วันพฤหัสบดี, เมษายน 18, 2024
Home > Life > ลัดเลาะย่านเก่าแห่งพระนคร กับเรื่องลับของพื้นที่สีเทาในอดีต

ลัดเลาะย่านเก่าแห่งพระนคร กับเรื่องลับของพื้นที่สีเทาในอดีต

เยาวราชในการรับรู้ในปัจจุบันคือย่านธุรกิจที่พลุกพล่านทั้งกลางวันและกลางคืน และเป็นแหล่งรวมของกินแสนอร่อยที่เป็นหมุดหมายของใครหลายๆ คน แต่ท่ามกลางภาพฉายแห่งปัจจุบัน ในอดีตย่านเยาวราชยังเคยเป็นพื้นที่ของธุรกิจสีเทา ทั้งโรงฝิ่น โรงหวย และโรงโคมเขียวของบรรดาหญิงงามเมืองที่เรียกกันในสมัยนั้นอีกด้วย

“ผู้จัดการ 360 องศา” ขอพาคุณผู้อ่านลัดเลาะไปตามตรอกซอกซอยในย่านเยาวราช เพื่อไปทำความรู้จักเรื่องราวสีเทาๆ ในอดีต ผ่านสถานที่ต่างๆ ที่ยังคงหลงเหลืออยู่เพื่อคอยบอกเล่าเรื่องราวที่ผ่านมา

เริ่มกันที่ “วัดบำเพ็ญจีนพรต” วัดจีนที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่ซ่อนตัวอยู่ในตึกทรงวินเทจในตรอกเต๊า (เยาวราชซอย 8) ซึ่งเป็นหนึ่งในย่านโรงโคมเขียว หรือแหล่งประกอบธุรกิจค้าประเวณีชื่อดังในอดีตแห่งเยาวราช

วัดบำเพ็ญจีนพรต (ย่งฮกยี่) เดิมเป็นวิหารพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ชื่อ “ย่งฮกอำ” คาดว่าสร้างโดยชาวจีนในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ หรือราวๆ พ.ศ. 2338 เพื่อเป็นสังฆารามหรือสำนักสงฆ์ของคณะสงฆ์จีนนิกาย ก่อนที่จะมีการปฏิสังขรณ์ โดยพระอาจารย์สกเห็ง ที่จาริกมาจากประเทศจีนและพำนักอยู่ ณ ที่แห่งนี้ จนได้รับพระราชทานนาม “วัดบำเพ็ญจีนพรต” จากรัชกาลที่ 5 ในที่สุด ซึ่งปัจจุบันยังมีป้ายพระราชทานนามวัดประดิษฐานอยู่ด้านหน้าพระอุโบสถ

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดคือพระอุโบสถขนาดเล็กที่ล้อมรอบด้วยอาคารทรงวินเทจชนิดที่ผนังแนบแน่นไปกับตัววัดเลยทีเดียว ภายในพระอุโบสถประกอบด้วยพระประธาน 3 องค์ ได้แก่ พระศากยมุนีพุทธเจ้า พระอมิตาภะพุทธเจ้า และพระไภษัชยะคุรุพุทธเจ้า อันเป็นตัวแทนของอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ซ้ายและขวาล้อมรอบพระอรหันต์ 18 องค์ ซึ่งเป็นศิลปะแบบ “ทึกทอ ทึกซา” หรือการใช้ผ้าป่านอาบน้ำยาลงรักปิดทองเป็นศิลปะแบบจีนโบราณชั้นสูงที่มีแห่งเดียวในประเทศไทย

ด้านข้างพระอุโบสถมีบันไดพาเราขึ้นไปชั้นอื่นๆ ของตึกที่สูงถึง 5 ชั้น แต่ละชั้นถูกใช้เป็นกุฏิพระ ห้องประดิษฐานพระโพธิสัตว์ ห้องสมุด และห้องเก็บป้ายวิญญาณของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งครั้งหนึ่งตัวอาคารที่ล้อมรอบวัดอยู่นี้ถูกใช้เป็นที่ประกอบกิจการโรงโคม จนมีเรื่องเล่าว่ามักจะได้ยินเสียงและพบเจอวิญญาณของผู้หญิงบนอาคารบ่อยครั้ง

กิจการการค้าประเวณีเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กับความเป็นไปในสังคมมาอย่างยาวนานและเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ในสมัยรัชกาลที่ 4 จนถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ มีโรงหญิงนครโสเภณีหรือโรงโคมเขียวมากมายหลายระดับอยู่แทบทุกตรอกซอกซอยในย่านสำเพ็งและเยาวราช โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตรอกเต๊า ตรอกแตง ตรอกโรงเขียน โดยสำนักที่ขึ้นชื่อคือ โรงแม่กลีบ โรงแม่เต้า และโรงยายแฟง ผู้สร้างวัดคณิกาผลนั่นเอง

ขุนวิจิตรมาตรา หรือ “กาญจนาคพันธ์” ได้บรรยายถึงสภาพผู้หญิงโคมเขียวที่ตรอกเต๊าในยุคสมัยนั้นไว้ว่า “ในตรอกเต๊านี้เป็นห้องแถวยาวติดต่อกันไปตลอดตรอก ทุกห้องแขวนโคมเขียวไว้หน้าห้องเป็นแถว และเวลาก่อนค่ำจะเห็นพวกโสเภณีเขาจุดธูปราวกำมือหนึ่ง (ราวสัก 20 ดอก) มาลนที่ใต้โคมเขียวหน้าห้อง ข้าพเจ้าเคยถามเขาว่าลนทำไม เขาบอกว่าลนให้มีแขกเข้ามามากๆ พวกนี้ราคาอยู่ใน 6 สลึงหรือสองบาท” ซึ่งเป็นคำบรรยายที่ฉายอดีตบางส่วนให้เราได้เห็นชัดขึ้น

“วัดคณิกาผล – วัดกันมาตุยาราม” พุทธสถานที่สร้างโดย “แม่เล้าเจ้าสำนักนางโลม”

ออกจากวัดบำเพ็ญจีนพรต เราเดินเลาะไปตามตรอกเต๊าเพื่อไปยัง “วัดกันมาตุยาราม” ซึ่งเป็นวัดที่ “นางกลีบ สาครวาสี” เจ้าสำนักโสเภณีชื่อดังและเป็นบุตรสาวของยายแฟง ได้อุทิศสวนดอกไม้สร้างเป็นวัดขึ้น เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ให้ลูกชายที่ชื่อ “กัณฑ์” ที่มีสุขภาพอ่อนแอให้หายป่วย แล้วได้น้อมเกล้าฯ ถวายวัดแด่รัชกาลที่ 4 ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานนามว่า “วัดกันมาตุยาราม” อันแปลว่า วัดของมารดานายกัน นั่นเอง

วัดกันมาตุยาราม เป็นวัดราษฎร์ขนาดเล็ก สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2407 บริเวณวัดค่อนข้างแคบ มีปูชนียสถานที่สำคัญคือเจดีย์ทรงระฆังคว่ำแบบลังกาสร้างเลียนแบบธัมเมกขสถูปในประเทศอินเดีย โดยในประเทศไทยมีเจดีย์ลักษณะเช่นนี้เพียง 2 แห่งเท่านั้น คือที่วัดกันมาตุยารามแห่งนี้และวัดโสมนัสราชวรวิหารอีกแห่งหนึ่ง

ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพุทธประวัติที่งดงาม บานประตูด้านหน้าพระอุโบสถเขียนรูปเนื้อสัตว์ที่ห้ามพระภิกษุฉันทั้งสิ้น 10 ชนิด ส่วนบานประตูด้านหลังเขียนรูปผลไม้ที่ใช้ทำน้ำปานะได้ 8 ชนิด บริเวณข้างประตูเขียนเป็นภาพสุภาษิตไทย เหนือหน้าต่างด้านในมีซุ้มกรอบประดิษฐานพระพุทธรูปทั้ง 37 ปาง บานประตูและหน้าต่างด้านนอกประดับมุกสวยงาม

จากวัดกันมาตุยาราม เราเดินพอเหนื่อยไปยัง “วัดคณิกาผล” อีกหนึ่งวัดที่สร้างโดยแม่เล้าเจ้าสำนักนางโลมที่ขึ้นชื่ออย่าง “ยายแฟง”

วัดคณิกาผล แต่เดิมชื่อ “วัดใหม่ยายแฟง” เป็นวัดสมัยรัชกาลที่ 3 สร้างโดย “ยายแฟง” เจ้าสำนักโสเภณีผู้มีชื่อเสียงแห่งย่านตรอกเต๊า และเป็นมารดาของนางกลีบผู้สร้างวัดกันมาตุยาราม ความร่ำรวยของยายแฟงมาจากเงินของหญิงบริการ อาชีพที่ไม่ได้รับการยอมรับในสังคม โดยได้นำเงินนั้นมาสร้างวัดด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนา

มีเรื่องเล่าว่าครั้งงานสมโภชวัด ยายแฟงได้นมัสการสมเด็จพระพุฒาจารย์โต หรือหลวงปู่โตแห่งวัดระฆังมาเทศน์ในงาน โดยได้ถามหลวงปู่โตว่าตนจะได้บุญสักเท่าไรในเมื่อทำบุญสร้างวัดใหญ่โตขนาดนี้ แต่หลวงปู่โตท่านตอบว่า “เจ้าภาพทำบุญด้วยทุนรอนจากผลเช่นนี้ จึงได้อานิสงส์เพียงสลึงเฟื้องของเศษบุญเท่านั้น” คือได้บุญไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยนั่นเอง สร้างความไม่พอใจให้กับยายแฟงไม่น้อย

หลังจากเหตุการณ์นั้นยายแฟงยังได้นิมนต์ “ทูลกระหม่อมพระ” จากวัดบวรนิเวศวิหาร (ต่อมา คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4) มาเทศน์เพื่อหวังจะแก้หน้าจากคราวก่อน แต่ทูลกระหม่อมพระทรงเทศนาไปในแนวทางเดียวกันว่า “ถ้าเป็นความเห็นของอาตมาแล้ว คงจะตัดสินให้ได้บุญเพียงสองไพเท่านั้น”

แต่อย่างไรก็ดี เรื่องราวดังกล่าวเป็นเพียงเรื่องเล่าในระยะแรกของการสร้างวัดเท่านั้น ภายหลังยายแฟงตัดสินใจเลิกทำอาชีพแม่เล้า โดยมีลูกสาวคือนางกลีบมารับช่วงธุรกิจต่อ ส่วนตัวยายแฟงเองนั้นถือศีลบวชชีตลอดอายุที่เหลือ ภายหลังลูกหลานได้มาบูรณะวัดใหม่ และขอทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานนามวัดจากรัชกาลที่ 4 พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “วัดคณิกาผล” อันมีความหมายว่า วัดที่สร้างด้วยผลประโยชน์ของหญิงงามเมือง

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด ได้แก่ พระประธานหลวงพ่อทองคำสมัยสุโขทัยที่งดงาม พระพุทธรูปบำเพ็ญทุกรกิริยาในวิหาร รวมถึง “อาคารยายแฟง” ที่ตั้งรูปหล่อของยายแฟงเอาไว้ และเป็นที่ที่ผู้คนมักมาขอพรเรื่องโชคลาภ เรื่องงาน เงิน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความรัก

แม้ว่า “วัดคณิกาผล” และ “วัดกันมาตุยาราม” จะเป็นวัดที่สร้างขึ้นจากเจ้าสำนักโสเภณีที่ร่ำรวยมาจากการทำกิจการโรงโคม ธุรกิจสีเทาที่ดูไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมเท่าใดนัก แต่เมื่อกาลเวลาผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งสองวัดยังคงทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมความศรัทธาของพุทธศาสนิกชน และเป็นตัวแทนแห่งความศรัทธาในพุทธศาสนาของผู้สร้างได้เป็นอย่างดี.

(ภาพ: KTC Press club)

ใส่ความเห็น