วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > รัฐมุ่งหน้าเร่ขายฝัน หวังฉุดเศรษฐกิจไทยฟื้น

รัฐมุ่งหน้าเร่ขายฝัน หวังฉุดเศรษฐกิจไทยฟื้น

ข่าวการเดินทางเพื่อเชิญชวนนักลงทุนญี่ปุ่นให้เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนของไทยในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ของสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ในด้านหนึ่ง ถือเป็นความพยายามที่ไม่สิ้นสุดของรัฐบาลไทยที่จะผลักดันโครงการลงทุนและกระตุ้นภาพรวมทางเศรษฐกิจของไทยให้ดำเนินไปตามถ้อยแถลงว่าด้วยเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแล้ว

แม้ว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าจะไม่สอดรับกับคำเอ่ยอ้างและวาทกรรมว่าด้วยความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติ และในบางกรณีอาจดำเนินสวนทางไปในทิศทางตรงข้ามก็ตาม

ความพยายามที่จะสถาปนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาผ่านปาฐกถาในงานสัมมนา “Thailand towards Asian Hub” ถือเป็นข้อเน้นย้ำถึงมายาคติที่บีบอัดเป็นมิติมุมมองของทั้งผู้นำระดับสูงในรัฐบาลและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่จ่อมจมอยู่กับวาทกรรมและความเชื่อว่าด้วยความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ของไทยแบบดั้งเดิม โดยละเลยบริบทของการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ

ขณะที่การเน้นย้ำประเด็นว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 และการปรับปรุงกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี ดูจะเป็นการเน้นย้ำที่ไม่ต่างจากแผ่นเสียงที่ตกร่อง เพราะนอกจากจะยังไม่มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมใหม่ๆ ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบของพัฒนาการเชิงนโยบายในสองเรื่องนี้อย่างจริงจังเลย

ประเด็นว่าด้วย EEC หรือการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ที่ดำเนินไปภายใต้ความคาดหวังว่าจะช่วยเปลี่ยนผ่านภาคการผลิตของไทย และเป็นโครงการที่จะต้องมีการพัฒนาในโครงสร้างพื้นฐานมูลค่ารวมกว่า 4.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญถึงความเป็นไปได้ของโครงการนี้ว่าจะแสวงหาเม็ดเงินและนักลงทุนจากที่ใดเข้ามาเติมเต็มความฝันครั้งใหม่ของรัฐบาลไทยนี้

“หากขาดนักลงทุนจากญี่ปุ่น EEC คงพัฒนาไม่สำเร็จ จึงได้เชิญประธาน JETRO มาเป็นที่ปรึกษาเพื่อติดต่อกับนักลงทุนญี่ปุ่น ซึ่งหวังว่าไทย-ญี่ปุ่นจะร่วมมือทางการค้าและลงทุนได้เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะการนำแนวคิดร่วมจัดทำยุทธศาสตร์ของกลุ่มประเทศ CLMVT เพื่อเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ขยายไปยังกลุ่มต่างๆ ด้วย” สมคิดระบุในตอนหนึ่งของปาฐกถา

การอ้างถึงความพยายามเชื่อมโยงยุทธศาสตร์การพัฒนาเข้ากับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านทั้งกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์และเวียดนาม หากเป็นในอดีตก็คงดำเนินไปในลักษณะที่ไทยเป็นศูนย์กลางที่จะหนุนนำพัฒนาการทางเศรษฐกิจสังคมไปสู่มิตรประเทศเหล่านี้ หากแต่ในปัจจุบันความพยายามผนวกรวมยุทธศาสตร์ CLMVT กลับกลายเป็นเพียงการขอมีส่วนร่วมให้เกิดความน่าสนใจในมิติของการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวจากต่างประเทศเท่านั้น

ก่อนหน้านี้ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้พยายามที่จะนำเสนอ หรือหากกล่าวอย่างชัดเจน “ขาย” พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกให้กับกลุ่มนักลงทุนจากฮ่องกง โดยหวังว่า EEC จะได้รับความสนใจในฐานะที่อาจเป็นส่วนหนึ่งในการเติมเต็มยุทธศาสตร์ว่าด้วย One Belt One Road หรือ OBOR ที่เป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจผ่านการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมที่นำเสนอโดยจีน และกำลังสร้างแรงสั่นสะเทือนไปสู่การปรับตัวของทั้งประเทศคู่ค้าและคู่แข่งขันของจีนอย่างกว้างขวาง

แม้ว่าในปาฐกถาของสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จะมีการกล่าวถึงการล่มสลายของ Trans-Pacific Partnership: TPP หลังการถอนตัวออกไปของสหรัฐอเมริกา และการระบุถึง RCEP: Regional Comprehensive Economic Partnership ภายใต้กรอบความร่วมมือของชาติสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศและคู่เจรจาอีก 6 ประเทศ ทั้งจีน อินเดีย เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น ในด้านหนึ่งอาจเน้นย้ำความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ทางการค้าที่ครอบคลุมประชากรและผู้คนกว่าครึ่งหนึ่งของโลก

หากแต่การระบุถึงยุทธศาสตร์จีนว่าด้วย One Belt One Road ในฐานะที่เป็นแรงผลักดันให้เกิด connectivity และกระตุ้นการค้าการลงทุนในพื้นที่ที่ One Belt One Road พาดผ่าน บนเวทีที่ผู้ฟังในห้องประชุมส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนชาวญี่ปุ่น ดูจะเป็นความผิดฝาผิดตัว และขาดความตระหนักในประเด็นละเอียดอ่อนในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของชาติมหาอำนาจที่มีไทยเป็นเพียงผู้แสดงตัวเล็กๆ ที่บางครั้งไม่มีใครให้ค่า หรือสนใจที่จะเชิญเข้าร่วมประชุมด้วยซ้ำ

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจมากประการหนึ่งก็คือ ทั้งญี่ปุ่นและอินเดียกำลังอยู่ระหว่างการนำเสนอแผนพัฒนา Asia-Africa Growth Corridor (AAGC) ที่นับเป็นความพยายามในการตอบสนองต่อความทะเยอทะยานตามแผน OBOR ของจีน และคาดว่าจะมีรายละเอียดของแผนพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นในการหารือระหว่าง Shinzo Abe นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กับ Narendra Modi นายกรัฐมนตรีอินเดียในช่วงปลายปีนี้

การเกิดขึ้นของ AAGC ในด้านหนึ่งก็คือ ความพยายามสร้าง “free and open Indo-Pacific region” ที่จะเชื่อมโยงทวีปแอฟริกาเข้ากับอินเดียและประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านเส้นทางเดินเรือทะเล ที่เชื่อว่าจะเป็นการคมนาคมที่มีราคาประหยัด และสามารถดำเนินการให้เห็นผลได้อย่างรวดเร็ว

ประเด็นที่น่าสนใจจากทั้งในมิติของ OBOR และ AAGC ก็คือ ประเทศไทยที่เชื่อว่าเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาในภูมิภาคนี้ กลับไม่ได้รับความสนใจหรือถูกกล่าวถึงในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของประเทศที่อยู่ในแผนพัฒนาสำหรับพลวัตทางเศรษฐกิจการเมืองโลกเหล่านี้เลย

การระบุบนเวทีปาฐกถาว่า ประเทศไทยได้ก้าวพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจมีเพียงร้อยละ 0.8 ในปี 2014 มาสู่ระดับร้อยละ 3.2 ในปี 2016 เมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยของ CLMVT ที่อยู่ในระดับร้อยละ 6-7 อย่างต่อเนื่องมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา เป็นภาพสะท้อนให้เห็นความตกต่ำทางสถานภาพและบทบาทนำของไทยในภูมิภาคอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

และเป็นข้อเท็จจริงที่รัฐบาลควรตระหนักด้วยว่า สถานภาพที่แท้จริงของไทยในเวทีเศรษฐกิจ การเมืองโลกในปัจจุบัน ถูกจัดอันดับไว้อย่างไร

ความพยายามที่จะเร่ขายความฝันว่าด้วยการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ที่จะนำมาซึ่งนวัตกรรมทางการผลิตและการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ ด้วยน้ำพักน้ำแรงและเทคโนโลยีของนักลงทุนและผู้ประกอบการจากต่างประเทศไม่เคยเกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ของชาติที่ไม่ได้พัฒนาระบบการค้นคว้าวิจัยและผลักดันตัวเองให้มีสถานะเป็นเจ้าของนวัตกรรมดังกล่าว

บางทีสิ่งที่รัฐบาลไทยในยุคปัจจุบันทำได้และอาจทำได้ดีก็คือการเปิดตลาดย้อนยุค แบบที่ได้ดำเนินการมาในกรณีของตลาดผดุงกรุงเกษม อย่างน้อยก็อาจช่วยให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคฐานรากได้มีโอกาสซื้อหาสินค้าในราคาประหยัดในยุคที่รัฐบาลยืนยันว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้วก็เป็นได้

ใส่ความเห็น