วันพฤหัสบดี, มีนาคม 28, 2024
Home > Cover Story > บอกลาถุงพลาสติก และการปรับตัวของผู้บริโภค-ผู้ผลิต

บอกลาถุงพลาสติก และการปรับตัวของผู้บริโภค-ผู้ผลิต

คนไทยเริ่มต้นศักราชใหม่ด้วยเทรนด์การลดใช้ถุงพลาสติก ที่เริ่มดีเดย์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา หากจะย้อนความไปถึงต้นสายปลายเหตุที่ทำให้คนไทยมีพฤติกรรมใช้ถุงพลาสติกเฉลี่ย 5,300 ตันต่อวัน เป็นเพราะมีการรณรงค์ลดการใช้กระดาษ ถุงกระดาษ เพื่อไม่ให้เกิดการตัดต้นไม้ ด้วยเหตุนี้ถุงพลาสติกจึงถูกยกความสำคัญขึ้นมาในสังคม

ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีการใช้พลาสติกในปริมาณมหาศาลต่อวัน แต่หากมีกระบวนการจัดเก็บ คัดแยก รวมไปถึงการกำจัดอย่างถูกวิธี ปัญหาขยะจากพลาสติกหรือถุงพลาสติกคงไม่เกิดขึ้น และเราคงไม่ต้องมูฟออนเป็นวงกลมกันอีกครั้งด้วยการรณรงค์ลดละเลิกใช้ถุงพลาสติก

เมื่อพลาสติกกลายเป็นขยะที่สร้างปัญหาและส่งผลต่อระบบนิเวศ ทำลายสิ่งแวดล้อม คร่าชีวิตสัตว์ทะเลจำนวนมาก ข้อมูลจากกรีนพีซระบุว่า ปริมาณขยะพลาสติกทั่วโลกมีมากถึง 6,300 ล้านตัน และขยะพลาสติกในประเทศไทยมีประมาณ 2.7 ล้านตัน เฉลี่ย 7,000 ตันต่อวัน โดยเป็นถุงพลาสติก 80 เปอร์เซ็นต์ และโฟม 20 เปอร์เซ็นต์

การตายของวาฬนำร่องที่กินถุงพลาสติกไป 85 ชิ้น และพะยูนน้อยมาเรียมที่มีต้นเหตุการเสียชีวิตเพราะชิ้นส่วนพลาสติก ดูเหมือนสัตว์ทะเลทั้งสองชนิดที่จากโลกนี้ไปจะสามารถปลุกจิตสำนึกที่หลับใหลของคนไทยให้ตื่นรู้ได้ กระทั่งในที่สุดรัฐบาลประกาศเจตนารมณ์เรื่องการลดใช้พลาสติก

นับเป็นก้าวสำคัญของการบริหารงานภายใต้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่เอาจริงเอาจังเรื่องสิ่งแวดล้อม ด้วยการตั้งเป้าลดการใช้พลาสติกภายในปี 2565 โดยมีกระทรวงที่เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมขับเคลื่อนนโยบายนี้

โดยโรดแมปของการแก้ปัญหาการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 ซึ่งจะมีการยกเลิกการใช้พลาสติกทั้งหมด 7 ชนิด ในระยะแรกมีกำหนดยกเลิกใช้พลาสติก 3 ชนิดภายในปี พ.ศ. 2562 คือ พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม พลาสติกผสมสารอ็อกโซ และพลาสติกผสมไมโครบีด

ระยะที่สอง ที่จะยกเลิกการใช้พลาสติกภายในปี 2565 คือ พลาสติกหูหิ้วที่มีความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องโฟมบรรจุอาหาร หลอดพลาสติก และแก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว

นโยบายที่เกิดขึ้นได้รับการตอบสนองเป็นอย่างดีทั้งจากภาคเอกชนและภาคประชาชน ที่เริ่มตระหนักถึงสิ่งที่ตนได้ทิ้งไว้ ว่าสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากเพียงใด ทำให้การรณรงค์เลิกใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วเริ่มเห็นเป็นรูปธรรมก่อนกรอบเวลาที่กำหนดไว้

ปริมาณขยะพลาสติกในไทยที่ปริมาณถุงพลาสติกมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ มาจากการใช้ถุงพลาสติกในชีวิตประจำวันของคนไทยที่เฉลี่ย 5,300 ตันต่อวัน โดยคนกรุงเทพฯ ใช้ถุงพลาสติกคนละ 8 ใบต่อวัน และหากจะพิจารณาระยะเวลาในการย่อยสลายพลาสติกที่ยาวนานถึง 450 ปี

จากรายงานดังกล่าวอาจเป็นเหตุให้ทุกภาคส่วนหันมาเอาจริงเอาจังกับการลดใช้พลาสติก โดยเริ่มดีเดย์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มกราคม โดยบรรดาห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อต่างขานรับนโยบายนี้กันอย่างพร้อมเพรียง เพราะนอกจากเป็นการลดต้นทุนทางธุรกิจแล้วยังช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่องค์กร ว่าไม่ได้ทำธุรกิจเพื่อแสวงหาแต่ผลกำไรเข้ากระเป๋าเพียงอย่างเดียว แม้ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าบางรายจะประกาศเลิกการแจกถุงพลาสติกไปก่อนหน้านี้แล้วก็ตาม

ผู้ประกอบการบางรายหยิบจับการลดใช้ถุงพลาสติกมาเป็นแคมเปญทางการตลาดของตนเอง เช่น หากผู้บริโภคปฏิเสธการรับถุงพลาสติก จะได้รับแต้มสะสมเพิ่มขึ้น หรือการไม่รับถุงพลาสติกเท่ากับผู้บริโภคได้ร่วมทำบุญกับหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ภาพลักษณ์ที่ดีเกิดขึ้นไม่เพียงแต่กับผู้ประกอบการเท่านั้น ในขณะที่ประชาชนทั่วไปที่ร่วมรณรงค์ไม่รับไม่ใช้ถุงพลาสติกเสมือนว่าเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งกลายเป็นเทรนด์ที่สังคมให้การยอมรับ

ขณะที่ภาครัฐและภาคเอกชน ผู้ประกอบห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และประชาชนร่วมรณรงค์การลด ละ เลิกใช้พลาสติก ทว่า บริษัทผู้ผลิตถุงพลาสติกกลับส่งสัญญาณว่าได้รับผลกระทบจากยอดขายและยอดการสั่งซื้อถุงพลาสติกลดลง

สมชัย เตชะพานิชกุล ในฐานะนายกสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทย เคยแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ว่า จากมาตรการภาครัฐเรื่องการงดแจกถุงพลาสติก ที่เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมานั้น เดิมทีกรอบนโยบายนี้มีเป้าหมายที่จะเลิกใช้ภายในปี 2565 แต่มีการรณรงค์ให้เลิกใช้เร็วขึ้น ทำให้ผู้ผลิตถุงพลาสติกปรับตัวไม่ทันจนได้รับผลกระทบ ซึ่งอาจจำเป็นต้องปิดกิจการลงในอนาคต ทั้งนี้ ห้างสรรพสินค้ามีการใช้ถุงพลาสติกประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของอุตสาหกรรมการผลิต ปัจจุบันมีผู้ผลิตถุงพลาสติกในประเทศกว่า 450 ราย รวมมูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาท

“สมาคมไม่ได้ต่อต้านกระแสการลดขยะพลาสติกและพร้อมสนับสนุนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือ รัฐบาลควรมีการรณรงค์อย่างค่อยเป็นค่อยไป การงดละเลิกทันทีทำให้มีปัญหา เพราะภาครัฐเองยังไม่มีมาตรการรองรับ”

ขณะที่ ณภัทร ทิพย์ธนกิจ รองนายกอาวุโส สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทย ชี้แจงว่า สมาคมฯ มีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1. ขอให้รัฐเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ โดยรับซื้อเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตถุงพลาสติกในราคาที่เหมาะสม เนื่องจากหากมีการปิดกิจการเครื่องจักรที่เหลืออยู่ไม่สามารถนำไปใช้ทำอย่างอื่นได้

2. รัฐต้องเข้ามาดูแลแรงงานในอุตสาหกรรมกว่า 6,000 คน ที่อาจจะต้องตกงาน เนื่องจากผู้ประกอบการไม่มีเงินจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย และ 3. ต้องการให้รัฐเปิดให้มีการใช้ถุงพลาสติกอย่างเสรีตามความสมัครใจของผู้บริโภค เช่น หากผู้ที่ต้องการจะใช้ถุงพลาสติกจะต้องจ่ายเงินเพิ่ม ไม่ใช่ให้ยกเลิกการใช้ เพราะเชื่อว่าพลาสติกไม่ใช่สาเหตุทำลายโลกและธรรมชาติ แต่เป็นคนใช้ที่ไม่มีจิตสำนึกมากกว่า

แนวความคิดของผู้ประกอบการ ผู้ผลิตถุงพลาสติกดูจะโน้มเอียงไปในทางเดียวกัน คือ ยังไม่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพราะมีผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจ ขณะที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่เริ่มตระหนักถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และร่วมใจกันที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองและเปลี่ยนแปลงสังคม

อีกทั้งยังมองว่าการเปลี่ยนแปลงนี้เร็วเกินไปจนไม่สามารถปรับตัวได้ทัน จนถึงขั้นที่มองว่าพลาสติกไม่ใช่ต้นเหตุของความเสียหายที่จะเกิดกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หากแต่เป็นผู้ใช้เองที่ขาดจิตสำนึก

แม้จะเป็นความจริงส่วนหนึ่งที่ว่า ผู้บริโภคบางคนยังไร้จิตสำนึกในการใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม แต่นั่นน่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับผู้ผลิตถุงพลาสติก ที่จะเป็นผู้ริเริ่มสร้างและร่วมปลุกจิตสำนึกให้เกิดขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคที่ยังขาดจิตสำนึกที่ดี

ในหลายๆ ครั้ง เรามักมีคำถามตามมากับนโยบายของภาครัฐ ว่าจะจีรังยั่งยืนแค่ไหน โดยเฉพาะกับนโยบายที่มีต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรง เมื่อปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ปัญหาที่จะถูกแก้ด้วยรัฐบาลชุดใดชุดหนึ่งเท่านั้น แต่ปัญหาที่แท้จริงคือ การปลูกฝังจิตสำนึกของประชาชนคนไทยที่มีต่อสิ่งแวดล้อม

หรือภาครัฐควรต้องเร่งจัดการรูปแบบการกำจัดขยะพลาสติกที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศ และนำกลับมาสร้างเป็นพลังงานเช่นประเทศที่เจริญแล้วอย่างสิงคโปร์ทำสำเร็จไปแล้ว จากนั้นค่อยรณรงค์ลดการใช้พลาสติก สร้างสำนึกที่ดีให้เกิดขึ้นแก่ผู้บริโภค

บางทีการรณรงค์อาจไม่เพียงพอต่อการกระตุ้นเตือนจิตสำนึกของผู้คน รัฐบาลอาจจำเป็นต้องศึกษาและเรียนรู้จากความสำเร็จของประเทศสิงคโปร์ที่แก้ปัญหาเรื่องขยะพลาสติกได้เป็นอย่างดี

เมื่อความเข้มงวดของกฎหมายในสิงคโปร์ กำหนดไว้ว่า ขยะจากผลิตภัณฑ์อยู่ในกลุ่มที่ต้องกำจัดด้วยการเผาจนกลายเป็นเถ้าถ่าน และไม่ได้รับยกเว้นให้ย่อยสลายเองตามธรรมชาติ จึงไม่ทำให้ต้นทุนในส่วนของการเผาขยะไม่ได้แตกต่างกัน และส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมจากการเผาขยะก็ไม่ได้แตกต่างกัน นอกจากนี้สิงคโปร์ยังมีบทลงโทษที่รุนแรงหากประชาชนทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง ทำให้ขยะเกือบทั้งหมดมีการจัดเก็บสู่กระบวนการจัดการที่ดี

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการหีบห่ออาหาร New Group ในสิงคโปร์ ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตการใช้พลาสติกย่อยสลายได้จากข้าวโพดมาตั้งแต่ปี 2010 ซึ่งมีรายงานว่าต้นทุนของการปรับเปลี่ยนสู่พลาสติกย่อยสลายได้ ทำให้ต้นทุนของกิจการสูงขึ้น แต่กิจการเหล่านี้ยอมรับภาระที่เกิดขึ้น เพราะมีความเชื่อว่าการปรับตัวครั้งนี้จะช่วยดูแลสภาพแวดล้อมได้ดีขึ้น

ในฐานะมนุษยโลกที่ควรมีจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อถึงเวลาที่ต้องตระหนักว่าอะไรที่จะส่งผลดีต่อทรัพยากรทางธรรมชาติ ดูจะเป็นการสมควรแล้วไม่ใช่หรือที่จะสนับสนุน ในเมื่อก่อนหน้านี้มนุษย์เคยพึ่งพาอาศัยทรัพยากรธรรมชาติและเบียดเบียนโลกโดยไม่สนใจว่าจะมีผลสะท้อนกลับมารวดเร็วและร้ายแรงแค่ไหน

ใส่ความเห็น