ขณะที่ ดร.ทยา จันทรางศุ วิศวกรชำนาญการ กรมโยธาธิการและผังเมือง ระบุว่าประเด็นสำคัญที่มีการแก้ไขกฎกระทรวง และ มยผ.ฉบับใหม่ ว่าด้วยการเพิ่มเติมบทนิยาม “บริเวณเฝ้าระวัง” หมายถึงบริเวณหรือพื้นที่ที่มีความเป็นไปได้ว่าแผ่นดินไหวจะส่งผลกระทบในระดับปานกลางและระดับสูงในด้านโครงสร้างอาคาร จังหวัดใดที่ควรควบคุม พื้นที่ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทยที่ควรควบคุมทันทีหลังจากประสบภัย และการบังคับใช้หลังประกาศเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม เป็นต้น โดยข้อพิจารณาในการออกแบบโครงสร้างเน้นเรื่องการจัดรูปทรงและผังอาคารให้มีเสถียรภาพในการต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว ตลอดจนการกำหนดรายละเอียดชิ้นส่วนและรอยต่อระหว่างชิ้นส่วน รวมทั้งจัดให้โครงสร้างทั้งระบบอย่างน้อยมีความเหนียวเทีบเท่ากับความเหนียวจำกัดตามมาตรฐานประกอบการออกแบบอาคารเพื่อต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวของกรมโยธาธิการและผังเมือง หรือมาตรฐานว่าด้วยการออกแบบอาคารต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวที่สภาวิศวกรรับรอง

 

ใส่ความเห็น