วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Home > Cover Story > รถยนต์พลังงานไฟฟ้า จุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมยานยนต์

รถยนต์พลังงานไฟฟ้า จุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมยานยนต์

ความเป็นไปของงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 39 ซึ่งปิดฉากลงไปแล้ว อาจเป็นดัชนีชี้วัดประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยในห้วงเวลาปัจจุบันได้พอสมควร หากแต่ในภาพที่กว้างออกไป ภายใต้แนวคิด “ปฏิวัติทุกการเคลื่อนไหว” ดูเหมือนว่าอุตสาหกรรมยานยนต์กำลังเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนผ่านที่น่าสนใจไม่น้อยเลย

เพราะนอกจากค่ายรถยนต์แต่ละรายจะนำเสนอยนตรกรรมรุ่นใหม่ๆ ที่ประกอบส่วนด้วยนวัตกรรมและการออกแบบที่ล้ำหน้าไปในแต่ละปีแล้ว ประเด็นที่หลายฝ่ายจับตามองก็คือการมาถึงของรถยนต์พลังงานกึ่งไฟฟ้า และพลังงานไฟฟ้า ที่อาจเป็นจุดเปลี่ยนผ่านทั้งในมิติของการเป็นผู้นำตลาด และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตในระบบอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคตอีกด้วย

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ความพยายามว่าด้วยการส่งเสริมการผลิตและใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ได้รับการกล่าวถึงอยู่เป็นระยะ หากแต่ดูเหมือนว่ารูปธรรมที่ชัดเจนทั้งในมิติของนโยบายหรือมาตรการเพื่อสร้างแรงจูงใจทั้งต่อผู้บริโภคและผู้ผลิตกลับยังโดดเด่นให้จับต้องได้มากนัก กระทั่งพัฒนาการล่าสุดที่เกิดขึ้นเริ่มปรากฏภาพที่แจ่มชัดขึ้น เมื่อผู้ประกอบการหลายรายต่างทยอยเปิดตัวเทคโนโลยีและรุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าและกึ่งไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องในห้วงเวลาปัจจุบัน

การปรับตัวของผู้ประกอบการยานยนต์เข้าสู่รถยนต์ไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ในด้านหนึ่งสอดรับกับนโยบายของรัฐไทยที่พยายามผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งดำเนินควบคู่ไปกับแผนพัฒนาในโครงการพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ด้วยหวังว่านโยบายดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้ไหลบ่าเข้ามาช่วยดูดซับภาวะเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

แรงส่งจากนโยบายดังกล่าวดูจะได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการพอสมควร เมื่อไมเคิล เกรเว่ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า นโยบายว่าด้วยรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลไทย ทั้งในส่วนของการสนับสนุนการผลิตและการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้บริโภค จัดได้ว่าดีที่สุดในภูมิภาคอาเซียนในห้วงเวลาปัจจุบัน และทำให้เมอร์เซเดส-เบนซ์ตัดสินใจเดินหน้าผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งตรงกับแนวทางของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ทั่วโลกที่วางแผนในการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยียานยนต์ยุคใหม่

ก่อนหน้านี้ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ได้ดำเนินการรุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริด หรือ PHEV ในหลากหลายรุ่น และได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นที่พึงพอใจ ซึ่งส่งผลให้เมอร์เซเดส-เบนซ์ กำลังดำเนินการปรับปรุงแผนการผลิตของโรงงานใหม่ทั้งหมด เพื่อให้สอดรับกับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ชนิดปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้าล้วนแบบอีวี (EV) โดยจะยังคงฐานการผลิตที่โรงงานธนบุรีประกอบรถยนต์ จ.สมุทรปราการ ซึ่งมีกำลังการผลิตรองรับถึง 40,000 คันต่อปีด้วย

ขณะที่ในอีกฝั่งฟากของผู้ประกอบการจากค่ายยานยนต์จากเยอรมนีในนาม บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ได้แสดงความตื่นตัวและรุกเปิดส่วนขยายสายการประกอบรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) ล่วงหน้าไปก่อนนับปีแล้ว ด้วยการเปิดสายการประกอบแบตเตอรี่ ซึ่งถือป็นชิ้นส่วนสำคัญสำหรับรถยนต์ไฮบริดและรถไฟฟ้า ในช่วงปลายปี 2559 และคาดว่าจะเริ่มสายพานการผลิตแบตเตอรี่นี้ได้ในช่วงกลางปี 2561 นี้

ส่วนความเคลื่อนไหวของค่ายยานยนต์ญี่ปุ่นอย่างโตโยต้า ซึ่งนับเป็นผู้ประกอบการรายแรกๆ ที่รุกทำตลาดรถยนต์กึ่งไฟฟ้า หรือไฮบริด กำลังเดินหน้าแผนประกอบรถยนต์ไฮบริดมูลค่า 20,000 ล้านบาท ซึ่งผ่านการอนุมัติเรียบร้อย พร้อมดำเนินการได้ทันที โดยมี ซี-เอชอาร์ เป็นรุ่นแรกในการทำตลาด และจะส่งมอบให้ลูกค้าได้ในเดือนมีนาคมนี้ และในส่วนของโรงงานผลิตแบตเตอรี่ก็พร้อมรองรับการผลิตในปี 2562

“โตโยต้าประเมินว่ารถยนต์ไฟฟ้า คืออนาคตที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากปัจจุบันยังมีข้อจำกัดมาก ทั้งขนาดของแบตเตอรี่ที่ยังไม่เพียงพอต่อการเดินทาง สถานีชาร์จน้อย และต้นทุนสูง แต่อย่างไรก็ตาม ค่ายรถเยอรมันรุกทำตลาดรถแบบปลั๊กอินไฮบริด หรือ PHEV เป็นสิ่งที่ดี หากผู้บริโภคตอบรับดีโตโยต้าก็มีรถ PHEV พร้อมทำตลาดเช่นกัน” มิจิโนบุ ซึงาตะ เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น และกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ระบุ

ประเด็นปัญหาสำคัญในการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลไทยอยู่ที่การสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต รวมถึงการสร้างแรงจูงใจให้เกิดความต้องการขึ้นก่อน ซึ่งอาจดำเนินผ่านมาตรการทางภาษี เพราะหากปรับลดภาษีให้กับรถยนต์กลุ่มนี้ให้ต่ำลง ความนิยมในรถยนต์ไฟฟ้าก็น่าจะมีแนวโน้มเติบโตไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดโลก

นอกเหนือจากการส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าอย่างรอบด้านและครอบคลุม เพื่อกระตุ้นการลงทุนของผู้ประกอบการแล้ว นโยบายด้านพลังงานของชาติ ก็ดูจะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่มีผลต่อการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยก่อนหน้านี้รัฐไทยมุ่งส่งเสริมให้มีการใช้ก๊าซธรรมชาติมากขึ้นในภาคขนส่ง และส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์และไบโอดีเซลในภาคครัวเรือนส่งเสริมการผลิต การใช้ ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก

มาตรการที่เป็นรูปธรรมด้านพลังงานของรัฐไทย ดูจะเป็นประเด็นที่สร้างความคลุมเครือมากที่สุดประการหนึ่ง และทำให้ช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยต่างร้องหาความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอยู่ไม่น้อย ทั้งในประเด็นว่าด้วยทิศทางและความต่อเนื่องของมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ E85 ไบโอดีเซล NGV ที่ปรากฏขึ้นในอดีตและรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังจะเพิ่มเติมเข้ามาในอนาคตอันใกล้

ขณะเดียวกันพัฒนาการของรถยนต์ไฟฟ้าในระดับสากล ยังดำเนินไปท่ามกลางข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ประกอบการยานยนต์ต่างไม่ต้องการเร่งเร้ากระบวนการเปลี่ยนผ่านนี้ให้รวดเร็วเกินไปนัก โดย Takeshi Uchiyamada ประธานแห่งโตโยต้า ถึงกับระบุว่า หากรถยนต์ไฟฟ้ามาเร็วเกินไป ผู้ผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่จะประสบปัญหากันทั่วหน้า ไม่เว้นแม้แต่แบรนด์ยักษ์ใหญ่อย่างโตโยต้าก็ตาม

ฐานความคิดแห่งข้อสรุปดังกล่าวตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงที่ว่าการผลิตแบตเตอรี่ในรถยนต์กึ่งไฟฟ้า หรือไฮบริดมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นกว่าแบตเตอรี่รถยนต์ธรรมดาทั่วไปถึง 3 เท่าในปัจจุบัน ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าแบบ Fully Electric Vehicle จะมีต้นทุนแบตเตอรี่เพิ่มขึ้นอีก 5 เท่าเมื่อเทียบกับการผลิตแบตเตอรี่ในรถยนต์ไฮบริด นั่นหมายความว่ารถยนต์ไฟฟ้าแบบ EV จะมีต้นทุนแบตเตอรี่เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับรถยนต์ธรรมดาทั่วไปในขณะนี้

กรณีว่าด้วยต้นทุนแบตเตอรี่อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เชื่อว่าอนาคตของรถยนต์ไฟฟ้าไม่น่าจะเกิดขึ้นได้เร็วนัก หากแต่ข้อสังเกตที่หนักหน่วงกว่านั้นอยู่ที่การผ่อนปรนหรือปรับเปลี่ยนข้อกฎหมายของแต่ละประเทศ ซึ่งรวมถึงมาตรการทางภาษี และปัญหารายละเอียดที่จะติดตามมาไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาในการชาร์จแบตเตอรี่ อายุขัยของแบตเตอรี่ และการกำจัดซากแบตเตอรี่ที่ดูจะเป็นปัญหาในระยะยาวอีกด้วย

บางทีจุดเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมยานยนต์ ไปสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญก็คือการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องในกระบวนการผลิตยานยนต์ ที่ต้องปรับตัวขึ้นมารองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นติดตามมาและเข้าแทนที่ในอนาคต

ใส่ความเห็น