วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Home > Cover Story > บทเรียนจากคลองสุเอซ เรือใหญ่ควรอยู่ห่างฝั่ง

บทเรียนจากคลองสุเอซ เรือใหญ่ควรอยู่ห่างฝั่ง

แม้ว่าวิกฤตการณ์เรือสินค้าขนาดมหึมาเกยตื้นและขวางเส้นทางสัญจรของคลองสุเอซ จะคลี่คลายและกลับมาลอยลำพ้นจากการกีดขวางการจราจรทางน้ำของเส้นทางสัญจรที่มีความสำคัญต่อการค้าโลก แต่ผลกระทบจากเหตุดังกล่าวดูจะมีความสืบเนื่องที่อาจมีมูลค่ามากมายมหาศาลติดตามมาจากการฟ้องร้องดำเนินคดีและเรียกร้องค่าเสียหายจากฝ่ายต่างๆ เป็นมหากาพย์ที่รอคอยบทสรุปในอนาคต

เรือบรรทุกสินค้าเอเวอร์ กิฟเวน (Ever Given) ที่ดำเนินการโดยบริษัทเอเวอร์กรีน มารีน ของไต้หวัน ได้รับการช่วยเหลือให้หลุดจากการเกยตื้นได้สำเร็จเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากเกยตื้นและกีดขวางการจราจรในคลองสุเอซมาเกือบ 1 สัปดาห์ และถูกลากออกไปจากคลองสุเอซแล้ว และอยู่ระหว่างการตรวจสอบเพิ่มเติม ทำให้เส้นทางสัญจรในคลองสุเอซกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง แต่ยังไม่ชัดเจนว่า คลองสุเอซจะเริ่มเปิดให้มีการจราจรอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้งเมื่อใด และในขณะนี้มีเรือขนส่งสินค้าที่จอดรออยู่ทั้งหมด 367 ลำ

การกอบกู้เรือ เอเวอร์ กิฟเวน ให้พ้นจากสภาพเกยตื้นทำให้ผู้ที่ใช้คลองสุเอซเป็นทางสัญจรขนส่งสินค้ามีความหวังว่าจะกลับมาเดินเรือได้อีกครั้ง และเปิดทางให้การขนส่งสินค้าที่มีมูลค่าราว 3 แสนล้านบาทต่อวันกลับมามีชีวิตอีกครั้ง

ความพยายามในการขยับเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ลำยักษ์ให้ลอยลำได้อิสระอีกครั้งต้องใช้เวลานานหลายวัน และต้องใช้ เรือลากและเรือขุดจำนวนหลายลำ เนื่องจากเรือยักษ์ลำนี้มีความยาว 400 เมตร หรือเทียบเท่ากับสนามฟุตบอล 4 สนาม และมีน้ำหนักมากกว่า 2 แสนตัน เกยตื้นขวางคลองสุเอซอยู่บริเวณปลายทางใต้ของคลองสุเอซ ทำให้เรือลำอื่น ๆ ไม่สามารถแล่นผ่านหนึ่งในเส้นทางขนส่งสินค้าทางน้ำที่พลุกพล่านที่สุดในโลกแห่งนี้ได้ ก่อนที่บริษัทที่ดูแลการกู้เรือจะใช้ความพยายามอย่างหนัก ทั้งใช้เรือขุด เรือลากจูง รวมทั้งการย้ายตู้คอนเทนเนอร์มากกว่า 20,000 ตู้ออกจากเรือเพื่อให้สัมภาระบนเรือเบาลง

เส้นทางการเดินเรือผ่านคลองสุเอซถือว่ามีความสำคัญกับการค้าของโลกเพราะการค้าโลกมากกว่าร้อยละ 12 ต้องลำเลียงสินค้าผ่านเส้นทางนี้ ในฐานะที่เป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับทะเลแดง และเป็นเส้นทางลัดสำหรับการเดินเรือจากทวีปเอเชียและยุโรป เหตุร้ายจากการที่เรือบรรทุกสินค้า เอเวอร์ กิฟเวน ขวางคลองสุเอซทำให้เรือสินค้าบางส่วนเลือกที่จะเดินเรืออ้อมไปยังแหลมกู๊ดโฮป ทางตอนใต้สุดของทวีปแอฟริกา ซึ่งจะใช้เวลายาวนานกว่าเดิมราว 2 สัปดาห์

แม้การลำเลียงสินค้าทางเรือทั่วโลกจะทยอยกลับสู่ภาวะปกติ หลังจากวิกฤตในคลองสุเอซคลี่คลายลงแล้ว แต่ฝ่ายที่เสียหายคงจะเริ่มฟ้องร้องเรียกเงินชดเชย ที่สินค้าไปถึงท่าเรือปลายทางล่าช้า จนเป็นคดีความที่ยืดเยื้อไปอีกหลายปี ขณะที่รัฐบาลอียิปต์ซึ่งเป็นเจ้าของคลองสุเอซ ซึ่งขาดเงินเข้าคลังก้อนใหญ่ช่วงที่วิกฤตยังไม่คลี่คลาย และบริษัทเรือสินค้าที่ได้ส่งสินค้าไปสู่ท่าเรือปลายทางเสียทีหลังล่าช้ามาเกือบสัปดาห์ จนเรือบางลำที่รอไม่ไหวตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทาง

กรณีดังกล่าวยังทำให้คนทั่วโลกให้ความสนใจติดตามและเรียนรู้เพิ่มเติม จากเหตุดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสำคัญของคลองสุเอซ ความซับซ้อนและผลกระทบที่เกิดขึ้น หากการลำเลียงสินค้าทางเรือเกิดเป็นอัมพาตหรือถูกปิดกั้น และความใหญ่ยักษ์ของเรือ Ever Given รวมไปถึงการระดมสรรพกำลังของหลายฝ่าย และประโยชน์ของน้ำขึ้นน้ำลงจากอิทธิพลของพระจันทร์เต็มดวง (Super Moon) ที่ช่วยให้ปฏิบัติการกู้เรือประสบความสำเร็จเร็วกว่าที่คาดไว้

ประเด็นที่น่าสนใจและกำลังเป็นคำถามให้หลายคนสงสัยประการสำคัญอยู่ที่ เหตุที่เกิดขึ้นดังกล่าวนี้ จะมีการฟ้องร้องเอาผิดฝ่ายที่ต้องรับผิดชอบ ฐานปล่อยให้วิกฤตครั้งนี้เกิดขึ้นจากใครได้บ้าง ซึ่งหากไล่เรียงจากปัจจัยต้นเหตุอาจกล่าวได้ว่า Shoei Kisen KK บริษัทญี่ปุ่นในฐานะเจ้าของเรืออาจถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ โดยก่อนหน้านี้ Shoei Kisen KK ได้ออกมาแถลงการณ์ขอโทษเพื่อลดความร้อนแรงของสถานการณ์

ลำดับถัดมาที่อยู่ในข่ายที่อาจโดนฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายก็คือ BSM บริษัทสัญชาติเยอรมันที่ดูแลด้านเทคนิคในเรือ และ Evergreen บริษัทไต้หวันที่เช่าเรือลำนี้มาส่งสินค้า ขณะที่อีกบริษัทที่จะเจ็บหนักจากวิกฤตนี้คือ International Group of P&I Clubs บริษัทประกันในธุรกิจการเดินเรือในสหราชอาณาจักร ที่เจ้าของเรือ Ever Given ทำประกันไว้ ซึ่งการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากเหตุครั้งนี้อาจมีมูลค่าสูงถึง 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3 ล้านล้านบาท แต่บทสรุปของคดีความอาจยืดเยื้อไปอีกหลายปีทีเดียว

คำถามและข้อสังเกตอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องจับตามองก็คือการเกยตื้นกีดขวางเส้นทางสัญจรทางน้ำครั้งนี้ เกิดขึ้นจากความผิดพลาดของมนุษย์ โดยเฉพาะกัปตันเรือที่บังคับเรือไม่ได้ ความขัดข้องทางเทคนิค จากระบบไฟฟ้าขัดข้อง หรืออิทธิพลของธรรมชาติจากลมกระโชกและพายุทราย BSM ที่เป็นบริษัทผู้ดูแลระบบเทคนิคในเรือ พยายามระบุว่าเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นจากปัจจัยของลมกระโชก ขณะที่ผู้บริหารของ SCA หน่วยงานที่กำกับดูแลคลองสุเอซ ของรัฐบาลอียิปต์พยายามชี้ว่าเหตุที่เกิดเป็นความผิดพลาดของมนุษย์ ซึ่งการสอบสวนสาเหตุเบื้องต้นของเหตุการณ์นี้ก็ยังต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 เดือนนับจากนี้

ความเสียหายเบื้องต้นจากผลที่เรือบรรทุกสินค้า น้ำมัน และก๊าซ มากกว่า 450 ลำต้องติดอยู่ในเส้นทางดังกล่าว ได้รับการประเมินว่าจะมีมูลค่าความเสียหายในเบื้องต้นถึง 9,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า 3 แสนล้านบาทต่อวัน ขณะที่การหมุนเวียนตู้สินค้าหรือตู้คอนเทนเนอร์ที่โลกขาดแคลนอยู่แล้ว จะขาดแคลนมากขึ้น เพราะปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ในเรือเอเวอร์ กิฟเวน ซึ่งมีมากกว่า 18,300 ตู้ รวมกับปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ในเรือต่าง ๆ ที่รอเข้า-ออกคลองสุเอซ จะส่งผลเป็นความล่าช้าในการส่งมอบสินค้าและทำให้ตู้กลับคืนหมุนเวียนในระบบช้าลง

กรณีเรือเกยตื้นในคลองสุเอซครั้งนี้ ทำให้สังคมไทยได้พบว่าเหตุดังกล่าวไม่ใช่เรื่องไกลตัวของสังคมไทยอีกต่อไป เพราะกรณีดังกล่าวนี้ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป ที่มีมูลค่ามากถึง 1.1 ล้านล้านบาท โดยสินค้านับ 10 ประเภทถูกชะลอการสั่งซื้อใหม่ หรือปฏิเสธการรับสินค้าจากผลของการจัดส่งล่าช้า ซึ่งกรณีดังกล่าวทำให้คู่ค้าเสียโอกาสในการขาย และจะกระทบกับโรงงานผลิตต้นทางเป็นลูกโซ่ ซึ่งคู่ค้ามีสิทธิ์ตีกลับไม่รับของหากเลยเวลาที่กำหนด แล้วให้ผู้ส่งออกไปจ่ายค่า Freight หรือค่าระวางเรือเอง ซึ่งจะกลายเป็นภาระของผู้ส่งออกอย่างไม่อาจเลี่ยง

บทเรียนจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ผู้ส่งออกต้องตระหนักถึงการทำประกันภัยขนส่งสินค้าทางทะเล รวมถึงต้องหาซัปพลายเออร์เพิ่มกรณีที่ต้องนำเข้าสินค้าหรือวัตถุดิบจากยุโรปเข้ามาผลิตสินค้าแล้วส่งออก อาจต้องหาผู้ขายวัตถุดิบในแหล่งอื่นของโลกเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรืออาเซียน เพื่อลดความเสี่ยงอีกด้วย

ใส่ความเห็น