วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > รัฐไทยในเวที APEC ยั่งยืนด้วยกรอบคิดเดิม?

รัฐไทยในเวที APEC ยั่งยืนด้วยกรอบคิดเดิม?

การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกครั้งที่ 25 และการประชุมรัฐมนตรีเอเปกครั้งที่ 29 ระหว่างวันที่ 8-11พฤศจิกายน 2560 ณ นครดานัง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ได้ปิดฉากลงไปแล้ว ขณะที่ผลสัมฤทธิ์ของการประชุมในครั้งนี้คงได้สะท้อนผ่านออกมาจากถ้อยแถลงของกลไกรัฐ ไม่ว่าจะตรงกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏหรือไม่ก็ตาม

ภายใต้กรอบการประชุมกลุ่มประเทศความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ซึ่งมีผู้นำระดับสูงของแต่ละประเทศเข้าร่วมรวม 21 เขตเศรษฐกิจ การประชุมในครั้งนี้จึงได้รับการจับตามองจากนานาประเทศว่าผลสรุปของการประชุมจะนำพาหรือบ่งบอกทิศทางเศรษฐกิจในอนาคตนับจากนี้อย่างไร

ขณะเดียวกันบทบาทและภาพลักษณ์ของไทยในเวทีการประชุมแห่งนี้ จะสามารถสื่อแสดงศักยภาพของประเทศให้สามารถดึงดูดนักลงทุน หรือแม้กระทั่งเจรจาต่อรองเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติได้มากน้อยเพียงใด

กำหนดการประชุมที่ประกอบด้วยการหารือกับผู้แทนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก หรือ ABAC : APEC Business Advisory Council และการหารืออย่างไม่เป็นทางการ (Retreat) ในประเด็นว่าด้วยการเติบโตอย่างมีนวัตกรรม การมีส่วนร่วม และการจ้างงานอย่างยั่งยืนในยุคดิจิทัล (Innovative Growth, Inclusion and Sustainable Employment in the Digital Age) และพลังขับเคลื่อนใหม่ทางการค้า การลงทุน และการเชื่อมโยงในภูมิภาค (New Driver for Regional Trade, Investment and Connectivity) ในด้านหนึ่งดูจะเป็นประเด็นที่กลไกรัฐไทยในยุค คสช. พยายามเน้นย้ำอยู่ไม่น้อย

ประเด็นคำถามที่หลายฝ่ายให้ความสนใจในด้านหนึ่งจึงอยู่ที่ว่าในช่วงเวลาหลายปีแห่งความชะงักงันในมิติการเมือง ที่ส่งผลไปสู่ความอ่อนล้าทางเศรษฐกิจสังคมของไทย จะมีผลให้ไทยพลาดโอกาสในขบวนแห่งการพัฒนา และถูกปล่อยทิ้งให้อยู่ข้างหลัง เมื่อประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนได้ขยับตำแหน่งของการพัฒนาไปข้างหน้าทุกขณะ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่าการประชุม APEC ในครั้งนี้ จัดขึ้นในนครดานัง ประเทศเวียดนาม ซึ่งนอกจากจะมีสถานะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมและกำหนดกรอบโครงการประชุมแล้ว เวียดนามซึ่งดำเนินการพัฒนากลไกทางเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง กำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างประเทศมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ขณะที่อินโดนีเซียและไทยมีความน่าสนใจลดหลั่นลงไปในสายตาของนักลงทุน

เวียดนาม ในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปก ประจำปี 2560 ได้กำหนดหัวข้อหลัก (Theme) คือ การสร้างพลวัตใหม่และการส่งเสริมอนาคตร่วมกัน (Creating New Dynamism and Fostering Shared Future) และประเด็นสำคัญ (Priorities) 4 ประเด็น ไล่เรียงตั้งแต่การส่งเสริมการเติบโตที่ครอบคลุม สร้างสรรค์ และยั่งยืน (Promoting Sustainable, Innovative and Inclusive Growth) การส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Deepening Regional Economic Integration)

รวมถึงการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันและนวัตกรรมแก่วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยในยุคดิจิทัล (Strengthening MSMEs’ Competitiveness and Innovation in the Digital Age) และการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารและเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนที่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Enhancing Food Security and Sustainable Agriculture in Response to Climate Change)

ข้อได้เปรียบอย่างสำคัญของเวียดนามในขณะปัจจุบัน นอกจากจะอยู่ที่การได้รับสิทธิพิเศษด้านการค้า ในอีกด้านหนึ่งยังได้รับการหนุนเสริมจากจำนวนแรงงานในวัยหนุ่มสาวที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ขณะที่สังคมไทยกำลังเคลื่อนเข้าสู่สังคมสูงอายุ และเริ่มเผชิญหน้ากับประเด็นปัญหาว่าด้วยการขาดแคลนแรงงาน

ก่อนการประชุมจะเริ่มรัฐบาลไทยได้กำหนดเป้าหมายในการเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ไว้ในฐานะที่เป็นการแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการดำเนินการทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกทางการค้า ความเชื่อมโยง (connectivity) เศรษฐกิจสีเขียว (Green growth / Green economy) และการพัฒนาทุนมนุษย์

ประเด็นที่ไทยหยิบยกในการประชุม จึงถูกแวดล้อมด้วยความพยายามในการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 และประสบการณ์การดำเนินนโยบาย “ประเทศไทย 4.0” โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งมีเป้าหมายยกระดับพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกรองรับการลงทุนอุตสาหกรรม Super Cluster และอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ซึ่งดูจะเป็นประเด็นหลักที่รัฐไทยพยายามเน้นย้ำตลอดหลายปีที่ผ่านมา

กระนั้นก็ดี ความเป็นไปของโครงการระเบียงเศรษฐกิจ EEC ที่จนถึงขณะปัจจุบันยังไม่ปรากฏผลสัมฤทธิ์ให้สามารถจับต้องอย่างเป็นรูปธรรมได้กลายเป็นปัญหาที่หลายฝ่ายแสดงความกังวล

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งอยู่ที่นักลงทุนรายใหญ่จากต่างประเทศจำนวนไม่น้อยต่างรอคอย ความชัดเจนของโครงการ EEC โดยเฉพาะพระราชบัญญัติการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่เป็นประหนึ่งหลักประกันความต่อเนื่องมั่นคงของโครงการ EEC ซึ่งก็ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ และคาดว่าอาจจะออกเป็นกฎหมายได้ภายในช่วงปลายปี 2560 หรือต้นปี 2561 ที่อาจทำให้มีเงินลงทุนเข้าสู่ไทยมากถึง 5 แสนล้านบาทในช่วงระยะเวลา 5 ปี นับจากนั้น

ความพยายามที่จะขจัดความผันผวนทางการเมือง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายเศรษฐกิจ กลายเป็นประเด็นที่รุมเร้ารัฐไทยก่อนการประชุม APEC ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี ที่ติดตามมาด้วยเสียงเรียกร้องให้เสริมความแข็งแกร่งของรัฐบาล ด้วยการนำผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจเข้ามาเสริมทัพ นอกเหนือจากการยึดโยงอยู่กับสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจแต่เพียงลำพัง

จริงอยู่ที่ว่า การปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีที่อาจจะมีขึ้นในอนาคตอันใกล้ อาจไม่ได้ส่งผลให้โครงการ EEC หรือนโยบายว่าด้วยเศรษฐกิจดิจิทัล ที่ดำเนินต่อเนื่องมาก่อนหน้านี้ถูกพับฐานให้สูญหายไปในลักษณะกลับหลังหันไปเป็นคนละแนวทาง แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตคือความชัดเจนและกรอบโครงรายละเอียดในเชิงปฏิบัติที่สามารถนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม

แม้ว่าการประชุมภายใต้กรอบความร่วมมือ APEC ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 21 เขตเศรษฐกิจ และมีประชากรรวมกันมากกว่า 2.8 พันล้านคน ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) รวมกันกว่าร้อยละ 59 ของ GDP โลก ขณะที่สัดส่วนการค้าระหว่างกันคิดเป็นร้อยละ 48 ของมูลค่าการค้าโลก และสัดส่วนการค้าระหว่างไทยกับสมาชิก APEC สูงถึงร้อยละ 70 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทยทั้งหมด จะสะท้อนภาพความสำคัญของกรอบความร่วมมือนี้ต่อประเทศไทย

หากแต่ด้วยกรอบการดำเนินงานของ APEC ที่ยึดหลักฉันทามติ ความสมัครใจ และไม่มีผลผูกพัน ทำให้ข้อตกลงหรือบทสรุปแห่งการประชุมที่เกิดขึ้น อาจไม่ใช่แก้วสารพัดนึกที่พร้อมจะเอื้อประโยชน์ให้กับความมุ่งมั่นตั้งใจของไทยในการหนุนนำพัฒนาการทางเศรษฐกิจให้สามารถเพิ่มศักยภาพการแข่งขันได้มากนัก

ในทางกลับกันโพดผลที่รัฐไทยหวังจะได้จาก APEC ต้องเกิดขึ้นจากการเร่งระดมสรรพกำลังในการกระตุ้นให้เกิดทัศนะใหม่ๆ ไม่เฉพาะในเชิงของธุรกิจพาณิชยกรรมเท่านั้น เนื่องเพราะพัฒนาการทางเศรษฐกิจสังคม ย่อมไม่สามารถดำเนินไปได้ไกลหากขาดเสรีภาพในการคิดคำนึงและถกแถลง เพื่อแสวงหาหนทางที่เหมาะสมกว่า

บางทีการฝากความหวังไว้กับปริมาณเม็ดเงินลงทุนจากภายนอกในฐานะที่เป็นแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจ อาจมีค่าน้อยกว่าการเสริมสร้างการพัฒนาทุนมนุษย์ ที่ย่อมต้องเปิดโอกาสให้มีอิสรภาพในเชิงความคิดสร้างสรรค์ มากกว่าที่จะถูกผูกและยึดโยงให้ออกมาเป็นผลผลิตแบบพิมพ์เดียวของระบบล้าหลังอย่างที่เป็นอยู่

เพราะในยุคสมัยแห่งอนาคตที่กำลังคืบใกล้เข้ามานี้ รัฐไทยย่อมไม่สามารถดำรงอยู่ภายใต้กรอบคิดเดิม แต่จะมีหนทางปรับเปลี่ยนทัศนะให้ก้าวหน้าและพร้อมเผชิญกับความท้าทายในระดับนานาชาติอย่างไร ดูจะเป็นคำถามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จะไม่ได้คิดไว้

ใส่ความเห็น