วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Home > Cover Story > ผ้าทอหลวงพระบาง มนต์เสน่ห์ที่สานต่อจากดีเอ็นเอ

ผ้าทอหลวงพระบาง มนต์เสน่ห์ที่สานต่อจากดีเอ็นเอ

เสียงกี่ทอผ้าดังขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อช่างทอผ้ากระตุกไม้หลังส่งกระสวยเส้นพุ่งจากด้านหนึ่งไปอีกด้านเพื่อถักทอผ้าอย่างขะมักเขม้น บ้านไม้ยกพื้นสูงที่แอบซ่อนในตรอกเล็กๆ ของเมืองหลวงพระบาง สายลมที่พัดมาจากแม่น้ำโขงหอบเอากลิ่นหอมของดอกไม้ที่เจ้าของบ้านปลูกไว้ โชยกลิ่นเรียกความสดชื่นจากผู้มาเยือนได้เป็นอย่างดี

แววมะนี ดวงดาลา ผู้ก่อตั้ง The Living Crafts Centre ออกพบตก บอกเล่าความเป็นมาของสถานที่แห่งนี้ว่า “เริ่มเรียนรู้การทอผ้ามาตั้งแต่อายุ 7-8 ขวบ เด็กผู้หญิงสมัยนั้นต้องทอผ้าใส่เองได้ คุณแม่ก็สอนตั้งแต่ตอนนั้น ซึ่งการทอผ้าเป็นทักษะที่เมื่อได้เรียนรู้แล้วก็จะไม่มีวันลืม กระทั่งเมื่อปี 2000 ก็มีความคิดเกี่ยวกับผ้าทอของหลวงพระบาง ว่าทำอย่างไรที่จะอนุรักษ์ รักษา และเผยแพร่ให้คนอื่นได้รู้จัก ก็นำความคิดนี้แลกเปลี่ยนกับโจแอนนา สมิท เพื่อนช่างภาพชาวอังกฤษ ต่างคิดเห็นตรงกันว่าควรจะเผยแพร่และอนุรักษ์ไปพร้อมๆ กัน”

แน่นอนว่าความยากของการอนุรักษ์และเผยแพร่สิ่งที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ คงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เมื่อความคิดของผู้ใหญ่ยังคงมุ่งมั่นที่จะรักษาเอกลักษณ์ของลายผ้าเอาไว้ ขณะที่คนรุ่นใหม่ต้องการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย

“ต้องยอมรับว่ายากเอาการ เพราะผู้ใหญ่ที่เขาทอผ้ากันมาจะมีความคิดว่าต้องการให้ผ้าทอคงเอกลักษณ์เดิมๆ เอาไว้ เช่น สี ลวดลาย บางคนยืนยันว่าต้องใช้สีแดงเท่านั้น เปลี่ยนไม่ได้ ต้องอธิบายพูดคุยกันนาน ว่าขอให้ทดลองดูก่อน ลองปรับเปลี่ยนสีบ้าง ถ้ามีคนชื่นชอบก็เปลี่ยน แต่ถ้าทำแล้วคนไม่ชอบก็ไม่เปลี่ยน จึงทำให้ผ้าทอของที่นี่เป็นไปในแนว Contemporary เพื่อจับกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติ ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับที่ค่อนข้างดี ผู้ใหญ่ท่านก็ยอมรับความเปลี่ยนแปลง”

แววมะนีอธิบายเพิ่มเติมว่าธุรกิจที่ทำอยู่จะเป็นไปในลักษณะของ Social Enterprise ไม่มุ่งหวังกำไรจนเบียดเบียนผู้อื่น เพราะนอกจากจะทำโรงทอผ้าขนาดย่อมของตัวเองแล้วยังนำสินค้าจากชนเผ่าต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในหลวงพระบาง หรือหมู่บ้านที่อยู่นอกหลวงพระบางอย่างเมืองจอมเพชร “เราจะดูว่าหมู่บ้านไหนถนัดอะไร สร้างสรรค์สินค้าชนิดไหนได้ก็จะลงไปสนับสนุน และนำสินค้าของเขามาจำหน่าย เป็นอีกทางหนึ่งที่จะทำให้เขามีรายได้เพิ่มมากขึ้น ช่วยให้เขาอยู่ได้โดยไม่ต้องอพยพไปหางานนอกพื้นที่” เจ้าของบ้านอธิบายด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม

แนวความคิดของแววมะนีในการทำธุรกิจแบบ Social Enterprise น่าจะสอดคล้องกับแนวความคิดของรัฐบาล สปป. ลาว และสภาการค้าและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่ต้องการจะสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นกับผู้คนในท้องถิ่น โดยเฉพาะพื้นที่ตลอดแนวสองข้างทางที่ขนาบไปกับโครงการถนนหงสา-บ้านเชียงแมน ที่ สปป. ลาวได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินจากสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.)

ขณะเดียวกันภาครัฐของ สปป. ลาว ก็ไม่ต้องการให้พื้นที่โครงการถนนเส้นนี้เป็นเพียงทางผ่านและไม่ก่อให้เกิดรายได้ในชุมชน ซึ่งวงสะหวัน เทพพะจัน รองเจ้าแขวงหลวงพระบาง บอกเล่าแนวความคิดของภาครัฐต่อการสร้างรายได้ให้ชุมชนในพื้นที่นี้ว่า “เราพยายามให้ความช่วยเหลือ โดยพิจารณาดูจากความชำนาญของประชาชน ทั้งการทำปศุสัตว์ การเกษตร งานหัตถกรรม ภาครัฐยินดีสนับสนุน และต้องดูที่พื้นที่ด้วยว่า เหมาะควรที่จะทำอะไร ปลูกอะไรขึ้น รวมไปถึงความต้องการของตลาดด้วย ยอมรับว่าเป็นงานยาก แต่ก็ต้องทำให้ดี”

ลานกลางแจ้งมีเสาพาดราวไม้สำหรับตากเส้นใยฝ้าย และเส้นไหมที่ผ่านการย้อมสีมาแล้ว รวมไปถึงผ้าทอที่เสร็จสมบูรณ์ ถูกคลี่แผ่อวดโฉมความงามที่เกิดจากฝีมืออันประณีตบรรจง ผสานแนวความคิดสร้างสรรค์ จนได้ผ้าทอที่ยังคงกลิ่นอายของคนสองยุค

แววมะนีเดินไประหว่างราวไม้สองข้าง พร้อมอธิบายแก่ผู้มาเยือนถึงชนิดของเส้นใยที่ถูกนำมาผึ่งแดด สีสันโดดเด่นที่เสมือนเรียกร้องให้นักเดินทางเข้ามาเยี่ยมชมใกล้ๆ เธอบอกว่า “ที่แห่งนี้ยินดีต้อนรับผู้ที่ชื่นชอบผ้าทอโดยไม่เสียค่าเข้าชม แต่หากใครต้องการที่จะเรียนรู้การทอ การย้อม หรือศิลปะอื่นๆ เรามีเปิดเวิร์กชอปด้วย เพราะการทอผ้าจริงๆ แล้วก็ไม่ยากอะไร ขอแค่เปิดใจเรียนรู้”

ผ้าทอนับเป็นอีกสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงวิถีชีวิตของผู้คนไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุค กี่สมัยก็ตาม ลวดลายบนผ้าคืออีกหนึ่งสิ่งที่เล่าขานเรื่องราวในประวัติศาสตร์ของบรรพบุรุษ ดีเอ็นเอที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น น่าดีใจไม่น้อยที่ยังมีคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งพร้อมที่จะอนุรักษ์ สืบทอด และพร้อมจะแบ่งปันสรรพวิทยาความรู้ให้คนรุ่นต่อไป

“ผู้จัดการ 360 องศา” จากมาพร้อมกับเสียงกี่ทอผ้าที่ยังคงดังเป็นจังหวะต่อเนื่อง แสงแดดที่สาดส่องมายังบ้านไม้หลังเก่าสะท้อนว่ายังมีเรื่องราวที่พร้อมจะเปิดเผยอีกมากมายหากผู้มาเยือนเปิดใจเรียนรู้

ใส่ความเห็น