วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Home > Cover Story > ปตท. รุกหนัก เบนเข็มสู่ไฟฟ้า

ปตท. รุกหนัก เบนเข็มสู่ไฟฟ้า

การประกาศที่จะขยายการลงทุนเข้าสู่ธุรกิจใหม่ของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีนัยสำคัญอยู่ที่การขยายธุรกิจใหม่ที่ให้ผลตอบแทนสูงและมีแนวโน้มเติบโต ทั้งการเข้าสู่ธุรกิจวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และการรุกเข้าสู่ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในด้านหนึ่งดูจะเป็นกรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของการขับเคลื่อน ปตท. ให้ก้าวเดินต่อไป เป็นการปรับเปลี่ยนที่สอดรับกับทั้งสถานการณ์ที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันและที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

ก่อนหน้านี้ ปตท. เคยระบุว่าทางกลุ่มอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับโครงสร้างธุรกิจไฟฟ้า เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการบริหารจัดการระหว่างเชื้อเพลิงประเภท Conventional ไม่ว่าจะเป็นก๊าซธรรมชาติ น้ำมันและถ่านหิน กับประเภท New Energy ที่ประกอบด้วยพลังงานหมุนเวียน (Renewable) พลังงานรูปแบบใหม่ทั้งยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจให้สอดคล้องกับทิศทางของพลังงานที่เปลี่ยนแปลงไป โดยคาดว่าจะมีข้อสรุปภายในช่วงปลายปี 2563

การปรับโครงสร้างธุรกิจดังกล่าวในด้านหนึ่งตั้งอยู่บนฐานของข้อเท็จจริงที่ว่าการเติบโตของพลังงานของโลกในอนาคตจะมุ่งไปสู่พลังงานรูปแบบใหม่ ๆ โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น แม้ว่าในส่วนของการผลิตไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลจะยังมีความสำคัญอยู่ในช่วง 10 ปีนี้ โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ เพราะถือว่าเป็นพลังงานสะอาดและเป็นพลังงานหลักที่จะมีส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานในระยะยาวก็ตาม

ระยะเวลาที่ผ่านมาธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่ม ปตท. แม้จะมีบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเป็นแกนหลัก แต่ ปตท. มอบหมายให้บริษัทลูกในเครือ ปตท. ทั้ง บมจ. ไทยออยล์ (TOP) บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) และ บมจ. ไออาร์พีซี (IRPC) ให้ร่วมกันศึกษาถึงโอกาสที่จะสนับสนุน New Energy ของกลุ่ม ปตท. ด้วยเช่นกัน

แผนการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีด้านพลังงาน เช่น กริด เน็ตเวิร์ค รวมถึงธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และโรงงานแบตเตอรี่ต้นแบบ เพื่อต่อยอดตั้งโรงงานรถอีวีในอนาคต จึงเป็นภาพสะท้อนของการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างเป็นระบบ โดย ปตท. วางแผนศึกษาภาคอุตสาหกรรมแบตเตอรี่เพื่อใช้ในรถอีวีนอกเหนือจากการเดินหน้าทำสถานีประจุไฟฟ้า (ชาร์จจิ้ง สเตชั่น) ซึ่งต้องติดตามปริมาณการใช้รถอีวีในอนาคตว่าจะมีมากน้อยเพียงใด เพื่อให้เกิดความคุ้มค่ากับการลงทุน ขณะเดียวกันยังได้ศึกษาระบบกักเก็บพลังงาน (เอนเนอร์ยี่ สตอเรจ) โดยให้บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ จีพีเอสซี ดำเนินการศึกษาทั้งแนวโน้มตลาดและแนวทางการดำเนินงาน

ขณะเดียวกันการรุกคืบทางธุรกิจของ ปตท. ล่าสุดไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในมิติของการเป็นผู้ให้บริการด้านพลังงานเท่านั้น หากยังแสดงออกไปถึงความสนใจที่จะเข้าร่วมผลิตรถอีวี เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันอุตสาหกรรมดังกล่าวให้เกิดขึ้นในประเทศไทย เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้และการลงทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตรถยนต์สันดาป และเป็นฐานการผลิตอันดับต้น ๆ ของโลกอยู่แล้ว ซึ่งการเข้าร่วมการผลิตรถอีวีของ ปตท. นั้น จะเป็นปัจจัยที่ช่วยผลักดันประเทศให้ไปสู่ศูนย์การผลิตได้ง่าย และเป็นการเติมเต็มแผนพัฒนาธุรกิจของ ปตท. ให้ครอบคลุมครบวงจร เพราะการที่จะสร้างโรงงานแบตเตอรี่ และผลิตแบตเตอรี่จำเป็นต้องมีรถยนต์ EV หรือโรงงานผลิตรถยนต์ EV มารองรับในลักษณะที่พร้อมจะก่อให้เกิด Value chain อีกด้วย

หากแต่ประเด็นที่น่าสนใจจากกรณีดังกล่าวในห้วงเวลาปัจจุบันไม่ได้อยู่ที่ความสนใจของ ปตท. ในการผลักดันธุรกิจเหล่านี้เท่านั้น แต่อยู่ที่การพิจารณาความชัดเจนของนโยบายรัฐ ว่าจะมีการสนับสนุนเพิ่มเติมอย่างไร และมีมาตรการต่อกรณีของยานยนต์ไฟฟ้าไปในทิศทางไหน เพราะปัจจุบันกรณีดังกล่าวยังมีเพียงภาคเอกชนเท่านั้นที่ดำเนินการในเรื่องนี้ ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนเร็วๆ นี้

การปรับโครงสร้างธุรกิจของ ปตท. เข้าสู่ธุรกิจไฟฟ้าหลากหลายรูปแบบในด้านหนึ่งสอดรับกับข้อเท็จจริงที่ว่าภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยรุนแรงในช่วงที่ผ่านมาทำให้ความต้องการใช้พลังงานลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 ซึ่งถูกกระหน่ำด้วยการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันอากาศยานลดลงถึงร้อยละ 49 ขณะที่น้ำมันเบนซิน ลดลงร้อยละ 8 และน้ำมันดีเซล ลดลงร้อยละ 3 ซึ่งกรณีดังกล่าวส่งผลกระทบต่อธุรกิจกลุ่ม ปตท. โดยตรง และคาดว่าปริมาณยอดขายของธุรกิจในเครือจะลดลงร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 10 ยังไม่นับรวมถึงผลกระทบว่าด้วย Stock loss ที่มีมูลค่ารวมกว่า 35,000 ล้านบาทจากราคาน้ำมันที่ตกต่ำลงอย่างมากเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ปตท. ให้น้ำหนักกับพลังงานยุคใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้า ซึ่ง ปตท. ประเมินว่าการใช้ก๊าซธรรมชาติ จะกลายมาเป็น Transition Fuel ไปสู่พลังงานสะอาดซึ่งโดยปัจจุบันการซื้อขายและขนส่งลำเลียงก๊าซธรรมชาติ ดำเนินไปในรูปแบบก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG เพิ่มขึ้น ซึ่ง ปตท. ได้ปรับกลยุทธ์การลงทุนระยะยาวปี 2030 โดยจะมีการเพิ่มการลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลวเป็นหลักเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้งานที่จะเพิ่มสูงขึ้นตลอดระยะเวลา 10 ถึง 15 ปีข้างหน้า

ขณะเดียวกัน ปตท. ก็ได้เตรียมขยายสัดส่วนการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าโดยเน้นการลงทุนแบบ Gas to Power เพื่อให้เกิด Synergy กันระหว่างธุรกิจทั้งเครือ ปตท. ควบคู่กับการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีการจัดเก็บพลังงานอย่างเต็มตัว โดยตั้งเป้าหมายให้ธุรกิจเหล่านี้มีกำไรสุทธิไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ในปี 2030

ก่อนหน้านี้ ปตท. ได้สำรวจความพร้อมการลงทุนโดยร่วมกับ บมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ ศึกษาพื้นที่ตามแนวท่อก๊าซธรรมชาติ และพื้นที่ตามโครงการรักษ์ป่า สร้างคน 84 ตำบลวิถีพอเพียง ของ ปตท. เพื่อลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ตามนโยบายกระทรวงพลังงานที่มีเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบ 700 เมกะวัตต์ในช่วงปี 2563-2565 ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev.1) เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน โดย ปตท. พร้อมนำร่องโครงการต้นแบบหากภาครัฐต้องการ แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างรอความชัดเจนจากภาครัฐ

นอกจากนี้ ปตท. ยังให้ความสำคัญกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยริเริ่มโครงการนำร่องการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดลอยน้ำทะเล (Floating Solar) ขนาด 100 กิโลวัตต์ ในพื้นที่บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (PTT Tank) ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ซึ่งมีพื้นที่ติดทะเลเหมาะกับการเป็นต้นแบบติดตั้งการใช้งาน โดย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) พัฒนานวัตกรรมเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษเพื่อนำมาผลิตทุ่นลอยน้ำ เพิ่มสารลดการสะสมของเพรียงทะเลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์ทะเล ขณะที่บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) ในฐานะแกนนำการดำเนินธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่ม ปตท. ให้บริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด (CHPP) เป็นผู้ออกแบบ และติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในน้ำทะเล

โดยในระยะแรกจะนำไฟฟ้าที่ผลิตได้ไปใช้ภายในสำนักงาน เพื่อเป็นต้นแบบการศึกษาและพัฒนารูปแบบทางธุรกิจ โครงการนี้เป็นภาพสะท้อนการผนวกผสานความเชี่ยวชาญของ กลุ่ม ปตท. ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อบริหารจัดการพลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเป็นโครงการแรกของประเทศไทยที่ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในน้ำทะเล ที่ไม่เพียงแต่มีส่วนสำคัญในการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นพลังงานสะอาด แต่ยังมีส่วนช่วยยกระดับการพัฒนานวัตกรรมที่ต่อยอดสู่ธุรกิจพลังงานรูปแบบใหม่ (New Energy Business) ที่กลุ่ม ปตท. ได้วางเป้าหมายไว้

จังหวะก้าวของ ปตท. และกลุ่มบริษัทในเครือที่กำลังรุกหนักในการขยายธุรกิจเข้าสู่อุตสาหกรรมไฟฟ้าอย่างเป็นระบบ ในด้านหนึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่องค์กรระดับนำของไทยกำลังบ่งบอกแนวโน้มของการพัฒนาอย่างมีทิศทางและเป้าหมายชัดเจน ท่ามกลางการบูรณาการของความชำนาญหลากหลายขององคาพยพที่แวดล้อม

หากแต่เมื่อประเมินจากมิติของนโยบายรัฐในภาพกว้าง บางทีสิ่งที่ ปตท. มุ่งหมายอาจต้องใช้เวลาอีกพอสมควรเลยทีเดียว

 

 

ใส่ความเห็น