วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Home > Cover Story > ยุทธศาสตร์ NEDA มุ่งพัฒนาอย่างยั่งยืน

ยุทธศาสตร์ NEDA มุ่งพัฒนาอย่างยั่งยืน

หากประเมินการเติบโตขององค์กรเปรียบเป็นประหนึ่งชีวิตของมนุษย์ ความเป็นไปของสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) สพพ. หรือ Neighbouring Countries Economic Development Cooperation Agency : NEDA (Public Organization) ซึ่งผ่าน 13 ขวบปีจากจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งในปี 2548 มาสู่ปัจจุบัน

ต้องถือว่าองค์กรแห่งนี้กำลังมุ่งหน้าสู่ความท้าทายใหม่ๆ ไม่ต่างจากการเปลี่ยนผ่านจากเด็กน้อยวัยเรียนรู้มาสู่การเป็นเยาวชนวัยทีน ที่กำลังต้องกำหนดอัตลักษณ์และรูปการณ์จิตสำนึกครั้งสำคัญในการก้าวเดินไปสู่อนาคตข้างหน้า

ขณะที่การก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน ของ พีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์ เมื่อเดือนเมษายน 2561 ที่ผ่านมาก็ถือเป็นข้อต่อสำคัญที่จะขับเคลื่อนองค์กรแห่งนี้ไปสู่เป้าหมายแห่งวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืนกับประเทศเพื่อนบ้าน

ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ในระยะ 4 ปี ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ปี 2561-2564 ที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (2560-2564) ดูเหมือนว่า NEDA ไม่ได้ประเมินบทบาทขององค์กรไว้เพียงเป้าหมายระยะสั้น แต่กำลังมุ่งหน้าไปสู่การเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการขับเคลื่อนนโยบายด้านการต่างประเทศของรัฐบาลในการร่วมพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดอีกด้วย

กรอบยุทธศาสตร์ 4 ปี (2561-2564) ของ NEDA นอกจากจะประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 4 ด้าน ทั้งการพัฒนาความร่วมมือทางการเงินและวิชาการกับประเทศเพื่อนบ้านให้มีคุณภาพมาตรฐานสากล การบูรณาการกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดในการร่วมพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน การบริหารจัดการทรัพยากรทางการเงิน เพื่อความยั่งยืนในการดำเนินงาน และการพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่อง และเสริมสร้างสมรรถนะในการปฏิบัติงานแล้ว

สิ่งที่พีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์ ในฐานะผู้อำนวยการ NEDA ประสงค์จะผลักดันก็คือการวางยุทธศาสตร์ขององค์กรและการผลิตสร้างโครงการความช่วยเหลือร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในระยะยาวเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของรัฐไทยที่มุ่งส่งเสริมให้เศรษฐกิจของไทยและประเทศเพื่อนบ้านมีความมั่นคงและยั่งยืน ด้วยการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ผ่านการสร้างความเชื่อมโยงเครือข่ายการคมนาคมและขนส่ง โดยเฉพาะจากชายแดนไทยและเขตเศรษฐกิจพิเศษที่สำคัญของไทยสู่ประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มศักยภาพทางด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวภายในภูมิภาค

ตลอดระยะเวลา 13 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่การก่อตั้ง NEDA ในปี 2548 องค์กรแห่งนี้ได้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินและความช่วยเหลือทางวิชาการไปแล้ว จำนวน 74 โครงการ วงเงินรวม 15,732 ล้านบาท ซึ่งนอกจากจะประกอบด้วยโครงการก่อสร้าง ถนน สนามบิน รถไฟ เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางและการขนส่งในภูมิภาคเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุน การค้าชายแดน และการท่องเที่ยวให้มีการขยายตัวแล้ว NEDA ยังสนับสนุนโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน ทั้งไฟฟ้าและประปา รวมถึงการพัฒนาชุมชนเมือง เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพการดำรงชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย

แม้ว่ากิจกรรมของ NEDA ในระหว่างปี 2562-2564 จะยังมีแผนในการให้ความช่วยเหลือกับประเทศเพื่อนบ้านหลากหลาย แต่ดูเหมือนว่างานด้านการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรทางการเงิน เพื่อความยั่งยืนในการดำเนินงานของ NEDA ก็มีความสำคัญไม่น้อย ซึ่งพีรเมศร์พยายามที่จะวางแนวทางในการดำเนินงานทางด้านการเงิน โดยเน้นที่มีความมั่นคง โปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยเป็นภาระต่องบประมาณน้อยที่สุด

ตามแผนของ NEDA ในปี 2562 จะมีการปรับโครงสร้างหนี้ระยะสั้นด้วยการออกตราสารหนี้ระยะยาว ส่วนปี 2563-2564 จะระดมทุนศึกษาความเหมาะสมปีละจำนวน 1 โครงการ ขณะที่ในอนาคต NEDA อาจจะแสวงหาแหล่งเงินทุนใหม่ๆ เช่น การกู้ต่อจากกระทรวงการคลัง หรือแหล่งเงินทุนอื่น ซึ่งแผนของ NEDA ในส่วนนี้เป็นไปเพื่อที่จะทำให้ NEDA ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตเรตติ้งในระดับ AAA จากบริษัท ทริส เรทติ้ง จำกัด ที่สะท้อนความมั่นคงทางการเงินมากขึ้น หลังจากที่ผ่านมาในบางโครงการ สพพ. จะใช้เงินสะสมที่เกิดจากรายรับดอกเบี้ยมาเป็นแหล่งเงินทุน รวมถึงใช้การกู้เงินระยะสั้นจากสถาบันการเงินภายในประเทศมาสนับสนุนในบางโครงการ

ประสบการณ์ของพีรเมศร์ ทั้งในฐานะผู้อำนวยการส่วนนโยบายการเงินเพื่อการพัฒนา (2545-2548) และผู้อำนวยการส่วนความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน (2550-2552) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และในฐานะที่ปรึกษาผู้อำนวยการบริหาร ธนาคารโลก : World Bank (2548-2550) และการเป็นรองผู้อำนวยการ NEDA มาตั้งแต่ปี 2552 ก่อนจะขยับขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการ ทำให้เขามีทั้งความเข้าใจและทักษะนโยบายทางการเงินและมิติของการพัฒนา ซึ่งนั่นอาจเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการขับเคลื่อน NEDA ในห้วงเวลานับจากนี้

ใส่ความเห็น