วันอังคาร, มีนาคม 19, 2024
Home > Cover Story > บี.กริม รุกคืบจาก CLMV สู่ AEC ยุทธศาสตร์แห่งการพัฒนา

บี.กริม รุกคืบจาก CLMV สู่ AEC ยุทธศาสตร์แห่งการพัฒนา

หลังการสร้างความเชื่อมั่นด้วยชื่อชั้นของบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ ที่ดำเนินธุรกิจมายาวนานกว่า 100 ปี ประกอบกับการเลือกหมากในการเดินเกมธุรกิจในแต่ละครั้งได้ถูกจังหวะ แม้ว่าเคยล้มลุกคลุกคลานและเจ็บตัวมาไม่น้อยในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 กลับไม่ทำให้ความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจลดทอนลงไปแม้แต่น้อย แม้ในช่วงยามนี้ที่ภาวะเศรษฐกิจของไทยยังมองหาเสถียรภาพมั่นคงได้ยากเต็มที

กระนั้น บี.กริม ยังคงมุ่งมั่นที่จะขยายธุรกิจโรงไฟฟ้าต่อไป ด้วยยุทธศาสตร์การเลือกทำเลที่ตั้งของโครงการที่นับว่าเป็นการสร้างข้อได้เปรียบให้กับตัวเองไม่น้อย ท่ามกลางสภาวะการแข่งขันในอุตสาหกรรมธุรกิจการไฟฟ้าที่มีทั้งคู่แข่งขันที่เป็นเจ้าตลาดยึดครองพื้นที่ส่วนแบ่งอยู่เดิม และนักลงทุนหน้าใหม่ที่เริ่มเสนอตัวเข้ามาในสนามประลองแห่งนี้ด้วย

บี.กริม เพาเวอร์ เลือกปักหมุดโรงไฟฟ้า 13 ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของไทยและเวียดนาม ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ สวนอุตสาหกรรมบางกะดี นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง นิคมอุตสาหกรรมเหมราช และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ เบียนหัว

ความมั่นใจในศักยภาพและผลงานของ บี.กริม ดูจะเข้าตาบรรดานักลงทุนจากต่างแดน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านไม่น้อย ที่อาจเป็นก้าวย่างสำคัญที่ถือได้ว่าเป็นการปลดล็อกและเปิดโอกาสให้บี.กริม ที่เรียกตัวเองว่าเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก ได้เข้าไปเป็นผู้ถือสัมปทานและพัฒนาโรงไฟฟ้าในกลุ่มประเทศ CLMV โดยเฉพาะใน สปป.ลาว ที่ความเอื้ออำนวยของทรัพยากรและเป้าประสงค์ของรัฐบาลลาวที่ต้องการจะเป็น Battery of Asean ทำให้บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ ได้เข้าไปรับผิดชอบโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำใน สปป.ลาวได้หลายโครงการด้วยกัน

ไม่ว่าจะเป็นเพราะปณิธานของผู้บริหารอย่าง ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานกลุ่มบริษัท บี.กริม ที่เคยบอกไว้ว่า “ทุกโครงการที่เราเข้าไปต้องนำประโยชน์มาให้พื้นที่นั้นๆ มากที่สุด และรบกวนธรรมชาติให้น้อยที่สุด” หรือเพราะศักยภาพของบริษัท บี.กริม ทำให้การเดินทางไปโรดโชว์ยังต่างประเทศได้รับเสียงตอบรับและนำมาซึ่งการเซ็นสัญญา MOU ปอยเปต พีพีเอสอีแซดโค ซึ่ง MOU มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเสนอกรรมสิทธิ์เพื่อพัฒนาและควบคุมโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้า ผ่านข้อตกลงจัดซื้อพลังงานสำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษปอยเปต

นอกจากนี้ยังมีโครงการโซลาร์เซลล์ในมาเลเซีย ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาและเตรียมการ กระนั้นโครงการการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในเมืองมิงดานาว ประเทศฟิลิปปินส์ กลับมีความน่าสนใจในหลายมิติ

เมื่อโครงการดังกล่าวเป็นความพยายามที่จะยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนฟิลิปปินส์ ที่รัฐบาลของฟิลิปปินส์มีโครงการสร้างที่อยู่อาศัยให้ผู้ที่มีรายได้น้อยหรือคนยากจน แต่การให้ของรัฐบาลฟิลิปปินส์กลับมีนโยบายที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย เมื่อหมู่บ้านในโครงการนี้รัฐบาลมีความคิดที่จะติดแผงโซลาร์เซลล์ไว้บนหลังคา โดยรัฐบาลฟิลิปปินส์เล็งเห็นประโยชน์ว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นการช่วยลดรายจ่ายของประชาชน

นโยบายของรัฐบาลประเทศฟิลิปปินส์ไม่เพียงแต่มีความน่าสนใจในการศึกษาถึงเหตุผลของโครงการเท่านั้น หากแต่ยังเป็นกระจกชั้นดีที่สะท้อนให้เห็นในบางแง่มุมของนโยบายภาครัฐไทย เมื่อไทยมีหน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องการจัดสรรและสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย หรือคนยากจน แต่กลับไม่ได้ผนวกแนวความคิดเรื่องการประหยัดพลังงานหรือการใช้พลังงานทดแทนเฉกเช่นที่รัฐบาลฟิลิปปินส์กำลังดำเนินการเพื่อประชาชน

ขณะที่เป้าหมายของการลดการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลลงให้ได้อย่างน้อย 25 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 10 ปี (2555-2564) อยู่ในแผนของกระทรวงพลังงาน นั่นหมายความว่าพลังงานทดแทนจำเป็นที่จะต้องมีบทบาทสำคัญต่อประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะพลังงานจากแสงอาทิตย์ที่รัฐมีการตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะสามารถผลิตให้ได้ถึง 2,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2564 จากปัจจุบันที่มีการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้วกว่า 336 เมกะวัตต์

ด้วยภูมิประเทศของไทยที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรทำให้ได้รับพลังงานแสงอาทิตย์โดยเฉลี่ยทั้งปีสูงกว่าเขตอื่นๆ ของโลก น่าจะทำให้ไทยมีศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ค่อนข้างมาก

ดังนั้นภาครัฐจึงได้พยายามส่งเสริมให้ภาคเอกชนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ด้วยการสนับสนุนด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการด้านภาษีและการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการลงทุน เช่น การสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ การยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบผลิตแผงโซลาร์เซลล์ การสนับสนุนการกู้ยืมเงินทุนและเงินหมุนเวียนผ่านสถาบันการเงิน

และที่ผ่านมามีเอกชนให้ความสนใจยื่นเสนอขายไฟฟ้าพลังานแสงอาทิตย์ถึง 3,393 เมกะวัตต์ ซึ่งมีผู้สนใจลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นจำนวนมาก เกินกว่าเป้าหมายที่รับซื้อ 2,000 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ตัวเลขดังกล่าวแม้ว่าจะเป็นผลตอบรับจากแนวนโยบายของภาครัฐที่เอกชนสนองตอบได้เป็นอย่างดี

หากแต่คงจะดีไม่น้อยหากภาครัฐเองเป็นผู้เข้ามาสนับสนุนประชาชนโดยเล็งเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในแง่มุมเดียวกันกับที่รัฐบาลฟิลิปปินส์กำลังดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ของ บี.กริม ที่กำลังแผ่สยายปีกในพื้นที่ภูมิภาคอาเซียนน่าจะเป็นผลมาจากความต้องการสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุน เพราะในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้การตบเท้าเดินเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชน (ไอพีโอ) เป็นครั้งแรกไม่เกิน 775,500,000 หุ้น โดยเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 705,000,000 หุ้น และหุ้นส่วนเกินจำนวนไม่เกิน 70,500,000 หุ้น โดยมี บล.กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) บล.บัวหลวง จำกัด (มหาชน) และ บล.ภัทร จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

ซึ่งหากหลังการเข้าตลาดฯ และได้รับเสียงตอบรับจากประชาชนไปในทางที่ดีแล้วนั้น คาดว่าการเจรจาทางธุรกิจที่ บี.กริม กำลังเตรียมดำเนินการกับประเทศในกลุ่มอาเซียนน่าจะจบดีลได้สวย นอกจากนี้ บี.กริม ยังได้เซ็น MOU กับ China Energy Engineering Corporation Limited (CEEC) ซึ่งเป็นบรรษัทรัฐวิสาหกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีน องค์กรที่ดำเนินธุรกิจด้านพลังงานไฟฟ้ารายใหญ่ของจีน ภายใต้กรอบความร่วมมือที่จะร่วมกันพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน

ดูเหมือนว่าการเดินเกมรุกในตลาดพลังงานบนพื้นที่ภูมิภาคอาเซียนของ บี.กริม ครั้งนี้จะอุดมไปด้วยสรรพกำลังด้านการเงิน ความพร้อมด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย และที่สำคัญคือการเลือกพาร์ตเนอร์ที่น่าจะเป็นกำลังหนุนนำส่งเสริมธุรกิจนี้ได้เป็นอย่างดี อีกทั้ง บี.กริม ยังมีแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินที่เคยได้รับมาก่อนหน้านี้มากถึง 200 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหลักการเลือกพาร์ตเนอร์ของ บี.กริม ปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) อธิบายสั้นๆ ว่า “เราเลือกพาร์ตเนอร์ที่มี Concept ใกล้เคียงกัน และเข้าใจตรงกัน”

กระนั้นเรื่องของคู่แข่งขันในตลาดนี้ น่าจะทำให้สนามประลองกำลังของธุรกิจพลังงานเป็นที่น่าจับตาไม่น้อย เพราะไม่ได้มีเพียงแต่นักลงทุนรายใหญ่ๆ เท่านั้น หากแต่ยังมีรายเล็กรายย่อยที่ตบเท้าเดินขึ้นสังเวียนแห่งนี้ เช่น บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) ที่กำลังให้ความสำคัญในตลาดพลังงานโซลาร์เซลล์ในภูมิภาคอาเซียนเช่นกัน

“เราหนีไม่พ้น คนต้องการไฟฟ้า ยกเว้นค่าแก๊สเหลือศูนย์บาท” ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานกลุ่ม บี.กริม เคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร ผู้จัดการ ฉบับ กรกฎาคม 2554 นับเป็นวิสัยทัศน์ของกลุ่มบี. กริมในช่วงที่กำลังโชติช่วง

ขณะที่บทเรียนในช่วงปี 2540 ทำให้ บี.กริม ดำเนินธุรกิจด้วยความไม่ประมาท หากแต่ว่าหลังจากที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในช่วงไตรมาส 3 ที่จะถึงนี้ บี.กริม จะดำเนินธุรกิจไปเช่นไร ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจไทยเช่นนี้ และสถานการณ์ด้านพลังงานที่ต้องการทางเลือกใหม่ ยังต้องจับตาดู

ใส่ความเห็น