วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > พลังงานไทยบน Solar Roof แสงสะท้อนที่หักเหของนโยบายรัฐ

พลังงานไทยบน Solar Roof แสงสะท้อนที่หักเหของนโยบายรัฐ

จากประเด็นข่าวเรื่อง “กฟผ. เสนอเรื่องให้ กกพ. จัดเก็บค่าระบบสำรองไฟฟ้า ที่ 100-200 บาทต่อเดือน สำหรับผู้ที่ผลิตไฟฟ้าใช้เองจาก Solar Roof Top ที่ถูกโพสต์ และแชร์ไปบนโลกออนไลน์ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ที่ผ่านมา สร้างความแปลกใจ รวมไปถึงความไม่พอใจจากประชาชนไม่น้อย

ความคิดเห็นส่วนใหญ่แสดงออกมาในเชิงลบ และต่อว่าต่อขานผู้บริหาร กฟผ. ถึงนโยบายนี้ ว่าไม่ยุติธรรมต่อผู้ที่หันมาใช้พลังงานทางเลือก ทั้งที่ภาครัฐควรจะสนับสนุนส่งเสริม ให้ประชาชนใช้พลังงานสะอาด ทั้งเพื่อเป็นการลดภาวะโลกร้อน และประหยัดพลังงานหลัก

หลังจากกระแสธารของข่าวนี้ที่ถูกส่งต่อและแชร์ออกไปอย่างรวดเร็ว วันถัดมา ผู้บริหารระดับสูงของ กฟผ. ออกมาแก้ไขความดังกล่าวว่า เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน “กฟผ. ไม่ได้เสนอการจัดเก็บค่าไฟฟ้าสำรองต่อ กกพ. แต่อย่างใด กรณีการจัดเก็บค่าไฟฟ้าสำรองนั้นเป็นเพียงการยกตัวอย่างกรณีที่ต่างประเทศใช้ดำเนินการเท่านั้น” สหรัฐ บุญโพธิภักดี โฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อธิบาย

แม้ว่าจะมีการแก้ไขความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนให้ถูกต้องแล้ว กระนั้นก็ไม่อาจลดทอนความเคลือบแคลงใจที่ประชาชนมีไปได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

จากกรณีดังกล่าวทำให้เราต้องย้อนกลับมาดูว่า ภาครัฐมีนโยบายในเรื่องพลังงานทดแทน หรือพลังงานสะอาดอย่างไร

“ความมั่นคงด้านพลังงานเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของทุกประเทศในอาเซียน โดยหน่วยงานด้านพลังงานระหว่างประเทศคาดว่า ความต้องการพลังงานจะเพิ่มขึ้นเป็น 37 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2583” ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าว ในงาน Asian Sustainable Energy Week 2018

ปัจจุบันสัดส่วนพลังงานทดแทนของไทยอยู่ที่ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ของพลังงานทั้งหมด แต่ใน 10-15 ปีข้างหน้า พลังงานทดแทนของไทยจะมีสัดส่วนมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ กระทรวงพลังงานได้กำหนดค่าเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน ทั้งในรูปของพลังงานไฟฟ้า ความร้อน และเชื้อเพลิงชีวภาพภายใต้แผน AEDP2015 เป็นร้อยละ 30 ในปี 2579 และเป้าหมายของพลังงานแสงอาทิตย์คือ 6,000 เมกะวัตต์ ซึ่งไทยมีศักยภาพมากพอที่จะทำให้สัดส่วนพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นตามแผนงาน เพราะมีภาคเอกชนหลายบริษัทที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการพลังงานทดแทน พร้อมจะแสดงศักยภาพ และเป็นฐานรากในความมั่นคงด้านพลังงานให้ไทยได้อย่างไม่อายใครในอาเซียน แม้แต่ สปป. ลาวที่ป่าวประกาศว่า จะเป็น Battery of Asia

กระนั้นปัญหาอาจจะอยู่ที่ว่า จนถึงเวลานี้ภาครัฐยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอ ต่อเรื่องการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จากภาคเอกชนหรือผู้ลงทุน และล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานให้ทัศนะต่อเรื่องการรับซื้อไว้ว่า กระทรวงกำลังศึกษาแนวทางการกำหนดจำนวนไฟฟ้าที่จะรับซื้อว่า จะรับซื้อกี่เมกะวัตต์ รวมไปถึงราคารับซื้อที่จะต้องไม่เกินกว่า 2.44 บาทต่อหน่วย

ซึ่งภาครัฐมองว่า ราคาค่าไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจะต้องไม่เป็นภาระต่อสังคม เพราะจะทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนให้เป็นพลังงานหลักของประเทศได้

คำตอบที่ไม่ชัดเจนของกระทรวงพลังงาน ทำให้นักลงทุนที่กำลังรอคอยคำตอบชะลอการลงทุน เมื่อยังไม่ได้รับความชัดเจนในด้านนโยบายจากภาครัฐ ปัญหาดังกล่าวอาจจะส่งให้แผนการเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนในอนาคตของไทยต้องขยายช่วงเวลาออกไป

ขณะที่องค์กรพลังงานหมุนเวียนนานาชาติ (Internation Renewable Energy Agency-IRENA) จัดทำรายงานที่ระบุว่า ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนมีแนวโน้มราคาถูกกว่าไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เนื่องจากเทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้น รวมไปถึงการส่งเสริมของรัฐบาลในประเทศต่างๆ โครงการที่ได้รับการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลให้ต้นทุนพลังงานหมุนเวียนของโลกลดต่ำลงเป็นประวัติการณ์ โดยในปี 2563 อาจมีแนวโน้มถูกกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล

นอกจากนี้ในรายงานของ IRENA ยังระบุอีกว่า จีนมีบทบาทสำคัญในการลดต้นทุนพลังงานหมุนเวียนของโลก ซึ่งจีนมีราคาขายไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน ตกลงจากประมาณ 0.43 เหรียญสหรัฐต่อวัตต์ในปี 2559 เป็น 0.3 เหรียญสหรัฐต่อวัตต์ในปี 2560 และในปีเดียวกันนี้เอง จีนมีกำลังผลิตติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้น 52,830 เมกะวัตต์ ส่งผลให้จีนมีกำลังผลิตจากแสงอาทิตย์รวมทั้งหมด 130,250 เมกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วนในการผลิตไฟฟ้าของประเทศอยู่ร้อยละ 7.3 ขณะที่จีนยังมีการเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานน้ำอีก 12,800 เมกะวัตต์ พลังความร้อน 45,780 เมกะวัตต์

และในปี 2560 มหาอำนาจอย่างจีนยังพยายามลดการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลลง ด้วยการเพิ่มสถานีชาร์จรถไฟฟ้าขึ้นอีกร้อยละ 51

จากรายงานชิ้นนี้ชี้ให้เห็นสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนของจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องย้อนกลับมามองประเทศไทยที่มีต้นทุนที่จะผลิตพลังงานหมุนเวียนได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญคือมีภาคเอกชนจำนวนไม่น้อยที่พยายามแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนของไทยให้สูงขึ้น แต่กลับไม่ได้รับการใส่ใจหรือได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร

กระนั้นท่ามกลางความสับสนและการรอคอยคำตอบจากภาครัฐ อย่างน้อยที่สุดความหวังที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานให้ไว้คือ “ภายในปี 2561 กระทรวงจะกำหนดรายละเอียดการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์เซลล์แสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคา ที่อาจจะมีการเปิดรับซื้อรอบใหม่ หรืออาจจะมีการรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบหรือไม่ ต้องติดตามรายละเอียดอีกครั้ง”

ถ้าความมั่นคงด้านพลังงานคือนโยบายหลักของทุกประเทศไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย จนถึงตอนนี้เรา “อาจจะ” ฝากความหวังกับกระทรวงพลังงานได้ ว่าในอนาคตคนไทยจะได้ใช้พลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาด ภายใต้สัดส่วนที่มากกว่า หรืออย่างน้อยๆ ก็เทียบเท่าพลังงานหลัก เฉกเช่นที่ประเทศจีนกำลังดำเนินอยู่

ทิศทางพลังงานทดแทนของไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไร ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และคงไม่นานคำตอบของคำถามจะได้รับการเปิดเผย

ใส่ความเห็น