วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > ปณต สิริวัฒนภักดี ได้เวลาลุยโปรเจ็กต์แสนล้าน

ปณต สิริวัฒนภักดี ได้เวลาลุยโปรเจ็กต์แสนล้าน

“ประเมินอย่างเดียว คือ คุณเจริญมีความเชื่อมั่นผมหรือเปล่า!!”

ปณต สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส เซ็นเตอร์พอยท์ ลิมิเต็ด ย้ำกับสื่อที่รุมยิงคำถามความมั่นอกมั่นใจในงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “One Bangkok (วัน แบงค็อก)” ซึ่งทำลายสถิติเงินลงทุนสูงสุดมากกว่า 1.2 แสนล้านบาท โดยประกาศเป้าหมายสร้างแลนด์มาร์คระดับโลกแห่งใหม่ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างบริษัท ทีซีซี แอสเซ็ท (ประเทศไทย) และบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท เฟรเซอร์ส เซ็นเตอร์พอยท์ ลิมิเต็ด

ที่สำคัญ วัน แบงค็อก เป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยโปรเจ็กต์แรกที่เครือทีซีซีกรุ๊ปผนึกกำลังกับกลุ่มเฟรเซอร์ส เซ็นเตอร์พอยท์ ลิมิเต็ด ในเครือเอฟแอนด์เอ็น หลังเจริญ สิริวัฒนภักดี ทุ่มเม็ดเงินกว่า 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3 แสนล้านบาท ซื้อกิจการ “เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ” หรือ เอฟแอนด์เอ็น บริษัทอาหารเครื่องดื่ม และอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 130 ปี ในประเทศสิงคโปร์เมื่อต้นปี 2556

ขณะเดียวกัน ยังเป็นแผนการสร้าง “เมือง” ที่ “เจริญ” ไฟเขียวให้ลูกชายคนเล็ก “ปณต” เปิดตัวลุยเดี่ยวบริหารโครงการทั้งหมด ชนิดที่ยกครอบครัวในตระกูล “สิริวัฒนภักดี” ทุกคน และผู้บริหารระดับสูงของบริษัทในเครือ เข้ามารับรู้ศักยภาพและอนาคตของลูกชายคนสุดท้องผู้นี้

ปณตเล่าว่า ทันทีที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ประกาศผลการประมูลให้เครือทีซีซีกรุ๊ป ชนะการประมูลเช่าที่ดินโรงเรียนเตรียมทหารเก่า บริเวณหัวมุมถนนวิทยุตัดกับถนนพระราม 4 ติดกับสวนลุมพินี เขาอยู่กับที่ดินผืนนี้ตลอด 6 ปี และทำงานสร้างโครงการ วัน แบงค็อก มากกว่าปีครึ่ง จนถึงวันนี้

“ที่สำคัญ ผมได้แบ็กดี อย่างที่คุณเจริญว่า ถ้าเราคิดดี ทำดี ได้ผลกลับมาดีแน่นอน และโครงการวัน แบงค็อก จะเป็นประตูเชื่อมประเทศไทยสู่โลก”

ตามแผนการลงทุนเบื้องต้น “วัน แบงค็อก” มีเนื้อที่รวม 104 ไร่ เพิ่มจากการประมูลสัมปทาน 99 ไร่ จะเริ่มก่อสร้างปลายปีนี้ โดยกำหนดเปิดให้บริการเฟสแรกในปี 2564 และแล้วเสร็จทั้งโครงการภายในปี 2568 ประกอบด้วย อาคารสำนักงานเกรดเอ 5 อาคาร โรงแรมหรู 5 โรงแรม ที่พักอาศัยระดับอัลตราลักชัวรี่ 3 อาคาร ร้านค้าปลีก พื้นที่กิจกรรมและศิลปวัฒนธรรม ขนาด 10,000 ตารางเมตร ทางเดินกว้างมากกว่า 40 เมตร ที่เขียวชอุ่มร่มรื่นเลาะรอบโครงการทางฝั่งถนนวิทยุและถนนพระราม 4

อย่างไรก็ตาม กว่าจะถึงวันที่เจริญให้ความเชื่อมั่น ปณตต้องใช้เวลาฝึกวิทยายุทธ์และเรียนรู้ประสบการณ์ต่างๆ จากผู้เป็นพ่อ รวมถึงพี่ๆ หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยบอสตัน และปริญญาด้าน MIS ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน

ขณะเดียวกัน เจริญพยายามปรับโครงสร้างธุรกิจและปูทางให้ลูกทั้ง 5 คน เพื่อรองรับและขยายอาณาจักรอันใหญ่โต เปลี่ยนจากยุคเริ่มต้นสู่เจเนเรชั่นที่ 2 ที่ต้องก้าวสู่โลกสากลมากขึ้น และดูเหมือนทุกอย่างกำลังลงตัว

ลูกสาวคนโตของครอบครัว อาทินันท์ และสามี คือ โชติพัฒน์ พีชานนท์ รับผิดชอบบริหารกลุ่มธุรกิจประกันและการเงิน “อาคเนย์”

“ฐาปน” คุมธุรกิจเครื่องดื่ม บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)

ฐาปนีและสามี คือ อัศวิน เตชะเจริญวิกุล บริหารบริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์มาร์เก็ต จำกัด (มหาชน) ดูแลช่องทางการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหมดและเร่งบุกตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะอาเซียน

ส่วนวัลลภาและสามี คือ โสมพัฒน์ ไตรโสรัส บริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ภายใต้บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น ทั้งโรงแรม ออฟฟิศทาวเวอร์ ศูนย์การค้า คอนโดมิเนียม ซึ่งเป็นงานที่เจริญมอบหมายให้วัลลภาตั้งแต่เริ่มต้น

สำหรับปณต พอจบการศึกษาเข้ามาลุยงานของครอบครัว ระยะแรกดูเหมือนเจริญวางตัวให้ดูแลสายธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตร โดยมีนโยบายทำอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร ทั้งวางแผนการเพาะปลูกและนำผลผลิตมาแปรรูป ในพื้นที่เพาะปลูกพืชเกษตร ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นที่ดินของเจริญที่สะสมไว้จำนวนมาก และทำสัญญากับกลุ่มเกษตรกรในลักษณะคอนแทร็คฟาร์มมิ่ง เพื่อรับซื้อผลผลิตมาแปรรูป เน้นพืชเกษตรที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทน คือ อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และยางพารา

ช่วงก่อนหน้านี้ บริษัท ทีซีซีอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท พรรณธิอร มีการลงทุนปลูกอ้อยที่ประเทศกัมพูชา พื้นที่หลายหมื่นไร่ ปลูกปาล์มน้ำมันที่เกาะกง ประเทศกัมพูชา ประมาณ 6 หมื่นไร่ รวมถึงปลูกยางพาราในประเทศไทย ล่าสุดยังลงทุนการเพาะปลูกที่ปากเซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เช่น เมล็ดกาแฟ เพื่อขยายธุรกิจใหม่

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์พลิกผัน เมื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มทีซีซีภายใต้การบริหารของวัลลภาและโสมพัฒน์เกิดจุดเปลี่ยน ทั้งปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั้งในและต่างประเทศ กำลังซื้อถดถอย ตลาดหุ้นซบเซา การเมืองวุ่นวาย การแข่งขันรุนแรง

หลายฝ่ายวิเคราะห์ปมปัญหาเกิดจากชั้นเชิงการบริหารของทีมผู้บริหารระดับสูงในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่แตกต่างจากเจริญและขาดประสบการณ์ จนส่งผลให้เป้าหมายการขึ้นแท่นท็อปทรีของเจริญภายใน 3-5 ปี นับจากบริษัท ทีซีซี แลนด์ จำกัด ร่วมทุนกับบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติจากสิงคโปร์ จัดตั้ง บริษัท ทีซีซี แคปปิตอล แลนด์ จำกัด เมื่อเดือนกันยายน 2546 ไปไม่ถึงไหน

มิหนำซ้ำ กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่จากสิงคโปร์อย่าง Capital Land ตัดสินใจถอนเงินทุนทั้งหมดที่ลงทุนในทีซีซี แคปปิตอล แลนด์ ในสัดส่วน 40% โดยขายคืนให้เจริญในราคา 2,330 ล้านบาท ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแม่ทัพจากลูกเขย โสมพัฒน์ ไตรโสรัส มาเป็นลูกชายคนสุดท้อง

ปี 2555 ทีซีซีกรุ๊ปเปิดตัวโครงการเอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟร้อนท์ พร้อมๆ กับการเปิดตัวปณต สิริวัฒนภักดี ในฐานะรองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มบริษัท ทีซีซีแลนด์ โดยถือเป็นโปรเจ็กต์แรกที่พิสูจน์ฝีมือการบุกเบิกโครงการไลฟ์สไตล์ริมแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกของกรุงเทพฯ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “เฟสติวัล มาร์เกต” (Festival Market) เนื้อที่กว่า 72 ไร่ ของถนนเจริญกรุง แต่ต้องยอมรับว่า ปณตยังบริหารเอเชียทีคแบบซุ่มเงียบ โดยมีวัลลภาและโสมพัฒน์คอยสนับสนุน

เล่ากันว่า พ่ออย่างนายเจริญเคี่ยวเข็ญลูกชายคนสุดท้อง เรียนรู้และดูแลทุกกลุ่มธุรกิจ ทั้งธุรกิจแอลกอฮอล์ และนอนแอลกอฮอล์ สินค้าอุปโภคบริโภค และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่เป้าหมายหลักอยู่ที่การบริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีมูลค่าสินทรัพย์มหาศาลและเป็นการผนึกกำลังกับยักษ์ใหญ่อย่างกลุ่มเอฟแอนด์เอ็นด้วย

ฐาปน ในฐานะลูกชายคนโตของตระกูล กล่าวกับ “ผู้จัดการ 360 ํ” ถึงน้องชายว่า น้องยอดตั้งใจมากกับโครงการ วัน แบงค็อก ทุ่มเทเวลาศึกษาอย่างจริงจัง การสร้างเมกะซิตี้ถือเป็นเทรนด์ของโลกและจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในทุกมิติ

ที่สำคัญ วันนี้น่าจะถึงเวลา “ปณต” ลุยเดี่ยวโปรเจ็กต์แสนล้าน เพื่อพิสูจน์ฝีมือว่า จะทำฝันของพ่อเป็นจริงได้หรือไม่

 

3 ยุคสู่อาณาจักร “ทีซีซี”

ยุคก่อร่างและเติบโต (ปี 2518–2541)
๐ 2518 – ซื้อกิจการบริษัทธาราน้ำทิพย์ ผู้ผลิตธารน้ำทิพย์
– ลงทุนที่ดินผืนแรกที่ อ.บ้านเพ จังหวัดระยอง
๐ 2526 – ชนะการประมูลสัมปทานโรงงานสุรา 12 แห่ง
๐ 2530 – ซื้อกิจการบริษัท ทวีพลการเกษตรและอุตสาหกรรม ปลูกปาล์มน้ำมัน
๐ 2531 – ซื้อหุ้น 39.5% บริษัทอาคเนย์ประกันภัย
๐ 2532 – ตั้งบริษัททีซีซี การเกษตร และซื้อกิจการโรงงานน้ำตาล โรงแรม บริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลชลบุรี
– ซื้อกิจการกลุ่มพันทิพย์พลาซ่า
๐ 2534 – ซื้อกิจการโรงแรมแห่งแรก “โรงแรมแม่ปิงเชียงใหม่”
๐ 2537 – ซื้อกิจการกลุ่มโรงแรมอิมพีเรียลและซื้อหุ้น 57% บริษัทอินทรประกันภัย
๐ 2538 – นำเบียร์ “ช้าง” ออกสู่ตลาด
๐ 2540 – ซื้อกิจการโรงแรมพลาซ่าแอทธินี นิวยอร์ก
๐ 2541 – ซื้อกิจการโรงงานน้ำตาลเพิ่มอีก 3 โรงงาน

ยุคแผ่ขยายวางรากฐาน (ปี 2542–2550)
๐ 2542 – จัดโครงสร้างกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ 15 กองทุน
๐ 2543 – เข้าซื้อโรงงานสุราจากรัฐบาล 12 แห่ง
๐ 2544 – ถือหุ้นในกลุ่มสินบัวหลวงและซื้อกิจการบริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน)
๐ 2545 – เข้าบริหารกลุ่มอาคเนย์
๐ 2546 – ก่อตั้ง บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
– จัดตั้งบริษัทร่วมทุน ทีซีซี แคปปิตอลแลนด์ เริ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
๐ 2547 – รวมกลุ่มอาคเนย์และจัดตั้งอาคเนย์แคปปิตอล
๐ 2548 – ก่อตั้ง บริษัท ทีซีซี แลนด์ จำกัด
๐ 2549 – หุ้นไทยเบฟจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์
– ไทยเบฟซื้อบริษัท Pacific Spirit (UK) Limited
– จัดตั้ง บริษัททีซีซี อุตสาหกรรมการเกษตร
– ซื้อโรงแรมในต่างประเทศ 6 โรงแรม
๐ 2550 – เริ่มลงทุนการเพาะปลูกที่ปากเซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และซื้อกิจการบริษัทอาหารสยาม จำกัด (มหาชน)
– บีเจซีถือหุ้น 50% ในบริษัทไทยเบฟเวอร์เรจ แคน จำกัด ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์อะลูมิเนียม รายใหญ่
– ซื้อหุ้นบริษัทยูนิเวนเจอร์ จำกัด (มหาชน)

ยุคมุ่งสู่สากล
๐ 2551 – ไทยเบฟเข้าซื้อหุ้น บมจ.โออิชิ กรุ๊ป
– บีเจซีซื้อกิจการ บริษัท เจซี ฟูดซ์ ของประเทศมาเลเซีย เพื่อขยายธุรกิจ
๐ 2552 – รีแบรนด์ “อาคเนย์”
๐ 2553 – บีเจซีร่วมทุนกับโอเว่น อิลินอยส์ อิงค์ และซื้อหุ้นมาลายากล๊าส โปรดักส์ เอสดีเอ็น บีเอชดี มาเลเซีย
๐ 2554 – ไทยเบฟเข้าซื้อหุ้น บมจ.เสริมสุข และซื้อกิจการบริษัทเอเชียบุคส์
๐ 2555 – เข้าซื้อหุ้น บ.เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ (F&N)
– ยูนิเวนเจอร์ ซื้อหุ้นบริษัทโกลเด้นแลนด์ จำกัด (มหาชน)
– เปิด “เอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟรอนท์” คอมมูนิตี้มอลล์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
๐ 2558 – ไทยเบฟเดินหน้า “Vision 2020” เพื่อเป็นบริษัทเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดและมีผลกำไรสูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายในปี 2563
– ตั้งบริษัท ฟู้ดออฟเอเชีย จำกัด ขยายฐานธุรกิจอาหารและเจาะตลาดอาเซียน
๐ 2559 – ซื้อหุ้นกิจการ “บิ๊กซี” ในประเทศไทย 58.55% จาก “คาสิโนกรุ๊ป” มูลค่า 122,400 ล้านบาท และทำเทนเดอร์ออฟเดอร์กวาดซื้อหุ้นเพิ่มเป็น 97.94% รวมมูลค่าราว 2 แสนล้านบาท
๐ 2560 – บริษัท ทีซีซี แอสเซ็ท (ประเทศไทย) จำกัด ผนึกกำลังกับบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) เปิดตัวโครงการ “One Bangkok” มูลค่าการลงทุนมากกว่า 1.2 แสนล้านบาท

ใส่ความเห็น