วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Life > ปัญหาโรคอ้วนในเด็ก ทางแก้ที่ทุกคนในบ้านต้องร่วมมือ

ปัญหาโรคอ้วนในเด็ก ทางแก้ที่ทุกคนในบ้านต้องร่วมมือ

เทคโนโลยีดิจิทัล ในยุคปัจจุบันมีประโยชน์ต่อชีวิตมนุษย์เป็นอย่างมาก ทั้งการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ในเวลาอันรวดเร็ว แต่ความเร็วเป็นเหมือนปีศาจในบางครั้ง เพราะในหลายๆ ครั้งที่เราเข้าไปสู่โลกเสมือน เรากลับหลงลืมเวลาในโลกแห่งความจริง เพิกเฉยต่อการดูแลตัวเอง เราเพลิดเพลินกับเวลาที่ได้ให้กับความบันเทิงผ่านทางสายตา โสตประสาท แต่เรากลับให้เวลาตัวเองน้อยลง โดยเฉพาะด้านสุขภาพ

ไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่ หรือคนวัยทำงานเท่านั้น ที่ปล่อยตัวเองให้หลงอยู่ในโลกเสมือนและปล่อยเนื้อปล่อยตัวให้ความเกียจคร้านเข้าครอบงำ ละเลยการดูแลสุขภาพร่างกาย แม้จะมีข้อมูลผ่านตามากมายถึงวิธีการออกกำลังกาย การควบคุมอาหาร หรือแม้แต่วิธีการอ่านข้อมูลโภชนาการ

เด็กไทยยุคปัจจุบันกำลังประสบกับปัญหาภาวะอ้วนเป็นจำนวนมาก สาเหตุของภาวะอ้วนในเด็กเกิดมาจากหลายสาเหตุ ในกรณีของเด็กเล็กพ่อแม่ผู้ปกครองบางส่วนอาจละเลยการดูแลโภชนาการด้วยตัวเอง บางครั้งคนรู้จักหรือญาติผู้ใหญ่มักมีขนมติดไม้ติดมือมาแบ่งปัน ความเอ็นดูจนเกินควรของผู้ใหญ่บางคน ที่มักจะมีทัศนคติที่ว่า เด็กยิ่งอ้วนจ้ำม่ำยิ่งน่าเอ็นดู การตามใจเกินเหตุ ส่งผลให้เด็กรับประทานขนมอย่างใดอย่างหนึ่งในปริมาณมากเกินกว่าที่สมควร และไม่ถูกต้องตามหลักโภชนาการสำหรับเด็ก

ประกอบกับยุคสมัยที่โลกดิจิทัลพัฒนาอย่างรุดหน้า เด็กสมัยนี้แทบทุกคนมักจะใช้เวลาว่างอยู่ในโลกออนไลน์มากกว่าจะออกไปวิ่งเล่นกับเพื่อน หรือทำกิจกรรมตามสนามเด็กเล่นเช่นแต่ก่อน ส่งผลให้ร่างกายไม่ได้ใช้พลังงานอย่างเหมาะสม ภาวะการสะสมไขมันส่วนเกินจึงค่อยๆ เกิดขึ้น

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัยกล่าวว่า ภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนในเด็ก ยังเป็นปัญหาสาธารณสุขไทย โดยข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังกระทรวงสาธารณสุข (HDC) พบว่า เด็กเล็กอายุ 0-5 ปี มีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนร้อยละ 8.7 เด็กวัยเรียน อายุ 6-14 ปี พบร้อยละ 11.2 และเด็กวัยรุ่นอายุ 15-18 ปี พบร้อยละ 13.5

ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการตลาดที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อและบริโภคอาหารและเครื่องดื่มของเด็กที่มีไขมัน น้ำตาล โซเดียมสูง ที่มักมุ่งเป้าหมายไปยังกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ผ่านกลยุทธ์การโฆษณาทั้งสื่อออฟไลน์ ออนไลน์ และเกมต่างๆ รวมทั้งการส่งเสริมการขาย ลด แลก แจก แถม ชิงโชค ชิงรางวัล ส่งผลให้เด็กชื่นชอบและบริโภคผลิตภัณฑ์นั้นเพิ่มขึ้นได้

ประกอบกับในช่วงของสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในขณะนี้ที่เด็กสามารถเข้าถึงสื่อออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ทำให้เด็กซื้อและบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีไขมัน น้ำตาล โซเดียมสูงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กมีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน รวมทั้งเสี่ยงต่อภาวะบกพร่องด้านสติปัญญาและการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ในอนาคต

“ทั้งนี้ รายงานสุขภาพคนไทย พ.ศ. 2563 สำรวจพฤติกรรมการเลือกซื้ออาหารสำหรับเด็กไทย พบว่า ส่วนใหญ่เด็กไทยยังซื้ออาหารตามความชอบร้อยละ 27.7 อยากกินร้อยละ 18.8 และรสชาติเป็นหลักร้อยละ 18.8 และคำนึงถึงคุณค่าทางอาหารมีเพียงร้อยละ 8.1

นอกจากนี้ การสำรวจกรมอนามัย พ.ศ. 2560 ยังพบว่า เด็กเล็กเกือบร้อยละ 50 ดื่มนมรสหวานและนมเปรี้ยว เด็กวัยเรียนและวัยรุ่นประมาณ 1 ใน 3 คน กินขนมกรุบกรอบทุกวัน และมากกว่าครึ่งหนึ่งดื่มน้ำอัดลม 1-3 วันต่อสัปดาห์ และเกือบร้อยละ 15 ดื่มน้ำอัดลมทุกวัน ซึ่งพฤติกรรมการบริโภคขนมกรุบกรอบและน้ำอัดลมของเด็กวัยเรียนเพิ่มขึ้นและเด็กไทยมากกว่าร้อยละ 80 บริโภคอาหารฟาสต์ฟูดสัปดาห์ละอย่างน้อย 1 ครั้ง เฉลี่ยสัปดาห์ละ 4 ครั้ง ซึ่งสูงสุดเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่มีรายได้ระดับเดียวกัน” อธิบดีกรมอนามัยกล่าว

แนวทางที่จะช่วยให้เด็กๆ หันมาใส่ใจต่อสุขภาพมากขึ้น
1. สร้างความตระหนักเรื่องการดูแลสุขภาพ
อาจจะเป็นเรื่องยากสักหน่อย หากเราจะนำเข้าข้อมูลด้านสุขภาพใส่หัวเด็ก เมื่อปัจจุบันสิ่งที่เด็กให้ความสนใจนอกจากการเรียนแล้ว คือเรื่องความบันเทิง ความสนุกสนาน เช่น เกม ภาพยนตร์ เพลง ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องหาเวลาเพื่อพูดคุยมากขึ้น อธิบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปถึงปัญหาที่เด็กกำลังประสบภาวะโรคอ้วนที่กำลังเริ่มต้นนั้นจะส่งผลต่อสุขภาพร่างกายอย่างไรในอนาคต หากปล่อยไว้นานและไม่เร่งแก้ไข

2. เรียนรู้เรื่องความสำคัญด้านโภชนาการ ควบคุมปริมาณอาหาร อะไรควรงด อะไรควรลด
โภชนาการที่ดีมีความสำคัญสำหรับการควบคุมน้ำหนัก ผู้ปกครองควรเพิ่มความใส่ใจในการกำหนดควบคุมปริมาณและสัดส่วนของสารอาหารในแต่ละมื้อ เพื่อให้เด็กได้รับสารอาหารครบทุกหมู่ โดยเฉพาะอย่างช่วงเวลาที่ต้องควบคุมน้ำหนัก ควรเพิ่มปริมาณผักในมื้ออาหาร โปรตีน และคาร์โบไฮเดรตที่เหมาะสม แนะนำวิธีการอ่านข้อมูลโภชนาการด้านหลังบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มก่อนเลือกซื้อมารับประทาน

3. สร้างต้นแบบที่ดี
หากพ่อแม่ ผู้ปกครอง เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เลือกอาหารที่ไขมันน้อย เช่น อาหารประเภทนึ่ง ย่าง ต้ม น่าจะช่วยให้ลูกมีความรู้สึกอยากลอง อยากทำตาม การควบคุมปริมาณอาหารไม่ควรปล่อยให้เด็กทำเพียงคนเดียว เพราะการมีต้นแบบที่ดีน่าจะส่งผลให้ลูกๆ มีแรงกระตุ้น มีกำลังใจมากขึ้น

4. ชวนกันออกกำลังกาย
วิธีที่จะช่วยให้ลูกเปลี่ยนอิริยาบถเดิมๆ เช่น การนั่งเล่นมือถือ เล่นเกมคอมพิวเตอร์ และลุกไปออกกำลังกายนั้น เป็นเรื่องยากพอสมควร หากไม่ได้รับการส่งเสริมหรือสนับสนุนจากผู้เป็นพ่อแม่ ดังนั้นหากทั้งครอบครัวชักชวนกันไปทำกิจกรรมสันทนาการนอกบ้าน เล่นกีฬา ออกกำลังกายเรียกเหงื่อ น่าจะช่วยให้เด็กๆ มีความรู้สึกอยากออกกำลังกายมากขึ้น นอกจากจะเป็นการลดน้ำหนักได้แล้ว ยังเป็นการสานความสัมพันธ์ในครอบครัวให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ใส่ความเห็น