วันอังคาร, มีนาคม 19, 2024
Home > Cover Story > พินิจ “หอชมเมือง” ผ่านความเป็นไปของ Tokyo Skytree

พินิจ “หอชมเมือง” ผ่านความเป็นไปของ Tokyo Skytree

ประเด็นว่าด้วยการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ของกรุงเทพมหานคร ดูจะเป็นเรื่องราวที่มีผู้คนให้ความสนใจไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นกรณีของการตัดสินใจทุบอาคารโรงแรมดุสิตธานี เพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่พาณิชยกรรมแบบผสม (mix use) พร้อมกับแนวความคิดที่จะสร้างแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ จากผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินหลากหลาย

แต่กรณีว่าด้วยการเกิดขึ้นของ “หอชมเมือง” โดยมูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร ดูจะเป็นการจุดกระแสสำนึกตระหนักและการวิพากษ์ว่าด้วยความแตกต่างระหว่างคำว่า “อัตลักษณ์” หรือ “อัปลักษณ์” ของเมืองมหานครอย่างกรุงเทพฯ ในยุคสมัยถัดไปได้อย่างกว้างขวาง

ความเป็นไปของกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะในมิติของวาทกรรมว่าด้วยความเสื่อมถอยหรือการพัฒนาไม่ได้ตั้งอยู่ในบริบทที่แตกต่างจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับเมืองมหานครแห่งอื่นๆ และเป็นส่วนหนึ่งในอนิจลักษณ์ ที่พบเห็นได้ทั่วไป หากแต่สิ่งที่จะนำมาซึ่งความแตกต่างกลับอยู่ที่วิสัยทัศน์แห่งการพัฒนาและความสามารถในการบริหารจัดการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องว่าด้วยสาธารณะและบทบาททางสังคมในการปรับภูมิทัศน์ของเมืองร่วมกัน

เพราะการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ในเขตมหานครที่มีผู้คนและสิ่งปลูกสร้างอย่างคับคั่งหนาแน่น ย่อมมิได้เกิดขึ้นเพียงเพราะความต้องการของบรรษัทที่มุ่งอาศัยสรรพกำลังของทุนในการดำเนินการเท่านั้น หากแต่เกิดขึ้นจากผลของความต้องการที่จะพัฒนาร่วมกันของประชาคมโดยองค์รวม ควบคู่กับวิสัยทัศน์ ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้คนด้วย

โดยในญี่ปุ่น ซึ่งนับเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว และมีความพยายามที่จะใช้ประโยชน์ในทรัพยากรที่ดินที่มีอยู่อย่างจำกัด การพัฒนาส่วนใหญ่จะดำเนินไปภายใต้คณะทำงานระดับเมืองเพื่อการพัฒนาชุมชน เพื่อรวบรวมความต้องการของประชาคม หรือการปรับสถานะมาเป็นคณะกรรมาธิการเพื่อการพัฒนาชุมชน ซึ่งคณะทำงานและกรรมาธิการเหล่านี้มิได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อถกแถลงถึงรูปแบบการพัฒนาอย่างรอบด้านและผลกระทบซึ่งรวมถึงภูมิสถาปัตย์ของสิ่งปลูกสร้างที่จะเกิดมีขึ้นเท่านั้น หากต้องสืบค้นและพิสูจน์สิทธิของผู้ครอบครองและผู้รับผลกระทบแต่ละรายเพื่อยกร่างเป็นข้อตกลงระหว่างกันด้วย

แต่นั่นอาจเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องคาดหวังจะได้เห็นในสังคมไทย ซึ่งดูจะมีความสมบูรณ์แบบในระดับหนึ่งแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยที่มีวาทกรรมหลักอยู่กับไทยแลนด์ 4.0 และการบริหารจัดการอย่างชาญฉลาดภายใต้มาตรา 44 เช่นในปัจจุบัน

กล่าวเฉพาะกรณีว่าด้วย “หอชมเมือง” หรือ หอคอยสูงของกรุงโตเกียวเพื่อทดแทนโตเกียว ทาวเวอร์ จากผลของการประกาศนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อปรับเปลี่ยนการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์จากระบบ analog ไปสู่การส่งสัญญาณแบบ digital ตั้งแต่เมื่อกว่า 15 ปีที่แล้ว ก็มีรายละเอียดที่น่าติดตามไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการสรรหาพื้นที่เพื่อก่อสร้าง เพราะกรณีดังกล่าวหมายถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจจำนวนมหาศาลที่จะติดตามมาจากผลของการพัฒนาที่ดินโดยรอบ และการไหลเวียนของนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่จะเดินทางเข้ามาในพื้นที่ในอนาคต

Tokyo Skytree หรือ พฤกษานภากาศแห่งกรุงโตเกียว เพิ่งผ่านการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 5 ปีของการเปิดดำเนินการให้ผู้คนเข้าชมได้เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ด้วยงบการก่อสร้างรวม 6.5 หมื่นล้านเยนหรือประมาณ 600 ล้านเหรียญสหรัฐ กลายเป็นประหนึ่งสัญลักษณ์แห่งความเจริญก้าวหน้าทางวิศวกรรมและสืบทอดบทบาทเดิมของโตเกียวทาวเวอร์ไปโดยปริยาย

โครงการก่อสร้างหอคอยสูงในกรุงโตเกียวแห่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างไร้รากฐาน หากแต่เป็นโครงการที่ผ่านกระบวนการถกแถลงในวงกว้างมายาวนานหลายปี ทั้งในเรื่องของการออกแบบรูปลักษณ์ของตัวหอคอย การหาทำเลที่ตั้ง หรือแม้กระทั่งชื่อหอคอยสูงแห่งใหม่ว่าจะใช้ชื่อที่เหมาะสมอย่างไรดี ก่อนที่จะได้บทสรุปที่ชื่อ โตเกียวสกายทรี (Tokyo Skytree) หรือ พฤกษานภากาศแห่งกรุงโตเกียว

ข้อเสนอในการส่งมอบพื้นที่ รวมถึงแผนการสนับสนุนด้านค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างจากเขตและพื้นที่ต่างๆ รอบกรุงโตเกียว ถูกส่งเข้ามาเพื่อการพิจารณาอย่างต่อเนื่องรวมกว่า 15 โครงการ ไม่ว่าจะเป็นกรณีของอิเคะบูคูโระ (Ikebukuro) อูเอโนะ (Ueno) และ อะดาชิ (Adachi) ที่พยายามเสนอตัวเข้ามา โดยมีโครงการไตโตะ เวิลด์ ทาวเวอร์ (Taito World Tower) ในเขตไตโตะ (Taito) และซุมิดะทาวเวอร์ (Sumida Tower) ในเขตซุมิดะ (Sumida) ซึ่งเป็นเขตที่อยู่ติดกับริมฝั่งแม่น้ำซุมิดะ เป็น 2 ตัวเลือกหลักที่ได้รับความสนใจอย่างมาก

ในที่สุดโครงการหอคอยสูงแห่งใหม่ในพื้นที่เขตซุมิดะ ตามเค้าโครงซึ่งมีความสูงรวม 634 เมตร ได้รับเลือกและกลายเป็นการยกระดับพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวที่คาดว่าจะขยายตัวในอนาคต โดยเฉพาะย่าน อะซากูซะ (Asakusa) ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดเซนโซจิ (Senso-ji) ที่มีชื่อเสียงจากโคมไฟขนาดใหญ่อยู่ที่ประตูทางเข้า คามินาริมอน (Kaminarimon) เป็นองค์ประกอบรองรับกิจกรรมการท่องเที่ยวได้อย่างลงตัว

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจของการเลือกพื้นที่ในเขตซุมิดะใกล้กับสถานีรถไฟโอชิอาเกะ (Oshiage) เป็นสถานที่ก่อสร้างหอคอยแห่งกรุงโตเกียวแห่งใหม่ ก็คือ โทบุเรลเวย์ (Tobu Railway) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรถไฟเอกชนที่มีโครงข่ายเส้นทางรถไฟยาวเป็นอันดับสองของประเทศ ไม่นับรวมกรณีของการรถไฟญี่ปุ่น (Japan Railway: JR) และครอบครองสัมปทานในเส้นทางสายท่องเที่ยวสำคัญ โดยเฉพาะเส้นทางอะซากูซะ-นิกโกะ (Asukusa-Nikko) พยายามที่จะผลักดันให้มีการสร้างหอคอยแห่งกรุงโตเกียวแห่งใหม่ขึ้นในพื้นที่ที่โทบุครอบครองอยู่อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับเสนอให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างที่ประมาณว่าจะสูงถึง 5 หมื่นล้านเยนอีกด้วย

ความคาดหวังซึ่งกลายเป็นเดิมพันครั้งสำคัญของโทบุเรลเวย์ อยู่ที่ความเชื่อที่ว่ากรณีดังกล่าวจะช่วยให้มีผู้โดยสารเดินทางสัญจรในเส้นทางรถไฟของบริษัทให้กลับมามีความคึกคักตื่นตัวมากขึ้น ขณะเดียวกันจะช่วยให้มูลค่าของที่ดินโดยรอบที่โทบุถือครองอยู่ให้กลับมามีความน่าสนใจอีกครั้ง ไม่นับรวมการประเมินถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะหลั่งไหลเข้าสู่พื้นที่ ซึ่งคาดว่าจะมีมากถึงปีละ 3 ล้านคน ที่กลายเป็นปัจจัยบ่งชี้ที่สำคัญสำหรับการอยู่รอดของโครงการแห่งนี้

Tokyo Skytree เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2008 ก่อนที่จะเสร็จสมบูรณ์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2012 และเปิดดำเนินการและให้ผู้คนได้เข้าชมในเดือนพฤษภาคม 2012 และด้วยระดับความสูง 634 เมตรดังกล่าว นอกจากจะเป็นสิ่งปลูกสร้างโดยฝีมือมนุษย์ที่สูงที่สุดของญี่ปุ่นแล้ว ซึ่งแม้จะตามหลังและเป็นรองเพียง Burj Khalifa ที่ถือเป็นสิ่งปลูกสร้างที่สูงที่สุดของโลก แต่หอคอยสูง Tokyo Skytree แห่งนี้ก็ได้เบียดให้ Canton Tower หรือ Guangzhou Tower ที่มีความสูง 595.7 เมตรในประเทศจีนตกอันดับหอคอยสูงที่สุดของโลกไปโดยปริยาย

นอกจากชื่อ Tokyo Skytree ที่เป็นชื่อที่คณะกรรมการสรรหาได้คัดเลือกจากการเสนอชื่อจากสาธารณะมาคัดเหลือเพียง 6 ชื่อ ก่อนที่จะทำการเปิดให้ลงประชามติทั่วประเทศจนชื่อ Tokyo Skytree ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดรวมกว่าร้อยละ 30 ที่สะท้อนความพยายามสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนไม่จำกัดเฉพาะชุมชนในกรุงโตเกียวหาก Tokyo Skytree ได้ก้าวไปสู่การเป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนาญี่ปุ่นครั้งใหม่ที่ทุกคนมีส่วนร่วมไปในคราวเดียวกัน

ขณะที่นัยความหมายและการสื่อสัญญะผ่านตัวเลขความสูงที่ระดับ 634 เมตร ซึ่งในภาษาญี่ปุ่นสามารถออกเสียงเป็น mu (6) sa (3) shi (4) ยังซ่อนแฝงนัยสำคัญทางประวัติศาสตร์ไม่จำเพาะในบริบทของถิ่นที่ตั้งของเขตเมืองเก่า Musashi ซึ่งเป็นสถานที่ที่ Tokyo Skytree ตั้งตระหง่านอยู่ในวันนี้เท่านั้น

หากแต่นิยามความหมายของคำว่า Musashi ยังเป็นประหนึ่งภาพสะท้อนหลักวิถีความคิด จิตนิยม และคุณค่าที่ก่อร่างเป็นฐานคติของสังคมญี่ปุ่นว่าด้วยบทบาทหน้าที่และหลักปฏิบัติแห่งวิถีซามูไร ที่พ้นไปจากเรื่องราวของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หากขยายเป็นองค์รวมทางวัฒนธรรมที่ร่วมกันของสังคมญี่ปุ่นทั้งระบบมาอย่างยาวนานอีกด้วย

พฤกษานภากาศแห่งกรุงโตเกียว ในนาม Tokyo Skytree ได้ผลิดอกออกผลและพุ่งทะยานตระหง่านสูงคู่ฟากฟ้ากรุงโตเกียวและญี่ปุ่นในฐานะสัญลักษณ์แห่งการเปลี่ยนผ่านและการก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ไปแล้ว หากแต่สำหรับหอชมเมืองกรุงเทพฯ ที่กำลังจะถูกปลูกสร้างขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ จะทำหน้าที่เป็นแลนมาร์คที่สื่อแสดงการพัฒนา หรือเป็นเพียงหมุดหมายระวังทางเพื่อการจดจำหนทางที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยเลย

ใส่ความเห็น