วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > รถไฟฟ้าสายสีม่วงเชื่อมเมือง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ธุรกิจก่อสร้างรับอานิสงส์

รถไฟฟ้าสายสีม่วงเชื่อมเมือง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ธุรกิจก่อสร้างรับอานิสงส์

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานถือว่าเป็นอีกหนึ่งพันธกิจสำคัญของรัฐบาลไม่ว่าสมัยใด เพราะนอกจากเหตุผลของการพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนแล้ว อีกนัยหนึ่งที่สำคัญคือ เพื่อเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในทุกระนาบ

เห็นได้จากโครงการรถไฟฟ้าทั้งระบบใต้ดินและทางยกระดับ ที่ภายหลังจากภาครัฐอนุมัติโครงการและเปิดเผยเส้นทาง ผู้ประกอบการรายใหญ่เริ่มจะขยับตัวมองหาทำเลและปักหมุดเตรียมผุดโครงการทั้งอสังหาริมทรัพย์และคอมมูนิตี้มอลล์ในบริเวณใกล้เคียง เมื่อมองเห็นศักยภาพที่จะสร้างผลกำไรได้ในอนาคต

โครงสร้างพื้นฐานเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านคมนาคมขนส่ง มักจะก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง แน่นอนว่า ไม่ใช่เพียงแค่บริษัทที่รับผิดชอบโครงการจากภาครัฐเท่านั้น ทว่า ภาคเอกชนเองก็มีโอกาสที่จะขยายตัวเช่นเดียวกัน

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) มองว่า การเริ่มต้นก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงได้ จะช่วยหนุนให้มูลค่าการก่อสร้างโครงการเมกะโปรเจกต์คมนาคมในปี 2022 ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งคาดว่าในปี 2023 จะมีความคืบหน้าในการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) และการเปิดประมูลสายสีแดง ทั้งแดงเข้มและแดงอ่อนหลายเส้นทาง ซึ่งการเปิดประมูลและการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ ดังกล่าว จะยังคงมีบทบาทสำคัญที่หนุนให้มูลค่าการก่อสร้างเมกะโปรเจกต์คมนาคมขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต

การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงจะสร้างเม็ดเงินสะพัดเข้าสู่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง โดยเฉพาะในช่วงปี 2024-2026 EIC ประเมินว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ธุรกิจก่อสร้างราว 60,306 ล้านบาท หรือคิดเป็น 73% ของมูลค่างานก่อสร้างและวางระบบราง จากอัตราความก้าวหน้าของการก่อสร้างที่เร่งตัวขึ้นจากการพิจารณาความก้าวหน้าของโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าที่ดำเนินการแล้วเสร็จที่ผ่านมา พบว่า อัตราความก้าวหน้าของการก่อสร้างจะเร่งตัวขึ้นในช่วงกลางของโครงการ ยกตัวอย่างเช่น รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางแค บางซื่อ-ท่าพระ) ซึ่งมีระยะเวลาการก่อสร้างราว 8 ปี มีอัตราความก้าวหน้าในปีที่ 3-6 คิดเป็น 65% ของปริมาณงานก่อสร้างโดยรวม รถไฟฟ้าสายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ซึ่งมีระยะเวลาการก่อสร้างราว 5 ปี มีอัตราความก้าวหน้าในปีที่ 3-4 ถึง 80% ของปริมาณงานก่อสร้างโดยรวม

ขณะที่หากพิจารณาความก้าวหน้าของการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าที่กำลังดำเนินการใกล้แล้วเสร็จ อย่างสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) สายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) และสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ก็พบว่าอัตราความก้าวหน้าในช่วงเวลาของโครงการคิดเป็น 47-50% ของปริมาณงานก่อสร้างโดยรวม

สำหรับเม็ดเงินจากการก่อสร้างและระบบรางรถไฟฟ้าสายสีม่วงจะทยอยเข้าสู่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างไปตามกิจกรรมการก่อสร้างที่ดำเนินการแล้วเสร็จ โดยโครงการมีระยะเวลาการก่อสร้างราว 6 ปี จึงคาดว่าจะมีอัตราความก้าวหน้าของการก่อสร้างที่เร่งตัวขึ้นในช่วงกลางของโครงการคือปีที่ 3-5 ของแผนการดำเนินการโครงการหรือในช่วงปี 2024-2026

ในช่วงเริ่มต้นของโครงการหรือในช่วงปี 2022-2023 เม็ดเงินส่วนใหญ่จะกระจายไปยังงานในส่วนสำนักงานการก่อสร้าง รวมถึงงานก่อสร้างในกลุ่มงานออกแบบถาวร และงานรื้อย้ายสาธารณูปโภคเพื่อเปิดพื้นที่สำหรับการก่อสร้างในขั้นตอนต่อไป

นอกจากนี้ การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้จะสร้างเม็ดเงินสะพัดสู่ผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่แล้ว EIC ประเมินว่า เม็ดเงินราว 63,883 ล้านบาท จะกระจายไปยังผู้รับเหมาก่อสร้าง SMEs รวมถึงธุรกิจวัสดุก่อสร้างโดยต้นทุนการก่อสร้างโครงการภาครัฐ จะประกอบด้วยค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าจ้างผู้รับเหมาช่วง ค่าแรงงาน ค่าเครื่องจักร และค่าดำเนินการต่างๆ ซึ่งในการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้นั้น นอกจากจะสร้างเม็ดเงินสะพัดสู่ผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ในฐานะผู้รับเหมาก่อสร้างหลักของโครงการแล้ว ยังมีเม็ดเงินกระจายไปยังผู้รับเหมาก่อสร้าง SMEs จากการจ้างผู้รับเหมาช่วง รวมถึงธุรกิจวัสดุก่อสร้าง ได้แก่ ผู้ผลิต และผู้ค้าวัสดุก่อสร้าง จากการจัดหาวัสดุก่อสร้าง เพื่อดำเนินการก่อสร้างอีกด้วย ซึ่ง EIC คาดว่ามูลค่าเม็ดเงินอยู่ที่ 63,883 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 78% ของมูลค่างานก่อสร้างและวางระบบราง ในจำนวนนี้แบ่งเป็นเม็ดเงินกระจายไปยังผู้รับเหมาก่อสร้าง SMEs ราว 28,619 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 35% ของมูลค่างานก่อสร้างและวางระบบราง และอีกราว 35,264 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 43% ของมูลค่างานก่อสร้างและวางระบบรางจะกระจายไปยังผู้ผลิตและผู้ค้าวัสดุก่อสร้าง

ด้านผู้ผลิตและผู้ค้าวัสดุก่อสร้างได้รับอานิสงส์จากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้จากการที่รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้เป็นโครงการเมกะโปรเจกต์ด้านคมนาคมที่มีมูลค่าการก่อสร้างสูง ส่งผลให้จะมีความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างระหว่างดำเนินการก่อสร้างปริมาณมากตามไปด้วย

EIC มองว่า ความต้องการใช้วัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัสดุก่อสร้างหลักอย่างปูนซีเมนต์ เหล็ก และวัสดุอื่นๆ รวมถึงบริการเครื่องจักรก่อสร้างจะมีปริมาณมากในช่วงปี 2024-2026 ไปตามการเร่งตัวของความก้าวหน้าในงานก่อสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ในงานก่อสร้างอุโมงค์โครงสร้างยกระดับและสถานี อีกทั้งเริ่มมีงานวางระบบรางบางส่วน

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ภาคธุรกิจเข้าสู่ภาวะชะงักงันเป็นจำนวนมาก หลายธุรกิจจำเป็นต้องจำหน่ายแรงงานที่ไม่มีความจำเป็นออกเพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย เมื่อรายรับลดลงในช่วงที่เศรษฐกิจต้องหยุดชะงักจากมาตรการหลายด้านของภาครัฐ หากความก้าวหน้าของโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐดำเนินไปด้วยอัตราเร่งที่เหมาะสม น่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง

ซึ่งสอดคล้องกับบทวิเคราะห์ของวิจัยกรุงศรีก่อนหน้า ที่มองว่า ในปี 2565-2567 รายได้ของกลุ่มผู้รับเหมาที่เน้นโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามการลงทุนก่อสร้างภาครัฐที่ยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก ขณะที่รายได้ของกลุ่มที่เน้นโครงการภาคเอกชนยังซบเซาในปี 2565 ก่อนจะทยอยปรับตัวดีขึ้นในปี 2566-2567

ผู้รับเหมางานก่อสร้างโครงการวิศวกรรมโยธาขนาดใหญ่คาดว่า รายได้จะฟื้นตัวตามการเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ โดยรายใหญ่และรายกลางรายได้จะขยายตัวต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความพร้อมในการประมูลรับงาน และมีศักยภาพในการบริหารงานก่อสร้างขนาดใหญ่ ทั้งโครงการลงทุนต่อเนื่องของภาครัฐ อาทิ รถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ มอเตอร์เวย์ และโครงข่ายคมนาคมขนาดใหญ่ (Megaprojects) ที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ EEC รวมทั้งโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานอื่นๆ ที่ยังมีแนวโน้มขยายตัว

ขณะที่ผู้รับเหมาก่อสร้างภาคเอกชนในกลุ่มที่อยู่อาศัยอาคารทั่วไป กลุ่มอาคารสูง และอาคารขนาดใหญ่ รายได้มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวในปี 2566-2567 โดยรายได้อาจยังทรงตัวในปี 2565 จากการแบกรับภาระต้นทุนน้ำมันแพงและวัสดุก่อสร้างมีราคาสูง โดยคาดว่ารายได้ของกลุ่มรายใหญ่และรายกลางจะฟื้นตัวได้ก่อน โดยเฉพาะกลุ่มที่เน้นรับงานโครงการ Mixed-use น่าจะมี Backlog เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ผู้รับเหมารายใหญ่มีโอกาสรับงานก่อสร้างภาคเอกชนในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะโครงการที่อยู่อาศัย อาคารพาณิชยกรรม และโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งจะขยายการลงทุนเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัว สำหรับรายได้ของกลุ่มรายเล็กมีทิศทางชะลอตัว เนื่องจากงานก่อสร้างโครงการขนาดเล็กมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า ประกอบกับข้อจำกัดด้านการบริหารจัดการต้นทุน และการขาดแคลนแรงงาน อาจส่งผลให้ผู้รับเหมากลุ่มนี้ยังมีความเสี่ยงด้านผลประกอบการและปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน

แม้ว่าภาพรวมสถานการณ์ของธุรกิจก่อสร้างจะดูสดใสขึ้นมาบ้าง ทว่า ยังมีความท้าทายที่รอคอยอยู่ข้างหน้า นั่นคือ ปัญหาเรื่องต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมไปถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงาน อัตราค่าแรง นอกจากนี้ ยังต้องจับตาดูสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเตรียมตั้งรับความเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต.

ใส่ความเห็น