วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > พิษ COVID-19 ระบาดไม่หยุด ฉุดความเชื่อมั่น-GDP ไทยวูบ

พิษ COVID-19 ระบาดไม่หยุด ฉุดความเชื่อมั่น-GDP ไทยวูบ

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ที่ได้รับการเรียกขานว่า COVID-19 (Coronavirus Disease 2019) ดูจะลุกลามขยายตัว คุกคามสุขอนามัยและความเป็นไปของการใช้ชีวิตประจำวันของประชากรโลกไม่หยุด โดยล่าสุดองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ยกระดับให้ COVID-19 เป็น “การระบาดใหญ่” (pandemic) จากเหตุของข้อเท็จจริงที่ว่า COVID-19 ยังระบาดลุกลามทั่วโลก และมีผู้ติดเชื้อกว่าแสนราย

ก่อนหน้านี้องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ COVID-19 เป็นเพียงโรคระบาด (Epidemic) ก่อนที่จะยกระดับเป็นโรคระบาดครั้งใหญ่ของโลก (pandemic) อย่างเป็นทางการ ซึ่งตามความหมายของ WHO คำว่า pandemic คือ เชื้อโรคใหม่ที่ระบาดไปทั่วโลกที่ทำให้อัตราการป่วยและเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยล่าสุด COVID-19 ได้แพร่ระบาดลุกลามไปแล้วใน 118 ประเทศทั่วโลก และมีผู้ติดเชื้อไวรัสมากกว่า 121,000 คน อีกทั้งยังคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 4,300 คน

หลักเกณฑ์ในการประกาศภาวะโรคระบาดโลก มีหลักการเบื้องต้นอยู่ 3 ประการ คือ 1. โรคสามารถก่อให้เกิดอาการป่วยจนถึงเสียชีวิต 2. มีการติดต่อระหว่างคนสู่คน 3. การแพร่ระบาดลุกลามไปทั่วโลก โดยช่วงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ WHO ยกระดับการเตือนภัยความเสี่ยงการระบาดไปทั่วโลกของ COVID-19 อยู่ระดับ “สูงมาก” ซึ่งเป็นระดับสูงสุด ก่อนที่การแพร่กระจายระบาดของ COVID-19 ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาดำเนินไปด้วยอัตราเร่งจากที่มีการแพร่ระบาดเพียง 30 ประเทศกลายเป็นการแพร่ระบาดสู่กว่า 100 ประเทศและมีผู้ติดเชื้อกว่า 1 แสนราย จนในที่สุด WHO ต้องประกาศยกระดับให้ COVID-19 เป็นโรคระบาดใหญ่ของโลก

การประกาศยกระดับ COVID-19 ให้เป็นโรคระบาดใหญ่ของโลก ในด้านหนึ่งได้สะท้อนความรุนแรงของโรคและมาตรการในการควบคุมดูแลโรคให้มีความเข้มงวดมากขึ้น หากแต่ในอีกด้านหนึ่งการประกาศของ WHO ยังได้ส่งผลกระเทือนต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและการคาดการณ์เศรษฐกิจของโลกในระยะยาวด้วย

ปฏิกิริยาของนักลงทุนที่สะท้อนผ่านดัชนีตลาดหลักทรัพย์หลักทั่วโลกโดยเฉพาะในตลาดนิวยอร์ก ภายหลังการประกาศให้ COVID-19 เป็นโรคระบาดใหญ่ของโลก ได้ฉุดให้ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ลดต่ำลงกว่าร้อยละ 4 หลังจากที่ก่อนหน้านั้นดัชนีดาวโจนส์ก็ทรุดตัวอย่างหนักในช่วงต้นสัปดาห์จากความกังวลใจว่า ด้วยการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของโลกที่มีแนวโน้มยืดเยื้อยาวนาน และการแข่งขันด้านราคาน้ำมันระหว่างผู้ผลิตรายใหญ่อย่างซาอุดีอาระเบียกับผู้ผลิตรายอื่น

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจของการประกาศยกระดับ COVID-19 เป็นโรคระบาดใหญ่ของ WHO ในด้านหนึ่งได้ส่งผลให้ Donald Trump ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศมาตรการระงับการเดินทางจากยุโรปสู่สหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 30 วันในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเข้าสู่อเมริกา ซึ่งนั่นย่อมหมายถึงการขาดหายไปของกิจกรรมทางธุรกิจมูลค่าจำนวนมหาศาลและผลกระทบต่อธุรกิจการบินและการท่องเที่ยวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่มาตรการของสหรัฐฯ ดังกล่าวอาจขยายตัวมีผลต่อการเดินทางจากประเทศอื่นๆ ในอนาคตได้ไม่ยาก

การลดต่ำลงของดัชนีหุ้นในตลาดนิวยอร์กส่งแรงกระเพื่อมรุนแรงสู่ดัชนีและการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกในเวลาต่อมา รวมถึงดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยด้วย แต่นั่นอาจเป็นเพียงภาพส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็งทางเศรษฐกิจไทยที่จ่อมจมอยู่ในห้วงมหาสมุทรที่ดิ่งลึกเบื้องล่าง

ประเด็นที่น่าสนใจประการหนึ่งอยู่ที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจไทยดำเนินไปท่ามกลางภาวะถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจได้บ่งชี้ถึงปัจจัยลบที่รุมกระหน่ำ โดยเฉพาะดัชนีว่าด้วยการขยายตัวเติบโตทางเศรษฐกิจ และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ที่ลดต่ำลงจากระดับร้อยละ 2.5-2.8 มาสู่ระดับ 1.9-2.3 ท่ามกลางการปรับลดประมาณการของบางสำนักที่ระบุว่า GDP ของไทยมีแนวโน้มจะต่ำลงเหลือเพียง 0.5 ยังไม่นับรวมถึงความเป็นไปได้ที่ GDP ไทยจะขยายตัวแบบติดลบจากเหตุปัจจัยที่รุมเร้าอยู่ในขณะนี้

ข้อสังเกตว่าด้วยการชะลอตัวทางเศรษฐกิจไทยที่อาจตกต่ำไปสู่การขยายตัวแบบติดลบนี้ ตั้งอยู่บนฐานของข้อเท็จจริงที่ว่าเศรษฐกิจไทยยึดโยงและพึ่งพิงการส่งออกและการท่องเที่ยวอย่างเป็นด้านหลัก ซึ่งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่กำลังดำเนินอยู่ในห้วงปัจจุบันและมีแนวโน้มยืดเยื้อยาวนานย่อมส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ขณะที่การระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยลดลง ซึ่งไม่ใช่เหตุเพราะรัฐไทยมีมาตรการที่เข้มข้น หากแต่เป็นเพราะนักท่องเที่ยวเป้าหมายจำนวนหนึ่งถูกกักตัวและควบคุมการระบาดของโรคจากประเทศต้นทางเอง

พัฒนาการของสถานการณ์ COVID-19 ในปัจจุบันรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้เดิม โดยตัวเลขเบื้องต้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางผ่าน 5 สนามบินทั้งสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ หาดใหญ่ และภูเก็ต ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ลดลงอย่างมาก เกินกว่าระดับที่ประเมินไว้ โดยในเดือนกุมภาพันธ์นักท่องเที่ยวลดลงถึงร้อยละ 46 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ในระหว่างวันที่ 1-9 มีนาคม นักท่องเที่ยวลดลงถึงร้อยละ 58 ซึ่งคาดว่าผลจาก COVID-19 จะทำให้ไทยสูญรายได้จากการท่องเที่ยวรวมมากกว่า 4 แสนล้านบาท ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะหดตัวถึงร้อยละ -5.6 โดยการส่งออกสินค้าขั้นต้นและขั้นกลางของไทยจะได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ

ผลของมูลค่าของรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ลดลงมากกว่าร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ขณะที่ภาคการเกษตรก็สะท้อนภาพการถดถอยลงจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรที่ชะลอตัวลงร้อยละ -2.2 เมื่อเทียบกับปีผ่านมา จากผลของภาวะภัยแล้งที่ทำให้เกิดการลดลงของผลผลิตในหมวดพืชผลเป็นสำคัญ สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรมที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่สะท้อนภาพการชะลอตัวลงร้อยละ -4.6 จากปีก่อนหน้า จากการลดลงของการผลิตในหมวดยานยนต์และเฟอร์นิเจอร์ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หลายสำนักปรับลดคาดการณ์ GDP ของไทยในปีนี้ลง

รายได้ของภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มที่จะถดถอยและลดต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญตลอดทั้งปี 2563 นี้และคงต้องอาศัยระยะเวลาอีกช่วงหนึ่งฟื้นฟูความมั่นใจภายหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งยังไม่มีใครสรุปได้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังต้องเผชิญกับ supply disruption หลังจากที่ห่วงโซ่การผลิตได้รับผลกระทบจากการที่จีนปิดเมือง รวมทั้งอุปสงค์ต่างประเทศและในประเทศที่อ่อนแอลง

ความเปราะบางทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากผลของการแพร่ระบาด COVID-19 ในห้วงเวลานับจากนี้จึงอยู่ที่การเผชิญกับความเสี่ยงในมิติของทั้งอุปสงค์มวลรวม (demand side) และอุปทานมวลรวม (supply side) โดยผลลบด้านอุปสงค์ที่เด่นชัดอยู่ที่การชะลอตัวลงมาของการซื้อสินค้าและบริการ จนกระทบต่อกระแสเงินสดของบริษัทจำนวนมากทั่วโลก และอาจจะนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ของตราสารหนี้จำนวนมากทั่วโลกในระยะถัดไป

ขณะที่ด้านอุปทาน นอกจากการปิดโรงงานและร้านค้าหลายแห่งจำนวนมาก ซึ่งทำให้การผลิตสินค้าและบริการทั่วโลกชะงักแล้ว สถานการณ์การระบาดในภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นที่น่ากังวลมาก เพราะอาจจะนำไปสู่การลดลงของอุปทานพลังงานโลก จากการลดลงของการขนส่งลำเลียงพลังงานออกจากตะวันออกกลาง และจะทำให้หลายประเทศที่พึ่งพิงการนำเข้าพลังงานจากตะวันออกกลางในระดับสูง จะประสบปัญหาการขาดแคลนพลังงาน ซึ่งนั่นจะซ้ำเติมสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมในประเทศให้ย่ำแย่เพิ่มขึ้นไปกว่าเดิม

มูลค่าทางเศรษฐกิจที่ต้องสูญเสียไปจากผลกระทบและความพยายามที่จะจำกัดการแพร่ระบาดของ COVID-19 จะกดดันให้เศรษฐกิจโลกชะลอลงมาก และกระทบต่อกระแสเงินสดและกำไรของทั้งบริษัทจดทะเบียนและผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมจำนวนมากให้ลดลง ขณะที่หลายบริษัทมีแนวโน้มจะขาดทุนหรือแม้แต่ล่มสลายจากสถานการณ์นี้ได้ไม่ยาก แม้ว่าปัญหาเศรษฐกิจในครั้งนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นจากปัจจัยทางโครงสร้างทางธุรกิจโดยตรงเหมือนวิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่ผ่านๆ มา แต่ดูเหมือนว่าในภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีสุขภาพอนามัยย่ำแย่ การแพร่ระบาดของ COVID-19 กำลังท้าทายความสามารถในการบริหารจัดการของกลไกรัฐแต่ละประเทศอย่างน่าติดตามไม่น้อยเลย

ปัญหาและความน่าสนใจที่จะเกิดขึ้นจากนี้อยู่ที่กลไกของรัฐใดจะสามารถฟื้นไข้จากผลกระทบที่กำลังดำเนินอยู่นี้ และรัฐใดจะถูกผลักให้เป็นผู้ป่วยที่ต้องถูกกักตัวหรือกีดกันให้อยู่นอกระบบสังคมเศรษฐกิจโลกในระยะยาวต่อไป

ใส่ความเห็น