วันอังคาร, มีนาคม 19, 2024
Home > Cover Story > ฟู้ดดีลิเวอรี่ขยายตัว กับการบริโภคของสังคมไทย

ฟู้ดดีลิเวอรี่ขยายตัว กับการบริโภคของสังคมไทย

ไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วของคนรุ่นใหม่ในยุคไทยแลนด์ 4.0 ที่เทคโนโลยีคือสิ่งสำคัญในชีวิต ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ ทั้งการท่องไปในโลกอินเทอร์เน็ตเพื่อค้นหาข้อมูล ข่าวสารต่างๆ และสาระบันเทิง

ธุรกิจจัดส่งอาหารหรือ ฟู้ดดีลิเวอรี่ คือคำตอบที่ชัดเจนของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

รูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปของผู้คน ที่ต้องการความสะดวกสบาย มีวิถีชีวิตที่เร่งรีบ และมีข้อจำกัดในเรื่องของเวลา จึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดหากธุรกิจฟู้ดดีลิเวอรี่จะขยายตัวในอัตราเร่งที่สูงมากเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น หรือเมื่อเทียบกับธุรกิจร้านอาหารที่มีการเติบโตเพียงเล็กน้อยในปีที่ผ่านมา แม้บางคนจะจำกัดความว่า นี่เป็นธุรกิจที่เติบโตขึ้นได้จากความไม่มีเวลาของผู้บริโภคบางส่วนก็ตาม

ปัจจุบันฟู้ดดีลิเวอรี่กลายเป็นอีกหนึ่งออปชันของการบริการ ที่ผู้ประกอบการร้านอาหารหยิบยกมานำเสนอแก่ลูกค้า และเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวก หรือไม่สามารถเดินทางไปซื้อสินค้าได้ด้วยตัวเอง

การเปลี่ยนแปลงในทั้งสองมิติทำให้มูลค่าตลาดธุรกิจฟู้ดดีลิเวอรี่ในประเทศไทยมีมูลค่าสูงถึง 26,000 ล้านบาท ในปี 2560 ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขที่เติบโตขึ้นมาเกือบ 15 เปอร์เซ็นต์จากปี 2559

มูลค่าตลาดที่สูงเกือบสามหมื่นล้านบาทในปี 2560 จึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด หากจะมีผู้เล่นตบเท้าเข้ามาในเกมนี้พร้อมกับรูปแบบกลยุทธ์ที่ทำให้การแข่งขันดุเดือดมากขึ้น

ไล่เรียงตั้งแต่ฟู้ดแพนด้า ที่เข้ามาเปิดตลาดนี้ตั้งแต่ปี 2557 นับเป็นรายแรกๆ ที่เข้ามาสร้างสีสันให้ธุรกิจฟู้ดดีลิเวอรี่ในไทย และครอบคลุมการให้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมไปถึงจังหวัดใหญ่ๆ อย่าง เชียงใหม่ ภูเก็ต

และฟู้ดแพนด้าก็ไม่ใช่ทุนต่างชาติรายเดียวที่เข้ามาจับจองพื้นที่ของตลาดการบริการนี้ในไทย ในเวลาไล่เลี่ยกัน ลาล่ามูฟ บริษัทสัญชาติฮ่องกง ที่เปิดตัวมาเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกในตลาดฟู้ดดีลิเวอรี่ สร้างปรากฏการณ์ที่เรียกว่าไม่ธรรมดา ด้วยการเติบโตในเปอร์เซ็นต์ที่สูงถึง 350 เปอร์เซ็นต์ในปี 2560 และประกาศตัวในฐานะผู้นำในตลาดนี้ เพราะกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของธุรกิจร้านอาหารเลือกใช้บริการจากลาล่ามูฟ

นัยการเติบโตของลาล่ามูฟ นอกเหนือไปจากการมีจำนวนรถจักรยานยนต์ให้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นคัน และการสร้างความแตกต่างที่กลายเป็นจุดเด่นของตัวเองคือ ความพยายามขนส่งสินค้าให้ถึงปลายทางโดยเร็วที่สุด

นอกจากนี้ การที่ลาล่ามูฟจับมือกับ Line Man น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ลาล่ามูฟครองตลาดนี้เป็นส่วนใหญ่

ขณะที่ Grab และ Uber เอง ที่ช่วงแรกเข้ามาไทยในฐานะของผู้ให้บริการการขนส่ง ซึ่งกลายเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ที่เบื่อหน่ายการให้บริการที่ค่อนข้างจะไร้ประสิทธิภาพและบริการที่ดีจากแท็กซี่ไทยบางส่วน และท้ายที่สุดสองค่ายนี้ถูกเล่นแง่ทางกฎหมายการขนส่ง ก็หันมาลงเล่นในตลาดฟู้ดดีลิเวอรี่ด้วย ภายใต้ชื่อ GrabFood และ UberEATS

แน่นอนว่าความคึกคักของตลาดฟู้ดดีลิเวอรี่ ไม่ได้ปิดกั้นแต่เพียงเฉพาะกลุ่มทุนจากต่างชาติเท่านั้น เมื่อกลุ่ม Startup ของไทยเองก็มองเห็นโอกาสในการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดนี้ และโดดลงเล่นเกมนี้ในจังหวะที่เหมาะ

ที่น่าสนใจคือ Startup ของไทยได้รับการสนับสนุนจากค่ายมือถือ 3 ราย ทั้ง AIS ที่อยู่เบื้องหลัง Send Ranger ที่ชื่อเดิมคือ Rush Bike ส่วน Dtac สนับสนุน Skootar และค่ายทรูสนับสนุน Sendit

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายบริษัทที่สร้างความแตกต่างด้วยการเลือกบริการเฉพาะร้านอาหารเชนชื่อดัง อย่าง Ginja (กินจ๊ะ) Zabdelivery และ Dr.Food Delivery

นอกเหนือไปจากไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปทำให้เกิดการขยายตัวของธุรกิจฟู้ดดีลิเวอรี่แล้ว ปรากฏการณ์หรือกระแสความนิยมที่มักจะเทกันไปตามร้านดัง ที่ถึงขนาดต้องเข้าแถวต่อคิวเพื่อให้ได้ลิ้มรสชาติอาหาร การใช้เวลาจำนวนมากในการเข้าคิวน่าจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้บริโภคเลือกใช้บริการธุรกิจจัดส่งอาหาร

การขยายตัวในอัตราเร่งที่เกิดขึ้นอยู่ขณะนี้ส่งผลให้ตลาดฟู้ดดีลิเวอรี่ในประเทศไทยเติบโตด้วยสถิติที่ดี คงไม่น่าแปลกใจนักหากนับจากนี้จะมีผู้เล่นหน้าใหม่ก้าวลงสังเวียนที่กำลังแข่งขันกันดุเดือดเพิ่มขึ้น

แต่ปัจจัยสำคัญที่ตลาดฟู้ดดีลิเวอรี่ยังคงเติบโตน่าจะมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน ทั้งการเข้ามาในตลาดของผู้ให้บริการ เช่น ลาล่ามูฟ, Grab Food, UberEATS การพัฒนาแอปพลิเคชันที่ทำให้การเข้าถึงบริการสะดวกมากยิ่งขึ้น ความต้องการทั้งในแง่มุมของผู้บริโภคที่ต้องการสินค้า และผู้ประกอบการร้านอาหารที่ต้องการกระจายสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภคได้มากที่สุด

ซึ่งผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารหลายร้านเลือกที่จะใช้บริการธุรกิจจัดส่งอาหารเหล่านี้ เช่น ร้านอาหารและเบเกอรี่ เอสแอนด์พี เบอร์เกอร์คิง ทำให้ผู้ให้บริการคนกลางที่กล่าวไปข้างต้นยังคงมีความสำคัญในธุรกิจนี้

กลุ่มที่ดูจะมีบทบาทสำคัญต่อธุรกิจฟู้ดดีลิเวอรี่ คือ กลุ่ม GenY ซึ่งไลฟ์สไตล์ของคนกลุ่มนี้ต่อความนิยมในการรับประทานอาหารคือ GenY เลือกรับประทานอาหารนอกบ้านน้อยกว่าเจนเนอเรชันอื่นๆ ด้วยเหตุผลที่ว่า การรับประทานอาหารนอกบ้านนั้นจะใช้เวลามาก ขัดกับรูปแบบวิถีชีวิตที่เร่งรีบ

เหล่านี้คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ธุรกิจฟู้ดดีลิเวอรี่ยังคงเติบโตด้วยอัตราที่น่าสนใจ นอกจากนี้ การเติบโตของตลาด E-Commerce ในประเทศไทยน่าจะเป็นตัวแปรสำคัญในธุรกิจนี้ เมื่อผู้ประกอบการร้านอาหารหน้าใหม่มีรูปแบบการประกอบธุรกิจที่แตกต่างไปจากเดิมที่เคยต้องมีหน้าร้าน เพื่อรองรับการให้บริการแก่ผู้บริโภค

แต่ด้วยการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีในยุคนี้ ที่เชื่อมผู้คนให้ใกล้กันมากขึ้น ผู้ประกอบการร้านอาหารยุคใหม่จึงไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านอีกต่อไป ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการลดต้นทุน เมื่อใช้แพลตฟอร์มบนโลกออนไลน์นำเสนอสินค้า หรือรูปแบบอาหารที่จำหน่าย เช่น ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ ลดน้ำหนัก อาหารคลีน อาหารทะเลพร้อมรับประทาน

นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการบางรายที่จำหน่ายวัตถุดิบในการประกอบอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศ ล้วนแล้วแต่เลือกใช้บริการจัดส่งอาหารจากคนกลางด้วยกันทั้งสิ้น

เมื่อพิจารณาจากข้อมูลที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าการแข่งขันในตลาดฟู้ดดีลิเวอรี่ไทยร้อนระอุพอสมควร ขณะที่ในสหรัฐอเมริกาธุรกิจนี้นับเป็นเวทีที่น่าสนใจไม่น้อย ถึงขนาดที่ว่าบริษัทในเครือ SoftBank Group จากประเทศญี่ปุ่นเห็นช่องทางที่จะทำเงิน และประกาศที่จะลงทุนกว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐกับ Door Dash ซึ่งเป็นบริษัทจัดส่งอาหารในซานฟรานซิสโก

ทั้งนี้ผู้เล่น 10 รายที่อยู่ในตลาด แม้ว่ารูปแบบการให้บริการจะไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ทั้งในเรื่องอัตราค่าบริการ โปรโมชันพิเศษ สุดท้ายแล้วคงต้องอยู่ที่ความน่าเชื่อถือในการให้บริการ ที่จะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะบอกได้ว่าใครจะอยู่ในตลาดต่อไปได้อย่างถาวร

มีความเป็นไปได้ว่า หากธุรกิจ E-Commerce ธุรกิจ Startup ในไทยได้รับการสนับสนุนและเพิ่มโอกาสการขยายตัวมากขึ้น น่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจจัดส่งอาหาร หรือฟู้ดดีลิเวอรี่ให้มีโอกาสเติบโตด้วยอัตราเดียวกัน และหากเป็นเช่นนั้น เราอาจจะได้เห็นสงครามในฟู้ดดีลิเวอรี่ระอุกว่าในปัจจุบันแน่นอน

สุดท้ายแล้ว แม้ว่าการแข่งขันจะดุเดือดเพียงใด ดูเหมือนว่าผู้ได้รับประโยชน์จากการขยายตัวของฟู้ดดีลิเวอรี่ก็คือ ผู้บริโภค ที่มีไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่เร่งรีบตลอดเวลา

ใส่ความเห็น