วันพฤหัสบดี, มีนาคม 28, 2024
Home > On Globalization > ปรากฏการณ์ Baby Boom ในอีก 9 เดือนข้างหน้าที่สหรัฐอเมริกาเป็นไปได้หรือไม่

ปรากฏการณ์ Baby Boom ในอีก 9 เดือนข้างหน้าที่สหรัฐอเมริกาเป็นไปได้หรือไม่

Column: Women in Wonderland

การระบาดของไวรัส COVID-19 ที่มียอดผู้เสียชีวิตทั่วโลกทะลุกว่า 282,000 คนไปแล้ว และจำนวนผู้ติดเชื้อกว่า 4 ล้านคน (พ.ค. 63) ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตสูงสุดในโลกคือ สหรัฐอเมริกา มีผู้ติดเชื้อกว่า 1.3 ล้านคน และเสียชีวิตมากกว่า 79,000 คน จำนวนผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 นั้นมีมากกว่าทหารสหรัฐฯ ที่เสียชีวิตในสนามรบช่วงสงครามเวียดนาม ซึ่งมีทหารเสียชีวิต 58,220 นาย

เวลานี้สถานการณ์ในสหรัฐฯ ผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อ COVID-19 ยังไม่มีแนวโน้มลดลง แต่กลับเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าก่อนหน้านี้ผู้ว่าการรัฐ 42 รัฐจาก 50 รัฐประกาศภาวะฉุกเฉินและมีมาตรการปิดเมือง โดยให้ประชาชนอยู่บ้าน แต่ประธานาธิบดี Donald Trump กลับแถลงข่าวเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2020 ว่า สหรัฐฯ วางแผนที่จะเปิดประเทศในเร็วๆ นี้ เนื่องจากมาตรการปิดเมืองทำให้มีคนตกงานมากกว่า 22 ล้านคน (22 ล้านคนคือคนที่ลงทะเบียนว่างงานกับหน่วยงานรัฐ) ดังนั้น การกลับมาเปิดเมืองและเปิดประเทศน่าจะพอทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นมาบ้าง

ผู้ว่าการรัฐบางรัฐไม่ค่อยเห็นด้วยกับนโยบายของ Trump ที่จะให้เปิดเมืองทั้งที่อัตราการติดเชื้อ COVID-19 ยังเพิ่มขึ้น และจำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อผู้ว่าการรัฐบางรัฐให้สัมภาษณ์ว่าไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ และในรัฐของตัวเองจะยังคงมาตรการปิดเมืองไว้ก่อน ทำให้ประชาชนที่อยู่ในรัฐนั้นไม่เห็นด้วยออกมาประท้วงเพื่อทวงคืนเสรีภาพ เพราะเชื่อว่าการที่ประธานาธิบดีออกมาประกาศว่าจะเปิดเมือง ทำให้พวกเขาเชื่อว่า การระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ไม่ร้ายแรงอย่างที่รายงานในข่าว เพราะประธานาธิบดีประกาศที่จะเปิดประเทศ แต่ผู้ว่าการรัฐกลับไม่ยอม ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าถูกลิดรอนสิทธิและเสรีภาพ และบางส่วนที่ออกมาประท้วงก็เพราะไม่ต้องการอยู่แต่ที่บ้าน แต่ต้องการออกมาทำงานหาเงินเลี้ยงดูครอบครัว พวกเขาเชื่อว่าสามารถดูแลตนเองได้ และจะปลอดภัยจากการติดเชื้อ

Trump เริ่มมีมาตรการเปิดเมืองตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2020 จากการประท้วงของประชาชนทำให้บางรัฐประกาศเปิดเมืองและอนุญาตให้บางกิจการกลับมาเปิดกิจการได้ก่อนวันที่ 1 พฤษภาคม เป็นเรื่องที่ต้องติดตามว่า เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากไวรัส COVID-19 ยังไม่มีแนวโน้มลดลง แต่กลับตัดสินใจเปิดเมืองให้ประชาชนกลับมาทำงาน และคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะกลับมาดีขึ้น จะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวหรือไม่ เพราะหากไม่มีการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ก็จะทำให้การระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 มีวงกว้างมากขึ้นและมีผู้ที่ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นอีกเป็นเท่าตัว

สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ คือทุกครั้งที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโรค หรือเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ อย่างเช่นการเกิดพายุหิมะ หรือเฮอร์ริเคน เป็นต้น ผู้คนมักพูดคุยหรือวิเคราะห์กันว่า หลังจากนี้ไปอีก 9 เดือนน่าจะมีปรากฏการณ์ Baby Boom หรือไม่ เพราะเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค หรือการเกิดพายุที่มีความรุนแรง ประชาชนจะถูกสั่งให้อยู่แต่ในบ้าน แน่นอน เมื่อต้องอยู่แต่ในบ้าน ทำให้คู่รักหลายคู่มีโอกาสอยู่ด้วยกันมากขึ้น ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่ในอีก 9 เดือนข้างหน้า จะเกิดปรากฏการณ์ Baby Boom ขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น ในสหรัฐฯ จากการเกิดพายุเฮอร์ริเคน Sandy ในปี ค.ศ. 2013 พายุหิมะในรัฐนิวยอร์ก ในปี ค.ศ. 2015 และพายุเฮอร์ริเคน Harvey, Irma และ Maria ในปี ค.ศ. 2017 หลังจากเกิดพายุเหล่านี้ มีงานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่า อีก 9 เดือนต่อมามีอัตราการเกิดของเด็กทารกเพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยของ Richard W. Evans, Yingyao Hu และ Zhong Zhao ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่งานวิจัยเรื่อง The fertility effect of catastrophe: U.S. hurricane births ในปี 2008 งานวิจัยนี้ยืนยันว่า ทุกครั้งที่มีการเกิดพายุเฮอร์ริเคนหรือพายุโซนร้อนในสหรัฐฯ ในอีก 9 เดือนข้างหน้าจะมีอัตราการเกิดของเด็กทารกเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน

หรืออย่างเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลา (Ebola) ในปี ค.ศ. 2016 อัตราการเกิดของเด็กทารกในประเทศแถบแอฟริกาตะวันตกก็มีเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน โดยอัตราการเกิดนั้นมีเพิ่มมากขึ้นไปจนถึงเดือนที่ 18 หลังจากเกิดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ก็เช่นกัน เมื่อรัฐบาลประกาศใช้มาตรการปิดเมืองหรือปิดประเทศ และให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้หลายคนคาดการณ์ว่าหลังจากนี้อีก 9 เดือนโลกของเราน่าจะมีปรากฏการณ์ Baby Boom เกิดขึ้น

อย่างในกรณีของยูเครน ประธานาธิบดี Volodymyr Zelensky มีนโยบายให้ประชาชนอยู่บ้านไม่ออกไปไหนเหมือนกับประเทศอื่น และยังกล่าวสนับสนุนให้ประชาชนใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์ด้วยการช่วยกันเพิ่มจำนวนประชากร เพื่อในอีก 9 เดือนข้างหน้าประเทศยูเครนจะมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น และส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติหรือแม้แต่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสก็ไม่ได้มีแนวโน้มเสมอไปว่าจะมีอัตราการเกิดของเด็กทารกเพิ่มขึ้นทุกครั้ง

การเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ อย่างเช่นความแห้งแล้ง ความอดอยาก แผ่นดินไหว และการเกิดสึนามิ อัตราการเกิดจะมีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะเมื่อครบกำหนด 9 เดือนหลังเกิดภัยพิบัติ เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะอัตราการเกิดจึงจะกลับมาเท่าเดิม

Lyman Stone นักวิจัยของ Institute for Family Studies ได้ทำการศึกษาอัตราการเกิดของเด็กทารกในฮ่องกงหลังจากที่มีการแพร่ระบาดของไวรัส SARS ในช่วงปี ค.ศ. 2002-2003 พบว่าอัตราการเกิดของเด็กทารกในฮ่องกงนั้นลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในช่วงหลังจากการเกิดการแพร่ระบาดของไวรัส SARS ครบ 9 เดือน และอัตราการเกิดยังคงน้อยกว่าปกติไปถึง 2 ปี จึงจะกลับมามีอัตราการเกิดที่เท่าเดิมกับก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่จำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักวิชาการหลายคนวิเคราะห์ว่า ปรากฏการณ์ Baby Boom ในอีก 9 เดือนข้างหน้านั้นน่าจะเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่อัตราเกิดลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Economic Recession) ครั้งใหญ่ในปี ค.ศ. 2009 ที่เกิดการล้มละลายครั้งใหญ่ของภาคการเงิน เมื่อสถาบันการเงินชั้นนำ Lehman Brothers ล้มละลาย เกิดวิกฤตการเงินส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก จากภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งนั้นทำให้อัตราเกิดในสหรัฐฯลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดเจน

ผลกระทบจากเศรษฐกิจถดถอยในครั้งนั้นยังคงมีอยู่ การจะหางานที่มั่นคงและมีบ้านเป็นของตัวเองสำหรับคนหนุ่มสาวเป็นไปได้ยาก และเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ก็ทำให้คนตกงานถึง 10 ล้านคนภายในเวลา 2 สัปดาห์ และคนที่ยังมีงานทำก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าตัวเองจะมีงานทำไปอีกนานแค่ไหน ดังนั้น ก่อนตัดสินใจมีลูกทุกคนจึงคิดมากขึ้น ระมัดระวังเรื่องการใช้เงินมากขึ้น ทำให้การจะเกิดปรากฏการณ์ Baby Boom ในสหรัฐฯ นั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

ไม่ได้มีเพียงแค่นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจเท่านั้นที่วิเคราะห์ว่าสหรัฐฯ จะไม่เกิดปรากฏการณ์ Baby Boom ขึ้น แต่นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านประชากรศาสตร์ก็ยืนยันไปในทิศทางเดียวกันว่า ในอีก 9 เดือนข้างหน้าจะไม่มีอัตราการเกิดเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

Alison Gemmill นักวิชาการด้านประชากรศาสตร์จาก John Hopkins University อธิบายว่า คนหนุ่มสาวในสหรัฐฯ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการมีครอบครัวมามากกว่า 10 ปีแล้ว ปัจจุบันการตั้งครรภ์ในเด็กวัยรุ่นนั้นมีน้อยมาก คนหนุ่มสาวจะเริ่มแต่งงานเมื่ออายุใกล้ 30 ปี รวมถึงจากการเก็บข้อมูลในปี 2018 พบว่า 2 ใน 3 ของผู้หญิงอายุ 15-49 ปี มีการใช้ยาคุมหรือถุงยางป้องกันการตั้งครรภ์ เพราะพวกเขาไม่ต้องการที่จะมีลูก และเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 อัตราการเกิดเพิ่มมากขึ้นในช่วงนี้จึงน่าจะเป็นไปได้ยาก และในคนหนุ่มสาวที่วางแผนจะมีลูกก็อาจเลื่อนออกไป เพราะการจะไปหาหมอเพื่อฝากครรภ์ก็อาจจะทำได้ยาก เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และโรงพยาบาลก็อนุญาตให้ผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยรุนแรงเท่านั้นในการเข้าไปติดต่อรักษา การตั้งครรภ์ในตอนนี้จึงมีความเสี่ยงสูง

ไม่ว่าจะคิดถึงด้านเศรษฐกิจที่ปัจจุบันมีจำนวนคนตกงานเพิ่มขึ้น เจ้าของธุรกิจที่ประสบปัญหาด้านการเงิน หรือแม้แต่การปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตของคนหนุ่มสาวในสหรัฐฯ ก็จะได้ข้อสรุปเดียวกันว่า การจะเกิดปรากฏการณ์ Baby Boom ในอีก 9 เดือนข้างหน้าไม่มีทางเป็นไปได้เลย และเชื่อว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นในประเทศอื่นทั่วโลกเช่นกัน

Photo Credit: https://www.freeimages.com/photo/nexus-1315248

ใส่ความเห็น