วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > ปลดล็อกห้าง จี้ 3 แนวทางยกเครื่องธุรกิจ

ปลดล็อกห้าง จี้ 3 แนวทางยกเครื่องธุรกิจ

แม้ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ยอมผ่อนคลายมาตรการในกลุ่มศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้าและคอมมูนิตี้มอลล์ แต่ผลพวงการล็อกดาวน์หลายๆ ครั้ง บางครั้งมีคำสั่งแบบฟ้าผ่า ไม่ทันตั้งตัว ทำให้ร้านค้าปลีก โดยเฉพาะกลุ่มร้านอาหารทบทวนแนวทางการเปิดสาขา เพื่อลดความเสี่ยง เพราะไม่มีใครฟันธงชัดเจนจะไม่มีการระบาดรอบใหม่เกิดขึ้นอีก

ทั้งนี้ กลุ่ม 8 สมาคมธุรกิจ ได้แก่ สมาคมศูนย์การค้าไทย สมาคมธุรกิจร้านอาหาร กลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมคลีนิกเอกชน สมาคมวิชาชีพช่างผมไทย สมาคมผู้ประกอบการสปาไทย สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย และสมาคมสนามกอล์ฟไทย รวมตัวเคลื่อนไหวยื่นหนังสือต่อ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ผอ.ศปก.ศบค.) และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อผลักดันแนวทางการลดระดับการล็อกดาวน์ 3 ระยะ

ระยะที่ 1 เริ่มวันที่ 1 กันยายน ได้แก่ เปิดธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มนั่งรับประทานที่ร้าน ร้อยละ 50 และเปิดธุรกิจก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งบ้าน คลินิกทันตกรรม ร้านนวด สปาเฉพาะนวดเท้า คลินิกเวชกรรม ธุรกิจเสริมสวยงดเว้นบริเวณใบหน้า ธุรกิจไอทีอุปกรณ์สื่อสารและไฟฟ้า อาคารสำนักงาน ธุรกิจบริการ เช่น ล้างรถ ซ่อมกุญแจ ไปรษณีย์ เบ็ดเตล็ด เช่น ร้านตัดแว่น สนามกอล์ฟ และกีฬากลางแจ้ง

ระยะที่ 2 เริ่มวันที่ 15 กันยายน เปิดธุรกิจร้านอาหารแบบนั่งรับประทานที่ร้าน ร้อยละ 75 ธุรกิจเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย และธุรกิจสถาบันการศึกษา

ระยะที่ 3 เริ่มวันที่ 30 กันยายน หรืออาจเร็วกว่านั้น ได้แก่ ธุรกิจร้านอาหารแบบนั่งรับประทานเต็มรูปแบบ 100% ธุรกิจประกอบการสุขภาพและสปา เครื่องเล่นเด็ก และผู้ใหญ่ ธุรกิจฟิตเนส และออกกำลังกายในร่ม ธุรกิจโรงภาพยนตร์ และห้องจัดเลี้ยง

แต่ทั้งหมดอยู่ภายใต้เงื่อนไขเข้มข้น เช่น การเสนอให้ผู้มาใช้บริการต้องได้รับการฉีดวัคซีน ทำสวอบเทสต์ พนักงานต้องได้รับวัคซีนแล้ว 2 เข็ม ปลอดโรค ถ้ายังไม่ได้รับวัคซีนต้องได้รับการตรวจคัดกรองด้วยชุดตรวจ ATK ทุก 3 หรือ 7 วัน เพราะการควบคุมสถานประกอบการขนาดใหญ่อย่างศูนย์การค้าหรือห้างสรรพสินค้าที่มีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากอาจเกิดช่องโหว่ได้ตลอดเวลา และหากเกิดการติดเชื้อย่อมหมายถึงการกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้ง

นั่นทำให้ธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ต้องพลิกกระบวนท่าและคำนึงถึงเงื่อนไขต่างๆ ทั้งในแง่การบริหารพื้นที่เช่าและกลยุทธ์ทางการตลาดดึงดูดกลุ่มลูกค้า

หากย้อนดูการล็อกดาวน์ช่วงปี 2563 มีการสั่งปิดให้บริการห้างสรรพสินค้า ยกเว้นซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านยา แต่ให้ร้านอาหารเปิดให้ขายหน้าร้านกับลูกค้าได้ และแม้ยอดตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่สูงมาก แต่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจมาก เนื่องจากยอดลูกค้าลดลงจนเจ้าของพื้นที่ค้าปลีกต่างทบทวนโครงการและแผนการลงทุน ปรับเปลี่ยนสัญญาเช่าและเพิ่มนวัตกรรมใหม่ๆ ภายในศูนย์การค้า

ขณะที่ผู้เช่าส่วนใหญ่ลดขนาดและปรับรูปแบบพื้นที่เช่า เพื่อลดค่าใช้จ่าย ผู้เช่ากลุ่มธนาคารต่างย้ายสู่แพลตฟอร์มออนไลน์และต้องการพื้นที่สาขาน้อยลง ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเน้นบริการส่งอาหาร (ดีลิเวอรี) มากขึ้น ร้านขายสินค้าแฟชั่นขยายช่องทางการจัดจำหน่ายหลากหลายมากขึ้น และแทบทุกรายเปลี่ยนสถานะการเช่าจากแบบถาวรเป็นแบบชั่วคราวและพัฒนาร้านค้ารูปแบบเล็กลง เช่น ป๊อปอัปสโตร์ เพื่อรักษาผลกำไรในช่วงที่สถานการณ์ไม่แน่นอน

มาปี 2564 มาตรการล็อกดาวน์เข้มข้นมากขึ้น เนื่องจากยอดตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 พุ่งสูงต่อเนื่อง โดยเฉพาะการกำหนดให้ร้านอาหารในศูนย์การค้าขายได้เฉพาะช่องทางดีลิเวอรีผ่านไรเดอร์ ห้ามขายหน้าร้านกับลูกค้า จนมีหลายรายดิ้นหนีตายออกไปหาพื้นที่นอกห้าง เพื่อทำครัวกลางและขายให้ลูกค้าโดยตรง นอกเหนือจากช่องทางดีลิเวอรี

จริยา ถ้ำตรงกิจกุล หัวหน้าแผนกพื้นที่ค้าปลีก ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวกับ “ผู้จัดการ 360” ว่า การหันไปเปิดหน้าร้านนอกห้างส่วนใหญ่เป็นการเช่าชั่วคราว ทำสัญญาเช่าระยะสั้น 3-6 เดือน และพิจารณาต่อสัญญาตามสถานการณ์ เพราะสำรวจพื้นที่ส่วนใหญ่ หากเช่าระยะยาวอาจต้องปรับปรุงพื้นที่ โดยเฉพาะการทำที่นั่ง แก้ไขงานระบบ และงานโครงสร้าง ซึ่งมีต้นทุนสูง ประกอบกับพื้นที่บางส่วนอาจไม่สะดวกให้ลูกค้าเข้ามานั่งรับประทานในร้านในอนาคต เช่น ไม่มีที่จอดรถ หรือลูกค้าต้องตั้งใจเดินทางมาที่ร้านเท่านั้น ไม่สะดวกเหมือนศูนย์การค้า

อย่างไรก็ตาม หากมองในระยะยาวผู้ประกอบการร้านอาหารบางส่วนที่ไม่สามารถจ่ายอัตราค่าเช่าพื้นที่ในศูนย์การค้าได้ จะหาพื้นที่ใหม่ๆ ตามสถานีบริการน้ำมัน หรืออาคารพาณิชย์ที่มีที่จอดรถ เพื่อรองรับการนั่งรับประทานในร้าน หรือบริการ Drive thru และสร้างครัวกลางในอัตราค่าเช่าที่ถูกกว่า

แน่นอนว่า กลุ่มศูนย์การค้าจำเป็นต้องยกเครื่องการบริหารพื้นที่เช่า เพราะนับจากนี้ผู้ประกอบการร้านอาหารจะหันไปเน้นการทำตลาดออนไลน์และเน้นช่องทางดีลิเวอรีมากกว่าการนั่งรับประทานตามวิถีชีวิต New Normal ที่ยังต้องหวั่นเกรงกับการกลับมาระบาดรอบใหม่

ทั้งนี้ ซีบีอาร์อีระบุว่า มี 3 หลักการที่ผู้พัฒนาและบริหารศูนย์การค้าต้องปรับวิธีการใหม่ อันดับแรกและสำคัญสูงสุด คือ Customer Experience Centric การมอบประสบการณ์ที่ผู้มาใช้บริการหาไม่ได้จากที่อื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีไซน์ที่น่าสนใจ มีพื้นที่ Community พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ พื้นที่ Hybrid ระหว่าง Indoor กับ Outdoor การใช้เทคโนโลยีสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า นำเสนอบริการที่หาไม่ได้จากบริการแบบออนไลน์ เพื่อดึงดูดลูกค้าเข้าห้างมากขึ้น

2. Agility and Adaptability เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงในตลาดที่เกิดขึ้นอย่างฉับไว ไม่ว่าจะเป็นเทรนด์ของผู้บริโภค การปรับกลยุทธ์ของผู้ประกอบการร้านค้า และแพลตฟอร์มด้านธุรกิจค้าปลีก ผู้พัฒนาและบริหารศูนย์การค้าต้องคำนึงถึงพื้นที่เช่าที่เป็น Multi-purpose สามารถใช้งานปรับเปลี่ยนหมุนเวียนได้หลายอย่างตามสถานการณ์

นอกจากนั้น การออกแบบศูนย์การค้าควรรองรับออนไลน์ Click & Collect และธุรกิจดีลิเวอรีมากขึ้น เช่น จัดเส้นทางการเดินรับส่งสินค้ารวดเร็ว เพื่อสู้กับการเปิดร้านนอกศูนย์การค้า การเพิ่มพื้นที่เก็บสินค้าในสต็อกที่สะดวกต่อการจัดส่งและขนย้าย เพิ่มพื้นที่แบบ pop-up พื้นที่ส่วนกลาง พื้นที่จัดอีเวนต์ และพื้นที่การตลาด

3. Lease and Commercial Flexibility การกำหนดเงื่อนไขสัญญาเช่าแบบยืดหยุ่นมากที่สุด เพราะค่าเช่ามีผลต่อต้นทุนธุรกิจของผู้ประกอบการโดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิด

เป็น 3 หลักการที่บรรดาห้างใหญ่ต้องรีบเดินเกม เพราะขณะนี้เริ่มมีรีเทลรูปแบบใหม่ในกลุ่มสถานีบริการน้ำมันที่มีทำเลทองทั่วเมือง ซึ่งกลุ่มศูนย์การค้ายักษ์ใหญ่คงไม่อยากสูญเสียรายได้ก้อนโตแน่

ใส่ความเห็น