วันอังคาร, มีนาคม 19, 2024
Home > Cover Story > นับถอยหลัง “ไอคอนสยาม” ศึกค้าปลีกโค้งน้ำเจ้าพระยา

นับถอยหลัง “ไอคอนสยาม” ศึกค้าปลีกโค้งน้ำเจ้าพระยา

นับถอยหลังอีกไม่กี่เดือน อภิมหาโครงการ “ไอคอนสยาม” ของกลุ่มร่วมทุน 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ คือ สยามพิวรรธน์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) และแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น (ในเครือซีพี) จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ พร้อมๆ กับการเริ่มต้นลุยสมรภูมิค้าปลีกริมฝั่งน้ำเจ้าพระยาระลอกใหม่ที่มีทั้ง “เอเชียทีค” ของเจริญ สิริวัฒนภักดี และโครงการ “ล้ง 1919” ของกลุ่มตระกูลหวั่งหลี ที่ฉีกแนวเจาะกลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบแนวศิลปวัฒนธรรมชนชาติจีน

แน่นอนว่า โค้งน้ำเจ้าพระยากำลังจะพลิกโฉมอีกครั้ง ซึ่งหัวเรือใหญ่ไอคอนสยาม ชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ ย้ำกับสื่อมาตลอดว่า ไอคอนสยามจะเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่สร้างเมืองแห่งความรุ่งโรจน์อันเป็นนิรันดร์ (The Icon of Eternal Prosperity) จุดประกายคุณค่าของแม่น้ำเจ้าพระยา 3 เรื่อง

เรื่องแรก คือการสัญจรไปมาทุกระบบการขนส่ง สอง คือเรื่องเศรษฐกิจริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมด และสาม คือการพัฒนาชุมชนรอบๆ โดยตั้งเป้าหมายดึงดูดผู้คนเข้ามาใช้ชีวิต ทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมกว่า 21.9 ล้านคนต่อปี ผ่านทุกช่องทางการเดินทาง “รถ-ราง-เรือ”

ทั้งนี้ “ไอคอนสยาม” ล่าสุดก่อสร้างแล้วเสร็จกว่า 90% และพร้อมเปิดตัวในเดือนตุลาคมนี้ โดยเริ่มวางแผนงานการตลาด การโฆษณา ประชาสัมพันธ์โครงการตั้งแต่เดือนเมษายน ติดตั้งป้ายบิลบอร์ดและจัดอีเวนต์สร้างการรับรู้ทั้งในและต่างประเทศ

ส่วนการเตรียมความพร้อมเปิดตัวโครงการ เบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบการตลาดเปิดตัวและจัดกิจกรรมต่างๆ รวมกว่า 3,300 ล้านบาท แบ่งเป็นงบการจัดงานแกรนด์โอเพนนิ่ง 300 ล้านบาท งบการตลาดอื่นๆ อีก 1,000 ล้านบาท และงบจัดกิจกรรมต่างๆ ของแบรนด์ร้านค้าชั้นนำอีกกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยจัดขึ้นภายในศูนย์ตลอดระยะเวลา 3 เดือน เพื่อสร้างความตื่นตาตื่นใจให้ลูกค้า โดยเฉพาะสร้างการรับรู้ในกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ

หากย้อนข้อมูลทั้งหมดของไอคอนสยาม ถือเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ 50 ไร่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งอยู่ระหว่างโรงแรมเพนนินซูล่า กรุงเทพ และโรงแรมมิลเลเนียม ฮิลตัน กรุงเทพ มีมูลค่าการลงทุนรวมมากกว่า 54,000 ล้านบาท

พื้นที่โครงการประกอบด้วยอาคารศูนย์การค้า 2 อาคาร ได้แก่ ไอคอนสยาม และไอคอนลักซ์ ออกแบบโดยได้แรงบันดาลใจจากกระทง บายศรี และการห่มสไบ มีแม็กเน็ตหลักๆ คือ ห้างสรรพสินค้าสยามทาคาชิมาย่า สาขาแรกในประเทศไทย ตลาดสุขสยาม ซึ่งเป็นเมืองวิถีไทยที่รวมสินค้าและบริการงานศิลปะ ประเพณีจากภูมิปัญญาชาวบ้านทั้ง 77 จังหวัด ศูนย์ประชุมและโรงมหรสพอเนกประสงค์ ทรู ไอคอนสยาม ฮอลล์ ซึ่งร่วมทุนกับ ทรู คอร์ปอเรชั่น

โรงภาพยนตร์ไอคอน ซีเนคอนิค ในเครือเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ จำนวน 12 โรง พร้อมโรงภาพยนตร์ระบบไอแมกซ์ 1 โรง สวนสนุก สถานออกกำลังกายไอคอน บาย ฟิตเนสเฟิร์สท ไอคอนสยาม เฮอร์ริเทจ มิวเซียม พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาไทย โดยได้รับความร่วมมือจากกรมธนารักษ์และกรมศิลปากร

ขณะที่พื้นที่หลักสำคัญอีกส่วน คือ อาคารที่พักอาศัย 2 อาคาร ได้แก่ แมกโนเลียส์ วอเตอร์ฟร้อนท์ เรสซิเดนเซส แอท ไอคอนสยาม ความสูง 317.95 เมตร และเดอะ เรสซิเดนเซส แมนดาริน โอเรียนเต็ล แบงค็อก แอท ไอคอนสยาม ความสูง 272.20 เมตร เป็นอาคารที่พักอาศัยโดยกลุ่มโรงแรมและรีสอร์ตแมนดารินโอเรียนเต็ลแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากนี้ มีลานกิจกรรมริเวอร์พาร์ค ความยาวเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา 500 เมตร ซึ่งถือเป็นทางเดินริมแม่น้ำยาวที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ท่าเทียบเรือ บริการเรือรับ-ส่ง จากท่าสาทร และบริการรถรับ-ส่งไปยังรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีกรุงธนบุรี และที่สำคัญ คือการร่วมทุนกับกรุงเทพมหานคร ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีทอง เพื่อเชื่อมต่อโครงข่ายรถไฟฟ้าเข้ากับศูนย์การค้า

ต้องถือว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง หรือโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง สายสีทอง (สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี-สำนักงานเขตคลองสาน-ประชาธิปก) เป็นจุดแข็งสำคัญในการขนส่งกลุ่มเป้าหมายของโครงการในยุคการจราจรติดขัดและเป็นจุดขายเหนือโครงการใกล้เคียงด้วย

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีทองเป็นส่วนหนึ่งของแผนโครงการระบบขนส่งมวลชนทางราง ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะที่สอง (M-Map Phase 2) เชื่อมต่อการเดินทางบนถนนเจริญนคร และเชื่อมต่อเข้ากับศูนย์การค้าไอคอนสยาม ดำเนินการโดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และได้รับงบประมาณการก่อสร้างจากบริษัท ไอคอนสยาม จำนวน 2,080 ล้านบาท แลกกับสัมปทานการบริหารพื้นที่ภายในสถานีและโฆษณาแทนบริษัท วีจีไอ โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน)

แนวเส้นทางต่อเชื่อมกับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสกรุงธนบุรีไปทางทิศตะวันออกตามแนวเส้นทางคู่ขนานของถนนกรุงธนบุรี เลี้ยวซ้ายขึ้นทางทิศเหนือไปตามแนวถนนเจริญนครผ่านแยกคลองสาน สิ้นสุดที่ถนนสมเด็จเจ้าพระยา บริเวณหน้าโรงพยาบาลตากสิน โดยมีสถานี 3 แห่ง เริ่มจากสถานีกรุงธนบุรี เชื่อมต่อรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีเจริญนคร (ไอคอนสยาม) อยู่บริเวณเจริญนคร 6 บริเวณสะพานข้ามคลองวัดทองเพลง และสถานีคลองสานเยื้องโรงพยาบาลตากสิน มีทางเดินหรือ sky walk เดินทางเข้าสู่โรงพยาบาลตากสินได้ และจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดง (หัวลำโพง-บางบอน-มหาชัย) ในอนาคต

ปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้างในเส้นทางระยะที่ 1 กรุงธนบุรี-เจริญนคร กำหนดแล้วเสร็จและตั้งเป้าจะเปิดให้บริการช่วงปลายปี 2562 อัตราค่าโดยสารเพียง 15 บาทตลอดสาย

มีการประมาณการเบื้องต้นทันทีที่เปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีทองจะมีผู้มาใช้บริการเส้นทางระยะแรก 40,000-50,000 คนต่อวัน

ดังนั้น การเปิดตัวไอคอนสยามด้านหนึ่งเป็นการปลุกพื้นที่ค้าปลีก การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจริมฝั่งน้ำเจ้าพระยา ซึ่งสามารถเกื้อหนุนทั้งโครงการเอเชียทีคของบริษัท แอสเสท เวิรด์ รีเทล ในเครือทีซีซีกรุ๊ป ของกลุ่มตระกูลสิริวัฒนภักดี ที่เปิดตัวยึดครองความเป็นเดสทิเนชั่นมาได้ระยะหนึ่ง และโครงการล้ง 1919 ซึ่งเผยโฉมในฐานะเดสทิเนชั่นใหม่เมื่อปลายปี 2560

แต่อีกด้านปฏิเสธไม่ได้ว่า ทั้ง 3 โครงการต่างต้องชูจุดแข็งและจุดขาย เพื่อครองความเป็น “เดสทิเนชั่น” โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นรายได้ก้อนใหญ่

ล่าสุด เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ ยังถือเป็นศูนย์การค้าแนวราบริมแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย มีจุดเด่น คือ ชิงช้าสวรรค์ขนาดใหญ่ “เอเชียทีค สกาย” ที่สามารถเห็นทัศนียภาพโดยรอบของกรุงเทพมหานคร ในแบบมุมสูงรอบตัว มีโรงละครคาลิปโซ่ที่ย้ายมาจากโรงแรมเอเชีย โรงละครโจหลุยส์ที่ย้ายมาจากสวนลุมไนท์บาซาร์ ร้านค้าและร้านอาหารริมน้ำ

ด้านโครงการล้ง 1919 เน้นความเป็นศิลปวัฒนธรรมหลายชั่วอายุคน เนื่องจากเดิมเป็นพื้นที่เก่าแก่ของตระกูลหวั่งหลีเมื่อ 167 ปีที่แล้ว

ยุคนั้นที่นี่คือท่าเรือกลไฟ “ฮวย จุ่ง ล้ง” หรือจุดเทียบท่าหลักสำหรับเรือบรรทุกสินค้าหรือเรือโดยสารที่ใช้ถ่านหรือฟืนเป็นเชื้อเพลิงในสมัยก่อน สร้างขึ้นเมื่อปี 2393 โดยพระยาพิศาล ศุภผล (ชื่น พิศาลบุตร) ชาวจีนที่เกิดบนแผ่นดินสยาม โดยมีบรรพบุรุษเดินทางจากเมืองจีนมาตั้งรกรากทำการค้าอยู่ในเมืองไทยตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีตัวอาคารบริเวณท่าเรือเป็นร้านค้าและโกดังเก็บสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง

แต่หลังจากท่าเรือ “ฮวย จุ่ง ล้ง” ถูกลดทอนบทบาท เนื่องจากการท่าเรือแห่งประเทศไทยเข้ามามีบทบาทในการค้ากับต่างชาติมากขึ้น ตระกูล “หวั่งหลี” โดยตัน ลิบ บ๊วย หนึ่งในชาวจีนผู้อพยพขึ้นฝั่งที่ท่าเรือแห่งนี้ จึงเข้ารับช่วงกิจการต่อจากตระกูลพิศาลบุตร และปรับเปลี่ยนอาคารเป็นสำนักงานและโกดังเก็บสินค้าในนามของตระกูลหวั่งหลี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2462 (ค.ศ.1919)

ปี 2560 รุจิราภรณ์ หวั่งหลี เป็นโต้โผใหญ่พลิกฟื้นท่าเรือ ฮวย จุ่ง ล้ง สร้างโครงการแหล่งท่องเที่ยวเชิง Heritage เน้นศิลปะเชิงอนุรักษ์ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ไทยจีน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ภายในพื้นที่กว่า 6 ไร่ ประกอบด้วยศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว (คลองสาน) อาคารจัดงานอีเวนต์ขนาดใหญ่ เวทีการแสดงและกิจกรรมกลางแจ้ง Co-Working Space ร้านค้าจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดีไซน์ งานฝีมือระดับพรีเมียม จากศิลปินร่วมสมัยรุ่นใหม่ของไทย ร้านอาหารและเครื่องดื่ม เช่น ร้านคาร์มาคาเม็ท (Karmakamet) ร้านนายห้าง ร้านโรงสี ร้านกาฟงกาแฟ ภัตตาคารอาหารจีน สถานที่ศึกษาประวัติศาสตร์ไทย-จีน ผ่านอาคารเรือนไม้สถาปัตยกรรมจีนโบราณ และจิตรกรรมฝาผนังจากปลายพู่กันนายช่างจีนโบราณ พร้อมกับเปิดท่าเรือหวั่งหลี เพื่อสัญจรทางแม่น้ำเจ้าพระยา

ช่วงเวลาไม่ถึงปี ล้ง 1919 ชูจุดขายแบบนิชมาร์เก็ตและรับเทรนด์กลุ่มลูกค้าสไตล์ Retro ดึงดูดทั้งคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่า ดูได้จากจำนวนลูกค้าที่เข้ามาจองพื้นที่จัดอีเวนต์ต่างๆ ต่อเนื่องตลอดทั้งปี

ดังนั้น เมื่อ 3 บิ๊กโปรเจกต์ต่างปักหมุดบนโค้งน้ำเจ้าพระยาชนิดไม่ห่างไกลกันนัก จิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายอย่าง “ไอคอนสยาม” จึงเป็นได้ทั้งโครงการจุดประกายคุณค่าของแม่น้ำเจ้าพระยาและบิ๊กโปรเจกต์จุดชนวนแนวรบการแข่งขันบนโค้งน้ำอย่างน่าตื่นเต้นด้วย

ใส่ความเห็น