วันอังคาร, มีนาคม 19, 2024
Home > Cover Story > ปลดล็อกเฟสห้า หวังค้าชายแดน-ส่งออกฟื้น

ปลดล็อกเฟสห้า หวังค้าชายแดน-ส่งออกฟื้น

การเรียกร้องให้ ศบค. หรือศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ประกาศมาตรการผ่อนปรนเฟส 5 เพื่อให้กิจการและกิจกรรมในหลายๆ ส่วนสามารถเปิดดำเนินการได้ หลังจากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายวันลดลง โดยผู้ติดเชื้อในประเทศเป็นศูนย์ติดต่อกันเกิน 30 วัน ด้วยความคาดหวังว่า คำสั่งดังกล่าวจะเป็นเสมือนน้ำมันหล่อลื่นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจไทย ให้สามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ หลังจากหยุดชะงักมานานหลายเดือน

คำสั่งปลดล็อกเฟสก่อนหน้า แม้ว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจภายในประเทศสามารถขับเคลื่อนไปได้ ทว่า นั่นไม่ใช่ทั้งหมดของโครงสร้างเครื่องจักรของเศรษฐกิจไทย

ฟันเฟืองแต่ละตัวในระบบเศรษฐกิจไทยมีบริบทแตกต่างกันไป และสำหรับการค้าชายแดน และการส่งออก เป็นเสมือนกุญแจดอกสำคัญที่ช่วยผลักดันให้เส้นกราฟของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจพุ่งสูงขึ้น

คำสั่งประกาศปิดด่านชายแดนทั้งของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน หรือประเทศคู่ค้า ส่งผลกระทบในด้านลบต่อผู้ประกอบการส่งออกและนำเข้า ทั้งรายเล็ก รายใหญ่ นั่นเพราะไทยยังต้องพึ่งพาตลาดต่างชาติเสียเป็นส่วนใหญ่

แม้ว่าเศรษฐกิจโลกและไทยจะอยู่ในจุดที่เรียกได้ว่าอ่อนแรง และตัวเลขการส่งออกในระยะไม่กี่ปีให้หลัง จะไม่สวยหรูนัก แต่ก็ยังไม่เข้าขั้นติดลบ อีกทั้งการที่เศรษฐกิจไทยและอีกหลายประเทศไม่มีภูมิคุ้มกันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อเจอกับเชื้อโควิดที่มีพิษแทรกซึมที่สามารถทำลายล้างไปทั่วโลก ส่งผลให้หลายตลาด หลายอุตสาหกรรมต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก และในบางอุตสาหกรรมต้องเจอกับความถดถอย

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) ประเมินมูลค่าการส่งออกในเดือนพฤษภาคมว่ามีอัตราการหดตัวอยู่ในระดับสูงถึง -22.5% หากหักทองคำ การส่งออกจะหดตัวเพิ่มเติมเป็น -27.8% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า นับเป็นอัตราการหดตัวมากสุดในรอบเกือบ 11 ปี ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี 2009 เป็นต้นมา ทั้งนี้ การส่งออกรวมในช่วง 5 เดือนแรกของปีหดตัว -3.7% แต่หากหักการส่งกลับอาวุธและทองคำ การส่งออกจะหดตัวถึง -9.2%

นอกจากนี้ EIC ยังชี้ให้เห็นข้อมูลที่น่าสนใจว่า สินค้าส่งออกที่สำคัญเกือบทุกหมวดมีการหดตัวสูง เช่น การส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบ อยู่ในระดับที่ -62.6% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 เป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก หรือสินค้าอื่นๆ อาทิ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลไม้กระป๋องและแปรรูป น้ำตาลทราย

สินค้าส่งออกที่ยังมีการขยายตัวได้เป็นเดือนที่ 2 คือสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลไม้สดแช่แข็งและแห้ง ขณะที่การส่งออกทองคำยังคงขยายตัวต่อเนื่องในระดับสูงที่ 735.1% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมีตลาดสำคัญคือ สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย และสิงคโปร์

ภาครัฐในหลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา น่าจะส่งผลให้การส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปี แต่ EIC คาดว่าการฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างช้าๆ จากหลายปัจจัยเสี่ยงที่ยังกดดันการฟื้นตัวของภาคส่งออก ได้แก่ เศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากผู้บริโภคในหลายประเทศทั่วโลกจะยังระมัดระวังในการใช้จ่าย รวมถึงการลงทุนภาคเอกชนที่จะถูกกดดันจากยอดขายที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ งบดุลที่เปราะบางมากขึ้น และความไม่แน่นอนในระดับสูง โดยการส่งออกในระยะถัดไปอาจได้รับปัจจัยบวกบางส่วนจาก pending demand หลังจากมีมาตรการปิดเมืองในหลายประเทศมีแนวโน้มผ่อนคลายในระยะข้างหน้า

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลให้ภาคการส่งออกฟื้นตัวอย่างช้าๆ เช่น ปัจจัยด้านราคาน้ำมันที่ยังหดตัวต่อเนื่อง และความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่กลับมาในช่วงเดือนพฤษภาคมปีนี้ ที่จะนำไปสู่ความเสี่ยงต่อนโยบายการค้าโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบในทางลบต่อมูลค่าการส่งออก ได้ส่งผลในทิศทางเดียวกันกับการค้าชายแดนในปีที่ผ่านมา เมื่อตัวเลขสถิติการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยในปี 2562 มีมูลค่ารวม 1,337,282 ล้านบาท ลดลง 3.43% เป็นการส่งออกมูลค่า 749,422 ล้านบาท ลดลง 2.72% และการนำเข้ามูลค่า 587,860 ล้านบาท ลดลง 4.31% เกินดุลการค้า 161,562 ล้านบาท อิทธิพลจากเงินบาทที่แข็งค่าของไทย ผลจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกและในระดับภูมิภาคชะลอตัว

และเมื่อต้นปี กระทรวงพาณิชย์จะเคยตั้งเป้าการเติบโตของการค้าชายแดนว่า ต้องมีอัตราการขยายตัวปีละ 15% แต่สถานการณ์ในปัจจุบันและก่อนหน้าที่มีผลกระทบรอบด้านทำให้หลายฝ่ายเริ่มพิจารณาใหม่ เมื่อรู้ว่าเป้าประมาณการที่ตั้งไว้เป็นไปได้ยาก

หากจะพิจารณาตัวเลขการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค.-เม.ย.) ที่กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยออกมา มีมูลค่า 415,241 ล้านบาท หดตัวลง 9.45% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน โดยเป็นการส่งออก 239,495 ล้านบาท ลดลง 9.68% และนำเข้า 175,746 ล้านบาท ลดลง 9.13% ทำให้ไทยเกินดุลการค้า 63,749 ล้านบาท

ผลพวงมาจากการประกาศปิดจุดผ่านแดนถาวรของไทย ความต้องการสินค้าและปัจจัยการผลิตของประเทศเพื่อนบ้านที่ลดลง ส่งผลให้ตัวเลขค้าชายแดนหดตัวอย่างที่ปรากฏ

การปลดล็อกเฟส 5 ที่เป็นเสมือนการจุดประกายความหวังทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะการอนุมัติให้เปิดจุดผ่านแดน จุดผ่อนปรนเพิ่มเติม 9 จุดใน 9 จังหวัด โดยมีเป้าประสงค์เพื่อการค้าชายแดนกระเตื้องขึ้น

โดย ศบค. มีคำสั่งเปิดจุดผ่านแดนเพื่อการขนส่ง 9 จุด 9 จังหวัด ได้แก่ 1. จุดผ่านแดนถาวรท่าเรือหนองคาย จ.หนองคาย 2. จุดผ่านแดนถาวรบ้านคกไผ่ อ.ปากชม จ.เลย 3. การผ่อนปรนเปิดช่องทาง/ท่าข้ามธรรมชาติ ตลาดแนวชายแดนไทย-พม่า จ.ตาก 4. จุดผ่อนปรนการค้าบ้านห้วยต้นนุ่น อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน 5. จุดผ่อนปรนการค้าบ้านแจมป๋อง อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย 6. จุดผ่านแดนถาวรบ้านผักกาด อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี 7. จุดผ่านแดนถาวรปาดังเบซาร์ และจุดผ่านแดนถาวรด่านบ้านประกอบ จ.สงขลา 8. จุดผ่อนปรนพิเศษด่านสิงขร อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ 9. จุดผ่านแดนถาวรบ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี

ชีวิตวิถีใหม่หรือ New Normal ไม่ได้จำกัดแต่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนเท่านั้น ทว่า บรรดาผู้ประกอบการล้วนแล้วแต่ต้องพบกับความท้าทายนี้ด้วยเช่นกัน ไม่ใช่เพียงแต่ต้องประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอดในสถานการณ์ที่ยากลำบาก แต่การต้องปรับตัวอาจกลายเป็นคีย์หลักที่จะเป็นคำตอบว่า ผลประกอบการจะเป็นอย่างไร

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า Covid-19 จะเป็นจุดเปลี่ยนสำหรับธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการค้าชายแดนและผ่านแดนที่ต้องบริหารจัดการธุรกิจ ท่ามกลางรายได้จากการส่งออกที่หายไปตามกำลังซื้อของประเทศเพื่อนบ้าน ที่เผชิญวิกฤตเดียวกัน

เพราะนอกจากตัวเลขการส่งออกอาหารสด ผัก ผลไม้หดตัวในอัตราสูงถึง 38.1% ซึ่งเกิดจากความอ่อนไหวด้านระยะเวลาขนส่งที่มากขึ้น นอกจากนี้ การส่งออกอาหารในภาพรวมยังต้องเผชิญกับต้นทุนการขนส่งที่ไม่แน่นอนในการรับมือกับมาตรการเฉพาะหน้าอย่างการคัดกรองบุคคลข้ามแดนที่มีผลอย่างมากต่อการขนส่ง

รวมถึงมาตรการความปลอดภัยอื่นๆ ที่จะส่งผลในระยะต่อไป กลายเป็นวิถีการขนส่งข้ามแดนรูปแบบใหม่จนกว่าการแพร่ระบาดจะคลีคลายอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า การส่งออกอาหารผ่านชายแดนในปี 2563 อาจไม่ราบรื่นตลอดปี เนื่องจากมีการส่งออกอาหารสด ผักและผลไม้ในสัดส่วนถึงร้อยละ 30 ของการส่งออกอาหารผ่านชายแดน อีกทั้งสินค้าเกือบทั้งหมดมีปลายทางตลาดอยู่ที่เวียดนามและจีน ซึ่งต้องขนส่งผ่าน สปป. ลาว และต้องปรับตัวรับมือกับบางมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการขนส่งสินค้าอาหารสดที่ต้องแข่งกับเวลา รวมทั้งการปรับตัวในระยะยาวให้พร้อมรับมือกับมาตรฐานความปลอดภัยและสุขอนามัยตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงมือผู้บริโภค ซึ่งนานาประเทศจะให้ความสำคัญมากขึ้นในระยะข้างหน้า

นอกจากนี้ วิถีปฏิบัติแบบเดิมยังเป็นโจทย์สำคัญของภาครัฐที่ต้องเร่งผลักดันลดอุปสรรคในการขนส่งสินค้าในภูมิภาคให้สามารถเชื่อมโยงกันในทางปฏิบัติได้ทุกเส้นทาง เพื่อบรรเทาปัญหาจากความไม่แน่นอนหากไวรัสกลับมาลุกลามอีกครั้ง อาทิ การเจรจาให้แต่ละประเทศอะลุ่มอล่วยกฎระเบียบภายในเพื่อให้ทุกประเทศได้ประโยชน์ร่วมกันในการขนส่งสินค้า

การพึ่งพิงตลาดต่างชาติ ท่ามกลางสถานการณ์ร้ายๆ ที่กำลังอุบัติ และส่งผลให้เศรษฐกิจในหลายประเทศเข้าสู่ภาวะชะงักงันเช่นนี้ อาจเป็นเหมือนการจุดไฟจากเทียนเล่มเล็ก ท่ามกลางพายุที่โหมกระหน่ำ ดูจะเป็นเรื่องยากที่ผู้ประกอบการจะผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้อย่างไร้บาดแผล

ใส่ความเห็น