วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > Cover Story > บิ๊กซี รุกไตรมาสสุดท้าย เร่งฟอร์แมตใหม่สู้ศึกปีหน้า

บิ๊กซี รุกไตรมาสสุดท้าย เร่งฟอร์แมตใหม่สู้ศึกปีหน้า

บิ๊กซีใช้โอกาสฉลองครบรอบ 25 ปี ชิมลางจัดรายการ “Big C Expo 2018” ครั้งแรกเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ชนิดตัดหน้าคู่แข่งยักษ์ใหญ่ “เทสโก้ โลตัส” ซึ่งกะเก็งแผนเปิดมหกรรมจับจ่ายส่งท้ายปี “เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์โป” ต่อเนื่องจากปีก่อน เหมือนเป็นการประกาศสงครามค้าปลีกครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า โดยเตรียมทุ่มเม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท

อัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ห้างค้าปลีกในกลุ่มบริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี ในเครือทีซีซี กรุ๊ป กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างการจัดทำแผนธุรกิจและยุทธศาสตร์การลงทุนในปี 2562 คาดจะแล้วเสร็จภายใน 6 สัปดาห์ข้างหน้า โดยเม็ดเงินลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาทจะครอบคลุมการขยายเครือข่ายธุรกิจบิ๊กซีทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้า ทั้งในแง่ความหลากหลายของสินค้าและบริการ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

“ช่วง 2 ปีที่ผมเข้ามาบริหารบิ๊กซี เห็นความเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะการเติมเต็มสินค้าให้หลากหลายและครบมากขึ้น ซึ่งสามารถสนองความต้องการของลูกค้า พิสูจน์ได้จากฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้นจาก 14 ล้านคนเป็น 16 ล้านคน มีส่วนแบ่งเพิ่มมากสุดในตลาด ซึ่งทำให้เราต้องเร่งเพิ่มจุดแข็งด้านสินค้าและบริการ การนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่ค้ามากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มนอนฟู้ด เช่น เสื้อผ้าที่ถือเป็นไอเท็มที่เราอยากให้กลุ่มลูกค้ามีสินค้าให้เลือกซื้อในราคาที่ไม่แพง รวมถึงฟอร์แมตสาขาใหม่ที่จะต่อยอดเปิดตัวเพิ่มขึ้นอีกในปีหน้า”

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า ระยะเวลา 25 ปีบนเส้นทางธุรกิจค้าปลีกของบิ๊กซีในประเทศไทยผ่านมรสุมหลายลูก ทั้งที่เริ่มต้นจาก 2 กลุ่มค้าปลีกระดับบิ๊ก คือ เครือเซ็นทรัลและเครืออิมพีเรียล โดยเปิดสาขาแรกบนถนนแจ้งวัฒนะเมื่อปี 2537 แต่เจอวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ต้องยอมให้ยักษ์ค้าปลีกต่างชาติ Casino Guichard-Perrachon หรือกลุ่มคาสิโน เข้ามาถือหุ้นใหญ่

ทว่า สุดท้ายกลุ่มคาสิโนกลับต้องขายหุ้นในบิ๊กซีทั้งหมดให้บริษัท ทีซีซี กรุ๊ป ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี หลังเจอพิษเศรษฐกิจเล่นงานและต้องระดมเงินก้อนใหญ่ไปชำระหนี้

การเปลี่ยนเจ้าของถึง 3 ครั้งในรอบ 25 ปี ไม่ใช่น้อย โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนรูปแบบและนโยบายการดำเนินธุรกิจ ซึ่งอัศวินพยายามตอกย้ำ “เอกลักษณ์” สำคัญของบิ๊กซียุคปัจจุบันในฐานะ “ห้างคนไทย หัวใจคือลูกค้า”

แน่นอนว่า สงครามค้าปลีกช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2561 จะรุนแรงขึ้น เพราะทุกค่ายต่างเร่งผลักดันเป้าหมายยอดขาย โดยเฉพาะการแข่งขันระหว่างบิ๊กซีและเทสโก้ โลตัส ซึ่งต่างฝ่ายมีรูปแบบสาขาที่หลากหลาย ตั้งแต่สาขาขนาดใหญ่ไฮเปอร์มาร์เก็ต ไลฟ์สไตล์มอลล์ ซูเปอร์มาร์เก็ต มินิซูเปอร์มาร์เก็ต และคอนวีเนียนสโตร์

ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยาระบุว่า จากภาพรวมธุรกิจโมเดิร์นเทรด 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มห้างสรรพสินค้า (Department Store) ที่มีผู้นำตลาดหลัก ได้แก่ เซ็นทรัล โรบินสัน และเดอะมอลล์

กลุ่มดิสเคาต์สโตร์ ที่มีผู้นำตลาด คือ บิ๊กซี และเทสโก้ โลตัส

กลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ต ที่มีผู้นำตลาด ได้แก่ ท็อปส์ กรูเม่ต์ มาร์เก็ต และฟู้ดแลนด์

กลุ่มร้านสะดวกซื้อ ซึ่งมีผู้นำตลาดหลัก ได้แก่ เซเว่น อีเลฟเว่น แฟมิลี่มาร์ท และลอว์สัน และกลุ่มร้านขายสินค้าเฉพาะอย่าง (Specialty Store) ที่มีผู้เล่นหลักๆ เช่น วัตสัน บู๊ทส์ ซูรูฮะ ซูเปอร์สปอร์ต

เปรียบเทียบกัน กลุ่มดิสเคาต์สโตร์มีการแข่งขันสูง แต่อัตราเติบโตกลับไม่ขยับสูงมาก เฉลี่ยเพียง 2-4% เพิ่มจากปีก่อนอยู่ที่ระดับ 2% เนื่องจากการแข่งขันด้านราคายังรุนแรงและต้องแข่งขันกับร้านค้าปลีกอื่นๆ ที่มีรูปแบบใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตาม ยังเป็นตลาดที่มีฐานลูกค้ากว้างมาก ขณะที่มีผู้ประกอบการน้อยราย หรือมีเพียง 2 รายใหญ่ คือ เทสโก้ โลตัสและบิ๊กซี

เช่นเดียวกับกลุ่มร้านสะดวกซื้อ / มินิมาร์ท คาดยอดขายจะเติบโต 3-4% จาก 3.2% ในปี 2560 แม้มีความพยายามขยายสาขาใหม่ๆ ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทั้งชุมชนย่อย ที่พักอาศัยแนวรถไฟฟ้า ศูนย์การค้าเปิดใหม่ แต่การแข่งขันมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ทั้งจากการเปิดสาขาของคู่แข่งในพื้นที่เดียวกันที่กระจุกตัวมากขึ้นและเจอคู่แข่งทางอ้อม โดยเฉพาะกลุ่มดิสเคาต์สโตร์และซูเปอร์มาร์เก็ต ที่เข้ามาชิงฐานลูกค้าในรูปแบบมินิซูเปอร์มาร์เก็ต ส่งผลให้พื้นที่การทำตลาดของร้านแต่ละสาขาแคบลง รายได้ต่อสาขาไม่สูงเช่นในอดีต

ส่วนกลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ตมีแนวโน้มเติบโตสูงต่อเนื่อง 8.5-9.5% จาก 8.3% ในปี 2560 ผลจากกำลังซื้อในตลาดกลางถึงบนค่อนข้างแข็งแกร่ง รูปแบบร้านค้าและจุดแข็งด้านคุณภาพของสินค้า มีสาขารองรับในชุมชนใหญ่ๆ สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าเฉพาะกลุ่มได้ดี

สำหรับบิ๊กซี ปัจจุบันมีรูปแบบสาขา 3 โมเดลหลัก ได้แก่ สาขาขนาดใหญ่ ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งแยกเป็นอีก 2 โมเดล คือ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ระดับปานกลางถึงล่าง และบิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า มุ่งเจาะลูกค้ารายได้ระดับปานกลางถึงบน นำเสนอสินค้าพรีเมียม อาหารสดและอาหารแห้ง รวมถึงสินค้านำเข้า ล่าสุดทั้ง 2 รูปแบบ มีสาขารวม 143 แห่ง และปีนี้ตั้งเป้าเปิดครบ 146 แห่ง

รูปแบบที่ 2 บิ๊กซี มาร์เก็ต เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายรายได้ระดับปานกลาง มีขนาดร้านไม่ใหญ่มาก เพื่อเจาะพื้นที่หัวเมืองรอง และจุดต่างจากซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป คือ จำหน่ายสินค้าทั้งอาหารสด ของใช้ในครัวเรือน เครื่องใช้ไฟฟ้า ล่าสุดเปิดให้บริการรวม 60 สาขา

รูปแบบที่ 3 มินิบิ๊กซี เป็นร้านค้าชุมชนหรือร้านสะดวกซื้อ เน้นสินค้าที่หลากหลายมากกว่าร้านสะดวกซื้อทั่วไป และมีสินค้าราคาโปรโมชันเหมือนสาขาไฮเปอร์มาร์เก็ต ล่าสุดเปิด 687 สาขา และตั้งเป้าจะเปิดครบ 800 สาขาในสิ้นปีนี้

ล่าสุด บริษัทเตรียมเผยโฉมซูเปอร์มาร์เก็ตรูปแบบใหม่ที่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงในแพลตฟอร์มใหม่ ภายใต้ชื่อ “บิ๊กซี ฟู้ดเพลส” เพื่อเป็นฟูดสโตร์เต็มรูปแบบ เน้นพื้นที่จำหน่ายแผนกอาหารสดที่ใหญ่กว่าทุกแพลตฟอร์ม ชูจุดเด่นกลุ่มอาหารพร้อมรับประทาน (Ready Meal) และอาหารออร์แกนิก (Organic Food) ปรับเปลี่ยนคอนเซ็ปต์จากเดิม โมเดลฟู้ดเพลสจะเน้นเปิดตามย่านชานเมืองและหัวเมืองรอง เพื่อให้แพลตฟอร์มใหม่เข้ามารองรับแผนเจาะกลุ่มลูกค้าในเมือง หรือโซนดาวน์ทาวน์ แหล่งธุรกิจ ย่านชุมชนใจกลางเมือง

ตามแผน บิ๊กซีจะประเดิมบิ๊กซี ฟู้ดเพลส ซึ่งไม่ใช่รูปแบบเต็ม 100% ในโครงการเกตเวย์บางซื่อ ช่วงเดือนตุลาคม 2561 เพื่อทดลองการตอบรับของกลุ่มลูกค้า เนื่องจากเกตเวย์บางซื่อมีลักษณะเป็นโซนดาวน์ทาวน์ ไม่ห่างจากสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน บางโพ และรถไฟฟ้าสายสีม่วงสถานีเตาปูน เพียง 650 เมตร มีทั้งกลุ่มวัยรุ่น คนวัยทำงาน และผู้อยู่อาศัยอย่างหนาแน่น ก่อนลุยสาขาเต็มรูปแบบแห่งแรกช่วงปลายปี 2562 ในโครงการสามย่านมิตรทาวน์

อัศวินย้ำว่า บริษัทจะพัฒนาต่อยอดโมเดลใหม่ออกมาอย่างต่อเนื่อง หลังจากโมเดล ฟู้ดเพลส เปิดตัว 2 สาขาแรกที่เกตเวย์บางซื่อ และสามย่านมิตรทาวน์ ทั้งการอัพเกรดสาขาเดิมหรือการเปิดสาขาใหม่

ด้านเทสโก้ โลตัส ล่าสุดเปิดสาขาลำดับที่ 2,000 ที่บางกรวย-ไทรน้อย โดยถือเป็นสาขาที่มีพื้นที่จำหน่ายสินค้าของเทสโก้ โลตัส ขนาดใหญ่ที่สุดในสาขาเปิดใหม่รอบ 4 ปีที่ผ่านมา เน้นจุดเด่นเรื่องการตอบโจทย์ลูกค้ายุค 4.0 เช่น การใช้เทคโนโลยีสแกนสินค้า Scan As You Shop จากประเทศอังกฤษ การชำระเงินผ่าน QR code ที่เคาน์เตอร์แคชเชียร์ทุกเคาน์เตอร์ มีกรีนเลน ช่องทางชำระเงินพิเศษสำหรับลูกค้าที่ไม่รับถุงพลาสติก และบริการสัญญาณ WiFi ฟรีครอบคลุมทุกบริเวณ มีเลนปั่นจักรยานยาว 1.2 กิโลเมตร และศูนย์รีไซเคิลให้ลูกค้าร่วมรีไซเคิลขยะประเภทต่างๆ

แต่ที่หลายฝ่ายกำลังจับตาก็คือ เทสโก้ โลตัสจะฉีกกลยุทธ์ตอบโต้คู่แข่งกับแผนมหกรรม “เอ็กซ์โป” อย่างไร เดินหน้าหรือถอย อีกไม่นานรู้กัน

 

ล้อมกรอบ “เส้นทาง 25 ปี BigC”

บิ๊กซี (BigC) เกิดจากความคิดกลุ่มค้าปลีกในเครือเซ็นทรัลและเครืออิมพีเรียลเมื่อปี 2536 โดยก่อตั้งบริษัท เซ็นทรัล ซูเปอร์สโตร์ จำกัด และเปิดสาขาแรกบนถนนแจ้งวัฒนะในปี 2537 ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ในปี 2538

กระทั่งช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 กลุ่ม Casino Guichard-Perrachon ผู้ประกอบการค้าปลีกอันดับ 2 ของฝรั่งเศส ได้เข้ามาเพิ่มทุนและกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในปี 2542

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2553 กลุ่มคาสิโนชนะการประมูลกิจการคาร์ฟูร์ในประเทศไทย ด้วยราคาซื้อขาย 686 ล้านยูโร เปลี่ยนชื่อ “คาร์ฟูร์” เป็น “บิ๊กซี” ส่งผลให้สาขาของบิ๊กซีเพิ่มเป็น 105 สาขา จาก 60 สาขา และตลาดค้าปลีกกลุ่มดิสเคาต์สโตร์ในประเทศไทยเหลือเพียง 2 เจ้าใหญ่ คือ เทสโก้ โลตัส และบิ๊กซี

ปี 2559 กลุ่มคาสิโนขายหุ้นที่ถืออยู่ในบิ๊กซีทั้งหมดให้บริษัท ทีซีซี กรุ๊ป ของเจริญ สิริวัฒนภักดี หลังจากเปิดการประมูลกิจการทั้งในไทย ลาว และเวียดนาม เพื่อนำเงินทุนไปชำระหนี้สิน โดยมีกลุ่มเซ็นทรัลและทีซีซี กรุ๊ป เป็นผู้เข้าประมูล แต่ทีซีซี กรุ๊ป เป็นผู้ชนะฮุบกิจการบิ๊กซีในประเทศไทย มูลค่าการซื้อขาย 3,400 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยมากกว่า 1.2 แสนล้านบาท

การซื้อขายหุ้นเสร็จสิ้นในเดือนมีนาคม 2559 ทำให้บิ๊กซีกลับมาเป็นกิจการค้าปลีกของคนไทยอีกครั้ง และมีการปรับแผนการดำเนินการ โอนส่วนผลิตสินค้าตัวเองไปอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC ซึ่งอยู่ในเครือทีซีซี กรุ๊ป นำสินค้าในเครือเข้ามาจำหน่ายมากขึ้น และขยายสาขาในศูนย์การค้าของกลุ่มทีซีซี เช่น พันทิปเชียงใหม่ สามย่านมิตรทาวน์ เกตเวย์บางซื่อ

อย่างไรก็ตาม ทีซีซี กรุ๊ป ได้สิทธิ์การบริหารเฉพาะสาขาในประเทศไทยเพียงอย่างเดียว ขณะที่สาขาที่เวียดนาม 34 สาขา ถูกโอนอยู่ภายใต้การดูแลของ บริษัท เซ็นทรัลออนไลน์ (ซีโอแอล) จำกัด (มหาชน) ซึ่งภายหลังมีการปรับแผนการบริหาร โยกส่วนไฮเปอร์มาร์เก็ตให้กลุ่มเหงียนคิมในเวียดนามเป็นผู้บริหาร แต่ซูเปอร์มาร์เก็ตให้กลุ่มเซ็นทรัลเวียดนามเป็นผู้ดูแล

ใส่ความเห็น