วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > บทบาทของ NEDA กับเส้นทาง R12 และความคาดหวังที่ต้องแบก

บทบาทของ NEDA กับเส้นทาง R12 และความคาดหวังที่ต้องแบก

ภารกิจของสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) หรือ Neighbouring Countries Economic Development Cooperation Agency (Public Organization) (NEDA) ในการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินและวิชาการแก่ประเทศเพื่อนบ้าน

จุดมุ่งหมายเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญให้เกิดความจำเริญในด้านอื่นๆ ตามมา ตลอดระยะเวลา 13 ปี ดำเนินการไปแล้วกว่า 70 โครงการ

ภาพจำที่หลายคนมีต่อเนด้า (NEDA) คือโครงการทั้งหมดเกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งการพัฒนาสาธารณูปโภค เส้นทางการคมนาคม กระนั้นผลสำเร็จของโครงการดังกล่าวล้วนยังประโยชน์ให้หวนกลับมาสู่ประเทศไทยในรูปแบบคู่ขนาน

ทว่าโครงการล่าสุดที่เนด้าต้องก้าวเข้ามารับผิดชอบในครั้งนี้ เมื่อมองผิวเผินคงจะไม่ยี่หระนักสำหรับเนด้า และไม่แตกต่างจากเส้นทางคมนาคมเส้นทางอื่นที่เนด้าเคยเข้าไปรับผิดชอบในการพัฒนา

หากแต่เส้นทางนี้น่าจะเป็นอีกหนึ่งบททดสอบใหม่ของเนด้า เมื่อหลายฝ่ายให้ความสำคัญ เพราะเส้นทางดังกล่าวเสมือนอีกหนึ่งยุทธศาสตร์ของไทยในการขับเคลื่อน Logistics ที่มีผลต่อการขยายหน้าสัมผัสให้สินค้าส่งออกของไทยมากยิ่งขึ้น นั่นคือ ถนน R12

เส้นทาง R12 มีบทบาทสำคัญต่อโครงข่ายคมนาคมและการขนส่งในอนุภูมิภาค โดยเส้นทางดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการผลักดันให้เกิดการพิจารณาขยายขอบเขตข้อตกลงการขนส่งข้ามพรมแดน (Greater Mekong Sub-region Cross-Border Transport Agreement: CBTA) จากถนน R9 เส้นทางเดียว ให้ครอบคลุมเพิ่มเติมตั้งแต่สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 ไปจนตลอดเส้นทาง R12

อย่างไรก็ดี การพัฒนาถนน R12 สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐในการมุ่งหวังให้ไทยสามารถเชื่อมโยงกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ทั้งเพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม ความสัมพันธ์อันดีต่อ สปป.ลาว และเวียดนาม รวมไปถึงส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวของทั้ง 3 ประเทศ

การให้ความสำคัญของภาครัฐต่อเส้นทาง R12 เมื่อพิจารณาเหตุผลประกอบจึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด เมื่อเส้นทางดังกล่าวนอกจากจะเชื่อมไทย สปป. ลาว และเวียดนาม ด้วยการนำเข้าและส่งออกสินค้าแล้ว ความสำคัญอีกประการหนึ่งคือเส้นทางดังกล่าวสามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศจีน ที่มณฑลหนานหนิง ด้วยระยะทาง 1,029 กิโลเมตร

แน่นอนว่านัยสำคัญคือการที่มีจุดหมายปลายทางอยู่ที่ประเทศจีน เพราะต้องยอมรับโดยดุษณีว่า ตลาดจีนเป็นปลายทางสำคัญสำหรับสินค้าเกษตรส่งออกของไทย โดยเฉพาะผลไม้ไทยได้รับความนิยมอย่างสูง และความต้องการยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ไม่ใช่เพียงแต่ประเทศจีนเท่านั้นที่ผลไม้ไทยเป็นที่ต้องการ สปป.ลาว และเวียดนาม ล้วนแต่ให้การตอบรับผลไม้ไทยอย่างล้นหลาม เช่น ลำไย มังคุด มะม่วงเขียวเสวย มะนาว โดยเฉพาะทุเรียน ที่ส่งกลิ่นอบอวลไปทั่วบริเวณหน้าด่านจาลอ ปราการสำคัญที่สินค้าจากไทยเดินทางสู่ สปป.ลาว ไปยังประเทศเวียดนาม

สถิติสินค้าที่นำเข้าและส่งออกผ่านด่านชายแดนจังหวัดนครพนมประจำปีงบประมาณ 2559 พบว่า สินค้านำเข้าส่วนใหญ่อันดับหนึ่ง คืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 2. พลังงานไฟฟ้า 3. คอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์ครบชุดและแท็บเล็ต

ขณะที่สินค้าส่งออกอันดับหนึ่ง คือ ผลไม้ เช่น ขนุน ชมพู่ ทุเรียน มะขาม ลองกอง ลางสาด 2. เครื่องดื่มบำรุงกำลัง 3. อื่นๆ

และเมื่อเปรียบเทียบปริมาณสินค้านำเข้าและส่งออก นับตั้งแต่ปี 2558 นำเข้า 46,535.58 ล้านบาท ส่งออก 71,967.84 ล้านบาท ปี 2559 นำเข้า 42,006.92 ล้านบาท ส่งออก 54,283.93 ล้านบาท และปี 2560 (ม.ค.-ส.ค. 2560) ยอดการนำเข้าและส่งออกลดลงเหลือ นำเข้า 16,086.26 ล้านบาท และส่งออกเหลือเพียง 38,637.42 ล้านบาท

ปัญหาการลดลงอย่างต่อเนื่องทั้งการนำเข้าและส่งออก ส่วนหนึ่งมาจากการที่เส้นทาง R12 ถูกใช้งานอย่างหนัก เนื่องจากเป็นเส้นทางที่สามารถขนส่งสินค้าจากไทยไปยัง สปป.ลาว และเวียดนามได้ด้วยระยะทางอันสั้น จึงทำให้บรรดาผู้ประกอบการเลือกใช้เส้นทางนี้ในการนำเข้าและส่งออกสินค้า

ในปัจจุบันผู้ประกอบการจะหันกลับไปใช้เส้นทางอื่น เช่น มุกดาหาร หรือหนองคาย ที่แม้ว่าจะใช้เวลาเดินทางนานกว่า แต่เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ทำให้มูลค่าการค้าชายแดนที่ผ่านด่านนครพนมลดลง

แน่นอนว่าปัญหาดังกล่าวผู้ประกอบภาคเอกชนถ่ายทอดและส่งต่อไปยังเนด้า ด้วยอัตราเร่งที่มาพร้อมแรงกดดัน เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาเส้นทางดังกล่าวอย่างเร่งด่วน

ซึ่งพีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์ รองผู้อำนวยการปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการ สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) อธิบายถึงขั้นตอนการทำงานเกี่ยวกับเส้นทางดังกล่าวว่า “ขณะนี้อยู่ระหว่างการจ้างบริษัทที่ปรึกษา สำหรับโครงการพัฒนาเส้นทางถนนหมายเลข 12 (R12) นครพนม ไทย-ท่าแขก/นาเพ้า สปป.ลาว-จาลอ/ฮานอย เวียดนาม โดยมีระยะทาง 147 กิโลเมตร ซึ่งผู้สนใจซื้อเอกสารประกวดราคามีทั้งเอกชนและสถาบัน ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา เบื้องต้นคาดว่าจะได้บริษัทที่ปรึกษาในโครงการนี้ประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน

หลังจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการศึกษา ใช้เวลาประมาณ 300 วัน งบประมาณที่ใช้ในการศึกษาโครงการไม่เกิน 18 ล้านบาท เบื้องต้นคาดว่าจะได้ผลการศึกษาโครงการภายในปีนี้

โดยในปี 2562 เป็นการอนุมัติโครงการ พร้อมกันนี้จะเจรจากับ สปป.ลาว เรื่องเงินกู้ในการดำเนินงาน โดยจะใช้วงเงินงบประมาณไม่เกิน 2,000 ล้านบาท หากโครงการเป็นไปตามกำหนดเวลา คาดว่าเส้นทางนี้จะแล้วเสร็จพร้อมใช้งานได้ในปี 2564”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากำหนดระยะเวลาที่ พีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์ จะเป็นไปตามขั้นตอนของการทำงานอย่างที่เหมาะที่ควร กระนั้นเสียงตอบรับจากภาคเอกชนของจังหวัดนครพนมดูจะยังไม่เป็นที่พอใจมากนัก พร้อมกับคาดหวังให้มีการเร่งขั้นตอนดำเนินงาน ด้วยหวังให้เส้นทาง R12 ได้รับการปรับปรุงซ่อมแซมภายในเวลาครึ่งหนึ่งจากเวลากำหนดไว้

การที่ภาคเอกชนในจังหวัดนครพนมให้ความสำคัญกับเส้นทาง R12 มาก ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก เมื่อพิจารณาจากตัวเลขมูลค่าการค้าชายแดนลดลง หากเปรียบเทียบจากตัวเลขมูลค่าการค้ารวมช่วงเดือนมกราคม -สิงหาคม 2560 ที่มีมูลค่า 54,723.68 ล้านบาท ขณะที่ช่วงเดียวกันของปีก่อน มกราคม-สิงหาคม 2559 มีมูลค่า 67,293.51 ล้านบาท มูลค่าลดลง 12,569.83 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.67

หากมองในมิติของภาคเอกชน ตัวเลขดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบประหนึ่งระลอกคลื่นไปยังธุรกิจอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ทั้งที่หลังจากการเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 นครพนมยังเป็นจังหวัดที่หอมหวาน เชิญชวนนักลงทุนและผู้ประกอบการตบเท้าเข้ามายึดหัวหาดริมโขงเปิดธุรกิจ

ปัญหาของเส้นทาง R12 จึงเสมือนจุดเปลี่ยนสำคัญของสถานการณ์ที่กำลังไปได้สวย ให้เริ่มสั่นคลอน หรืออาจจะไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นให้กลับมาได้ในเร็ววัน

เพียงแรงกดดันจากภาคเอกชนที่ส่งไปถึงเนด้าดูจะยังไม่เพียงพอ เสมือนบททดสอบที่ยังต้องเพิ่มความยากเพื่อวัดระดับฝีมือขององค์การมหาชนแห่งนี้ เพราะนอกจากปัญหาเรื่องระยะเวลาในการดำเนินงานของโครงการพัฒนาเส้นทางถนนหมายเลข 12 แล้ว ยังมีประเด็นเรื่องการผลักดันให้ถนน R12 เข้าสู่กรอบข้อตกลงการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน (Greater Mekong Sub-Region Cross-Border Transport Agreement: CBTA)

ซึ่งกรอบข้อตกลงดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง และยังเป็นการช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้าจากการใช้รถบรรทุกขนส่งสินค้าจากไทยให้สามารถวิ่งเข้าสู่ประเทศเวียดนามได้โดยตรง

ยังไม่รวมปัญหาในกรณีที่ผลไม้ไทยที่ถูกส่งมาทางเส้นทาง R12 จะต้องถูกขายต่อให้เวียดนาม ก่อนที่จะนำเข้าสู่จีนในฐานะสินค้าเวียดนาม ทางด่านผู้จ่าย ซึ่งเป็นด่านชายแดน นั่นเพราะ R12 ยังไม่ใช่เส้นทางในพิธีสารที่ว่าด้วยข้อกำหนดในการตรวจสอบและกักกันโรคสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามระหว่างประเทศไทยและจีน

เส้นทาง R12 นับเป็นอีกหนึ่งเส้นทางสำคัญทางเศรษฐกิจจากภาคอีสานสู่จีนตอนใต้ ซึ่งได้เปรียบกว่าเส้นทาง R9 ในด้านระยะทางที่สั้นกว่า จากนครพนมเข้าเมืองท่าแขก สปป.ลาว ผ่านด่านจาลอ เวียดนาม โดยผ่านเมืองวิงห์ ฮานอย ลางเซน และเข้าสู่สาธารณรัฐประชาชนจีนที่ด่านโหย่วอี้กว่าน เมืองผิงเสียง นครหนานหนิง ระยะทาง 835 กิโลเมตร โดยใช้เวลาในการขนส่งสินค้าเพียง 36-39 ชั่วโมง

กระนั้นเวลานี้ยังคงต้องรอคอยให้เส้นทาง R12 ได้รับการพัฒนาและปรับปรุงทั้งในเรื่องของพื้นผิวถนน กฎระเบียบ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ

แม้ว่าโจทย์นี้จะไม่ยากเกินไปสำหรับเนด้า แต่ด้วยแรงกดดันจากหลายฝ่ายที่มีต่อเส้นทางดังกล่าว ทำให้องค์การมหาชนอย่างเนด้าแบกรับอย่างเต็มใจ เมื่อผลที่ตามมาคือผลประโยชน์ที่มีต่อส่วนรวม

ใส่ความเห็น