วันพุธ, เมษายน 17, 2024
Home > Cover Story > รพ. ธรรมศาสตร์ฯ ดึงจุดเด่นมู่งสู่ทอป 3 ชูศูนย์ข้อเทียมแบบครบวงจรเป็นเรือธง

รพ. ธรรมศาสตร์ฯ ดึงจุดเด่นมู่งสู่ทอป 3 ชูศูนย์ข้อเทียมแบบครบวงจรเป็นเรือธง

โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ วางกลยุทธ์ก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลเชี่ยวชาญระดับตติยภูมิขั้นสูง และโรงเรียนแพทย์ชั้นนำ โฟกัสจุดเด่นเตรียมเปิดศูนย์รักษาโรคเฉพาะทาง ชูศูนย์ข้อเทียมแบบครบวงจรเป็นต้นแบบ พร้อมพัฒนาต่อยอดการบริการเพื่อรองรับผู้ใช้บริการทุกกลุ่ม

ช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงที่โรงพยาบาลทุกแห่งต่างต้องทุ่มสรรพกำลังและทรัพยากรที่มีเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่ง รพ. ธรรมศาสตร์ฯ เองถือเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่มีบทบาทสำคัญในช่วงโควิดที่ผ่านมา ตั้งแต่กระบวนการคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด การรักษาผู้ป่วยโควิด จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม และสร้างห้องไอซียูความดันลบรองรับผู้ป่วยกว่า 42 ห้อง ซึ่งนับว่ามากที่สุดในประเทศ รวมไปถึงการเป็นศูนย์ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด และล่าสุดคือการอำนวยความสะดวกในการทำ Home Isolation สำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง

แน่นอนว่าการต้องรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ภาพรวมของโรงพยาบาลดูชะงักลงไปบ้าง แต่ถึงกระนั้น รพ. ธรรมศาสตร์ฯ ก็ได้วางแผนในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของโรงพยาบาลในระยะยาวควบคู่ไปพร้อมกัน

รศ. นพ.ณัฐพล ธรรมโชติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนากายภาพ รพ. ธรรมศาสตร์ฯ เปิดเผยกับ “ผู้จัดการ 360 องศา” ว่า “ทิศทางการดำเนินงานต่อจากนี้ เราวางเป้าหมายให้ รพ. ธรรมศาสตร์ฯ เป็นทอป 3 ของโรงพยาบาลเชี่ยวชาญระดับตติยภูมิขั้นสูง และโรงเรียนแพทย์ชั้นนำ ซึ่งตอนนี้มีทั้ง รพ. จุฬาฯ และศิริราช ที่ถือเป็นตักศิลาของเมืองไทย โดยกลยุทธ์ที่วางไว้คือโฟกัสจุดเด่นด้านการรักษามาจัดตั้งเป็นศูนย์เฉพาะทางและเน้นการพัฒนาบริการให้ตอบโจทย์คนไข้กลุ่มต่างๆ มากขึ้น”

รพ. ธรรมศาสตร์ฯ เป็นโรงพยาบาลขนาด 800 เตียง มีบริการตรวจคนไข้ทั้งในเวลาและนอกเวลาราชการ เฉลี่ยวันละประมาณ 7,000 คน โดยตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมามีการขยายการให้บริการด้วยการเพิ่มพื้นที่แผนกผู้ป่วยนอกจาก 1 ชั้น เพิ่มเป็น 3 ชั้น ตั้งเป้าอีก 2 ปีข้างหน้าจะสามารถให้บริการคนไข้ต่อวันได้ถึง 20,000 คน

นอกจากคนไข้ในเวลาและคลินิกนอกเวลาแล้ว ยังมีอีกหนึ่งกลุ่มที่โรงพยาบาลสามารถรองรับได้ คือกลุ่มคนไข้ที่มีกำลังจ่ายที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วและการดูแลที่พิเศษ จึงได้เปิดพรีเมียมคลินิก (Premium Clinic) ขึ้นมารองรับคนไข้กลุ่มนี้โดยเฉพาะ และวางโพสิชั่นให้เป็นคลินิกแบบ B+ โดยยึดหลัก “เข้าถึงสะดวก ในราคาที่เอื้อมถึง”

สำหรับพรีเมียมคลินิกเป็นบริการแบบวันสตอปเซอร์วิสที่คนไข้ไม่ต้องต่อคิวแต่ต้องทำการนัดก่อน โดยจะให้บริการตั้งแต่ที่จอดรถจนเสร็จสิ้นกระบวนการรักษาภายในที่เดียว โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อคนไข้ 1 ราย ด้วยค่ารักษาพยาบาลที่ถูกกว่าโรงพยาบาลเอกชนถึง 30% แบ่งเป็น ค่าบริการคลินิกพิเศษประมาณ 1,000 บาท ค่าตรวจของหมอไม่เกิน 1,500 บาท ค่า x-ray, ค่าแล็บ, ยา ซึ่งคิดตามเรตปกติเหมือนโรงพยาบาลรัฐ ปัจจุบันพรีเมียมคลีนิกเปิดให้บริการมาครบหนึ่งปี และกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ

นอกเหนือจากการพัฒนาบริการเพื่อรองรับผู้ป่วยทั้งกลุ่มปกติ กลุ่มมีกำลังจ่าย และกลุ่มที่ต้องการการบริการที่พิเศษแล้ว อีกหนึ่งกลยุทธ์ในการยกระดับองค์กรคือการดึงจุดเด่นด้านการรักษาพยาบาลมาเปิดเป็นศูนย์รักษาโรคเฉพาะทาง

ซึ่ง นพ. ณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า จุดเด่นของ รพ. ธรรมศาสาตร์ฯ คือเป็นโรงเรียนแพทย์ที่มีบุคลากรรุ่นใหม่และมีการวิจัยนวัตกรรมต่างๆ ที่สามารถนำมาต่อยอดทางการแพทย์และบริการคนไข้ได้ โดยจะมีการดึงจุดเด่นที่มีศักยภาพและความพร้อมมาจัดตั้งเป็นศูนย์รักษาโรคเฉพาะทางทั้งสิ้น 10 ศูนย์ ได้แก่

1. ศูนย์ความเป็นเลิศโรคหลอดเลือดสมอง, 2.ศูนย์ความเป็นเลิศเท้าเบาหวาน, 3. ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านโรคภูมิแพ้ โรคหืด และโรคระบบหายใจ, 4. ศูนย์หัวใจ, 5. ศูนย์ตา, 6. ศูนย์ความเป็นเลิศโรคไต, 7. ศูนย์ความเป็นเลิศข้อเข่าและสะโพกเสื่อม, 8. ศูนย์ TU Sport Medicine and Shoulder Center, 9. ศูนย์ระบบทางเดินหายใจแบบครบวงจร และ 10. ศูนย์ข้อเทียมธรรมศาสตร์ โดยมีศูนย์ข้อเทียมเป็นตัวนำร่องที่คาดว่าจะเปิดตัวภายในกลางปี 2565

คนไทยมีปัญหาเรื่องข้อเข่าและสะโพกเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการใช้ชีวิตและอาหารที่บริโภค โดยจากสถิติพบว่ามีผู้ป่วยโรคข้อเข่าและข้อสะโพกเสื่อม เพิ่มขึ้นมากถึง 6 ล้านคน ประกอบกับโครงสร้างประชากรของประเทศกำลังเปลี่ยนเป็น “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” ในอีก 10 ปี ข้างหน้า โดยจะมีประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 3 ของประชากรในประเทศ

โรคข้อเสื่อมเป็นโรคที่สร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วยอย่างมาก และทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ นพ. ณัฐพลมองว่าที่ผ่านมาผู้ป่วยยังเข้ารับการผ่าตัดน้อย เพราะมีความกลัว ทั้งกลัวเจ็บระหว่างการผ่าตัดและกังวลเรื่องผลข้างเคียง เพราะในอดีตการผ่าตัดข้อเข่าเป็นสิ่งที่น่ากังวล แต่ถ้าสร้างมาตรฐานการให้บริการทุกอย่างให้ดีสร้างความมั่นใจให้กับคนไข้ได้ก็จะสามารถลดความวิตกกังวลนั้นได้

รพ. ธรรมศาสตร์ฯ จึงพยายามแก้ปัญหาเหล่านั้นโดยมีการศึกษา พัฒนาการรักษา รวมถึงมีนวัตกรรมเพื่อช่วยระงับความเจ็บปวดตั้งแต่ก่อน ระหว่าง และหลังผ่าตัด เพื่อให้ผู้ป่วยมีประสบการณ์การรักษาที่ดียิ่งขึ้นและสามารถฟื้นตัวกลับบ้านได้อย่างรวดเร็ว ภายใน 3 วัน

“การผ่าตัดข้อเข่าและสะโพกถือเป็น product champion ของ รพ. ธรรมศาสตร์ฯ เพราะมีประวัติการผ่าตัดข้อเข่าอย่างดีมาโดยตลอด ในแต่ละปีเราทำการผ่าตัดผู้ป่วยทั้งข้อเข่าและข้อสะโพกประมาณปีละพันกว่าราย ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่ใหญ่พอจะแยกออกเป็นศูนย์เฉพาะทางได้ ทำให้สามารถให้บริการคนไข้ข้อสะโพกได้สะดวกมากยิ่งขึ้น” นพ. ณัฐพลกล่าวเสริม

โดย “ศูนย์ข้อเทียมธรรมศาสตร์” จะแยกออกจากแผนกออร์โธปิดิกส์ (Orthopedics) โดยจะมีทั้งแผนกผู้ป่วยนอก (OPD) ห้องผ่าตัด เจ้าหน้าที่ พยาบาล และแพทย์เฉพาะของศูนย์ฯ เพื่อเพิ่มความสะดวกและกระชับขั้นตอนในการให้บริการแบบวันสตอปเซอร์วิส ซึ่งจะทำให้สามารถบริการคนไข้ได้ดีขึ้น ตั้งแต่ก่อนผ่า ระหว่างผ่า หลังผ่า ตลอดจนการติดตามการรักษา

อีกหนึ่งจุดเด่นคือการนำเทคโนโลยีแขนหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม (Robotic-Assisted Joint Replacement) จากสหรัฐอเมริกาเข้ามาช่วยในการผ่าตัด ซึ่งจะทำให้การผ่าตัดมีความเที่ยงตรงแม่นยำมากขึ้น ลดความผิดพลาดจากการผ่าตัด และทำให้ความเจ็บปวดจากการผ่าตัดน้อยลง

โดยแขนหุ่นยนต์สามารถแก้ไขการผ่าตัดโรคข้อเข่าเสื่อมทั้งแบบบางส่วน (Partial knee) หรือแบบทั้งหมด (Total knee) โดยแพทย์สามารถเลือกรูปแบบการรักษาให้เหมาะสมกับสภาวะของโรคในคนไข้แต่ละรายได้ จากงานวิจัยพบว่าการใช้แขนหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดมีความแม่นยำในการผ่าตัดกระดูกมากถึง 5 เท่า และมีความแม่นยำในการวางตำแหน่งข้อเทียมมากถึง 3 เท่า เมื่อเทียบกับการผ่าตัดด้วยวิธีปกติ นอกจากนี้ ยังช่วยให้คนไข้เจ็บน้อยกว่าในช่วง 90 วันหลังการผ่าตัด และพบว่าคนไข้ 92% พึงพอใจผลการผ่าตัด

ปัจจุบันในประเทศไทยมีแขนหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดดังกล่าวอยู่เพียง 2 เครื่อง คือที่ รพ. ศิริราชหนึ่งเครื่อง และที่ รพ. ธรรมศาสตร์ฯ อีกหนึ่งเครื่อง มูลค่าราวๆ 60-70 ล้านบาท และมีอายุการใช้งานอยู่ในช่วง 6-7 ปี สำหรับค่าบริการในการผ่าตัดด้วยการใช้แขนหุ่นยนต์ของ รพ. ธรรมศาสตร์ฯ นั้นจะเพิ่มขึ้นจากปกติอีกประมาณ 20,000-30,000 บาท (การผ่าเข่าปกติมีค่าใช้จ่ายประมาณ 150,000-200,000 บาท)

“เรานำแขนหุ่นยนต์มาช่วยเพื่อเพิ่มการเข้าถึงของประชาชน เพื่อให้เข้าถึงได้ง่ายที่สุด ในราคาที่ถูกที่สุด” นพ. ณัฐพลกล่าวย้ำ

ซึ่งการเปิดศูนย์ข้อเทียมธรรมศาสตร์นั้น จะทำให้การเปลี่ยนข้อเข่าและข้อสะโพกเทียมมีประสิทธิภาพดีขึ้นและในจำนวนที่มากขึ้น จากเดิมที่สามารถให้บริการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและข้อสะโพกเทียมได้ประมาณ 1,000 รายต่อปี คาดว่าหลังเปิดศูนย์ฯ จะสามารถรองรับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าข้อสะโพกอย่างมีคุณภาพสูงได้ถึง 4,000 รายต่อปี ซึ่งจะเป็นเรือธงในการสร้างชื่อเสียงตลอดจนรายได้ให้กับ รพ. ธรรมศาสตร์ฯ ได้เป็นอย่างดี

นอกจากนั้น ผู้บริหารของ รพ. ธรรมศาสตร์ฯ ยังมองว่า นี่จะเป็น new s-curve ของโรงพยาบาลที่จะดึงดูดผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องข้อเข่าและสะโพกจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา ลาว และเวียดนาม ให้เดินทางมารับการรักษาที่ศูนย์ฯ มากขึ้น เพราะมีนวัตกรรมที่ทันสมัยและการเดินทางสะดวกเพราะอยู่ใกล้กับสนามบินดอนเมือง

ไม่เพียงในมิติของการสร้างรายได้เท่านั้น แต่ในอีกส่วนหนึ่ง รพ. ธรรมศาสตร์ฯ ยังคงใช้ความเชี่ยวชาญดังกล่าวเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ โดยได้ดำเนินโครงการ “จิตอาสาผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม” สำหรับผู้ป่วยที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงการผ่าตัดเปลี่ยนข้อมาตั้งแต่ปี 2562 เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยที่มีปัญหาข้อเข่าข้อสะโพกได้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม สำหรับปี 2565 สามารถทำผ่าตัดข้อเทียมให้แก่ผู้ยากไร้ครบ 200 ข้อ จากผู้ป่วยจำนวน 150 คน

ซึ่ง นพ. ณัฐพล คาดว่า หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงจะได้เห็นความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรมของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติมากขึ้นกว่าเดิม.

ใส่ความเห็น