วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > New&Trend > ยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนเคหะ ด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

ยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนเคหะ ด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

จากสินค้าชุมชนรูปแบบเดิมที่อาจเห็นอย่างมากมายในตลาด สู่การยกระดับมาตรฐาน ปรับเปลี่ยนรูปแบบและพัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีดีไซน์ที่ทันสมัย สวยงาม ถูกใจแต่ยังคงไว้ซึ่งความปราณีตอันเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนไม่ทิ้งรากฐานเดิม ปรับรูปแบบใหม่ให้ตรงใจผู้ซื้อ โดยผ่านการสนับสนุนจากภัทรพัฒน์ มูลนิธิชัยพัฒนา ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ชุมชนสามารถยืนได้ด้วยตนเอง

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ได้สร้างผลกระทบต่อสุขภาพและระบบเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง หลายธุรกิจได้รับผลกระทบจนต้องปิดตัวลง ผู้คนจำนวนไม่น้อยขาดรายได้ในการยังชีพ ซึ่งชาวชุมชนเคหะเองก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง การเคหะแห่งชาติจึงได้หาแนวทางในการพัฒนาเคหะชุมชนโดยยึดแนวคิด “ชุมชนต้องสามารถยืนได้ด้วยตนเอง”

ทั้งนี้การส่งเสริมอบรมฝึกอาชีพให้กับผู้อยู่อาศัยในชุมชนถือเป็นกิจกรรมหนึ่งที่การเคหะแห่งชาติได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ชาวชุมชนมีรายได้ที่มั่นคง สามารถยังชีพและเลี้ยงครอบครัวได้ ซึ่งหลายชุมชนของการเคหะแห่งชาติมีการรวมกลุ่มกันสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีคุณภาพ ฝีมือปราณีต แต่รูปแบบของผลิตภัณฑ์อาจยังไม่เป็นที่ถูกตาต้องใจของผูบริโภคในวงกว้างอีกทั้งช่องทางในการจำหน่ายยังมีอยู่อย่างจำกัด

“ณัฐพงศ์ พันธเกียรติไพศาล” ประธานกรรมการการเคหะแห่งชาติ และ “ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ์” ผู้ว่าการ การเคหะแห่งชาติและฝ่ายบริหาร จึงร่วมกันผลักดันแนวคิดยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนของการเคหะสู่กลุ่มตลาดพรีเมี่ยม สร้างมูลค่าและคุณค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชน สร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก เพื่อสร้างรายได้หมุนเวียนในชุมชนอย่างยั่งยืน

การได้เข้าพบคุณภากมล รัตตเสรี กรรมการและรองเหรัญญิก มูลนิธิชัยพัฒนา ได้นำไปสู่โครงการความร่วมมือระหว่างการเคหะแห่งชาติและภัทรพัฒน์ มูลนิธิชัยพัฒนาในการยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน ทั้งในมิติเกษตรชุมชนยั่งยืน และมิติของการยกระดับสินค้าชุมชน เพื่อฟื้นฟูและเยียวยาชาวชุมชนจากวิกฤตโควิด-19 และพัฒนาให้ชาวชุมชนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาปฏิบัติ เป็นหนึ่งในทางออกเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของประเทศ

โดยแนวคิดนี้ คุณณัฐพงศ์ ได้กล่าวว่า “การเคหะมีชุมชนที่ดูแลอยู่จำนวนมาก หลายแห่งมีการพัฒนาสินค้าชุมชน เป็นเศรษฐกิจระดับชุมชนหากยกระดับไปอีกขั้นและเชื่อมเข้ากับเศรษฐกิจในภาพใหญ่ โดยคงเอกลักษณ์ดั้งเดิมไว้ แต่ต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการออกแบบ จะทำให้รายได้ของชุมชนเพิ่ม สินค้าเป็นที่ต้องการ ชาวชุมชนจะพออยู่ พอกิน และปรับตัวได้กับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ตาม สภาวะทางศรษฐกิจ การเตรียมเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างมีคุณค่า มีรายได้เมื่อพ้นวัยแรงงาน ทำงานที่บ้าน โครงการนำร่อง 2 แห่งนี้เป็นการเรียนรู้ร่วมกันทุกฝ่าย ให้ชาวชุมชนเห็นศักยภาพของตนเอง ว่ายังไปได้ไกลกว่าที่เคยเป็นมา จับต้องผลสำเร็จได้จริง แนวทางของมูลนิธิชัยพัฒนาคือคำตอบ”

ในมิติของเกษตรชุมชนยั่งยืน (เกษตรบนดิน/อาคาร) จะได้มีการแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์พระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้กับชุมชนนำร่อง 10 โครงการ พร้อมทั้งมีการอบรมและให้ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์กับชาวชุมชน โดยยึดหลัก “กิน ขาย เหลือ แจก” ปลูกเอง กินเอง ถ้าเหลือก็สามารถนำไปขายสร้างรายได้หรือแจกจ่ายกันต่อไป เป็นวิถีพอเพียงอย่างแท้จริง

ส่วนในมิติของการยกระดับสินค้าชุมชนยั่งยืนนั้น มีการพัฒนามาตรฐานและต่อยอดผลิตภัณฑ์ในโครงการนำร่อง โดยมูลนิธิชัยพัฒนาและการเคหะแห่งชาติได้ลงพื้นที่ชุมชน 2 แห่ง คือ กลุ่มวิสาหกิจพัฒนาอาชีพสตรีเอื้ออาทรวัดกู้ 2 และ โครงการเอื้ออาทรบึงกุ่ม เพื่อให้ความรู้ด้านผลิตภัณฑ์ ซึ่งเราคงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าในบางครั้งรูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์ชุมชนแบบเดิมนั้นไม่สามารถดึงดูดความสนใจของผู้ซื้อได้ อาจจะด้วยรูปทรงที่ไม่ทันสมัย หรือเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำไปใช้สอยได้ยาก

แต่กล่องใส่ของรูปทรงร่วมสมัย เบาะรองนั่งที่ตัดเย็บอย่างปราณีตด้วยผ้าคุณภาพดีลวดลายสวยงาม และผลิตภัณฑ์ที่มีดีไซน์เก๋ไก๋หลากหลายแบบที่ดึงดูดสายตา ชนิดที่ว่าสามารถวางขายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำได้อย่างไม่อายใคร หรือจะซื้อหาไปใช้สอย ประดับตกแต่งบ้านก็เข้าที คืออีกหนึ่งผลงานของชาวชุมชนเคหะวัดกู้ 2 และบึงกุ่ม ที่ผ่านการถ่ายทอดความรู้และคำแนะนำจากทั้งการเคหะแห่งชาติและจากภัทรพัฒน์ มูลนิธิชัยพัฒนา ได้นำพาวิทยากรผู้เชี่ยวชาญที่ช่วยอบรมด้านการดีไซน์ตัวผลิตภัณฑ์ อย่างอาจารย์อารยา ศานติสรร อดีตอาจารย์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาเป็นวิทยากร ให้แก่ชาวชุมชนวัดกู้ 2 โดยได้เข้ามาช่วยแนะนำเรื่องการออกแบบและดูเอกลักษณ์ของชาวชุมชนแต่ละคน เพื่อให้งานมีเรื่องราวและน่าสนใจเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์สู่สากล และที่สำคัญยังได้รับความอนุเคราะห์จาก Jim Thompson ที่ได้มอบผ้าคุณภาพสูงให้กับชาวชุมชนโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อให้ทางชุมชนนำไปพัฒนาต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ต่อไป

จากผลิตภัณฑ์ชุมชนแบบเดิม ผ่านการออกแบบ ดัดแปลง ปรับรูปแบบและลวดลาย ด้วยองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญอย่างนักออกแบบผลิตภัณฑ์มืออาชีพ ผสานความปราณีตอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวชุมชนเคหะ กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างทั้งมูลค่าและคุณค่าเพิ่มให้กับทั้งตัวผลิตภัณฑ์เอง และสร้างความภาคภูมิใจให้กับชาวชุมชนเคหะอีกด้วย แน่นอนว่าการปรับเปลี่ยนจากสิ่งเดิมที่เคยทำมานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย การเปิดใจของชาวชุมชนในการรับความรู้ใหม่ๆ ปรับเปลี่ยนวิถีเดิมๆ ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญ และเมื่อใดก็ตามที่ชาวชุมชนพร้อมที่จะปรับตัว การยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ก็จะเริ่มเห็นผล

คุณภากมล กรรมการและรองเหรัญญิก มูลนิธิชัยพัฒนา ได้ให้หลักการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนไว้ว่า “ชุมชนต้องมีความพร้อมที่จะลงมือทำ รวมทั้งเปิดใจยอมรับการเปลี่ยนแปลง เพราะจะต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความแตกต่างและทันสมัย หรือเลือกใช้วัสดุที่หลากหลายมากขึ้น อีกทั้งต้องรักษามาตรฐานของผลิตภัณฑ์ให้คงคุณภาพ เพื่อให้เป็นที่ต้องการของตลาด ตลอดจนมีความตรงต่อเวลาในการผลิตสินค้าและจัดส่งสินค้าออกไปจำหน่าย สิ่งสำคัญคือ ต้องสร้างสินค้าให้มีความภาคภูมิใจ อย่าทำให้คนซื้อเพราะความสงสาร คนที่ซื้อสินค้าต้องมีความอยากได้สินค้านั้นจริงๆ จึงจะเกิดความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์”

ภัทรพัฒน์ มูลนิธิชัยพัฒนาไม่เพียงแค่เข้าไปช่วยพัฒนาสินค้าให้ชุมชนเท่านั้น แต่ยังให้ความรู้ด้านการตลาดรวมทั้งหาช่องทางในการจำหน่ายให้กับชุมชนอีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นการยื่นมือช่วยตั้งแต่ต้นจนจบ และที่สำคัญมูลนิธิชัยพัฒนายังได้สั่งซื้อผลิตภัณฑ์ของชุมชนเพื่อนำไปจำหน่ายในร้านภัทรพัฒน์และจะนำไปจำหน่ายในงานเทศกาลของขวัญ “The Royal Gift Festival” ครั้งที่ 2 ที่จัดโดยกลุ่มเซ็นทรัล ณ ห้างสรรพสินค้า Central World ในช่วงต้นเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้อีกด้วย

นับเป็นก้าวสำคัญของผลิตภัณฑ์ชุมชนที่จะสามารถสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก สร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิม และยังสร้างความภาคภูมิใจให้กับชาวชุมชน ซึ่งนางรัชนิดาพร ไชยปณิธาน ประธานกลุ่มวิสาหกิจพัฒนาอาชีพสตรีเอื้ออาทรวัดกู้ 2 ได้กล่าวไว้ว่า

“วันนี้ดีใจที่ได้ก้าวขึ้นไปอีกก้าวหนึ่ง จากการเริ่มต้นของสมาชิกเพียงไม่กี่คน อยากให้คนในชุมชนมาเรียนรู้ร่วมกันต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชนกับกลุ่มวิสาหกิจพัฒนาอาชีพสตรีเอื้ออาทรวัดกู้ 2 เพราะสามารถนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ เป็นการสร้างรายได้เพิ่มอีกทางหนึ่งด้วย”

จากก้าวแรกของการริเริ่มโครงการเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 ผ่านมาเพียง 5 เดือนกว่า ผลลัพธ์ที่ได้ในโครงการนำร่องทั้งสองแห่งนี้จึงจับต้องได้ วิกฤตโควิด-19 กระตุ้นทุกฝ่ายให้ร่วมมือกัน มองไกลกว่าเดิม เปลี่ยนแปลงรวดเร็วยิ่งขึ้น หากได้มีการขยายโครงการลักษณะนี้ไปยังทุกชุมชน มีความต่อเนื่อง จะแก้ปัญหาระยะยาวเรื่องเศรษฐกิจฐานรากได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนให้เกิดความยั่งยืนของการจัดทำผลิตภัณฑ์ชุมชนจะเกิดขึ้นได้ ถ้าชาวชุมชนมีความสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เปิดใจยอมรับการเปลี่ยนแปลง และพร้อมที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานสากล สร้างมูลค่าเพิ่ม รวมถึงการได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะมูลนิธิชัยพัฒนาที่ให้คำแนะนำและข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์จากประสบการณ์ตรง และทำงานร่วมกับชาวชุมชนอย่างจริงจัง
จึงเป็น “ชัยชนะแห่งการพัฒนา” อย่างแท้จริง

ใส่ความเห็น